ข่าวผลงานเด่นอาหารมูลค่าสูง

PMUC Pilot Plant EP3 – บพข. สนับสนุน ม.อ. พัฒนาโรงงานต้นแบบสำหรับการแปรรูปอาหาร ที่ได้ GMP เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์อาหารทะเลภาคใต้จากการวิจัยสู่เชิงพาณิชย์

ผู้ประกอบอาหารภาคใต้ฟังทางนี้! สถาบันวิจัยและนวัตกรรมอาหาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีบริการให้เช่าห้องแลปและเครื่องมือเพื่อพัฒนาสารสกัด/Food ingredients อย่างครบวงจร พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชนและอุตสาหกรรม

มูลค่าทางการตลาดของผลิตภัณฑ์สารสกัด และ Food ingredients ยังคงมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยเทรนด์การบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพของผู้คนในปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดผู้ประกอบการใหม่ทั้งระดับเล็ก กลาง และใหญ่ ที่ให้ความสนใจในตลาดสารสกัด มีการวิจัยและพัฒนาสารสกัด และ Food ingredients ใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เครือข่าย Innovation Hub ทางด้านเกษตรและอาหาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่มีความพร้อมทางด้านผู้เชี่ยวชาญและผลงานวิจัยที่พร้อมต่อยอดในด้านเทคโนโลยีการสกัดเพื่อพัฒนา Food ingredients จากวัตถุดิบในท้องถิ่นภาคใต้ และการใช้ประโยชน์เศษเหลืออาหารทะเล เพื่อปรับปรุงคุณภาพและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์อาหารทะเลภาคใต้ และถ่ายทอดองค์ความรู้ดังกล่าวแก่ผู้ประกอบการด้านอาหารของภาคใต้ที่ต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่ตลาด ซึ่งการนำผลงานวิจัยไปต่อยอดสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์นั้น จำเป็นต้องมีการศึกษาสภาวะในระดับการขยายสเกลในการผลิต เพื่อทดสอบผลิตผลิตภัณฑ์ ทดสอบตลาด ก่อนวางจำหน่ายจริง และจำเป็นต้องมีการพัฒนาอุปกรณ์และเครื่องมือในการให้บริการ R&D ที่ทันสมัย ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

เพื่อต่อยอดผลงานวิจัยสู่การขยายสเกลและยกระดับงานวิจัยด้านสารสกัด ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ บพข. ได้สนับสนุนทุนในการพัฒนาโรงงานต้นแบบการแปรรูปที่ได้ GMP เพื่อทำผลิตภัณฑ์ต้นแบบจากการวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ โดยได้สนับสนุนงบประมาณในการจัดซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์กว่า 15 รายการ ให้แก่ สถาบันวิจัยและนวัตกรรมอาหาร (Food Innovation and Research Institute) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อพัฒนาระบบการให้บริการวิจัยแก่ภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ และพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในการวิจัยในระดับบขยายสเกล อาทิ เครื่องเอกซ์ทรูเดอร์ชนิดสกรูคู่ (Twin-screw Extruder) เครื่องบรรจุถุงแนวตั้งแบบกึ่งอัตโนมัติ และชุดเปลี่ยนขนาดถ้วย-ถาดระบบ Vacuum ชุดเครื่องมือในการบดลดขนาดวัตถุดิบและอนุภาคผงสารสกัดที่ระดับต่าง ๆ ตามความต้องการที่เหมาะสมแต่ละผลิตภัณฑ์ ชุดเครื่องมือในการเตรียมตัวอย่าง เช่น บีบกัด ลดความชื้น ทำแห้ง แยกอนุภาคสารจากของเหลว ชุดเครื่องมือในการสกัดขนาดสเกลใหญ่ขึ้น เช่น Microwave extraction ขนาด 20 ลิตร ชุดเครื่องมือในการแยกและทำบริสุทธิ์สารด้วยเทคนิคโครมาโตกราฟฟี ขนาด 30 – 100 ลิตร ชุดเครื่องมือในการขึ้นรูปอัดเม็ด และเครื่องมือในการบรรจุผลิตภัณฑ์สารสกัด เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นเครื่องมือที่มีความจำเป็นสำหรับการพัฒนาเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์อาหารจากวัตถุดิบในท้องถิ่น และสารสกัดจากส่วนเหลือวัตถุดิบอาหารทะเลและพืชสนุนไพรท้องถิ่น เพื่อพัฒนาสูตร ขึ้นรูปผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์อาหารแบบขนมขบเคี้ยวที่หลากหลาย ซึ่งเป็นที่ต้องการของผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากยังไม่มีเครื่องมือเครื่องจักรในระดับ Pilot scale ที่สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ต้นแบบสำหรับทดสอบตลาด

โดยทางสถาบันฯ ได้เปิดให้บริการใช้ห้องแลปพร้อมเครื่องมือและอุปกรณ์เหล่านี้ พร้อมทั้งมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการภาคเอกชนที่สนใจ เพื่อเชื่อมโยงให้เกิดการพัฒนาต่อยอดผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ร่วมกับผู้ประกอบการ เป็นการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการให้มีความรู้ สามารถเข้าถึงข้อมูลความรู้ด้านเทคโนโลยีกระบวนการผลิต มีความรู้ด้านระบบมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารในระดับสากล และการสร้างช่องทางการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการภาคใต้ในการสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มจากวัตถุดิบในท้องถิ่น เพิ่มผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์จากผลงานวิจัยและการจับคู่ทางเทคโนโลยี และเพื่อเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการอาหารทั้งระดับ Start-up, SMEs และวิสาหกิจชุมชนของภาคใต้ ให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดระดับ AEC และนำไปสู่สร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมอาหารภาคใต้ให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก

ผู้ประกอบการที่สนใจใช้บริการ สามารถดูรายละเอียดค่าบริการและติดต่อขอใช้บริการได้ที่ 

Website: www.firinpsu.org
E-mail: firin.psu@gmail.com

Facebook: สถาบันวิจัยและนวัตกรรมอาหาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (https://www.facebook.com/profile.php?id=100063522612097)

Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *