ผลงานเด่น

Crane Simulation ระบบฝึกใช้เครนแบบเสมือนจริง

รถปั้นจั่น หรือรถเครน  คือ อุปกรณ์สำคัญสำหรับงานก่อสร้าง หรือโรงงาน ที่ต้องใช้การขนย้ายสิ่งของ หรือวัสดุที่มีขนาดใหญ่  เช่น การสร้างตึก  สร้างสะพาน  สร้างเขื่อน  การทำเหมืองแร่ หรือแม้แต่ในโรงงานบางประเภท เช่น โรงงานหีบอ้อย โดยข้อมูลระบุว่า ประเทศไทยมีรถปั้นจั่น ขนาดใหญ่กว่า 1 ตัน ที่จดทะเบียนใช้งานอยู่กว่า 20,000 คัน โดยในการใช้งานเครื่องจักรขนาดใหญ่เช่นนี้ กฎหมายกำหนดให้ผู้ทำหน้าที่บังคับรถปั่นจั่นจะต้องผ่านการอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติเป็นเวลา 18-24 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังต้องมีการกลับมารับการฝึกทบทวนทักษะความรู้ทุก 2 ปี แต่ปัญหาคือจำนวนของผู้ผ่านการอบรมและได้รับใบอนุญาตให้บังคับรถปั้นจั่นทั่วประเทศมีอยู่ประมาณ 1 หมื่นกว่าคนเท่านั้น  ซึ่งหมายความว่าทุก 2 คันของรถปั้นจั่นที่ทำงานอยู่นั้น ที่จะมีเพียง 1 คัน ที่มีคนขับผ่านการอบรมอย่างถูกต้อง   

“เนื่องจากคนที่อบรมต้องจ่ายเงินประมาณ 25,000 – 35,000 บาทต่อคน ทำให้คนที่มาอบรมจริง ๆ จะเป็นคนของผู้ประกอบการรถเครนขนาดกลางและขนาดใหญ่มีอยู่ประมาณ 250 รายเท่านั้น ส่วนผู้ประกอบการรายย่อยที่มีรถเครนแค่ 1-2 คัน จะใช้การจ้างคนที่ขับรถเครนเป็นมาฝึกสอนให้ โดยเช่าหรือซื้อรถเครนราคาถูกจากจีนมาใช้ฝึก ซึ่งแม้จะมีค่าใช้จ่ายลดลง แต่ก็เป็นความเสี่ยงหลายประการ ทั้งการได้ผู้สอนไม่เก่งจริงหรือไม่มีทักษะในการสอน กับโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุขณะฝึกเป็นไปได้สูง”  คุณคลาส เจริญรัชเดช  จากบริษัท เดอะ คลาส อิน จำกัด ผู้ประกอบกิจการโรงเรียนสอนขับรถเครน ให้ข้อมูล

คุณคลาส เจริญรัชเดช

นั่นจึงเป็นที่มาของโครงการเครื่องจำลองฝึกสอน Crane Simulation (ระบบขับเครนเสมือนจริง) โดยการสนับสนุนของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)  ที่มีวัตถุประสงค์สำคัญคือ การสร้างระบบขับเคลื่อนและควบคุมรถเครนแบบเสมือนจริง (Crane Simulator) ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับการฝึกสอนการบิน   

“การฝึกด้วยเครนของจริงนั้น จะมีความเสี่ยง  2  ด้านคือ ความเสี่ยงด้านต้นทุนที่รถเครนจะมีค่าบริการที่นำไปปล่อยเช่าได้ ถึงวันละ 15,000 ขึ้นไปต่อวัน ทำให้การนำเครื่องจักรจริง มาใช้ในการเรียนการสอน เป็นการลดรายได้ของบริษัทเขา และสอง ความเสี่ยงจากความเสียหายในการฝึก เพราะการฝึกบางสถานการณ์นอกจากจากมีผลต่อความเสื่อมอายุของอุปกรณ์แล้ว ยังมีโอกาสเกิดความผิดพลาดทางการควบคุม จนนำไปสู่อุบัติเหตุ นำไปถึงความเสียหายต่อ เครื่องจักร หรือ ชีวิต  ซึ่งเครื่องฝึกจำลองขึ้นจะช่วยแก้ข้อจำกัดตรงนี้ได้” คุณคลาส กล่าวถึงที่มาของโครงการ

รศ.อนุพงศ์ สรงประภา  หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยเครื่องมือทางการแพทย์และสิ่งแวดล้อม (MERL) ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์  สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในฐานะผู้ร่วมพัฒนา ซึ่งรับผิดชอบการผสานใช้องค์ความรู้ด้านระบบกลไกอัตโนมัติ เซนเซอร์ และการออกแบบบทเรียนความจริงเสมือน (Virtual Reality) ในการจัดทำระบบจำลองฝึกสอนนี้  กล่าวถึงขั้นตอนการพัฒนาระบบว่า
เริ่มจากการเก็บข้อมูลภาพและขั้นตอนการทำงาน และการเคลื่อนไหวจริงของเครน TADANO รุ่น 25 ตันเป้าหมาย ที่มีการบังคับโดยผู้ขับควบคุมที่มีประสบการณ์สูงในลักษณะต่าง ๆ  เพื่อนำไปออกแบบเครื่องจำลองฝึกสอน ทั้งในส่วนขับเคลื่อนที่เป็นฮาร์ดแวร์ ที่มีอุปกรณ์และฟังก์ชั่นต่างๆ  และส่วนซอฟแวร์ของระบบ ที่ประมวลผลจากบังคับควบคุมของคนฝึกออกมาเป็นภาพเสมือนจริง ปรากฏบนหน้าจอให้ผู้ฝึกได้เห็นและบังคับควบคุมเสมือนกำลังนั่งอยู่บนปั้นจั่นจริงๆ  โดยในเบื้องต้นจะพัฒนาให้มีสถานการณ์ต่างๆ เพื่อให้ผู้รับการฝึกใช้งานในสภาวะที่ใกล้เคียงกับการขับขี่จริง จำนวน 80 สถานการณ์ และฉากจำลองที่สามารถทดสอบสถานการณ์การยกแบบต่างๆ ที่มีเนื้อหารวมกันไม่ต่ำกว่า 40 ชั่วโมง  โดยทั้งหมดนี้เป็นไปตามขั้นตอนการฝึกตามเนื้อหาในประกาศและหลักเกณฑ์ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

Crane Simulation ในช่วงการพัฒนาเบื้องต้น

“เราต้องการให้เครื่องจำลอง สามารถทำให้เกิดการเรียนการสอนของเรามีทั้งความปลอดภัยและมีมาตรฐานใกล้เคียงการฝึกจริง เราจึงออกแบบ Crane Simulation Prototype ที่มุ่งเน้นให้มีการออกแบบโครงสร้างให้คล้ายกับเครนของจริง ซึ่งจะมีระบบการสั่นและเอน โดยการติดตั้งระบบไฮโดรลิกที่สามารถเขย่าเครนขึ้นลง และยังมีระบบหมุนรอบตัว 360 [Swing 360]  มีมอเตอร์ไฟฟ้าเพื่อหมุนเครน รวมถึงระบบจำลองภาพ ในรูปแบบของเกมเสมือนจริง และระบบคอมพิวเตอร์กราฟฟิก ที่จะทำให้ผู้ฝึกได้มีความรู้สึกเสมือนว่าอยู่ในห้องควบคุมของเครนจริงๆให้มากที่สุด   พร้อมกันนั้น เรากำลังมีการพัฒนาระบบ Online Training Simulation เพื่อผู้สนใจทั่วไปสามารถฝึกทางออนไลน์ในการบังคับผ่านเมาส์และคีย์บอร์ดของคอมพิวเตอร์ทั่วไป ก่อนการไปฝึกจริงได้อีกด้วย”

รศ.อนุพงศ์ กล่าวว่า ขณะนี้ทีมวิจัยได้มีการออกแบบวางโครงสร้าง รูปแบบการเรียนการสอน เพื่อให้มีความสนุกสนานและยังมอบความรู้ที่ปลอดภัยและถูกต้องต่อผู้มารับการเรียนรู้ โดยจะแยกเป็นองค์ความรู้พื้นฐานเรื่องความปลอดภัย และองค์ความรู้เกี่ยวกับเครื่องจักร พร้อมทั้งบทเรียนที่ท้าทายการเรียนที่มากขึ้นตามตามชั่วโมงการฝึกฝนที่เพิ่มขึ้น

คุณคลาส ในฐานะของผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า การใช้เครื่อง Crane Simulation เข้ามาช่วยในการฝึกบังคับเครนนี้ ทำให้ชั่วโมงการฝึกปฏิบัติจริงเพิ่มขึ้น โดยมีค่าอบรมอยู่ที่ประมาณ 15,000 บาทต่อคน นอกจากนี้ทางบริษัท ยังมีแผนที่จะผลิตและติดตั้งเครื่อง Crane Simulation ให้กับศูนย์ฝึกอบรมทั้ง 10 แห่ง รวมถึงตั้งเป้าจะจำหน่ายให้กับศูนย์อบรมอื่น ๆ อีก 40 แห่ง  ซึ่งการมีเครื่องจำลองการฝึกเครนจำนวน 50 เครื่อง จะรองรับการฝึกได้ประมาณ 1,500 คนต่อปี  ทำให้สามารถฝึกและออกใบอนุญาตให้กับผู้บังคับรถเครนที่ยังไม่ผ่านการอบรมได้ทั้งหมดภายใน 6 ปี

“เราหวังว่าการพัฒนา Crane Simulation ครั้งนี้ นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อวงการก่อสร้าง และการขนย้ายเครื่องจักร รวมถึงสนับสนุนอุตสาหกรรม BCG ให้มีความปลอดภัยมากขึ้นแล้ว ยังสามารถเป็นโมเดลหรือต้นแบบของธุรกิจการอบรม และธุรกิจการจำหน่ายอุปกรณ์ขับเคลื่อนเสมือนจริงได้อีกด้วย”

Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *