ผลงานเด่น

“Technology Transfer : RT-PCR ” วิจัย ถ่ายทอด ทางรอดอุตสาหกรรมไทยบนเวทีโลก

ปัจจุบัน การตรวจ RT-PCR คือ การตรวจหาเชื้อ Covid-19 ที่เป็นวิธีมาตรฐานซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำ และใช้กันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากมีความไว ความจำเพาะสูง และเป็นการตรวจที่ใช้ยืนยันผล แต่รู้หรือไม่ว่า เกือบ 100% ของชุดตรวจพร้อมน้ำยาที่ประเทศไทยใช้มานานกว่า 2 ปี เป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ!!

ดร.วรพล รัตนชื่น

ดร.วรพล รัตนชื่น ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและพัฒนากระบวนการผลิต บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด หนึ่งในทีมหัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนาเพื่อผลิตชุดตรวจ SAR-CoV-2 ด้วยวิธี RT-PCR เพื่อความมั่นคงด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) กล่าวว่าโครงการวิจัยนี้เป็นความร่วมมือกับทางนักวิจัยของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งทางเราได้พัฒนาและผลิตเอนไซม์ Reverse Transcriptase (RT) โดยใช้เปลี่ยนตัวสารพันธุกรรม mRNA ของเชื้อ Covid จากตัวอย่างผู้ป่วยให้เป็น DNA ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการทำ RT-PCR ในขณะที่ทางทีมวิจัยจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ที่มีความเชี่ยวชาญในการ detected ไวรัสด้วยวิธี RT-PCR อยู่แล้ว ได้วิจัย พัฒนา และออกแบบไพเมอร์จำเพาะ (Primer) ร่วมกับตัวตรวจจับ (Probe) ทำให้ทีมวิจัยสามารถผลิตชุดตรวจวินิจฉัยเชื้อโรคโควิด-19 ด้วยเทคนิค RT-PCR ขึ้นมาได้สำเร็จ ซึ่งงานวิจัยนี้มีการผลิตชุดตรวจส่งไปให้ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มากกว่า 500,000 Test แล้ว”

การที่บริษัทสัญชาติไทยส่วนใหญ่ที่ไม่สามารถผลิตชุดตรวจโควิดแบบ  RT-PCR ได้ เนื่องจากขาดประสิทธิภาพในการผลิตโปรตีนให้ได้ผลผลิต (Yield) สูงสุด และมีความบริสุทธิ์ (Purify) มากที่สุด ซึ่งส่งผลต่อการผลิตเอนไซม์เองเพื่อลดต้นทุน รวมถึงมาตรฐานของกระบวนการและสถานที่ในการผลิตที่ต้องได้รับมาตรฐาน ISO 13485 ซึ่งเป็นมาตรฐานการผลิตเครื่องมือแพทย์  และต้องได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเครื่องมือแพทย์ในหมวด In-Vitro Diagnostic (IVD) และอีกปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ทำให้ภาคเอกชนมีศักยภาพในการแข่งขันเชิงพาณิชย์ นั่นคือ ความร่วมมือกับทางนักวิจัยจากหน่วยงานรัฐ ซึ่งจะเห็นว่าโครงการวิจัยที่เกิดขึ้นเพียงโครงการเดียว ใช้องค์ความรู้ที่หลากหลาย  ทั้งการผลิตเอมไซม์  การออกแบบ Primer / Probe การผลิตชุดน้ำยาตรวจวินิจฉัยให้ได้มาตรฐาน และการทดสอบชุดน้ำยาฯ เพื่อให้ได้คุณสมบัติตามมาตรฐาน โดยปัจจุบัน บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการใช้ Primer และ Probe มาจาก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และพัฒนาสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์เรียบร้อยแล้ว ในนามผลิตภัณฑ์ ‘COVITECT-1 SARS-CoV-2 Real-time RT-PCR kit’

ผลิตภัณฑ์ ‘COVITECT-1 SARS-CoV-2 Real-time RT-PCR kit’

ดร.วรพล รัตนชื่น เปิดเผยว่า “การที่เราเป็นเจ้าของความรู้ในองค์ประกอบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นปัจจัยสำคัญอีกประการที่ทำให้ต้นทุนการผลิตชุดตรวจที่ผลิตนั้นสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้  และถ้าผลิตในปริมาณที่มากต้นทุนก็จะลดลงไปได้อีก ทั้งนี้ยังต้องคำนึงถึงคุณภาพและประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ที่ต้องผ่านเกณฑ์ทดสอบตามมาตรฐาน และมีสถานที่ผลิตและกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานสากล เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของตลาด ถือเป็นข้อดีที่ได้ร่วมมือกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ซึ่งยินดีให้เรานำองค์ความรู้เหล่านี้มาใช้เพื่อเกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เป็นการลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ  ลดการขาดดุล  และยังเป็นการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีในประเทศ ให้สามารถผลิตและแข่งขันกับผลิตภัณฑ์ของต่างประเทศได้”

โดย ดร.วรพล รัตนชื่น ได้ฝากแนวคิดถึงการรับทุนและทำวิจัยเพื่อต่อยอดในเชิงพาณิชย์ว่า นักวิจัยจำเป็นต้องคิดให้กว้างกว่าสิ่งที่ทำอยู่ในห้องวิจัย นอกเหนือจากองค์ความรู้แล้ว ต้องใส่ใจถึงเรื่องตลาดและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการนำงานวิจัยนั้นไปต่อยอด ถ้านักวิจัยไม่ทราบในส่วนนี้ก็จะทำให้งานวิจัยไม่สำเร็จ   ไม่สามารถทำออกมาในรูปแบบผลิตภัณฑ์ และไม่สามารถขายได้ ซึ่งหมายถึงทุนวิจัยที่ได้รับมาไม่ประสบความสำเร็จนั่นเอง ดังนั้นนักวิจัยควรต้องมี Partner ที่มีความชำนาญทั้งในด้านการวิจัย การผลิต และการตลาด และควรจะมีตั้งแต่แรกเพื่อให้ปลายทางต่างเห็นภาพเดียวกัน

ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.ศันสนีย์ ไชยโรจน์ ประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มสุขภาพและการแพทย์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ให้ความเห็นว่างานวิจัยนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนและสอดรับเป็นอย่างดีในการทำ Technology Transfer จะทำให้เราสามารถผลิตของจากงานวิจัยออกมาขายได้ตรงกับ Value Chain ที่ควรจะเป็น ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ในประเทศไทย เพื่อให้ประเทศสามารถพึ่งพาตัวเองได้และมีขีดความสามารถในการแข่งขันบนเวทีโลก

ศาสตราจารย์ ดร.ศันสนีย์ ไชยโรจน์

“คนไทยโดยเฉพาะสมัยก่อนจะมีแนวคิดในการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ซึ่งแบบนี้เรียกว่า Close Innovation ซึ่งมันถูกพิสูจน์แล้วว่าแข่งกับคนอื่นไม่ได้แม้จะได้ของดีที่สุด เพราะคนอื่นเขาไปถึงตลาดก่อน เราอยากให้นักวิจัยไทยในมหาวิทยาลัยทำความเข้าใจบทบาทของตัวเอง สร้างองค์ความรู้เพื่อเกิดการส่งต่อให้ภาคเอกชนนำไปผลิตต่อ เราเรียกว่า Open Innovation ซึ่งเป็นวิธีการของ Innovation แบบใหม่ ที่คิด ผลิตออกมาใช้ได้ทันเวลา และมีคุณภาพในระดับที่แข่งขันในตลาดได้ เนื่องจากศักยภาพของมหาวิทยาลัยไม่สามารถบริหารจัดการ Facility ต่าง ๆ ให้ได้มาตรฐานสากล ไม่ว่าจะเป็น GMP และ ISO เพราะงานส่วนนี้ต้องใช้งบประมาณสูงและทำอย่างต่อเนื่องจึงจำเป็นที่ต้องให้ภาคเอกชนลงทุน การที่องค์กรของรัฐหรือมหาวิทยาลัยนั้นมีองค์ความรู้ควรยอมให้เกิดการใช้สิทธิ์นั้น เพื่อนำค่าตอบแทนการใช้สิทธิ์มาพัฒนาระบบการวิจัยในหน่วยงานของตนให้เกิดองค์ความรู้ชุดใหม่ ๆ ออกมาเสมอ

Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *