คู่มือและแบบฟอร์ม บพข.

คู่มือสำหรับนักวิจัยที่ได้รับทุน บพข.

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) มีภารกิจจัดสรรทุนวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและภาคบริการ รวมถึงทุนสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยี การสร้างตลาดนวัตกรรม การส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมในเชิงพาณิชย์ และการพัฒนาแพลตฟอร์มทางนวัตกรรมในภาคการผลิตและภาคบริการ ทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานห้องปฏิบัติการเพื่อการให้บริการด้านคุณภาพและการถ่ายทอดเทคโนโลยี ทั้งนี้ การให้ทุนดังกล่าวมุ่งเน้นการสนับสนุนแผนงานที่มีความร่วมมือหรือการร่วมลงทุนกับผู้ใช้ประโยชน์ เช่น วิสาหกิจชุมชน SMEs และภาคอุตสาหกรรม เป็นสำคัญ

บพข. มีความยินดีที่ได้สนับสนุนทุนแก่หน่วยงานผู้รับทุน ดังนั้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งไว้ สามารถนำผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้การทำงานเป็นไปโดยราบรื่น จึงได้จัดทำเอกสารคู่มือสำหรับนักวิจัยที่ได้รับทุนวิจัย บพข. เพื่อให้หน่วยงานผู้รับทุนและหัวหน้าโครงการ ใช้เป็นแนวปฏิบัติในการดำเนินโครงการ ให้ถูกต้องตามระเบียบต่างๆ และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งประกอบด้วย การอธิบายถึงขั้นตอนและกระบวนการต่างๆ ที่ใช้ในการบริหารการเงินและพัสดุของโครงการที่ได้รับทุนจาก บพข. ให้มีความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับขั้นตอน และกระบวนการทำงาน สิ่งที่พึงคาดหมายได้ รวมทั้งเจตนารมณ์และเหตุผลของการที่กำหนดให้มีขั้นตอนและกระบวนการดังกล่าว เพื่อให้มีระบบบริหารวิจัยที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้โดยกลไกสาธารณะ อันจะทำให้สาธารณชนมั่นใจได้ว่า เงินภาษีอากรที่นำมาใช้ลงทุนวิจัยนี้ จะก่อผลต่อสังคมอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิผลอย่างแท้จริง

ประกาศเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว (Privacy Notice) สำหรับการจัดสรรทุนวิจัยและนวัตกรรม

บพข. ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ขอรับ การจัดสรรทุนวิจัยและนวัตกรรมและผู้ได้รับการจัดสรรทุนวิจัยและนวัตกรรม โดยมีนโยบายและมีความมุ่งมั่นรับผิดชอบในการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล และปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานอันเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ดังนั้น เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าข้อมูลส่วนบุคคลได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย สอวช. จึงได้จัดทำประกาศเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว เพื่อแจ้งให้ทราบถึงรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการเก็บรวบรวมการใช้ และการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลตาม QR Code นี้

ผู้รับทุนต้องศึกษารายละเอียดและทำความเข้าใจเนื้อหาของสัญญาเพื่อรับรู้สิทธิและหน้าที่ของตนที่ต้องปฏิบัติตามสัญญาอย่างเคร่งครัด ดังต่อไปนี้

  • เงื่อนไขของสัญญา
  • ขอบเขตของการดำเนินงานโครงการ
  • ข้อตกลงสนับสนุนด้านการเงิน
  • การจัดทำและการส่งมอบรายงานการดำเนินงานโครงการ และ/หรือ ผลงานวิจัยอื่น ๆ
    ของโครงการ (ถ้ามี)
  • รายละเอียดทรัพย์สินทางปัญญาที่มีมาก่อนหน้าและเกี่ยวข้องกับโครงการ
  • สิทธิในผลงานวิจัยและนวัตกรรมของโครงการ
  • เอกสารประกอบของคู่สัญญา

หากโครงการเป็นการวิจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับมนุษย์ โครงการต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการพิจารณาจริยธรรมการศึกษาวิจัยในคนระดับสถาบัน (Institutional Review Board) ก่อนดำเนินการวิจัย หรือหากโครงการเป็นการวิจัยในสัตว์ทดลองจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ระดับสถาบัน (Institutional Review Board) ก่อนดำเนินการวิจัยในสัตว์ทดลองดังกล่าว เช่นกัน และต้องจัดส่งสำเนาเอกสารที่แสดงว่าได้รับความเห็นชอบดังกล่าวให้แก่ผู้ให้ทุนล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 (สามสิบ) วัน ก่อนดำเนินการวิจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับมนุษย์ หรือการวิจัยในสัตว์ทดลองดังกล่าว

บพข. จะโอนเงินออกจากบัญชีของธนาคารกรุงไทย เพื่อลดภาระในการจ่ายค่าธรรมเนียมธนาคาร ดังนั้นในการโอนเงินขอความร่วมมือผู้รับทุนใช้บัญชีธนาคารกรุงไทย

เมื่อผู้รับทุนได้รับการโอนเงินแล้ว ให้ออกใบเสร็จรับเงินเพื่อเป็นหลักฐานการรับเงินในนามนิติบุคคล ให้แก่ บพข. และต้องเบิกจ่ายเงินให้หัวหน้าโครงการโดยเร็ว เพื่อไม่ก่อให้เกิดความล่าช้าต่อการดำเนินการวิจัย ทั้งนี้เพื่อให้สะดวกและง่ายต่อการจัดทำรายงานการเงินของโครงการ หากหน่วยงานผู้รับทุนไม่มีระบบที่สามารถจัดทำรายงานการเงินรายโครงการได้ ขอให้นักวิจัยเปิดบัญชีแยกรายโครงการเพื่อรับเงินงบประมาณของโครงการจากต้นสังกัดสำหรับใช้ดำเนินโครงการวิจัย และไม่โอนเงินงบประมาณของโครงการเข้าบัญชีส่วนตัว เมื่อมีเงินงบประมาณของโครงการคงเหลือ โครงการจะต้องรายงานให้กับ บพข. ทราบและต้องโอนเงินคงเหลือของโครงการคืน บพข. ภายใน 30 (สามสิบ) วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจาก บพข.

หมายเหตุ : ถ้า “ผู้รับทุน” ใช้บัญชีรับเงินงวดโครงการที่ไม่ใช่ธนาคารกรุงไทย หากเงินงวดนั้นๆ เกิน 2 ล้านบาท ระบบการโอนเงินจะแบ่งเงินงวดออกเป็นครั้งละไม่เกิน 2 ล้านบาทโดยอัตโนมัติ แต่ในการออกใบเสร็จรับเงิน “ผู้รับทุน” สามารถใช้ใบเสร็จที่เป็นยอดรวมของเงินงวดโครงการงวดนั้นๆ ได้

กรณีผู้รับทุนเป็นภาคเอกชน ให้เปิดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์หรือบัญชีกระแสรายวัน ธนาคารกรุงไทย โดยใช้ชื่อบัญชี “ทุนวิจัย บพข. – เลขที่สัญญา” ทั้งนี้ หลังจากที่โครงการได้รับอนุมัติ บพข. จะออกหนังสือขอเปิดบัญชีเงินฝากธนาคารให้แก่ผู้รับทุน เพื่อไปดำเนินการเปิดบัญชี (ตัวอย่างหนังสือขอเปิดบัญชีเงินฝากธนาคาร ตามเอกสารแนบหมายเลข 1)

บัญชีธนาคารที่ บพข. จะรับโอนเงินจากผู้ให้ทุนร่วม

กรณี มีหน่วยงานอื่น เช่น บริษัทเอกชน หรือหน่วยงานรัฐอื่นๆ ให้ทุนร่วมกับ บพข. แก่ “ผู้รับทุน” บพข. มีเจตนารมณ์ในการอำนวยความสะดวกให้กับ “ผู้รับทุน” ในการประสานงานและออก ใบแจ้งหนี้ในการเรียกเก็บเงินงวดกับหน่วยงานให้ทุนร่วม ก่อนส่งเงินงวดต่อให้ “ผู้รับทุน”

ดังนั้น ให้หน่วยงานผู้ให้ทุนร่วม โอนเงินให้ บพข. ที่ชื่อบัญชี “กองทุน ววน. – บพข. โดย สอวช. ประเภทบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 162-0-38378-0 ธนาคาร กรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาจามจุรีสแควร์

เมื่อโอนเงินแล้ว ขอให้แจ้ง บพข. เพื่อออกใบเสร็จรับเงินเป็นหลักฐานการรับเงินต่อไป

ผู้มีอำนาจลงนามต้องเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลตามกฎหมายจัดตั้งนิติบุคคล ดังต่อไปนี้

ก. ผู้มีอำนาจลงนามตามหนังสือรับรองนิติบุคคล

  • สำเนาหนังสือรับรองบริษัทของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พร้อมสำเนาบัตรประชาชนของผู้มีอำนาจลงนาม (รับรองสำเนาถูกต้อง) หรือสำเนาคำสั่งแต่งตั้งเป็นผู้บริหาร/ผู้บังคับบัญชาสูงสุดของหน่วยงานตาม พ.ร.บ.จัดตั้งหน่วยงาน (รับรองสำเนาถูกต้อง)
  • สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.20) (รับรองสำเนาถูกต้อง)

ข. ผู้มีอำนาจลงนามตามหนังสือมอบอำนาจ

  • สำเนาหนังสือรับรองบริษัทของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ หรือสำเนาคำสั่งแต่งตั้งเป็นผู้บริหาร/ผู้บังคับบัญชาสูงสุดของหน่วยงานตาม พ.ร.บ.จัดตั้งหน่วยงาน (รับรองสำเนาถูกต้อง)
  • หนังสือมอบอำนาจ ระหว่างผู้มีอำนาจลงนามตามหนังสือรับรองนิติบุคคล (ผู้มอบอำนาจ) กับผู้รับมอบอำนาจ โดยต้องระบุขอบเขตของการมอบอำนาจและช่วงระยะเวลาของการมอบอำนาจ การอนุญาตให้มอบอำนาจช่วงให้ชัดเจน พร้อมสำเนาบัตรประชาชนของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ (รับรองสำเนาถูกต้อง)
  • สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.20) (รับรองสำเนาถูกต้อง)

เนื่องจาก บพข. ใช้ระบบ digital signature ในการทำสัญญา โปรดศึกษาแนวทางการดำเนินการได้ที่ https://pmuc.or.th/?p=6732

ก่อนลงนามในสัญญาผู้รับทุนต้องตรวจสอบชื่อ นามสกุล ตำแหน่ง สังกัดของผู้มีอำนาจลงนามในสัญญา โดยต้องมีอำนาจลงนาม ณ วันที่ทำสัญญา พร้อมทั้งประทับตราสำคัญของนิติบุคคล (ถ้ามี)

ในกรณีที่มีผู้ให้ทุนร่วมจากหน่วยงานอื่น ขอให้หัวหน้าโครงการประสานงานกับผู้ให้ทุนร่วมเพื่อดำเนินการเรื่องของการลงนามในสัญญาทุกฉบับในฐานะ “ผู้ให้ทุนร่วม” พร้อมพยานผู้ให้ทุนร่วม

กรณีที่ผู้รับทุน มีความจำเป็นจะต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงขอบเขตของการดำเนินงานโครงการ
ในภาคผนวก 2 แนบท้ายสัญญาให้ทุน หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงแผนงาน หรือวิธีการใด ๆ ผู้รับทุนต้องแจ้งให้ บพข. ทราบเป็นหนังสือภายใน 30 (สามสิบ) วัน นับแต่วันที่เกิดอุปสรรคหรือมีความจำเป็นดังกล่าว
โดยต้องดำเนินการก่อนวันสิ้นสุดระยะเวลาของโครงการเท่านั้น

บพข. เป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อการแก้ไขเปลี่ยนแปลงโครงการได้ตามความเหมาะสม และทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะพิจารณายุติการสนับสนุนทุนวิจัย และ/หรือ เงินทุน

โดยหลักการ “ผู้รับทุน” จะดำเนินการและควบคุมดูแลให้หัวหน้าโครงการและผู้ร่วมดำเนินงานโครงการใช้ทุนวิจัย และ/หรือ เงินทุนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการอย่างประหยัด คุ้มค่าและเหมาะสม ตลอดจนจัดเตรียมหลักฐานการรับและการจ่ายเงินทุนให้ถูกต้องครบถ้วน และพร้อมให้ตรวจสอบได้

ในกรณีที่มีผู้ร่วมทำวิจัยหลายหน่วยงาน ให้หัวหน้าโครงการเป็นผู้บริหารจัดการงบประมาณ
ทั้งนี้ “ผู้รับทุน” อาจทำบันทึกข้อตกลงในการทำวิจัยโครงการที่ได้รับทุน กับหน่วยงานที่ร่วมทำวิจัย ที่ระบุหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน พร้อมทั้งงบประมาณ และใช้บันทึกข้อตกลงในการโอนเงินให้หน่วยงานที่ร่วมทำวิจัย
(ตัวอย่างบันทึกข้อตกลงในการทำงานวิจัย กรณีมีหน่วยงานวิจัยร่วมหลายหน่วยงาน ตามเอกสารแนบหมายเลข 2)

เมื่อเกิดปัญหาซึ่งต้องพิจารณาว่าการใช้เงินทุนเพื่อดำเนินงานภายใต้โครงการของหัวหน้าโครงการ
ผู้ร่วมดำเนินงานโครงการ เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการหรือไม่ บพข. จะจัดประชุมหารือ เพื่อหาข้อเท็จจริงด้วยความยุติธรรมและโปร่งใส โดย บพข. จะเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด คำวินิจฉัยของ บพข. ดังกล่าว
ให้ถือเป็นที่สุด

“ทุนวิจัย” หมายความว่า ทุนสนับสนุนโครงการซึ่งรวมทั้งทุนสนับสนุนในลักษณะเป็นเงินสด
(In-cash) และทุนสนับสนุนในลักษณะอย่างอื่นที่มิใช่เงินสด (In-kind) ที่ บพข. ให้แก่ผู้รับทุน (รวมถึงที่ผู้รับทุนสมทบเองด้วย (ถ้ามี))

“เงินทุน” หมายความว่า ทุนสนับสนุนในลักษณะเป็นเงินสด (In-cash) ที่ บพข. ให้แก่ผู้รับทุน (รวมถึงที่ผู้รับทุนสมทบเองด้วย (ถ้ามี))

การใช้จ่ายเงินทุนต้องเป็นไปตาม ระเบียบการเงิน บัญชี และพัสดุของ “ผู้รับทุน” โดยมีแนวทางในการบริหารการเงิน ดังนี้

2.1.1 การเบิกจ่ายต้องมีหลักฐานครบถ้วนโดยใช้ใบเสร็จรับเงินเป็นหลัก

  • ใบเสร็จรับเงินที่เบิกจ่ายภายใต้โครงการได้ จะต้องอยู่ภายในช่วงระยะเวลา
    ตั้งแต่วันเริ่มต้นโครงการจนถึงวันสิ้นสุดระยะเวลาการดำเนินงานโครงการตาม
    ที่ระบุในสัญญา (ตัวอย่าง ใบเสร็จรับเงิน ตามเอกสารแนบหมายเลข 3)     
  • กรณีร้านค้าใช้เป็นบิลเงินสด ต้องระบุชื่อร้านค้า ที่อยู่ และเลขผู้เสียภาษีของร้าน หากข้อมูลดังกล่าวไม่ครบถ้วนต้องแนบสำเนาบัตรประชาชนของผู้รับเงิน
  • กรณีผู้รับเงินเป็นบุคคล ให้ใช้ใบสำคัญรับเงิน พร้อมแนบสำเนาบัตรประชาชนของผู้รับเงิน (ตัวอย่างใบสำคัญรับเงิน ตามเอกสารแนบหมายเลข 4)
  • หากร้านค้าไม่มีใบเสร็จรับเงิน ให้หัวหน้าโครงการจัดทำ ใบรับรองแทนใบเสร็จรับเงิน (ตัวอย่างใบรับรองแทนใบเสร็จรับเงิน ตามเอกสารแนบหมายเลข 5)

2.1.2 การขออนุมัติเบิกจ่ายเงินของโครงการ ต้องได้รับความเห็นชอบจากหัวหน้าโครงการหรือผู้ที่หัวหน้าโครงการมอบหมาย และให้เจ้าหน้าที่การเงินตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนก่อนเสนอให้
มีการสั่งจ่าย

2.1.3 การเดินทางเพื่อทำงานวิจัยในโครงการ ให้ขออนุมัติจากต้นสังกัดของนักวิจัยผู้ที่จะเดินทาง ส่วนอัตราค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ให้เป็นไปตามระเบียบของ “ผู้รับทุน”

2.1.4 จัดทำบัญชีการเงินและเก็บหลักฐานการเบิกจ่ายให้เรียบร้อยเป็นระบบ และพร้อมที่จะให้ตรวจสอบได้ตลอดเวลา (ตัวอย่างการลงบัญชีรายรับ-รายจ่าย ตามเอกสารแนบหมายเลข 6)

2.1.5 จัดทำรายงานการเงินเป็นงวดๆ ตามหมวดที่ระบุไว้ในสัญญา โดยมีรายละเอียดตามที่ บพข. กำหนด ทั้งนี้ ต้องส่งรายงานบัญชี รายรับ-รายจ่าย ตามมาตรฐานทางบัญชีและต้องมีการตรวจสอบโดยผู้ตรวจสอบที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย (ตัวอย่างรายงานสรุปการเงิน ตามเอกสารแนบหมายเลข 7)

2.1.6 ผู้รับทุนที่เป็นภาคเอกชน ควรมีการจัดทำระเบียบการเงิน ระเบียบการจัดซื้อของบริษัท รวมถึง ขั้นตอน กระบวนการอนุมัติใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเงิน การจัดซื้อ และพัสดุของบริษัท

2.1.7 การสนับสนุน “In-cash”

  • In-cash ที่เป็นเงินสนับสนุนจากผู้ให้ทุนร่วมจะโอนเข้า บพข. เพื่อส่งต่อให้ผู้รับทุนใช้ในการดำเนินโครงการ ในกรณีที่ผู้ให้ทุนร่วมมีความประสงค์จะโอนเงินให้ผู้รับทุนโดยตรง จะต้องมีการตกลงกันก่อนทำสัญญาให้ทุน
  • In-cash ที่ผู้รับทุนสมทบเข้ามาเพื่อใช้ในการดำเนินโครงการ ต้องมีใบเสร็จรับเงิน ใบสั่งซื้อ และหลักฐานอื่นๆ ที่แสดงว่าได้มีการใช้จ่ายเงิน

2.1.8 การสนับสนุน “In-kind” เช่น ค่าแรงของบุคลากรของผู้ให้ทุนร่วมหรือผู้รับทุนภาคเอกชน ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการใช้วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องจักร หรือค่าวิเคราะห์ทดสอบ ซึ่งต้องประเมินมูลค่าเป็นตัวเงินและต้องแสดงวิธีการคำนวณค่าใช้จ่ายอย่างสมเหตุสมผล หากมีการจ้างบุคคลภายนอกมาร่วมดำเนินงานวิจัยในโครงการ ให้คำนวณเป็นสัดส่วนภาระงาน (FTE)

ตัวอย่างการคำนวณ ค่าใช้เครื่องจักรและค่าแรงงาน

  • ค่าใช้เครื่องจักร : เครื่องอัดร้อน เวลาที่ใช้ทดลองในโครงการ 50 ชม. มูลค่าเครื่อง 500,000 บาท อายุเครื่อง 10,000 ชม. (หมายถึงอายุที่ใช้คิดค่าเสื่อมราคา ไม่ใช่ความเก่าของเครื่อง)
  • ค่าคนงานช่วยเตรียมวัสดุ : เวลาที่ให้ทำงาน 10 วัน อัตราเงินเดือน 15,000 บาท

หมายเหตุ : ตัวหารในการคำนวณคือ 20 วัน (คิดโดยเฉลี่ย 1 เดือนทำงาน 4 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 5 วัน รวม 20 วัน)

การบันทึกบัญชีรายรับ-รายจ่ายโครงการ จะแบ่งออกเป็นหมวดต่างๆ ตามที่ระบุในสัญญาให้ทุน โดยให้บันทึกตามรายจ่ายที่เกิดขึ้นจริง (ไม่ควรทำการเปลี่ยนใบเสร็จไปลงหมวดอื่นหรือหาวิธีการหลีกเลี่ยงอื่นๆ)

ในกรณีที่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนหมวดงบประมาณ บพข. ไม่อนุญาตให้ทำการถัวเฉลี่ยงบประมาณ แต่หัวหน้าโครงการสามารถเพิ่มหรือลดงบประมาณภายในหมวดค่าใช้สอย หรือหมวดค่าวัสดุได้ไม่เกินร้อยละ 20 ของงบประมาณรายการที่รับเข้า และเพิ่มหรือลดงบประมาณข้ามหมวดระหว่างหมวดค่าใช้สอยกับหมวดค่าวัสดุได้ไม่เกินร้อยละ 15 ของงบประมาณหมวดที่รับเข้า และให้รายงานการเปลี่ยนแปลงหมวดงบประมาณในรายงานความก้าวหน้าของโครงการ ทั้งนี้หากเปลี่ยนแปลงเกินกว่าเกณฑ์ที่ระบุไว้ ให้ทำหนังสือขออนุมัติที่ลงนามโดยผู้มีอำนาจลงนามในสัญญาเพื่อขออนุมัติจาก บพข. ก่อนดำเนินการ

กรณีหากต้องการเปลี่ยนแปลงหมวดค่าตอบแทน ค่าจ้าง ค่าครุภัณฑ์ และค่าธรรมเนียมอุดหนุนสถาบัน (overhead) ต้องทำหนังสือขออนุมัติที่ลงนามโดยผู้มีอำนาจลงนามในสัญญาเพื่อขออนุมัติจาก บพข. ก่อนดำเนินการ

ตัวอย่างการคำนวณ

ตัวอย่างที่ 1 โอนระหว่างรายการภายในหมวดเดียวกันได้ไม่เกินร้อยละ 20 ของรายการที่รับเข้า
งบประมาณหมวดค่าใช้สอยรวม 300,000 บาท 
– ค่าจ้างวิเคราะห์ทดสอบ 200,000 บาท
– ค่าเดินทาง 100,000 บาท
สามารถโอนค่าเดินทางไปยังค่าจ้างวิเคราะห์ทดสอบได้เท่ากับ ร้อยละ 20 x 200,000 = 40,000 บาท

ตัวอย่างที่ 2 โอนระหว่างหมวดได้ไม่เกินร้อยละ 15 ของหมวดที่รับเข้า
งบประมาณหมวดค่าใช้สอย 300,000 บาท
งบประมาณหมวดค่าวัสดุ 500,000 บาท
สามารถโอนหมวดค่าวัสดุไปยังหมวดค่าใช้สอยได้เท่ากับ ร้อยละ 15 x 300,000 = 45,000 บาท

2.2.1 งบบุคลากร

1. หมวดค่าจ้างผู้ช่วยนักวิจัย (เงินเดือน)

หมายถึง การจ่ายเงินเดือนให้แก่ผู้ช่วยนักวิจัยเต็มเวลา ตามคุณวุฒิ ประสบการณ์และอัตราเงินเดือนไม่เกินที่ระบุไว้ในข้อเสนอโครงการที่ได้รับอนุมัติ โดยค่าจ้างแตกต่างจากค่าใช้สอย ตรงที่ค่าจ้างจะจ่ายโดยใช้ เวลา เป็นฐาน (Time-based) เช่น ค่าจ้างผู้ช่วยนักวิจัย ส่วนค่าใช้สอยนั้นจะจ่ายโดยใช้ ชิ้นงาน
เป็นฐาน (Task-based) คือ การเหมาจ่ายเป็นชิ้นงานเมื่อทำเสร็จ

  • การบรรจุบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยนักวิจัยในครั้งแรก จะต้องบรรจุในอัตราค่าจ้างขั้นต้นของตำแหน่งนั้น ๆ เว้นแต่บุคคลนั้น มีประสบการณ์ในการทำงาน
    ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย โดยมีหนังสือรับรองจากที่ทำงานเดิม อาจให้ได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้นตามจำนวนปีที่มีประสบการณ์
  • ผู้ช่วยนักวิจัยที่ปฏิบัติงานดีและปฏิบัติงานมาครบ 1 ปี หากหัวหน้าโครงการ
    มีความประสงค์จะจ้างต่อเนื่อง(เฉพาะโครงการที่มีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่
    2 ปีขึ้นไป) หัวหน้าโครงการสามารถเพิ่มเงินเดือนลูกจ้างได้ โดยมีอัตราเงินเดือนเพิ่มเฉลี่ยไม่เกิน 7 – 10 % (ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม) ทั้งนี้การเลื่อนเงินเดือนสามารถทำได้เฉพาะในกรณีขึ้นสัญญาใหม่และมีการระบุไว้ในข้อเสนอโครงการฉบับทำสัญญาตั้งแต่ต้น
  • นิสิตนักศึกษาที่ช่วยงานในโครงการ หัวหน้าโครงการอาจพิจารณาจ้างเป็นช่วง ๆ ตามระยะเวลาที่ทำงาน หรือจ้างเป็นรายเดือนก็ได้ หากจ้างเป็นรายเดือนให้ใช้เกณฑ์ตามวุฒิขั้นสุดท้ายเป็นอัตราเงินเดือนเต็มคูณด้วยสัดส่วนของเวลาการจ้าง เช่น หนึ่งในสี่ หนึ่งในสาม หรือครึ่งหนึ่งของเวลาทำงาน ตามดุลยพินิจของหัวหน้าโครงการ นิสิตนักศึกษาที่ยังมี Course work อยู่ ไม่ควรคิดเวลาการจ้างเกินครึ่งหนึ่งของเวลาเต็ม นิสิตนักศึกษาที่เรียน Course work ครบแล้ว และทำวิทยานิพนธ์อย่างเดียว สามารถจ้างในสัดส่วนเวลาที่สูงกว่านี้ได้
  • ผู้ช่วยนักวิจัยที่ได้รับค่าจ้างแล้ว ไม่มีค่าล่วงเวลา

หมายเหตุ :

  1. หากมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในหมวดค่าจ้าง ต้องทำหนังสือจาก “ผู้รับทุน” เพื่อขออนุมัติจาก บพข. ก่อน และไม่โอนย้ายเงินจากหมวดอื่นๆ มายังหมวดค่าจ้าง ยกเว้นมีการเปลี่ยนแปลงแผนงานวิจัย ซึ่งส่งผลให้มีผู้ร่วมงานเพิ่มขึ้นหรือปริมาณงานเพิ่มขึ้น โดยจะต้องได้รับการอนุมัติจาก บพข. ก่อนดำเนินการ
  2. การจ่ายค่าจ้างผู้ช่วยวิจัยที่จ้างผ่านต้นสังกัดให้ใช้เอกสารตามระเบียบของต้นสังกัด หากเป็นการจ้างโดยหัวหน้าโครงการให้ใช้ใบสำคัญรับเงิน และสำเนาบัตรประชาชนของผู้รับเงิน
  3. ในการรับเงินค่าจ้างในโครงการ ห้ามมิให้มีการลงนามรับเงินแทนกัน
  4. ผู้ช่วยนักวิจัยและบุคลากรในโครงการที่ได้รับค่าจ้าง จากโครงการวิจัยภายใต้เงินสนับสนุนทุนวิจัยของ บพข. มีหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะต้องแจ้งและเสียภาษีเงินได้ในส่วนนั้นตามกฎหมาย

2.2.2 งบดำเนินงาน

1. หมวดค่าตอบแทน

หมายถึง การจ่ายเงินให้แก่นักวิจัยตามคุณวุฒิ ประสบการณ์ อัตราเงินเดือน ร้อยละของเวลาปฏิบัติงานวิจัยในโครงการ และความรับผิดชอบในโครงการ ไม่เกินที่ระบุไว้ในข้อเสนอโครงการที่ได้รับอนุมัติ ซึ่งสามารถแบ่งเวลามาทำการวิจัยได้ ไม่เสียหายต่องานในความรับผิดชอบประจำ โดยได้รับความยินยอมของต้นสังกัด

  • ค่าตอบแทนนักวิจัยโดยปกติจะจ่ายเป็นรายเดือน ในช่วงเวลาที่นักวิจัยผู้นั้นมีงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการอยู่ ซึ่งอาจเกิดขึ้นเป็นช่วง ๆ และไม่ตลอดระยะเวลาของโครงการก็ได้ (ในบางโครงการมีนักวิจัยหลายสาขา ซึ่งหมุนเวียนกันเข้ามาทำงานกับโครงการเป็นเฉพาะบางช่วง ตามแผนงานที่กำหนด) หรือ หัวหน้าโครงการอาจพิจารณาจ่ายค่าตอบแทนนักวิจัยเป็นงวด ๆ แทนการจ่ายรายเดือนก็ได้ โดยจ่ายเป็นก้อนตามงานที่เสร็จแต่ละงวด เช่น เมื่อส่งรายงานความก้าวหน้าเฉพาะส่วนของตนแล้ว ทุก 3-6 เดือน โดย ตกลงกับผู้ร่วมวิจัยไว้ก่อนล่วงหน้า
  • ค่าตอบแทนนักวิจัยควรหยุดจ่ายชั่วคราว ถ้านักวิจัยผู้นั้นไม่อยู่ปฏิบัติงานเป็นเวลาเกินกว่า 30 (สามสิบ) วัน เช่น ไปอบรมหรือดูงานต่างประเทศในเรื่องซึ่งมิได้เกี่ยวข้องกับโครงการโดยตรง หรือ ไปศึกษาต่อ หรือ หยุดปฏิบัติงานในโครงการด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม หรือเมื่อนักวิจัยไม่ได้ปฏิบัติตามที่ได้ตกลงกันไว้ (ไม่มีผลงานและ/หรือไม่มีรายงานความก้าวหน้าที่มีคุณภาพ) การวินิจฉัยว่าควรจะหยุดจ่ายค่าตอบแทนหรือไม่อย่างไร ให้อยู่ดุลยพินิจของ “ผู้รับทุน” และหัวหน้าโครงการ และหากมีเงินค่าตอบแทนที่เหลืออยู่ให้รายงานต่อ บพข.
  • นักวิจัยที่ได้รับค่าตอบแทนแล้ว ไม่มีค่าล่วงเวลา

หมายเหตุ :

  1. หากมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในหมวดค่าตอบแทน ต้องทำหนังสือจาก “ผู้รับทุน” เพื่อขออนุมัติจาก บพข. ก่อน และไม่โอนย้ายเงินจากหมวดอื่นๆ มายังหมวดค่าตอบแทน ยกเว้นมีการเปลี่ยนแปลงแผนงานวิจัย ซึ่งส่งผลให้มีผู้ร่วมงานเพิ่มขึ้นหรือปริมาณงานเพิ่มขึ้น โดยจะต้องได้รับการอนุมัติจาก บพข. ก่อนดำเนินการ
  2. การจ่ายค่าตอบแทนนักวิจัย หากจ่ายผ่านต้นสังกัดให้ใช้เอกสารตามระเบียบของต้นสังกัด หากเป็นการจ่ายโดยหัวหน้าโครงการให้ใช้ใบสำคัญรับเงิน และสำเนาบัตรประชาชนของผู้รับเงิน
  3. ในการรับเงินค่าตอบแทนในโครงการ ห้ามมิให้มีการลงนามรับเงินแทนกัน
  4. นักวิจัยและบุคลากรในโครงการที่ได้รับค่าตอบแทนจากโครงการวิจัยภายใต้เงินสนับสนุนทุนวิจัยของ บพข. มีหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะต้องแจ้งและเสียภาษีเงินได้ในส่วนนั้นตามกฎหมาย      

2. หมวดค่าใช้สอย

หมายถึง ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการวิจัย ค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อบริการต่างๆ ค่าจ้างในลักษณะที่เป็นงานเหมาต่อชิ้นงาน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าจ้างวิเคราะห์ตัวอย่าง ค่าจ้างผลิตหรือทำอุปกรณ์ ค่าจ้างเหมา ค่าเดินทางระหว่างปฏิบัติงาน ค่าพาหนะ ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าที่พัก เป็นต้น โดยอัตราการใช้จ่ายค่าใช้สอยให้เป็นไปตามระเบียบของหน่วยงานผู้รับทุน

  • ค่าจ้างวิเคราะห์ตัวอย่าง  เป็นการวิเคราะห์ตัวอย่างที่โครงการวิจัยฯ ไม่สามารถวิเคราะห์ได้เอง เช่น การวิเคราะห์ตัวอย่างที่ต้องอาศัยเครื่องมือราคาแพง หรือมีการบริการ ทั้งนี้ให้ระบุชนิดและประเภทการวิเคราะห์  และจำนวนตัวอย่างที่จะวิเคราะห์ รวมทั้งระบุสถานที่ที่นำตัวอย่างไปวิเคราะห์ด้วย  
  • ค่าจ้างเหมา เป็นรายจ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งบริการ รายจ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการดำเนินโครงการในลักษณะเหมาจ่ายเป็นชิ้นงาน หรือจ่ายเมื่อส่งมอบงานเป็นคราว ๆ และรายจ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการที่ไม่เข้าลักษณะรายจ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าจ้างทำอุปกรณ์หรือซ่อมแซมอุปกรณ์ ค่าจ้างในการจัดทำต้นแบบ ค่าจ้างบรรทุกของ ค่าเช่ารถ ฯลฯ ทั้งนี้ ค่าจ้างเหมาบริการ ต้องมีผู้ตรวจรับงานก่อนจ่ายเงิน ซึ่งโดยปกติจะเป็นหัวหน้าโครงการ นักวิจัย หรือคณะกรรมการตรวจรับงาน ลงนามตรวจรับงานในใบเสร็จรับเงินหรือใบสำคัญรับเงิน
  • ค่าเดินทางระหว่างปฏิบัติการในโครงการ เป็นค่าเดินทางเพื่อปฏิบัติงานในโครงการวิจัยฯ ให้แจ้งรายละเอียดต่าง ๆ เช่น ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าเบี้ยเลี้ยง เป็นต้น และควรระบุจำนวนครั้งที่เดินทาง เพื่อใช้ในการเปรียบเทียบกับแผนการดำเนินงาน
  • สำหรับนักวิจัยผู้เข้าร่วมประชุมงานของโครงการไม่มีเบี้ยประชุม ในกรณีที่ผู้เข้าร่วมประชุมบางคนต้องเดินทางมาจากสถานที่ห่างไกล ให้พิจารณาจ่ายเป็นค่าพาหนะเดินทาง และเบี้ยเลี้ยง ตามระเบียบของ “ผู้รับทุน” หรือผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกที่โครงการเชิญเข้าร่วมประชุม จะได้รับค่าตอบแทนในลักษณะค่าประเมินหรือค่าที่ปรึกษา แต่ไม่ใช่เบี้ยประชุม
  • ค่าตอบแทนที่ปรึกษา (เฉพาะโครงการที่มีความจำเป็นต้องมีที่ปรึกษา)ควรจ่ายค่าตอบแทนเป็นรายครั้งที่มาให้คำปรึกษา หรือเมื่อทำงานบางชิ้นให้กับโครงการสำเร็จ หรือตามงานที่ทำจริงในทุกเดือน (คน-วัน (Man-day)) เช่น เมื่อมาประชุมร่วมกับโครงการทุกเดือน โดยค่าตอบแทนที่ปรึกษานี้ ไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เบี้ยเลี้ยง ที่พัก ฯลฯ ของที่ปรึกษา ซึ่งโครงการจะต้องจ่ายให้ต่างหากโดยใช้งบประมาณจากหมวดค่าใช้สอย

หมายเหตุ : เนื่องจาก บพข. มุ่งเน้นการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ดังนั้นไม่สนับสนุนค่าเดินทางไปต่างประเทศเพื่อนำเสนอผลงานวิชาการ

3. หมวดค่าวัสดุ

หมายถึง ค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อ จัดหา วัสดุวิทยาศาสตร์ และ/หรือ วัสดุสำหรับงานวิจัย (ไม่รวมวัสดุสำนักงาน เช่น กระดาษ เครื่องเขียน เป็นต้น) ทั้งนี้ให้ระบุรายละเอียดและแจงรายการเท่าที่จะทำได้ เช่น ค่าสารเคมี เครื่องแก้ว และอาหารเลี้ยงเชื้อ เป็นต้น โดยทั่วไป วัสดุ จะมีมูลค่าไม่สูงและไม่มีลักษณะคงทนถาวร โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

  • วัสดุสิ้นเปลือง หรือ สิ่งของที่มีลักษณะโดยสภาพไม่คงทนถาวร หรือมีอายุการใช้งานไม่ยืนนาน หมดไป หรือเปลี่ยนสภาพไปในระยะเวลาอันสั้น และรวมทั้งสิ่งของที่มีลักษณะการใช้งานยาวนาน ตัวอย่างเช่น อะไหล่เครื่องมือวิทยาศาสตร์ ฯลฯ
  • วัสดุที่มีราคาสูง เช่น อัญมณี โลหะมีค่า ซึ่งจำเป็นต้องซื้อเพื่อใช้ในการทดลอง ต้องมีทะเบียนวัสดุเฉพาะ ซึ่งระบุข้อมูลของวัสดุที่จัดซื้อแต่ละครั้ง เช่น น้ำหนัก ลักษณะรูปถ่าย จำนวน สี และอื่น ๆ และหัวหน้าโครงการลงนามรับรอง
    (ในกรณีมูลค่าไม่เกิน 50,000 บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน)) หรือกรรมการ 3 คน
    ลงนามรับรอง (ในกรณีมูลค่าเกิน 50,000 บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน)) และ
    เมื่อสิ้นสุดโครงการ จะต้องจำหน่ายวัสดุเหล่านี้เพื่อคืนเงินให้แก่ บพข. เว้นแต่จะมีการตกลงกันเป็นอย่างอื่น
  • รายจ่ายดังต่อไปนี้ ให้รวมไปในค่าวัสดุ/อุปกรณ์แล้ว
    1) รายจ่ายเพื่อประกอบ ดัดแปลง ต่อเติม หรือปรับปรุงวัสดุ
    2) รายจ่ายเพื่อจัดหาสิ่งของที่ใช้ในการซ่อมแซมบำรุงรักษาทรัพย์สินให้สามารถใช้งานได้ตามปกติ
    3) รายจ่ายที่ต้องชำระพร้อมกับค่าวัสดุ เช่น ค่าขนส่ง ค่าภาษี ค่าประกันภัย ค่าติดตั้ง เป็นต้น
    4) รายจ่ายสำหรับสัตว์ทดลอง (เช่น หนู กระต่าย) ที่ต้องจัดหามาเพื่อการวิจัยในลักษณะของการทดสอบในสัตว์ หลังการวิจัยแล้วไม่สามารถใช้ประโยชน์ต่อได้

หมายเหตุ : ประเภทและอัตราค่าใช้จ่ายของวัสดุ ครุภัณฑ์ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และอัตราค่าใช้จ่าย ประกอบ การพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี ที่เบิกจ่ายในลักษณะค่าตอบแทน ใช้สอย วัสดุ และค่าสาธารณูปโภคของกองมาตรฐานงบประมาณ 1 สำนักงบประมาณ

4. หมวดค่าจัดทำต้นแบบ

หมายถึง ค่าใช้จ่ายสำหรับทำต้นแบบงานวิจัย ที่เป็นต้นแบบที่ไม่มีผลิตเชิงพาณิชย์ในประเทศ ซึ่งถือเป็นผลงานวิจัย โดยสิ่งของที่จัดหามาเพื่อทำต้นแบบอาจจะมีลักษณะเป็นครุภัณฑ์หรือวัสดุ หรืออาจจะเป็นการจัดจ้าง เพื่อสร้างหรือประกอบตามแบบที่นักวิจัยคิดค้น ดังนั้น การจัดซื้อ-จัดจ้าง ให้เป็นไปตามสภาพสิ่งของและให้เป็นไปตามระเบียบของผู้รับทุน

  • การจัดซื้อวัสดุหรือครุภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อนำมาสร้างหรือประกอบเป็นต้นแบบที่มีสภาพคงทนถาวร ใช้งานได้นานมากกว่า 1 ปีขึ้นไป เมื่อพัฒนาเป็นต้นแบบแล้วให้ผู้รับทุนรายงานต้นแบบดังกล่าวเป็นครุภัณฑ์ของโครงการ ในระบบข้อมูลสารสนเทศวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (NRIIS) เมื่อโครงการเสร็จสิ้น เว้นแต่มีการตกลงให้ต้นแบบเป็นกรรมสิทธิ์ของหน่วยงานอื่น
  • กรณีผู้ให้ทุนร่วม มีความประสงค์จะนำต้นแบบ (เครื่องจักร/อุปกรณ์) ที่เกิดขึ้นในโครงการวิจัยไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ จะต้องสนับสนุนในลักษณะเป็นตัวเงิน (In-Cash) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของหมวดค่าจัดทำต้นแบบ
  • โปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือซอฟต์แวร์ที่มีราคาหน่วยหนึ่งไม่เกิน 20,000 บาท (สองหมื่นบาทถ้วน) ให้เบิกจ่ายในลักษณะค่าวัสดุ (ถ้าเกิน 20,000 บาท (สองหมื่นบาทถ้วน) ถือเป็นครุภัณฑ์)

หมายเหตุ : ให้แยกหมวดค่าจัดทำต้นแบบ ออกจากค่าครุภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ให้ชัดเจน

2.2.3 งบลงทุน

1. หมวดครุภัณฑ์

บพข. มีเจตนารมณ์สนับสนุนงบประมาณสำหรับการทำโครงการวิจัยเท่านั้น ดังนั้น การซื้อครุภัณฑ์ จึงต้องคำนึงถึงความจำเป็น และความเหมาะสม หากมีหน่วยงานอื่นให้บริการการใช้ครุภัณฑ์ดังกล่าว สามารถตั้งงบประมาณการใช้ครุภัณฑ์ไว้ในหมวดค่าใช้สอยได้ ทั้งนี้ ไม่สนับสนุนครุภัณฑ์ที่เป็นเครื่องมือหรืออุปกรณ์สำนักงาน เนื่องจากเป็นครุภัณฑ์ที่หน่วยงานควรจัดหาให้

  • ค่าครุภัณฑ์ หมายถึง ค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อ สิ่งของที่มีลักษณะคงทนถาวร มีอายุการใช้งานประมาณ 1 ปีขึ้นไป และมีราคาหน่วยหนึ่ง หรือชุดหนึ่งมูลค่าตั้งแต่ 10,000 บาท (หนึ่งหมื่นบาทถ้วน)
  • โปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือซอฟต์แวร์ที่มีราคาหน่วยหนึ่งเกิน 20,000 บาท (สองหมื่นบาทถ้วน) ถือเป็นครุภัณฑ์
  • เนื่องจากการอนุมัติครุภัณฑ์มีการอนุมัติเป็นรายการตามที่ระบุไว้ในข้อเสนอโครงการ จึงไม่สามารถถัวเฉลี่ยได้ และงบประมาณคงเหลือจากการจัดซื้อครุภัณฑ์ต้องส่งคืน บพข.
  • ครุภัณฑ์แต่ละรายการให้คำนวณงบประมาณแต่ละรายการให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายอื่นๆ ด้วย เช่น ค่าขนส่ง ค่าภาษี ค่าพิธีการศุลกากร ค่าประกันภัย ค่าติดตั้ง เป็นต้น
  • ครุภัณฑ์ที่ราคาหน่วยหนึ่งมีมูลค่าเกิน 500,000 บาท (ห้าแสนบาทถ้วน) บพข. จะจ่ายให้ตามราคาจริง ภายใน 30 (สามสิบ) วัน นับแต่วันที่ บพข. ได้รับหนังสือขอเบิกจ่ายเงินและใบเสนอราคาจากผู้รับทุนแล้ว
  • ครุภัณฑ์ที่จัดซื้อจากต่างประเทศ ให้ใช้ใบเสร็จรับเงินที่ออกโดยผู้ขายในต่างประเทศ หรือ Proforma invoice ได้ โดยให้เบิกจ่ายตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินที่ทางธนาคารเรียกเก็บ และต้องมีหลักฐานแสดงไว้ด้วย
  • ครุภัณฑ์เพื่อการดำเนินโครงการเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้รับทุน เมื่อสิ้นสุดโครงการแล้ว ให้หัวหน้าโครงการรายงานสรุปรายการและสภาพครุภัณฑ์ของโครงการให้ บพข. ทราบ และให้ผู้รับทุนรายงานครุภัณฑ์ของโครงการ ในระบบข้อมูลสารสนเทศวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (NRIIS) เมื่อโครงการเสร็จสิ้น
  • กรณีครุภัณฑ์ที่จัดซื้อด้วยงบประมาณโครงการที่ภาคเอกชนหรือหน่วยงานอื่น ๆ ร่วมสมทบงบประมาณบางส่วน กรรมสิทธิ์ในครุภัณฑ์ให้ทำความตกลงเป็น ลายลักษณ์อักษรไว้ระหว่างผู้รับทุน และผู้ให้ทุนร่วม ทั้งนี้หากภาคเอกชนหรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่ร่วมสมทบงบประมาณหมวดครุภัณฑ์ มีความประสงค์จะเป็นเจ้าของครุภัณฑ์ดังกล่าว จะต้องสนับสนุนค่าครุภัณฑ์นั้น เป็น In-cash ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50
  • ผู้รับทุนต้องดำเนินการจัดซื้อครุภัณฑ์ในโครงการให้แล้วเสร็จภายใน 6 (หก) เดือน หลังทำสัญญา หากไม่สามารถดำเนินการได้ให้ทำจดหมายแจ้ง บพข. โดยเร็ว

หมายเหตุ :

  1. หัวหน้าโครงการไม่สามารถทำการปรับเปลี่ยนงบประมาณและรายการครุภัณฑ์ตามที่ระบุไว้ในข้อเสนอโครงการที่ได้รับอนุมัติได้ ยกเว้นมีเหตุจำเป็นให้ทำหนังสือจากต้นสังกัดชี้แจงสาเหตุเพื่อขออนุมัติจาก บพข. เมื่อได้รับการอนุมัติแล้วจึงจะปรับเปลี่ยนงบประมาณและรายการหมวดนี้ได้
  2. ถ้ามีการใช้ประโยชน์จากครุภัณฑ์ เช่น ให้บริการ รายได้จากการให้บริการให้เป็นของผู้รับทุน แต่ให้แจ้ง
    ในรายงานความก้าวหน้า
  3. ประเภทและอัตราค่าใช้จ่ายของวัสดุ ครุภัณฑ์ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และอัตราค่าใช้จ่าย ประกอบการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี ที่เบิกจ่ายในลักษณะค่าตอบแทน ใช้สอย วัสดุ และค่าสาธารณูปโภค ของกองมาตรฐานงบประมาณ 1 สำนักงบประมาณ

2.2.4 ค่าธรรมเนียมอุดหนุนสถาบัน

หมายถึง ค่าบำรุงเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการของสถาบัน ซึ่งจัดสรรให้แก่หน่วยงานต้นสังกัดของนักวิจัยในโครงการ ได้แก่ สถาบันการศึกษาทั้งรัฐและเอกชน สถาบันวิจัย หน่วยงานของรัฐ และองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร เป็นจำนวนรวมไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินทุนของโครงการที่ไม่รวม
1) ค่าครุภัณฑ์
2) ค่าตอบแทนนักวิจัยของโครงการพัฒนานักวิจัยหลังปริญญาเอก ปริญญาเอก หลังปริญญาโท และปริญญาโท
3) ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศ
4) ค่าจัดนิทรรศการ

ซึ่งเป็นไปตาม ประกาศ กสว. เรื่อง หลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินอุดหนุนของหน่วยบริหารและจัดการทุนซึ่งได้รับเงินอุดหนุนจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2565 ข้อ 7 วรรค 2 “ทั้งนี้ ค่าบำรุงสถาบันของโครงการ (overhead) เบิกจ่ายไม่เกินร้อยละ 10 ของงบดำเนินงานของโครงการ…” (ความเห็น กสว. จากการประชุมครั้งที่ 9/2565 วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2565)

โดยจะเบิกจ่ายในเงินงวดสุดท้ายภายหลังจากโครงการดำเนินการเสร็จสิ้น ทั้งนี้ หากโครงการที่ดำเนินการไม่แล้วเสร็จตามกำหนดระยะเวลาตามสัญญา และเป็นโครงการผิดสัญญา บพข. จะระงับการเบิกจ่ายเงินงวดสุดท้าย กรณีโครงการที่ดำเนินการไม่แล้วเสร็จตามกำหนดระยะเวลาในสัญญาและได้รับการอนุมัติขยายเวลาสิ้นสุดโครงการ ถือว่า มีสถานะอยู่ระหว่างการดำเนินโครงการ ไม่นับเป็นโครงการผิดสัญญา (มติ กสว. จากการประชุมครั้งที่ 10/2565 วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2565)

  • เงินค่าธรรมเนียมอุดหนุนสถาบันนี้ ให้ใช้ในกิจกรรมทางวิชาการที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการวิจัยให้กับสถาบัน เช่น การพัฒนาบุคลากรเชิงวิชาการทั้งระยะสั้นและระยะยาว การปรับปรุงสถานที่และอุปกรณ์ การสอนหรือการวิจัย หรือสร้างเครือข่ายทางวิชาการทั้งในและระหว่างประเทศ และค่าสาธารณูปโภค เป็นต้น การจัดสรรเงินค่าบำรุงสถาบันให้เป็นไปตามระเบียบของ ผู้รับทุน
  • โครงการวิจัยที่มีงบประมาณรวมมากกว่า 10 ล้านบาท บพข. ขอสงวนสิทธิ์ในการพิจารณาค่าธรรมเนียมอุดหนุนสถาบัน (overhead) เป็นกรณีพิเศษตามลักษณะของโครงการ 
  • หากโครงการมีผู้ร่วมโครงการจากหลายสถาบันหรือหลายหน่วยงาน การจ่ายเงินดังกล่าวจะจ่ายให้แก่หน่วยงานต้นสังกัดของหัวหน้าโครงการเท่านั้น นอกจากจะมีการตกลงกันเป็นอย่างอื่นเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งเมื่อรวมแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของงบดำเนินการโครงการ
  • ผู้ให้ทุนร่วมต้องสนับสนุนค่าธรรมเนียมอุดหนุนสถาบัน (overhead) ให้แก่ผู้รับทุนที่เป็นสถาบันการศึกษาทั้งรัฐและเอกชน สถาบันวิจัย หน่วยงานของรัฐ และองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ในส่วนทุนสนับสนุนในลักษณะเป็นตัวเงิน (In-cash) ของผู้ให้ทุนร่วมเอง

รายงานการเงินที่เสนอต่อ บพข. จะต้องประกอบด้วยข้อมูลที่ครบถ้วน ดังนี้

  • งบประมาณที่ได้รับอนุมัติ (Budget)
  • ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น (Actual Expenditures)
  • เงินทุนที่ได้รับและเงินทุนคงเหลือ (Cash Flow)
  • ประมาณการค่าใช้จ่ายในงวดต่อไป (Estimated Expenditures)
  • ลงนามโดยหัวหน้าโครงการและเจ้าหน้าที่การเงินของโครงการทุกหน้า

กรณีผู้รับทุนเป็นภาคเอกชน นอกจากข้อมูลข้างต้นแล้วต้องส่งรายงานบัญชี รายรับ-รายจ่าย ตามมาตรฐานทางบัญชีและต้องมีการตรวจสอบโดยผู้ตรวจสอบที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย

          การจัดทำรายงานการเงิน ประกอบด้วยเอกสารดังนี้

เอกสารสรุปรายงานการเงินรอบ 6 (หก) เดือน เป็นการแสดงยอดรายรับ-รายจ่าย-เงินคงเหลือของงบประมาณที่ได้รับในแต่ละงวดให้ บพข. ทราบ รวมถึงประมาณการค่าใช้จ่ายงวดต่อไป (ตัวอย่างรายงานสรุปการเงิน ตามเอกสารแนบหมายเลข 7)

ค่าใช้จ่ายที่ประมาณการนี้ จะต้องรวมทั้งค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นใหม่ และค่าใช้จ่ายที่เป็นหนี้ผูกพันมาจากงวดก่อนด้วย เช่น ผู้รับทุนได้จัดซื้อสินค้าและมีหลักฐานการจัดซื้อแล้ว โดยยังไม่ได้ชำระค่าสินค้าเนื่องจากอยู่ระหว่างการจัดส่งของผู้ขาย ให้ถือเป็นค่าใช้จ่ายที่ผูกพันไว้แล้ว (Committed expenditures) ซึ่งต้องรวมในประมาณการค่าใช้จ่ายในงวดต่อไปด้วย

ในการจัดทำรายงานฉบับสมบูรณ์ ให้ผู้รับทุนจัดทำแบบฟอร์มส่วนสนับสนุนอื่น (In-kind) (ตัวอย่างแบบฟอร์มส่วนสนับสนุนอื่น (In-kind) ตามเอกสารแนบหมายเลข 8) 

ภายหลังจากที่ได้ดำเนินโครงการมาระยะหนึ่งแล้ว หากหัวหน้าโครงการและทีมวิจัย หรือ บพข. มีความเห็นว่าแผนงานเดิมที่วางไว้ไม่น่าจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายหลักหรือวัตถุประสงค์ได้ สามารถดำเนินการพิจารณาแผนงานใหม่ให้เหมาะสม ทั้งนี้ ต้องไม่มีการเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้เดิมและระบุอยู่ในสัญญา ในกรณีที่ทางโครงการขอปรับเปลี่ยนแผนงานสามารถทำได้ โดยให้ทำหนังสือลงนามโดยผู้มีอำนาจลงนามในสัญญาถึง บพข. พร้อมทั้งให้เหตุผล และนำเสนอแผนงานใหม่เพื่อทดแทนแผนงานเดิม ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องมีการปรับแผนงบประมาณ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนงานให้ดำเนินการได้ภายใต้กรอบงบประมาณเดิมเป็นหลัก บพข. จะเสนอคณะอนุกรรมการแผนงานพิจารณาความเหมาะสม หากได้รับอนุมัติแล้ว ก็สามารถดำเนินงานได้ตามแผนงานใหม่ได้

ในกรณีที่ บพข. ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าโครงการควรมีการปรับเปลี่ยนแผนงานโดยที่โครงการยังไม่ได้ร้องขอ บพข. จะหารือกับโครงการเป็นกรณีไป

การปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินงาน จะต้องดำเนินการก่อนวันสิ้นสุดระยะเวลาของโครงการเท่านั้น

ผู้รับทุนต้องจัดทำรายงานการดำเนินงานโครงการและส่งมอบรายงานการดำเนินงานโครงการดังกล่าวให้แก่ บพข. โดยแบ่งการส่งมอบเป็น 2 (สอง) ครั้ง ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้

เริ่มตั้งแต่วันแรกของการดำเนินงานโครงการจนถึงวันที่ครบ 6 (หก) เดือน โดยส่งให้ บพข. ภายใน 1 (หนึ่ง) เดือน นับตั้งแต่วันที่ดำเนินงานโครงการครบ 6 (หก) เดือน และเมื่อได้รับความเห็นชอบแล้ว หัวหน้าโครงการต้องดำเนินการรายงานความก้าวหน้าในระบบข้อมูลสารสนเทศวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ National Research and Innovation Information System (NRIIS) (ตัวอย่างแบบฟอร์มรายงานความก้าวหน้า ตามเอกสารแนบหมายเลข 9)

เริ่มตั้งแต่วันแรกของการดำเนินงานโครงการจนถึงวันสิ้นสุดโครงการ โดยส่งให้ บพข. ภายใน 3 (สาม) เดือน นับตั้งแต่วันที่สิ้นสุดโครงการ และเมื่อได้รับความเห็นชอบแล้ว หัวหน้าโครงการต้องดำเนินการรายงานผลการดำเนินงานโครงการในระบบข้อมูลสารสนเทศวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ National Research and Innovation Information System (NRIIS) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สนใจได้ใช้ประโยชน์ นอกจากนี้รายงานดังกล่าวจะถูกแปลงเป็นเอกสารอิเล็กทรอนิกส์และเผยแพร่ผ่าน เครือข่ายอินเตอร์เน็ตต่อไป ยกเว้นเอกสารที่อยู่ในระหว่างการเก็บรักษาเป็นความลับ (สามารถดาวน์โหลดคู่มือการใช้งานระบบข้อมูลสารสนเทศวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ National Research and Innovation Information System (NRIIS) – การรายงานผลการดำเนินงานและปิดโครงการ สำหรับนักวิจัย ได้ที่ https://nriis.go.th/Manual.aspx) (ตัวอย่างแบบฟอร์มรายงานฉบับสมบูรณ์ ตามเอกสารหมายเลข 10)

โดยระยะเวลาการส่งมอบรายงานการดำเนินงานโครงการฉบับสมบูรณ์ มีผลกระทบต่อการจ่ายเงินงวดสุดท้ายของโครงการ ดังนี้

(ก) หากผู้รับทุนส่งมอบรายงานการดำเนินงานโครงการฉบับสมบูรณ์ ภายในระยะเวลาที่กำหนด บพข. จะจ่ายเงินทุนงวดสุดท้ายให้กับผู้รับทุนเต็มจำนวน

(ข) หากผู้รับทุนส่งมอบรายงานการดำเนินงานโครงการฉบับสมบูรณ์ ล่าช้ากว่าระยะเวลาที่กำหนด แต่ไม่เกิน 180 (หนึ่งร้อยแปดสิบ) วัน นับตั้งแต่วันถัดจากวันที่สิ้นสุดระยะเวลาการดำเนินงานโครงการตามสัญญานี้ ให้ถือว่าผู้รับทุนส่งงานล่าช้า ผู้รับทุนยินยอมให้ บพข. ลดเงินทุนงวดสุดท้ายลงครึ่งหนึ่ง

(ค) หากผู้รับทุนส่งมอบรายงานการดำเนินงานโครงการฉบับสมบูรณ์ ล่าช้ากว่า 180 (หนึ่งร้อยแปดสิบ) วัน นับตั้งแต่วันถัดจากวันที่สิ้นสุดระยะเวลาการดำเนินงานโครงการตามสัญญานี้ บพข.
จะระงับการจ่ายเงินทุนงวดสุดท้ายให้แก่ผู้รับทุน

ในกรณีที่เกิดอุปสรรคในการดำเนินโครงการทำให้ไม่สามารถดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลา หรือมีแนวโน้มว่าการดำเนินโครงการจะล่าช้าเกินกว่าที่ระบุไว้ในสัญญา ผู้รับทุนสามารถขอขยายระยะเวลาได้ โดยผู้รับทุนจะต้องแจ้งเหตุผลให้ บพข. และผู้ให้ทุนร่วมทราบเป็นหนังสือ และขออนุมัติขยายระยะเวลาก่อนวันสิ้นสุดระยะเวลาการดำเนินงานโครงการไม่น้อยกว่า 30 (สามสิบ) วัน พร้อมกับเสนอแผนการดำเนินโครงการในช่วงระยะเวลาที่ขอขยาย โดยการขยายระยะเวลาโครงการเป็นอำนาจและดุลพินิจของคณะอนุกรรมการแผนงานฯ

แนวปฏิบัติในการขยายระยะเวลาโครงการ ให้ขยายได้ในแต่ละครั้งไม่เกิน 6 (หก) เดือน และขยายได้โครงการละไม่เกิน 2 ครั้ง กรณีที่มีเหตุและความจำเป็นในการขยายระยะเวลาโครงการทำให้ไม่สามารถยึดแนวปฏิบัตินี้ได้ ให้คณะอนุกรรมการแผนงานฯ พิจารณาตามความจำเป็นและเหมาะสม

ทั้งนี้ การขยายระยะเวลาโครงการในทุกกรณีต้องไม่เกินระยะเวลาการเบิกจ่ายงบประมาณตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในคำรับรองการปฏิบัติตามเงื่อนไขของการอนุมัติงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (MOA) ปีงบประมาณนั้นๆ กรณีที่ได้รับการอนุมัติให้ขยายระยะเวลา ผู้รับทุนจะต้องส่งรายงานการดำเนินงานโครงการฉบับสมบูรณ์ภายในวันสิ้นสุดระยะเวลาการดำเนินงานโครงการที่ได้รับการอนุมัติให้ขยาย หากส่งรายงานฉบับสมบูรณ์ล่าช้ากว่าเวลาที่กำหนด บพข. จะระงับการจ่ายเงินทุนงวดสุดท้ายให้แก่ผู้รับทุน  (ตัวอย่างแบบฟอร์มการขอขยายเวลาโครงการ ตามเอกสารแนบหมายเลข 8)

การขยายระยะเวลาโครงการ จะต้องดำเนินการก่อนวันสิ้นสุดระยะเวลาของโครงการเท่านั้น

หมายเหตุ : บพข. มีสิทธิในการพิจารณาอนุมัติให้ขยายระยะเวลาหรือไม่ก็ได้ โครงการที่ได้รับอนุมัติให้ขยายเวลาจะถือเอาวันสุดท้ายของการขยายเวลาเป็นวันสิ้นสุดระยะเวลาการดำเนินงานโครงการ    

กิจกรรมหนึ่งภายใต้ระบบควบคุมคุณภาพของผลงานวิจัย คือ การติดตามและประเมินโครงการ บพข. จัดให้มีระบบการติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการตามระยะเวลาที่เหมาะสม เช่น ทุก 3 หรือ 6 เดือน

โดยหัวหน้าโครงการต้องส่งรายงาน ความก้าวหน้าและรายงานการเงินมายัง บพข. เพื่อเข้ากระบวนการประเมินตามขั้นตอนต่อไป

กระบวนการประเมินโครงการของ บพข. อาจใช้วิธีการใดวิธีการหนึ่ง หรือหลายวิธีร่วมกัน เช่น
การเยี่ยมชมโครงการ การประชุมนำเสนอผลงานและกำหนดให้มีกระบวนการวิพากษ์ หรือการให้ผู้ได้รับผลประโยชน์หรือผู้ใช้ประโยชน์เป็นผู้ให้ความเห็นเป็นต้น ทั้งนี้ นักวิจัยมีสิทธิ์ในการเห็นพ้องหรือโต้แย้งกับผลการประเมินดังกล่าวได้ แต่อย่างไรก็ตาม ต้องอยู่บนหลักของความถูกต้องทางวิชาการและเหตุผลประกอบ

ในกรณีที่นักวิจัยเห็นพ้องกับผลการประเมินหรือคำแนะนำที่ได้จากการประเมิน นักวิจัยควรนำข้อแนะนำดังกล่าว มาใช้พิจารณาปรับปรุงการดำเนินงานในขั้นต่อไป เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

หากนักวิจัยมีความเห็นขัดแย้งกับข้อเสนอแนะดังกล่าวและไม่ประสงค์จะนำความเห็นหรือข้อแนะนำดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ ก็สามารถทำได้โดยต้องให้เหตุผลประกอบ และเหตุผลดังกล่าวควรมีน้ำหนักเพียงพอที่จะหักล้างคำแนะนำดังกล่าวได้ หรือมีหลักฐานที่อ้างอิงได้ประกอบ และให้นักวิจัยนำความเห็นของ
ผู้ประเมินและความเห็นแย้งของนักวิจัย ใส่ไว้ในภาคผนวกท้ายเล่มรายงานฉบับสมบูรณ์ เพื่อให้ผู้อ่านรายงานนั้นได้ใช้วิจารณญาณของตนในการตัดสินใจ

ด้วยเจตนารมณ์ในการจัดสรรทุนวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและภาคบริการ รวมถึงทุนสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยี การสร้างตลาดนวัตกรรม การส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมในเชิงพาณิชย์ และการพัฒนาแพลตฟอร์มทางนวัตกรรมในภาคการผลิตและภาคบริการ ทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานห้องปฏิบัติการเพื่อการให้บริการด้านคุณภาพและการถ่ายทอดเทคโนโลยี เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมจึงมีหลักเกณฑ์ดังนี้

กรณีไม่มีผู้ให้ทุนร่วม ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ตลอดจนสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาและสิทธิอื่นใดในผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดขึ้นภายใต้การดำเนินงานตามโครงการนี้ ให้ตกเป็นของผู้รับทุน เมื่อผู้รับทุนเปิดเผยผลงานวิจัยและนวัตกรรมต่อ บพข. และแจ้งความประสงค์จะเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมเป็นลายลักษณ์อักษรให้ บพข. ทราบพร้อมทั้งเสนอแผนและกลไกการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมภายในระยะเวลา 1 (หนึ่ง) ปี  นับแต่วันที่ผู้รับทุนเปิดเผยผลงานดังกล่าว

กรณีมีผู้ให้ทุนร่วม ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ตลอดจนสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาและสิทธิอื่นใดในผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดขึ้นภายใต้การดำเนินงานตามโครงการนี้ ให้เป็นไปตามที่ตกลงกันในสัญญา

ทั้งนี้ ผู้รับทุนยังจะต้องเปิดเผยผลงานวิจัยและนวัตกรรมต่อ บพข. และแจ้งความประสงค์จะเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมเป็นลายลักษณ์อักษรให้ บพข. ทราบ พร้อมทั้งเสนอแผนและกลไกการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมภายในระยะเวลา 1 (หนึ่ง) ปี  นับแต่วันที่ผู้รับทุนเปิดเผยผลงานดังกล่าว รวมทั้งปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับ กฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องอีกด้วย

บพข. ให้ความสำคัญกับผู้รับทุน ซึ่งถือว่าเป็นผู้ดำเนินโครงการวิจัยที่มีความใกล้ชิดและเข้าใจรายละเอียดของโครงการวิจัยได้เป็นอย่างดี จึงให้ต้นแบบและผลพลอยที่เกิดขึ้นระหว่างการวิจัยภายใต้โครงการ เป็นไปตามที่ตกลงกันในสัญญา 

หากผู้ให้ทุนร่วมประสงค์ที่จะให้ต้นแบบ (เครื่องจักร/อุปกรณ์) เป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง ผู้ให้ทุนร่วมจะต้องตกลงกับผู้รับทุน โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ให้ทุนร่วม จะต้องสนับสนุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของค่าจัดทำต้นแบบ ทั้งนี้ บพข. จะเป็นผู้พิจารณาในประเด็นนี้เว้นแต่ตกลงกันเป็นอย่างอื่นเป็นหนังสือหรือมีกฎหมายเฉพาะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

* “ผลพลอยได้” หมายถึง สิ่งที่ค้นพบจากกระบวนการทำวิจัย แต่ไม่ใช่ผลผลิตหลักที่เป็นเป้าหมายของโครงการ ให้หมายความรวมถึง ผลพลอยได้ที่คาดหมายได้ (by product) และ ผลพลอยได้ที่ไม่ได้คาดหมาย (serendipity)

กรณีไม่มีผู้ให้ทุนร่วม ผู้รับทุนมีหน้าที่บริหารจัดการและใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมตามแผนและกลไกการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ผู้รับทุนเสนอไว้ต่อ บพข.

กรณีที่มีเหตุผลและความจำเป็น ผู้รับทุนอาจยื่นคำขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงแผนและกลไกการใช้ประโยชน์ดังกล่าวได้ โดยแสดงเหตุที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินการตามแผนและกลไกการใช้ประโยชน์ที่ได้ยื่นไว้ ทั้งนี้ บพข. จะพิจารณาคำขอนั้นโดยเร็ว

ให้ผู้รับทุนเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา หรือ
การปกป้องรักษาสิทธิเหนือทรัพย์สินทางปัญญา 

ในกรณีที่มีผู้ขออนุญาตใช้สิทธิผลงานวิจัยและนวัตกรรม ผู้รับทุนจะต้องทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ หรือสัญญาถ่ายทอดเทคโนโลยี กับผู้ขออนุญาต และต้องรายงานการบริหารจัดการและการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมต่อ บพข. อย่างน้อยปีละ 1 (หนึ่ง) ครั้ง

กรณีมีผู้ให้ทุนร่วม ให้ผู้รับทุนและผู้ให้ทุนร่วมเจรจาตกลงสิทธิและการบริหารจัดการผลงานวิจัยและนวัตกรรมในสัญญา

ทุกฝ่ายสามารถนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดขึ้นภายในโครงการไปใช้เพื่อการศึกษา ค้นคว้า ทดลอง วิจัย ออกแบบหรือพัฒนาต่อยอด โดยฝ่ายที่ดำเนินการต้องแจ้งให้ฝ่ายอื่นทราบเป็นหนังสือภายใน 30 (สามสิบ) วัน นับแต่วันที่ทราบว่าผลงานหรือทรัพย์สินทางปัญญานั้นเกิดขึ้น   

ทุกฝ่ายตกลงให้ฝ่ายที่ดำเนินการได้สิทธิความเป็นเจ้าของในผลงานวิจัยและนวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญาเฉพาะส่วนที่ต่อยอดนั้นแต่เพียงผู้เดียว

การจัดสรรผลประโยชน์ผลงานวิจัยของโครงการที่เกิดขึ้นภายใต้โครงการให้เป็นไปตามข้อตกลงแนบท้ายภาคผนวกนี้ และตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ตลอดจนระเบียบ ข้อบังคับ หรือหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่กำหนดขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายดังกล่าว

ผู้รับทุนต้องจัดให้มีระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หลักเกณฑ์หรือข้อตกลงเกี่ยวกับการจัดสรรรายได้ให้แก่นักวิจัยในกรณีที่มีรายได้จากการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ให้ผู้รับทุนจัดสรรรายได้ให้แก่นักวิจัย ตามระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศหรือหลักเกณฑ์นั้น

บพข. จะดำเนินการโฆษณาเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสารอันเกี่ยวกับผลงานของงานวิจัย ตามวาระและโอกาสที่เหมาะสม โดยใช้สื่อต่างๆ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัย ยกเว้นผลงานวิจัยที่อยู่ในระหว่างการเก็บรักษาเป็นความลับ ทั้งนี้ ผู้รับทุนและหัวหน้าโครงการต้องให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลเพิ่มเติมหรือเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ผลงานดังกล่าวถึงแม้โครงการวิจัยนั้นจะเสร็จสิ้นแล้วก็ตาม

ผู้รับทุนหรือหัวหน้าโครงการสามารถโฆษณาเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสารอันเกี่ยวกับผลงานของงานวิจัย เหล่านั้นได้เช่นกัน ตามความเหมาะสมโดยไม่กระทบต่อทรัพย์สินทางปัญญาของทุกฝ่าย แต่ทั้งนี้ขอให้ระมัดระวังเรื่องผลกระทบจากการเผยแพร่ที่มีผลต่อการขอรับความคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ผลงานนั้น มีโอกาสขอรับสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตรหรือการคุ้มครองทางทรัพย์สินทางปัญญารูปแบบอื่น หากมีข้อสงสัยประการใดให้สอบถาม บพข. ก่อนดำเนินการ

การโฆษณาเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสารอันเกี่ยวกับผลงานของงานวิจัยตามโครงการ ในสิ่งพิมพ์ใดหรือสื่อใดในแต่ละครั้ง ผู้รับทุนหรือหัวหน้าโครงการจะต้องขออนุญาตเป็นหนังสือต่อ บพข.

เมื่อได้รับความเห็นชอบให้เผยแพร่ได้ ผู้รับทุนหรือหัวหน้าโครงการต้องระบุข้อความว่า “หากได้รับความเห็นชอบให้เผยแพร่ได้ ผู้รับทุนหรือหัวหน้าโครงการต้องระบุข้อความว่า “ได้รับทุนวิจัยสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ร่วมกับ (ชื่อบริษัทผู้ให้ทุนร่วม) ซึ่งมี (ชื่อหน่วยงานผู้รับทุน) เป็นผู้ดำเนินงานโครงการ”

หาก บพข. มิได้ตอบรับให้ความเห็นชอบภายในกำหนด 30 (สามสิบ) วัน นับแต่วันที่ได้รับการร้องขอ ให้ถือว่า บพข. ให้ความเห็นชอบแล้ว แต่ถ้าเป็นข้อมูลความลับทางการค้าหรือข้อมูลความลับทางเทคนิคผู้รับทุนหรือหัวหน้าโครงการ จะทำการโฆษณาเผยแพร่ข้อมูลได้ก็ต่อเมื่อได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจาก บพข. เท่านั้น กรณีที่ บพข. เป็นผู้โฆษณาเผยแพร่ข้อมูล บพข. จะอ้างอิงถึงและให้ความสำคัญแก่ผู้รับทุนเช่นกัน ทั้งในรูปแบบของตราสัญลักษณ์ หรือการอ้างถึงชื่อตามโอกาสที่เหมาะสมและเป็นไปได้ ทั้งนี้ ในกรณีของการโฆษณาเผยแพร่ข้อมูลโดยผู้รับทุน หากมีความประสงค์ให้ บพข. ช่วยเหลือก็สามารถทำได้โดยติดต่อกับ บพข. โดยตรง นอกจากนี้ บพข. ขอความร่วมมือจากผู้รับทุนและหัวหน้าโครงการในการส่งข้อมูลด้านการนำผลงานวิจัยของโครงการวิจัยที่ได้รับทุนไปใช้ประโยชน์กลับมายัง บพข. ให้ได้รับทราบด้วย

หากเกิดข้อขัดข้องในการดำเนินโครงการอันสืบเนื่องจากปัญหาทางเทคนิคหรือมีเหตุจำเป็นอื่นระหว่างดำเนินงานโครงการ หรือพบว่ามีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุอื่นโดยผลของกฎหมายหรือคำสั่งของรัฐซึ่งนำไปสู่เหตุขัดข้องและไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการภายในระยะเวลาที่กำหนด

เมื่อปรากฏอย่างชัดแจ้งต่อ บพข. ว่าผู้รับทุนไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการภายในระยะเวลาที่กำหนด และไม่มีเหตุผลใดในการขยายระยะเวลาดำเนินการโครงการ บพข. อาจมีคำสั่งยุติโครงการ โดย บพข. จะมีหนังสือแจ้งให้ผู้รับทุนทราบ และให้ผู้รับทุนรายงานสรุปผลการดำเนินโครงการให้ บพข. ภายในระยะเวลา 30 (สามสิบ) วัน

หากมีเงินทุนคงเหลือจากการดำเนินงานโครงการ ผู้รับทุนจะต้องนำเงินทุนที่เหลือจากการทำวิจัยดังกล่าว มามอบคืนให้แก่ บพข. ภายใน 30 (สามสิบ) วัน นับแต่วันที่ผู้รับทุนได้รับหนังสือแจ้งจาก บพข. 

หากพบว่าผู้รับทุนหรือหัวหน้าโครงการมิได้ปฏิบัติงานด้วยความชำนาญ หรือด้วยความเอาใจใส่ในวิชาชีพเท่าที่พึงคาดหมายได้จากนักวิจัยในระดับเดียวกัน หรือมีเหตุให้เชื่อได้ว่าไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการภายในระยะเวลาที่กำหนดโดยความบกพร่องของผู้รับทุนหรือหัวหน้าโครงการ

เมื่อปรากฏเหตุอย่างชัดแจ้งต่อ บพข. ว่าโครงการไม่อาจแล้วเสร็จตามวัตถุประสงค์และไม่มีเหตุผลใด ในการขยายระยะเวลาดำเนินโครงการให้อีก บพข. อาจมีคำสั่งยุติโครงการ โดย บพข. จะมีหนังสือแจ้งให้ผู้รับทุนทราบ และให้ผู้รับทุนรายงานสรุปผลการดำเนินโครงการให้ บพข. ภายในระยะเวลา 30 (สามสิบ) วัน

กรณีนี้ผู้รับทุนจะต้องคืนเงินสนับสนุนการวิจัยทั้งหมดที่ได้รับไปแล้วเต็มจำนวนให้แก่ บพข. หรือแต่บางส่วนตามที่ บพข. พิจารณา และอาจมีคำสั่งให้ผู้รับทุนส่งมอบครุภัณฑ์ที่ได้มาจากเงินสนับสนุนการวิจัยคืนให้แก่ บพข. ภายใน 30 (สามสิบ) วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ

เมื่อการดำเนินโครงการแล้วเสร็จและรายงานผลการดำเนินงานโครงการฉบับสมบูรณ์ได้รับการประเมินหรือได้รับความเห็นชอบจาก บพข. โดยถูกต้องครบถ้วนเรียบร้อยแล้ว บพข. จะมีหนังสือแจ้งปิดโครงการถึงผู้รับทุน

หากมีเงินทุนคงเหลือจากการดำเนินงานโครงการ ผู้รับทุนจะต้องนำเงินทุนที่เหลือดังกล่าวมามอบคืนให้แก่ บพข. และผู้ให้ทุนร่วมภายใน 30 (สามสิบ) วันนับแต่วันที่ผู้รับทุนได้รับหนังสือแจ้งปิดโครงการจาก บพข.

โดยโอนเงินคืนให้ บพข. ที่ชื่อบัญชี “กองทุน ววน. – บพข. โดย สอวช. ประเภทบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 162-0-38378-0 ธนาคาร กรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาจามจุรีสแควร์

เมื่อโอนเงินแล้ว ขอให้แจ้ง บพข. เพื่อออกใบเสร็จรับเงินเป็นหลักฐานการรับเงินต่อไป

กรณีมีผู้ให้ทุนร่วม ผู้รับทุนจะต้องคืนเงินทุนสนับสนุนการวิจัยให้แก่ บพข. และผู้ให้ทุนร่วมตามสัดส่วนการสนับสนุนเงินทุน โดยวิธีการและขั้นตอนให้เป็นไปตามที่ บพข. กำหนด และนักวิจัยต้องกดแจ้งปิดโครงการในระบบ NRIIS ทั้งนี้ สามารถดาวน์โหลดคู่มือในการรายงานผลการดำเนินงานและปิดโครงการสำหรับนักวิจัยได้ที่ https://www.nxpo.or.th/DownloadManualClose

เมนูปิดโครงการ

หัวหน้าโครงการจะต้องรายงานผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโครงการในระบบข้อมูลสารสนเทศวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ National Research and Innovation Information System (NRIIS) ทุกปีเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง 5 (ห้า) ปี นับแต่วันที่เสร็จสิ้นโครงการ ทั้งนี้ สามารถดาวน์โหลดคู่มือการรายงานผลลัพธ์และผลกระทบหลังเสร็จสิ้นโครงการสำหรับนักวิจัยได้ที่ https://www.nxpo.or.th/DownloadManualImpact

20240423-คู่มือนักวิจัยที่ได้รับทุน-บพข.-ใช้งาน

Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *