ผลงานเด่น

เปลี่ยนผลผลิตทางการเกษตรให้กลายเป็นสารเคมีชีวภาพมูลค่าสูง โจทย์ใหญ่ที่ท้าท้ายนักวิจัยไทย

ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม มีพื้นที่สำหรับการเพาะปลูกเป็นจำนวนมาก และมีคนที่ทำอาชีพเกษตรกรอีกหลายล้านคน เกษตรกรรมเป็นอาชีพหลักของคนไทย แต่ผลผลิตทางการเกษตรไทยกลับมีราคาต่ำ ผลิตมากแต่ได้ราคาน้อย โดยเฉพาะมันสำปะหลัง จะทำอย่างไรให้ผลผลิตทางการเกษตรของไทยนั้นมีราคาสูงขึ้น นี่คือโจทย์วิจัยใหญ่ของประเทศ ที่หากสามารถยกระดับสินค้าเกษตรให้กลายเป็นสินค้ามูลค่าสูงได้ ก็จะช่วยยกระดับการแข่งขันของประเทศไทยให้ทัดเทียมกับนานาประเทศได้เช่นกัน

รศ. ดร.อภิชาติ บุญทาวัน หัวหน้าสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เล็งเห็นถึงประโยชน์ของวัตถุดิบเหลือทิ้งทางการเกษตร ที่มีเป็นจำนวนมากของประเทศไทย ซึ่งหากทิ้งไปนอกจากจะไม่สามารถสร้างประโยชน์ได้แล้ว ยังกลายเป็นขยะที่เป็นภาระในการจัดการอีกด้วย

มันสำปะหลังเป็นสินค้าทางการเกษตรของไทยที่มีการผลิตออกมาเป็นจำนวนมาก แต่กลับมีการนำไปใช้ประโยชน์น้อย ทำให้พืชชนิดนี้มีวัตถุดิบเหลือทิ้งเป็นจำนวนมากที่ไม่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ รศ.ดร อภิชาติ บุญทาวัน กล่าวว่า “ต้นมันสำปะหลัง 1 ต้นอุตสาหกรรมจะนำไปใช้ประโยชน์จริง ๆ มีแค่ส่วนของหัวซึ่งนำไปทำแป้งมัน แต่ส่วนที่เป็นวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร อย่างเหง้ามันกับต้นมันสำปะหลังที่เราเรียกรวมๆว่ากลุ่มของลิกโนเซลลูโลส (Lignocellulose) เราสามารถที่จะนำมาประยุกต์ใช้ในหลักการของ Biorefinery นำมาผลิตเป็นสารเคมีชีวภาพที่มีคุณภาพสูงได้ ซึ่งสารบางตัวที่ได้มีราคาแพงกว่าแป้งมันหลายเท่า” 

Biorefinery เป็นกระบวนการทางชีวภาพในการเปลี่ยนสารตั้งต้นที่เป็นวัสดุจำพวกลิกโนเซลลูโลส ให้กลายเป็นเคมีชีวภาพซึ่งตัวเคมีชีวภาพก็สามารถนำเอาไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆได้ ถือเป็นการผลักดันให้เกิดนวัตกรรมการสกัดสารสำคัญมูลค่าสูง เช่นสารให้ความหวานไซลิทอล (Xylitol) ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมอาหาร นอกจากนี้ยังสามารถใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพซึ่งเป็นพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้หลังจากที่เราใช้แล้วทิ้ง

โดยสิ่งจำเป็นที่จะทำให้ของเหลือทิ้งทางการเกษตรงั้นกลับมามีมูลค่าสูงได้ ต้องมีความพร้อมในเรื่องของห้องปฏิบัติการ และการขยายขนาดจากห้องปฏิบัติการสู่โรงงานอุตสาหกรรม การทำให้โรงงานต้นแบบกระบวนการผลิตทางชีวภาพ (Bio Processing Biorefinery Pilot Plant) เป็นพื้นที่สำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์

ซึ่งโรงงานต้นแบบนี้ถือเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของเรา ซึ่งงานวิจัยที่เราทำเป็นเรื่องเกี่ยวกับกระบวนการผลิตต่างๆ ทำให้จำเป็นต้องมีเครื่องจักรหลายชนิดเพื่อผลิตสารเคมีคุณภาพสูง เพราะสารเคมีบางตัวกว่าจะทำให้บริสุทธิ์ได้ต้องใช้ขั้นตอนมากกว่า 7 ถึง 8 ขั้นตอน ซึ่งความรู้ที่ได้นั้นจะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปสู่ภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง 

หนึ่งบริษัทที่มีการร่วมทำงานกับทีมวิจัยอย่างบริษัทซูเทค เอ็นจิเนียริ่ง โดยคุณธิติ สายเชื้อ ผู้จัดการสายงานพัฒนาธุรกิจ เล่าให้เราฟังว่า “ส่วนของภาคเอกชนคือการหาความรู้ที่แท้จริงมาเพื่อพัฒนาธุรกิจ สิ่งที่บริษัททำคือการเข้าไปพูดคุยกับทางมหาวิทยาลัย ซึ่งเราได้พบกับอาจารย์อภิชาติที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับการหมัก การใช้จุลินทรีย์และงานเกี่ยวกับชีวภาพ ในการพบกันอาจารย์อภิชาติได้นำเราเข้าไปเยี่ยมชมโรงงานต้นแบบ ซึ่งเราเห็นว่ามันใหญ่จริงมีศักยภาพในการผลิต จึงเป็นโอกาสอันดีที่ผมจะอัพเกรดผลิตภัณฑ์ของโรงงานน้ำตาลขึ้นไปในระดับเคมีคอล เราจึงร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีในโรงงานต้นแบบไปด้วยกัน ซึ่งการทำงานกับภาคมหาวิทยาลัยที่ทำวิจัยร่วมกัน สร้างความแตกต่างกับกับคู่แข่งทางธุรกิจ ซึ่งนั่นคือข้อได้เปรียบในการทำธุรกิจของเรา

นอกจากผลิตภัณฑ์ที่ได้จากงานวิจัยแล้ว สิ่งที่ประเทศได้รับคือองค์ความรู้จากงานวิจัย เครื่องมือเครื่องจักรทั้งหมดที่ใช้ในการทดลองและทำวิจัยเกิดขึ้นในประเทศไทยกว่า 80% บพข.เห็นการทำงานร่วมกันของภาคมหาวิทยาลัยและภาคเอกชน ซึ่งการทำงานรูปแบบนี้ นอกจากทุกฝ่ายจะได้เรียนรู้ร่วมกันแล้ว ยังได้กรอบความคิดที่กว้างขึ้น เกิดการแลกเปลี่ยนมุมมองกันระหว่างนักวิจัยและเอกชน ที่จะนำไปสู่ความเป็นไปได้ใหม่ในอนาคต นี่ถือเป็น 1แพลตฟอร์มงานวิจัยที่จะช่วยส่งเสริมการแข่งขันของประเทศไทยได้

Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *