ข่าวกิจกรรมผลงานเด่น

อว. – บพข. ร่วมกับ สมาคมผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางน้ำ ประชาสัมพันธ์ผลงานวิจัยโครงการเพื่อเป็นแนวทางต้นแบบการพัฒนาเทคโนโลยีและการบริหารจัดการสำหรับระบบโลจิสติกส์ทางน้ำ

เมื่อวันอังคารที่ 28 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)  แผนงานกลุ่มโลจิสติกส์และระบบราง บพข. ได้เข้าร่วมกิจกรรมประชาสัมพันธ์เผยแพร่นวัตกรรมผลงานวิจัยโครงการ “การบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์การขนถ่ายสินค้าเทกองที่ทุ่นขนถ่ายสินค้ากลางทะเลโดยใช้ระบบสารสนเทศและดิจิทัลแพลตฟอร์ม” แก่ผู้ประกอบการในสมาคมผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางน้ำ เพื่อนำเสนอรายละเอียดผลการดำเนินงานของโครงการ และเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ให้กับสมาชิกของสมาคมฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ เพื่อเป็นแนวทางต้นแบบในการพัฒนาเทคโนโลยีและการบริหารจัดการสำหรับระบบโลจิสติกส์ของประเทศที่ทันสมัย รวมถึงเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่าง บพข. และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เข้าร่วมงานต่อไปได้

กิจกรรมดังกล่าวมี ผศ.ดร.ชาตินักรบ แสงสว่าง ประสานงาน แผนงานโลจิสติกส์และระบบราง บพข. พร้อมกับผู้แทนหน่วยงานจากภาคธุรกิจการขนส่งสินค้าที่ร่วมทุนสนับสนุนการวิจัยกับ บพข. คือ คุณวรเทพ สุวจนกร นายกสมาคมผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางน้ำ และ รองประธานกรรม บริษัท เอส.พี.อินเตอร์ มารีน จำกัด และ ศ.ดร.กาญจนา เศรษฐนันท์ หัวหน้าโครงการวิจัย หน่วยงานผู้รับทุนจาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ สมาคมผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางน้ำ ร่วมจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์เผยแพร่นวัตกรรมผลงานวิจัยโครงการ ณ ห้องประชุม สมาคมผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางน้ำ โกลเด้นท์วิลล่า หมู่ที่ 1 ถ.เอกชัย ต.นาดี อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร

ทั้งนี้ ผศ.ดร.ชาตินักรบ แสงสว่าง ได้กล่าวถึงที่มาในการส่งเสริมการวิจัยโครงการ “การบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์การขนถ่ายสินค้าเทกองที่ทุ่นขนถ่ายสินค้ากลางทะเลโดยใช้ระบบสารสนเทศและดิจิทัลแพลตฟอร์ม”ภายใต้แผนงาน N10 (S1P6) การพัฒนาเทคโนโลยีและการบริหารจัดการสำหรับระบบโลจิสติกส์ของประเทศที่ทันสมัย และได้มาตรฐานสากลของ บพข. ให้สมาชิกสมาคมผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางน้ำ และผู้เข้าร่วมการประชุมสัมมนาได้รับทราบ ร่วมกับชี้แจงถึงพันธกิจ บพข. ในการทำหน้าที่จัดสรรทุนวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและภาคบริการ โดยการสนับสนุนทุนวิจัยดังกล่าว ได้มุ่งเน้นการสนับสนุนแผนงานที่มีความร่วมมือหรือการร่วมลงทุนกับผู้ใช้ประโยชน์ อาทิ SMEs และภาคอุตสาหกรรม โดยในโครงการนี้ได้มี บริษัท เอส.พี.อินเตอร์ มารีน จำกัด เป็นผู้ให้ทุนร่วมกับ บพข. ในการจัดสรรทุนวิจัยให้กับคณะนักวิจัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ศ.ดร.กาญจนา เศรษฐนันท์ ได้ให้ข้อมูลรายละเอียดผลการดำเนินงาน ภายใต้กิจกรรมประชาสัมพันธ์เผยแพร่นวัตกรรมผลงานวิจัยโครงการ “การบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์การขนถ่ายสินค้าเทกองที่ทุ่นขนถ่ายสินค้ากลางทะเลโดยใช้ระบบสารสนเทศและดิจิทัลแพลตฟอร์ม” ในครั้งนี้ว่า โครงการนี้ได้ทำการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับ การตรวจวัดอัตราการใช้พลังงานในการขนถ่ายสินค้าเทกอง และการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่อย่างเป็นปัจจุบัน (Real time) ซึ่งเป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการสามารถทราบปริมาณการผลิตไฟฟ้าของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า และอัตราการใช้พลังงานไฟฟ้าของเครนแต่ละตัวในการขนถ่ายสินค้าแต่ละชนิด ที่สามารถนำข้อมูลมาวางแผนการขนถ่ายสินค้าได้อย่างถูกต้อง และรวดเร็วต่อการดำเนินงานทางธุรกิจ รวมทั้งการใช้ระบบซอฟต์แวร์ในการจัดลำดับการขนถ่ายสินค้าของเรือ ในการนำเข้า/ส่งออกสินค้าเทกอง ที่จะทำให้สถานประกอบการสามารถทำการวางแผนล่วงหน้าได้คราวละหลายคาบเวลา (multi-period scheduling) เพื่อสนับสนุนการขนถ่ายสินค้าเทกองให้มีประสิทธิภาพสูงสุดทั้งด้านปริมาณสินค้า อัตราการใช้พลังงาน และระยะเวลาในที่ใช้ในการขนถ่ายสินค้า รวมถึงระบบฐานข้อมูล (Database) สำหรับวิเคราะห์ข้อมูลอัตราการใช้พลังงานขนาดใหญ่ (Big data) และระบบ Monitoring and Tracking system ที่สามารถปรับปรุงข้อมูลตัวชี้วัดด้านโลจิสติกส์ให้เป็นปัจจุบัน (Real time) ได้

ด้าน นายวรเทพ สุวจนกร นายกสมาคมผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางน้ำ และผู้บริหาร บริษัท เอส.พี.อินเตอร์ มารีน จำกัด ได้กล่าวว่า การให้ความสำคัญกับการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์พลังงานทั้งในหน่วยงานของตนเอง และหน่วยงานของสมาคมฯ เป็นสิ่งที่จะช่วยให้เกิดการส่งเสริมการสร้างเครือข่ายด้านอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่งทางน้ำได้อย่างเป็นรูปธรรม จากต้นแบบการดำเนินงานที่ บริษัท เอส.พี.อินเตอร์ มารีน จำกัด ได้เริ่มดำเนินการสำหรับโครงการนี้ ตั้งแต่ปี 2566 เพื่อจัดทำแผนการอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่งในหน่วยงานของบริษัทฯ ดังนั้น โครงการนี้ จะเป็นประโยชน์ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับการตรวจวัดอัตราการใช้พลังงานในขนถ่ายสินค้าเทกอง และการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่อย่างเป็นปัจจุบัน ด้านการใช้ระบบซอฟต์แวร์ในการจัดลำดับการขนถ่ายสินค้าของเรือ ในการนำเข้า/ส่งออกสินค้าเทกอง และ ด้านการพัฒนาระบบฐานข้อมูล (Database) สำหรับวิเคราะห์ข้อมูลอัตราการใช้พลังงานขนาดใหญ่ (Big data) และระบบ Monitoring and Tracking system ที่สามารถปรับปรุงข้อมูลตัวชี้วัดด้านโลจิสติกส์ให้เป็นปัจจุบัน (Real time) ซึ่งสามารถเกิดประโยชน์ และเป็นต้นแบบนำร่องให้กับเครือข่ายสมาชิกของสมาคมผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางน้ำต่อไปได้

ทั้งนี้ จากการดำเนินงานฯ คณะวิจัย พบว่าการพัฒนาต้นแบบซอฟต์แวร์เพื่อสนับสนุนการขนส่งและขนถ่ายสินค้าเทกองในการบริหารเรือสินค้าและจัดสรรทุ่น และเครนที่เหมาะสม สามารถช่วยให้เกิดการลดการใช้พลังงานได้ร้อยละ 5.83 ลดเวลาการขนถ่ายร้อยละ 12.52 นอกจากนี้ จากการติดตั้งเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับการวัดตรวจวัดอัตราการใช้พลังงานในขนถ่ายสินค้าเทกอง และจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) อย่างเป็นปัจจุบัน (Real time) ในรูปแบบระบบ Monitoring and Tracking system ทำให้สามารถวิเคราะห์ประสิทธิภาพของเครื่องจักรอุปกรณ์ที่ใช้ในการขนถ่ายได้อย่างถูกต้อง โดยพบว่าสถานประกอบการมีศักยภาพในการลดต้นทุนด้านพลังงานลงได้โดยการปรับปรุงระบบเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพต่ำให้มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ศักยภาพการลดต้นทุนด้านพลังงานโดยการปรับปรุงระบบเครื่องจักรและอุปกรณ์ ได้แก่ 1) ด้านศักยภาพการลดต้นทุนจากการปรับปรุงเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ซึ่งพิจารณาค่า kWh/ลิตร ที่เพิ่มขึ้น จะทำให้สามารถลดการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าได้ถึงร้อยละ 11.13 และ 2) ด้านศักยภาพการลดต้นทุนจากการบริหารจัดการและปรับปรุงการทำงาน เพื่อเพิ่มศักยภาพการลดการใช้พลังงานของเครน โดยดำเนินการตรวจสอบประสิทธิภาพของตัวเครนเอง และทักษะการขับขี่ของบุคลากรที่ขับเครน ซึ่งทำให้สามารถลดปริมาณการใช้พลังงานได้ถึงร้อยละ 32.28

จากการดำเนินงานร่วมกับผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ของบริษัท เอส.พี.อินเตอร์ มารีน จำกัด ในโครงการนี้ สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการสนับสนุน และส่งเสริมผู้ประกอบการภาคการขนส่งทางน้ำในการดำเนินมาตรการ และพัฒนาระบบฐานข้อมูล (Database) ในการวิเคราะห์และจัดการข้อมูลการขนถ่ายสินค้า เพื่อให้เกิดการประหยัดพลังงาน และสามารถส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่งสินค้าทางน้ำให้กับผู้ประกอบการรายใหม่ต่อไปได้

Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *