ผลงานเด่นเรื่องเด่น

บพข. ปลดล็อคงานวิจัยภารกิจที่มากกว่าการให้ทุน

Q: อะไรคือบทบาทของบพข.

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า บพข. เป็นองค์กรใหม่ ที่ผ่านมาประเทศไทยมีหน่วงงานที่ให้ทุนวิจัยอยู่มากมาย แต่ปัญหาของงานวิจัยไทยที่ผ่านมา คือ เน้นให้ทุนวิจัยที่อยู่ในห้องปฏิบัติการ แล้วจบอยู่ตรงนั้น ไม่มีการนำไปใช้งานต่อในเชิงพาณิชย์หรือสร้างผลกระทบต่อสังคมและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศ เป็นที่มาของคำว่า ‘งานวิจัยบนหิ้ง’ ซึ่งหมายความว่า จริง ๆ ประเทศไทยไม่ได้ขาดนักวิจัย ไม่ได้ขาดจุดเริ่มต้นที่ดีของเทคโนโลยี แต่สิ่งที่ประเทศไทยขาด หรือ อาจเรียกว่า ไม่เคยทำ คือ ‘การบริหารงานวิจัย’ เพื่อนำของที่อยู่บนหิ้งลงมาใช้ให้เกิดประโยชน์ บพข. จึงเข้ามาเพื่อที่จะปิดช่องว่างในส่วนนี้ เน้นการสนับสนุนงานวิจัยที่มีความร่วมมือกับผู้ประกอบการ SMEs และภาคอุตสาหกรรม

Q: บพข. มองหางานวิจัยแบบไหนที่ถูกใจใช่เลย

ไม่ใช่เฉพาะงานวิจัยที่เราหา แต่เรามองหาคนหรือหน่วยงานที่จะมาร่วมงานกับเรามากกว่า แต่หากมองถึงหัวข้องานวิจัยมันก็เป็นความท้าทายของเรา เพราะเราไม่คิดว่าโจทย์ของประเทศจะเหมือนกันทุก ๆ ปี แต่จากธงที่เราตั้งไว้ คือ ผลงานวิจัยต้องถูกนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศ งานวิจัยจึงต้องมีความสำเร็จมาแล้วระดับหนึ่งและตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในปัจจุบัน

โดยช่วงแรก เราแบ่งไว้ 7 กลุ่ม คือ 1. ทุนภาคเกษตรกรและกลุ่มอาหารที่มีมูลค่าสูง 2. ทุนวิจัยด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 3.กลุ่มทุนวิจัยด้านสุขภาพและการแพทย์ 4.กลุ่มทุนวิจัยด้านพลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ 5.กลุ่มทุนด้านเทคโนโลยีดิจิตอล 6. กลุ่มทุนด้านเศษฐกิจหมุนเวียน และ 7. กลุ่มทุนด้านเทคโนโลยีและองค์ความรู้ขั้นแนวหน้า

Q: นักวิจัยจะได้อะไรจากการมีบพข.

จริง ๆ แล้ว บพข. ถือเป็นโอกาสใหม่ที่นักวิจัยทุกท่านจะได้เห็นงานของตัวเองออกมาใช้จริงในเชิงพาณิชย์ เราพยายามให้นักวิจัยมองเห็นว่าปลายทางงานวิจัยของเขาจะต่อยอดเป็นอะไรได้บ้าง นักวิจัยที่เข้ามาร่วมโครงการจึงต้องเข้าใจกระบวนการผลิตด้วย ว่าผลิตภัณฑ์ปลายทางต้องผ่านขั้นตอนหรือมาตรฐานอะไรบ้าง

ดังนั้น บพข. จึงไม่ได้เพียงแต่ให้ทุนวิจัย แต่เราพยายามเข้าไปสนับสนุนในมิติต่าง ๆ เช่น การวิเคราะห์การตลาด ความคุ้มทุน หรือ ด้านกฎหมาย เพื่อให้งานวิจัยมีโอกาสถูกนำไปใช้เชิงพาณิชย์ได้จริง ซึ่งโครงการวิจัยที่ผ่าน บพข. ไปแล้ว จะมีความน่าเชื่อถือสูง และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานอื่น ๆ ต่อ เนื่องจากถูกพิสูจน์มาแล้วว่ามีความเสี่ยงน้อย 

Q: ผู้ประกอบการจะได้อะไรจากโครงการนี้

หากพูดกันตรง ๆ ผู้ประกอบการไทยไม่ค่อยให้ความสนใจในการทำ R&D ผู้ประกอบการเราสนใจเทคโนโลยี แต่ชอบที่จะซื้อเทคโนโลยีแบบสำเร็จรูปมาใช้มากกว่าจะซื้อมาบางส่วนแล้วพัฒนาให้เหมาะกับตัวเอง ซึ่งเป็นจุดอ่อนทำให้เราไม่สามารถแข่งขันบนเวทีโลกได้อย่างยั่งยืน

นี่จึงถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการที่จะมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองธุรกิจของตัวเองอย่างตรงจุด ซึ่งปกติแล้วเขาจะรู้ว่าการทำ R&D เพื่อได้โลยีใหม่ ต้องมีการลงทุนสูงและต้องแบกรับความเสี่ยงที่สูงเช่นกัน ดังนั้นจึงเป็นการลดความเสี่ยงค่อนข้างเยอะมากสำหรับผู้ประกอบการที่จะเอางานวิจัยจากโครงการนี้ไปใช้ ซึ่งทาง บพข. เอง ก็ต้องการการได้รับโจทย์ที่ชัดเจนจากผู้ประกอบการด้วยเช่นกัน

สิ่งที่ บพข. อยากเห็นจากสิ่งที่จะเกิดขึ้นในกระบวนการนี้ คือ ปลายทางภาคเอกชนหรือผู้ประกอบการเองมีความเข้มแข็งในเรื่องของการนำเอาเทคโนโลยีไปใช้ด้วยตัวเอง โดยมีนักวิจัยในมหาวิทยาลัยเป็นเพื่อนร่วมทางในยามจำเป็น

Q: ประเทศไทยจะได้ประโยชน์อะไรจากการมีบพข.

สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้น คือ อุตสาหกรรมใหม่ ๆ ในประเทศไทยจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้มากกว่าในอดีต โดยเฉพาะอุตสาหกรรม SMEs หรือ ผู้ประกอบการที่เป็นสตาร์ทอัพ (Startup) เราจะได้เห็นอุตสาหกรรมระดับนี้ได้ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (High technology) ที่เกิดขึ้นภายในประเทศ ซึ่งในอดีตไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน รวมถึงการเปลี่ยนบทบาทของประเทศจากการผลิตมากแต่สร้างรายได้น้อย ไปสู่การผลิตน้อยแต่สร้างรายได้มาก

Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *