ผลงานเด่น

เปลี่ยนเกษตรเคมีสู่เกษตรปลอดสาร ยกระดับสินค้าเกษตรไทยสู่การแข่งขันระดับโลก

ประเทศไทยเต็มเปี่ยมไปด้วยศักยภาพในการเป็นครัวของโลก เพราะไทยมีความได้เปรียบเรื่องความหลากหลายของทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ และยังมีผลผลิตทางการเกษตรตลอดทั้งปี แต่จนถึงปัจจุบันประเทศไทยก็ยังไม่เคยสามารถก้าวข้ามไปถึงจุดหมายการเป็นครัวของโลกได้อย่างมั่นคง เนื่องด้วยภาพรวมสินค้าการเกษตรของไทยยังไม่ได้มาตรฐาน มีสารพิษตกค้าง สินค้าทางการเกษตรหลายชนิดจึงถูกตีกลับ หรือไม่สามารถส่งออกเพื่อจำหน่ายได้ในหลายประเทศ ส่งผลให้ไทยสูญเสียโอกาสในการสร้างรายได้อย่างมหาศาล 

ด้วยเหตุผลข้างต้น ศ. ดร.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล และทีมนักวิจัย จึงได้ทำโครงการการใช้เทคโนโลยีสีเขียวในการปรับเปลี่ยนเกษตรที่มีสารเคมีตกค้างเป็นเกษตรปลอดสารเคมี เพื่อช่วยยกระดับการทำการเกษตรของไทย และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยไปพร้อมๆ กัน โดยโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากแผนงานกลุ่ม Global Partnership หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) 

ศ. ดร.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล

ศ. ดร.พวงรัตน์ เล่าว่าแม้ประเทศไทยจะสามารถผลิตสินค้าทางการเกษตรได้มาก แต่ผลผลิตของประเทศไทยมีปัญหาสารเคมีตกค้างจากการใช้สารเคมีอย่างเข้มข้นในการทำการเกษตร ทำให้เกิดปัญหาร้ายแรงต่างๆ ตามมา ทั้งปัญหาสารเคมีตกค้างในพื้นที่เพาะปลูกและแหล่งน้ำ ปัญหาสุขภาพของเกษตรกร รวมถึงปัญหาสุขภาพของผู้บริโภค ทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนที่ควรดำเนินการ คือการส่งเสริมให้เกษตรกรไทยปรับเปลี่ยนวิถีการทำการเกษตรที่พึ่งพาสารเคมีมาสู่การทำเกษตรแบบอินทรีย์ เพื่อให้ผลผลิตทางการเกษตรได้มาตรฐานในระดับสากลและลดผลกระทบที่เกิดขึ้น

“จากแนวคิดนี้ คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นในหมู่คณะวิจัยคือ ‘แล้วเราจะช่วยเหลือเกษตรกรที่ต้องการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำการเกษตรได้อย่างไร ถ้าหากพื้นที่โดยรอบยังมีการใช้สารเคมี หรือในพื้นที่แปลงเดิมยังมีสารเคมีตกค้างอยู่’ คำตอบที่เป็นทางออก คือ เราต้องช่วยเหลือเกษตรกรโดยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการปรับสภาพพื้นที่ให้พร้อมก่อนจะเริ่มต้นการทำการเกษตรแบบอินทรีย์ และลดการได้รับสารเคมีจากพื้นที่โดยรอบเข้าสู่แปลงอินทรีย์นั้นๆ

ศ. ดร.พวงรัตน์ อธิบายว่าเทคโนโลยีที่โครงการนำมาใช้แบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ 1) เทคโนโลยีการสำรวจสารเคมีตกค้างในพื้นที่เพาะปลูกและพื้นที่โดยรอบ โดยใช้ การสำรวจข้อมูลระยะไกล (Remote Sensing) และการใช้ UAV (Unmanned Aerial Vehicles) เทคโนโลยีนี้เป็นการสำรวจพื้นที่ผ่านภาพถ่ายมุมสูง เพื่อประเมินพื้นที่การเกษตร ตรวจสุขภาพพืชและความเครียดของพืชผลในแปลงเพาะปลูกทั้งที่มีและไม่มีสารเคมีตกค้าง รวมถึงใช้ในการเปรียบเทียบสภาพพื้นที่ที่มีการใช้สารเคมีกับพื้นที่ที่ไม่มีการใช้สารเคมี เพื่อให้เกษตรกรเห็นภาพความแตกต่างที่เกิดขึ้นกับพื้นที่เพาะปลูกของตนเองและแปลงเกษตรอินทรีย์ได้อย่างชัดเจน 2) เทคโนโลยีการป้องกันการได้รับสารเคมีจากพื้นที่โดยรอบเข้าสู่แปลงเกษตรปลอดสารเคมี โดยการสร้างแนวกันชน เช่น การออกแบบรูปแบบแนวกั้นร่วมกับการใช้จุลินทรีย์ที่อยู่ในรากของต้นแฝก ต้นอ้อ ต้นเนเปียร์ และพืชอื่นๆ ในการดักจับและบำบัดสารเคมีในแหล่งน้ำก่อนเข้าสู่พื้นที่ปลูก และ 3) เทคโนโลยีกำจัดสารเคมีตกค้างในดินและน้ำของพื้นที่เพาะปลูก โดยพัฒนาวัสดุสีเขียวจากชีวมวลเส้นใยธรรมชาติ เช่น การใช้ถ่านไบโอชาร์วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่มีคุณสมบัติสามารถดูดซับสารเคมีในการบำบัดน้ำที่จะไหลเข้าสู่พื้นที่เพาะปลูก เพื่อให้มีปริมาณสารเคมีตกค้างในน้ำน้อยที่สุด หรือไม่มีสารเคมีตกค้าง

ภาพถ่ายจากโดรนสำรวจพื้นที่สารเคมีตกค้าง

“ปัจจุบันได้มีการนำงานวิจัยไปทดลองใช้ในพื้นที่แปลงสาธิต ลำไยอินทรีย์ของเกษตรกรที่ต้องการนำผลผลิตไปเข้าระบบการแปรรูปลำไยอินทรีย์ ซึ่งจะเป็นผลิตภัณฑ์นำร่องการส่งออกผลผลิตอินทรีย์ของไทย หากโมเดลต้นแบบนี้ประสบความสำเร็จด้วยดี ก็จะสามารถนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ใช้ในพื้นที่ต้นแบบนี้ไปขยายผลการใช้งานในพื้นที่เพาะปลูกอื่นๆ ต่อไปได้” 

ศ. ดร.พวงรัตน์ เล่าต่อว่านอกจากการดำเนินงานที่อธิบายข้างต้นแล้ว นักวิจัยยังได้เชื่อมโยงการทำงานกับภาคีเครือข่ายหน่วยงานวิจัยจากต่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง เช่น การตรวจวัดผลกระทบจากสารเคมีตกค้าง และการตรวจสอบสารเคมีตกค้างในกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำจากแปลงเพาะปลูกจนถึงมือผู้บริโภค นอกจากนี้ในการ

ดำเนินโครงการ คณะทำงานยังได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มผู้ประกอบการและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอีกหลายแห่งในการทำวิจัย เพื่อให้เกิดแนวทางในการยกระดับการทำการเกษตรของเกษตรกรไทยได้อย่างยั่งยืน

ศ. ดร.พวงรัตน์ ทิ้งท้ายว่าภาพสุดท้ายที่คณะวิจัยมุ่งหวังให้เกิดขึ้น คือ เกษตรกรไทยสามารถนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้ในการบริหารจัดการการทำการเกษตร เปลี่ยนพื้นที่ที่มีสารเคมีตกค้างสู่พื้นที่เกษตรอินทรีย์ปลอดสารพิษ และสามารถผลิตผลิตผลทางเกษตรที่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคในระดับตลาดโลก เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเกษตรกรไทยและสร้างรายได้จากการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวได้อย่างยั่งยืน

Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *