ผลงานเด่น

ธุรกิจท่องเที่ยว เบื้องหลังเศรษฐกิจไทยกระเตื้อง

           ศ.ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวถึงงานวิจัย โครงการศึกษาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ต่อภาคเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวไทย ภายใต้การผลักดันและสนับสนุนทุนวิจัยโดย แผนงานท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.)

โดยกล่าวถึงงานวิจัยชุดดังกล่าวในฐานะผู้อำนวยการโครงการฯ ว่า ภาพรวมของงานวิจัยชุดนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการตั้งโจทย์เรื่องเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 และภายใต้ผลกระทบดังกล่าว “ภาคการท่องเที่ยว” เป็นหนึ่งในภาคที่ได้รับผลกระทบสูงสุด เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติหายไปจากการปิดกั้นการเดินทางระหว่างประเทศ และคาดว่าต้องเรียกความเชื่อมั่นและใช้เวลานานพอสมควรกว่าจะกลับมาดังเดิม

ทั้งนี้ โครงการวิจัยดังกล่าวเน้นการศึกษาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในระลอก 1 และระลอก 2 เท่านั้น โดยไม่รวมผลกระทบระลอก 3-4 ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ขณะนี้

ศ.ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

จากผลงานวิจัยพบว่า จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากการลดลงของนักท่องเที่ยว อันเนื่องมาจากการระบาดของโควิด-19 มากที่สุด คือ จังหวัดภูเก็ต กรุงเทพมหานคร และชลบุรี ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติมากที่สุด

ขณะเดียวกันกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในรอบ 6 เดือนแรก คือ ธุรกิจนันทนาการ รองลงมา คือ ธุรกิจนำเที่ยว ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นความเกี่ยวเนื่องกันส่งผลให้กลุ่มแรงงานในธุรกิจนันทนาการได้รับผลกระทบมากที่สุด รองลงมาเป็นกลุ่มธุรกิจนำเที่ยว ในด้านการถูกลดค่าจ้าง ค่าตอบแทน และถูกลดเวลาทำงาน โดยพบว่ากลุ่มธุรกิจและกลุ่มแรงงานเหล่านี้บางส่วนยังเข้าไม่ถึงสวัสดิการการเยียวยาจากรัฐ

แหลมพรหมเทพ จังหวัดภูเก็ต

“สำหรับเรื่องมาตรการช่วยเหลือเยียวยาที่ออกโดยภาครัฐ พบว่า ภาคการท่องเที่ยวซึ่งบาดเจ็บมากจากผลกระทบที่ไม่มีนักท่องเที่ยว กลับไม่ได้รับการเข้าถึงการช่วยเหลือจากรัฐมากเท่าที่ควร จึงนำมาสู่ข้อเสนอแนะที่ทางสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศจัดการเยียวยากันเอง เช่น การจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยว เพราะทางสมาคมฯมองว่าจะรองบประมาณภาครัฐอย่างเดียวอาจไม่ทันการ เขาก็เลยต้องสู้กันเอง ช่วยเหลือกันเอง”

อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.พิริยะ กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยกระเตื้องขึ้นมาได้ในระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงก่อนที่จะเกิดโรคระบาดโควิด-19 คือ การที่ภาครัฐต้อง “ลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อและการเสียชีวิต” โดยการเร่งฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะการเร่งฉีดวัคซีนในจังหวัดที่เป็น Target ของการท่องเที่ยว เพื่อทำให้ประเทศไทยสามารถกลับมาเปิดรับนักท่องเที่ยวได้อีกครั้ง

ผลการวิจัยและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่ได้จากงานวิจัยชิ้นนี้ โดยเฉพาะในประเด็นการสนับสนุนให้มีการเร่งฉีดวัคซีน ไปจนถึงการเสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวนั้น ได้มีการนำเสนอให้กับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งส่งผลให้มีเกิดกลไกสานต่อการดำเนินงานร่วมกันต่อไป

*เครดิตภาพ : Travel photo created by tawatchai07 – www.freepik.com

Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *