ผลงานเด่น

แก้ปัญหาของเหลือทิ้งกากชีวมวลสาหร่ายสไปรูลิน่า สู่เทรนด์นวัตกรรมอาหารของคนรักสุขภาพ

ผศ.ดร.มณชัย เดชสังกรานนท์ อาจารย์ประจำ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวถึงงานวิจัย โครงการนวัตกรรมอาหารฟังก์ชันและโภชนเภสัชภัณฑ์จากชีวมวลที่เหลือจากการสกัดซี-ไฟโคไซยานินของสาหร่ายสไปรูลิน่า ภายใต้การผลักดันและสนับสนุนทุนวิจัยโดย หนวยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแขงขันของประเทศ (บพข.) โดยระบุว่า ภาพรวมของงานวิจัยชุดนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการตั้งโจทย์เกี่ยวกับการเปลี่ยนวัสดุเหลือทิ้งจากการผลิตให้กลายเป็นทรัพยากรที่มีมูลค่าและศักยภาพเชิงพาณิชย์ 

ผศ.ดร.มณชัย เดชสังกรานนท์ อาจารย์ประจำ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

“นอกจากงานสอนในมหาวิทยาลัยแล้ว พันธกิจหลักอีกอย่างหนึ่งของอาจารย์คือการทำงานวิจัยควบคู่ไปด้วย เราจึงนำองค์ความรู้เดิมที่มีอยู่แล้ว มาใช้ในการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมทางด้านอาหารซึ่งเป็นอัตลักษณ์เด่นของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต โดยได้ร่วมกับผู้ประกอบการ บริษัท มายเฮลตี้ฟู้ด จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตสาหร่ายสไปรูลิน่าขนาดย่อมตั้งอยู่ที่ อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ โรงงานที่นี่มีสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมต่อการเพาะเลี้ยงสาหร่ายสไปรูลิน่า ซึ่งมีความสะอาด ปลอดภัย และมีมาตรฐานที่ทั่วโลกยอมรับ ทั้งในระบบคุณภาพ ทั้ง GMP, HACCP และ Halal สาหร่ายสไปรูลิน่าที่เพาะเลี้ยงขึ้นของที่นี่จะถูกนำไปทำให้แห้งและบรรจุในแคปซูลสำหรับใช้บริโภคเป็นอาหารเสริม สาหร่ายสไปรูลิน่าส่วนหนึ่งจะถูกนำไปสกัดซี-ไฟโคไซยานินสำหรับใช้เป็นสีผสมอาหารและใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ซึ่งในขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการสกัดซี-ไฟโคไซยานินจะเหลือกากชีวมวลสาหร่ายสไปรูลิน่า จึงนำไปสู่งานวิจัยในการต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่ม” 

จากผลการดำเนินโครงการวิจัยดังกล่าว พบว่าสาหร่ายสไปรูลิน่าแห้งจำนวน 100 กรัม หากสกัดซี-ไฟโคไซยานินออกแล้วจะเหลือส่วนที่เป็นกากชีวมวลสาหร่ายสไปรูลิน่ามากกว่า 50% โดยชีวมวลที่เหลือดังกล่าวยังคงมีองค์ประกอบทางชีวเคมีที่สำคัญอีกหลายชนิด อาทิ คาร์โบไฮเดรต และโปรตีน เป็นต้น โดยซี-ไฟโคไซยานิน (C-Phycocyanin) จัดเป็นไฟโคบิลิโปรตีน (Phycobiliprotein) ที่ให้สีฟ้า โดยมีประมาณ 10-15 % ของน้ำหนักสาหร่ายแห้ง มีคุณสมบัติละลายน้ำได้ และเรืองแสงได้ การประยุกต์ใช้ซี-ไฟโคไซยานินเชิงอุตสาหกรรมส่วนใหญ่นำมาใช้ทางด้านอาหาร และเครื่องสำอาง ในแง่ของการใช้เป็นสีธรรมชาติที่ใช้แทนสีสังเคราะห์ รวมถึงการนำไปใช้ในด้านการแพทย์ด้วย

“จากงานวิจัย พบว่าชีวมวลที่เหลือจากการสกัดซี-ไฟโคไซยานินของสาหร่ายสไปรูลิน่ายังคงมีพอลิแซ็คคาไรด์ (polysaccharide) และโปรตีน (protein) ซึ่งสามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง ซึ่งถือว่าเป็นการทำงานวิจัยที่ตอบโจทย์ในด้านการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับของเหลือทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม เพราะหากมองในภาพรวมโรงงานอุตสาหกรรมเองต้องการจะเป็น Zero Waste ซึ่งเป็นแนวทางในการลดขยะตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และพยายามทำให้ขยะจากระบวนการต่างๆ ที่จะถูกนำไปกำจัดเหลือทิ้งน้อยให้ที่สุด

สำหรับโครงการวิจัยดังกล่าว ประกอบด้วยโครงการวิจัยย่อยอีก 3 โครงการ ซึ่งมีแนวคิดที่เหมือนกัน คือการใช้วัตถุดิบเหลือทิ้งจากการสกัดไฟโคไซยานินเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการพัฒนานวัตกรรมอาหารต่างๆ ดังนี้

โครงการย่อยที่ 1 ชื่อโครงการ นวัตกรรมสารสกัดพอลิแซ็กคาไรด์จากชีวมวลที่เหลือจากการสกัดซี-ไฟโคไซยานินของสาหร่ายสไปรูลิน่าและการประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชันและโภชนเภสัชภัณฑ์ เป็นการนำชีวมวลที่เหลือจากการสกัดซี-ไฟโคไซยานินของสาหร่ายสไปรูลิน่ามาสกัดเป็นผงพอลิแซ็กคาไรด์ ( polysaccharide ) เพื่อนำไปใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์อาหารเสริม 

โครงการย่อยที่ 2 ชื่อโครงการนวัตกรรมเครื่องดื่มโปรตีนไฮโดรไลเซทพร้อมดื่มสำหรับผู้สูงอายุจากชีวมวลที่เหลือจากการสกัดซี-ไฟโคไซยานินของสาหร่ายสไปรูลิน่า ซึ่งเป็นการต่อยอดจากโครงการย่อยที่ 1 หลังจากสกัดพอลิแซ็กคาไรด์ นักวิจัยจะนำกากที่เหลือนี้มาพัฒนาให้เป็นผงโปรตีนไฮโดรไลเซท (Protein hydrolysates) ซึ่งผ่านการย่อยให้เป็นเพพไทด์สายสั้นจึงทำให้ดูดซึมได้เร็ว เพื่อนำไปใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ

โครงการย่อยที่ 3 ชื่อโครงการ นวัตกรรมผลิตภัณฑ์เบเกอรี่เพื่อสุขภาพที่ผลิตจากชีวมวลที่เหลือจากการสกัดซี-ไฟโคไซยานินของสาหร่ายสไปรูลินา เป็นการนำชีวมวลที่เหลือจากการสกัดซี-ไฟโคไซยานินของสาหร่ายสไปรูลิน่ามาเป็นส่วนผสมในการผลิต ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ 3 ชนิด ได้แก่ ขนมปัง เค้ก และคุกกี้

ผศ.ดร.มณชัย ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันงานวิจัยดังกล่าวเป็นต้นแบบ Functional Ingredient ที่มีมูลค่าและศักยภาพเชิงพาณิชย์ โดยเปิดโอกาสให้มีการทำงานวิจัย ร่วมกับผู้ประกอบการ ถือเป็นการสร้างจุดเด่นของนวัตกรรมในประเทศ ที่นำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มและแก้ปัญหาของเหลือทิ้งให้กลับมาใช้ประโยชน์และเพิ่มรายได้อีกช่องทางหนึ่งโดยไม่ก่อให้เกิดปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อมและสังคม

“การทำงานร่วมกับผู้ประกอบการครั้งนี้ถือเป็นการนำองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพเข้ามาแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากกากหรือวัสดุเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมอาหารที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยการต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงและมีศักยภาพเชิงพาณิชย์  นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างงานให้กับชุมชนในท้องที่ และเป็นการสร้างนวัตกรรมอาหารเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค เพราะสาหร่ายสไปรูลิน่าถือเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่น่าสนใจ ในอนาคตจะนำงานวิจัยเหล่านี้ไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์โดยเฉพาะกลุ่มคนรักสุขภาพซึ่งเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรงในยุคปัจจุบัน” ผศ.ดร.มณชัย กล่าวทิ้งท้าย

Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *