ผลงานเด่น

CISMaP – ศูนย์พัฒนานวัตกรรมและมาตรฐานทางเทคนิคการแพทย์และกายภาพบำบัด ม.ขอนแก่น

ศูนย์ CISMaP มหาวิทยาลัยขอนแก่น ต่อยอดผลงานการวิเคราะห์นิ่วเพื่อตรวจหาผู้ป่วยไตเรื้อรังที่รวดเร็วและแม่นยำ สู่ “บริการตรวจโรคไตจากนิ่ว” หวังลดภาระการคัดกรองให้โรงพยาบาลและค้นหาผู้ป่วยโรคไตระยะเริ่มต้นได้รวดเร็วขึ้น

ปัจจุบัน เทคนิคฟูเรียร์อินฟราเรดสเปกโทรสโกปี (Fourier Transform Infrared Spectroscopy-FTIR) หรือการวิเคราะห์ด้วยคลื่นแสงช่วงอินฟราเรด ในการตรวจสอบสารประกอบหรือคุณภาพของตัวอย่างโดยไม่ทำลายตัวอย่าง ได้เข้ามามีส่วนช่วยในงานเชิงชีววิทยา (Bio-Spectroscopy) ในหลาย ๆ ด้าน ตั้งแต่งานด้านอาหาร ไปจนถึงงานด้านการแพทย์ด้วยจุดเด่นหลายประการคือ ใช้ตัวอย่างในการวิเคราะห์น้อย ไม่ทำลายเซลล์ตัวอย่าง และให้ผลการวิเคราะห์ที่รวดเร็วและแม่นยำ

CISMaP Office

นั่นจึงทำให้ เครือข่ายความร่วมมือศูนย์พัฒนาชุดตรวจโรคภายใต้โครงการ Innovation Hub (Collaboration Network of Diagnostics Development Centers, CNDC) สนับสนุนงบประมาณให้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดำเนินการจัดตั้งศูนย์พัฒนานวัตกรรมและมาตรฐานทางเทคนิคการแพทย์และกายภาพบำบัด หรือ CISMaP (Center for Innovation and Standard for Medical Technology and Physical Therapy) รองรับเครือข่ายงานวิจัยด้านเทคโนโลยีการวิจัยโรคด้วยสเปกโทรสโคปีเชิงชีวภาพและศูนย์ทดสอบความชำนาญทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ระดับสากล เมื่อปี 2560

รศ. ดร.พัชรี เจียรนัยกูร ผู้อำนวยการศูนย์ CISMaP

“เราต้องการให้ศูนย์ CISMaP แห่งนี้ เป็นทั้งศูนย์วิจัยด้านเทคโนโลยีการวินิจฉัย (Diagnostic Technology) และเป็นศูนย์ทดสอบความชำนาญให้กับห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ทั่วประเทศ  ดังนั้น โจทย์สำคัญหลังจากการเปิดใช้ตัวอาคารและห้องปฏิบัติการอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2563 ก็คือ การทำให้ศูนย์ฯได้รับการรับรองมาตรฐานในระดับสากล ทั้งมาตรฐาน ISO 17025 ที่เป็นด้านความสามารถของห้องปฏิบัติการในการดำเนินการทดสอบ การสอบเทียบ กับมาตรฐาน ISO 17043 เพื่อการเป็นผู้ตรวจประเมินห้องปฏิบัติการ” รศ. ดร.พัชรี เจียรนัยกูร ผู้อำนวยการศูนย์ CISMaP กล่าว

นั่นจึงเป็นที่มาของ “โครงการพัฒนาศูนย์วิจัยมาตรฐานเพื่อรองรับเครือข่ายงานวิจัยด้านเทคโนโลยีการวินิจฉัยโรคด้วยสเปกโทรสโกปีเชิงชีวภาพ และศูนย์ทดสอบความชำนาญทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ระดับสากล” โดยการสนับสนุนของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เมื่อปี 2563 โดยมีเป้าหมายที่ตั้งไว้คือ การเปิดให้บริการตรวจวิเคราะห์นิ่วสำหรับผู้มีความเสี่ยงเป็นไตวายเรื้อรัง

ภาพจาก gettyimages.com

“ไตวายเรื้อรัง เป็นโรคที่มีอัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยระยะที่ 5 สูง และมีค่าใช้จ่ายในการรักษาค่อนข้างมาก หากตรวจพบในระยะ 1-3 ก็จะมีวิธีชะลอความเสื่อมของไตได้ การเป็นนิ่วไตเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคไตวายเรื้อรัง การใช้เทคนิค Bio-Spectroscopy มาวิเคราะห์ตัวอย่างนิ่วของผู้ป่วย ที่ศูนย์ฯ ดำเนินการร่วมกับโครงการป้องกันและชะลอโรคไตเรื้อรังในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ใช้เวลาทดสอบเพียงตัวอย่างละ 5 นาที ก็สามารถบ่งบอกองค์ประกอบของนิ่วได้ นำไปสู่การรักษาที่เหมาะสม ซึ่งช่วยป้องกันความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคไตวายเรื้อรังได้ และเมื่อศูนย์ฯ ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 17025 เราก็จะสามารถเปิดเป็นศูนย์ที่ให้บริการตรวจนิ่วด้วยเทคนิคนี้อย่างเต็มรูปแบบ อันที่จะช่วยเป็นการลดภาระในการคัดกรองผู้ป่วยของโรงพยาบาล และทำให้ผู้ป่วยไตวายในระยะเริ่มต้นมีโอกาสเข้าสู่การรักษาได้รวดเร็วขึ้น (ขณะนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการยื่นขอการรับรอง) ” รศ. ดร.พัชรี กล่าว

งานบริการของ CISMaP

ในส่วนของการดำเนินการ เพื่อจะเป็นหน่วยให้บริการในการประเมินขีดความสามารถของห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ ที่ต้องผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO 17043 นั้น ทาง CISMaP ได้มีความร่วมมือกับบริษัทผู้นำเข้าน้ำยาและเครื่องมือตรวจวินิจฉัยโรคทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์รายหนึ่ง เพื่อเข้าไปทดสอบความสามารถของห้องปฏิบัติการทางการแพทย์จำนวน 26 แห่ง ด้วยการส่งตัวอย่าง “วัสดุทดสอบ” ซึ่งเป็น QC material สำหรับการเพาะเชื้อจากเลือด ที่ศูนย์ฯ พัฒนาขึ้นเพื่อให้ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์แต่ละที่ทำการตรวจวิเคราะห์หาเชื้อแบคทีเรีย โดยทางศูนย์ฯ จะนำผลวิเคราะห์มาประเมินศักยภาพของการตรวจวิเคราะห์หาเชื้อแบคทีเรียจากเลือดของห้องปฏิบัติการเหล่านั้นต่อไป

รศ. ดร.พัชรี กล่าวว่า ทั้งการพัฒนาชุดเลือดเพื่อการทดสอบที่มีความคงตัวต่ออุณหภูมิและแสงสว่าง รวมถึงการจัดทำระเบียบและขั้นตอนการปฏิบัติงานของหน่วยให้มีประสิทธิภาพและมีมาตรฐาน คือข้อมูลที่จะนำไปประกอบการขอรับรองมาตรฐาน ISO 17043 ของการเป็นผู้ตรวจรับรองห้องปฏิบัติการทางการแทพย์ จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในช่วงปลายปี 2564

“ด้วยมาตรฐานระดับสากลเหล่านี้ นอกจากจะทำให้ศูนย์ CISMaP เป็นที่ยอมรับทั้งในเชิงวิชาการที่ทำให้ผลงานวิชาการมีมาตรฐาน อันหมายถึงโอกาสในการต่อยอดเชิงพาณิชย์แล้ว ยังทำให้หน่วยตรวจสอบห้องปฏิบัติการแห่งนี้สามารถทำหน้าที่สนับสนุนการทำงานของห้องปฏิบัติการด้านการเพาะเชื้อจากเลือดให้มีมาตรฐาน อันจะเป็นประโยชน์ต่อการตรวจรักษาและประโยชน์ต่อตัวผู้ป่วยในที่สุด”

Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *