ผลงานเด่น

บพข. หนุน UTC สร้างมูลค่าจากนวัตกรรมด้านการแพทย์และปัญญาประดิษฐ์

การจะทำให้งานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Technology) สามารถต่อยอดเป็นนวัตกรรมหรือชิ้นงานที่ใช้ได้จริงนั้น นอกจากการสร้างบรรยากาศของการทำวิจัยที่เข้มข้นและมีคุณภาพแล้ว การสนับสนุนด้านอื่น ๆ เช่น เงินลงทุน บุคลากร สภาพแวดล้อม รวมไปถึงพื้นที่ทดลองเสมือนจริง (Sandbox) และการเชื่อมต่อกับเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ก็เป็นสิ่งที่สำคัญและต้องถูกทำให้เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง

ด้วยเหตุนี้ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) จึงให้ทุนสนับสนุนกับศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chulalongkorn University Technology Center: UTC) เพื่อเสริมศักยภาพของ UTC ในการผลักดันงานวิจัยที่มี “คุณค่า” ให้ไปสู่การเป็นงานวิจัยที่มี “มูลค่า” ในเชิงพาณิชย์

“ในอดีต งานวิจัยดี ๆ ไม่น้อยที่ตกอยู่ในสถานะ Valley of Death คือ ขึ้นหิ้ง ไม่ถูกต่อยอดสู่การใช้ประโยชน์จริง โดยเฉพาะงานด้านเทคโนโลยีระดับสูง (Deep Technology) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้จัดตั้ง UTC ขึ้นมาเมื่อปี 2562 เพื่อเป็นเสมือนตัวเชื่อมต่อระหว่างงานวิจัยกับความต้องการของผู้ใช้ ซึ่งสิ่งที่เราทำคือการสร้าง Ecosystem ให้นักวิจัยได้ทำโจทย์วิจัยที่นำไปสู่การใช้จริงได้ เช่น การทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมและสังคม เพื่อทำให้งานวิจัยนั้นให้สามารถเดินผ่าน Valley of Death ไปสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์ได้” ศาสตราจารย์ นายแพทย์ยิ่งยศ อวิหิงสานนท์ หัวหน้าโครงการศูนย์ UTC ให้ข้อมูลถึงที่มาและเป้าหมายของ UTC

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ยิ่งยศ อวิหิงสานนท์
หัวหน้าโครงการศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สำหรับงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จะได้รับการสนับสนุนจาก UTC ภายใต้กรอบของ บพข. นั้น ศ.นพ.ยิ่งยศ กล่าวว่า ผู้วิจัยไม่จำเป็นต้องสังกัดหน่วยงานของจุฬาฯ ก็สามารถเข้าร่วมโครงการได้ เพียงแต่ต้องมีระดับความพร้อมของเทคโนโลยี (Technology Readiness Level – TRL) ตั้งแต่ระดับ 4  ขึ้นไป คือมีการทดสอบในห้องปฏิบัติการได้ผลลัพธ์ตามที่ตั้งไว้เป็นอย่างน้อย (TRL คือเกณฑ์บ่งชี้ระดับความพร้อมทางเทคโนโลยี ตามข้อกำหนดของ สวทช. ที่แบ่งเป็นทั้งหมด 9 ระดับ โดยโครงการวิจัยที่อยู่ในระดับ 1-3 จะเป็นโครงการวิจัยระดับพื้นฐานและประยุกต์ ส่วนระดับ 4-7 จะเป็นการพัฒนางานวิจัยสู่นวัตกรรมและการใช้ประโยชน์)

เกณฑ์บ่งชี้ระดับความพร้อมทางเทคโนโลยี ตามข้อกำหนดของ สวทช.

ศ.นพ.ยิ่งยศ กล่าวว่า ในปีงบประมาณ ปี 2562 และ 2563  มีงานวิจัยที่เข้าโครงการกับ UTC จำนวน 47 โครงการ โดยแบ่งเป็นประเด็นหลัก ๆ คือ (1) งานวิจัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข ด้วยเหตุผลว่าประเทศไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ต้องนำเข้าเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์มากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ และ (2) งานวิจัยด้าน AI กับ Data Science เพราะเป็นงานวิจัยที่สามารถต่อยอดสู่การพัฒนาเป็นเทคโนโลยีและนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ที่ช่วยสร้างเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovative-lead Value-based Economy) ตามนโยบายของภาครัฐได้

สำหรับสิ่งที่นักวิจัย ได้รับการสนับสนุนจาก UTC นั้น จะเป็นประเด็นที่นักวิจัยส่วนใหญ่ไม่เชี่ยวชาญ แต่จำเป็นต่อการต่อยอดให้เกิดมูลค่าในเชิงพาณิชย์ ประกอบด้วย (1) ประสานความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน (2) แนวโน้มและความต้องการในเชิงการตลาด (3) การจดสิทธิบัตรและทรัพย์สินทางปัญญา (4) การยื่นขอมาตรฐานจากหน่วยงานรับผิดชอบ (5) การหานักลงทุนหรือการระดมทุนเพื่อจัดตั้งบริษัท (6) งานด้านการตลาด โดยหัวหน้าโครงการศูนย์ UTC ยกตัวอย่างงานวิจัยที่น่าสนใจว่า มีทั้งงานด้านเพื่อการแพทย์ เช่น ระบบตรวจเชื้อ COVID-19 ที่รวดเร็วและแม่นยำ, AI เพื่อการจำแนกประเภทย่อยของโรคหัวใจล้มเหลวจากภาพ CT-Scan หรือการตรวจหาชิ้นเนื้อที่ผิดปกติที่พบจากการส่องกล้องทางเดินอาหาร ไปจนถึง AI สำหรับภาคอุตสาหกรรม หรือ AI for Industry เช่น AI เพื่ออ่านตัวหนังสือในภาพถ่ายและวีดีโอ, AI แปลงเสียงที่ได้ยินให้เป็นข้อความภาษาไทย เป็นต้น

โดยนอกเหนือจากการนำงานวิจัยมาเข้าสู่ระบบการจัดการที่เป็นขั้นตอนเพื่อให้ได้ผลลัพธ์เป็นนวัตกรรม หรือเทคโนโลยีเชิงอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าในเชิงพาณิชย์แล้ว การจัดทำหลักสูตรระยะสั้นเพื่อบ่มเพาะนักวิจัยก็เป็นอีกหนึ่งงานสำคัญของ UTC เช่นกัน

“ภายใต้การสนับสนุนจากจุฬา สกสว. และ บพข. ได้ทำให้เกิดหลักสูตรบ่มเพาะด้าน AI กับหลักสูตรสร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนานวัตกรรมด้านเทคโนโลยีการแพทย์ นอกจากผู้อบรมจะได้รับการถ่ายทอดประสบการณ์จากวิทยากรและผู้เชี่ยวชาญทั้งในและนอกประเทศแล้ว จะมีการนำโจทย์หรือความสนใจของตนเองไปพัฒนาจริงร่วมกับผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมอีกด้วย”

กิจกรรมและการอบรมที่ UTC

อนึ่ง ภายใต้ยุทธศาสตร์การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านนวัตกรรมเพื่อรับใช้สังคมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะประกอบด้วย 3 หน่วยงานสำคัญคือ สถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (SCII)  ศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Hub) และศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UTC)

Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *