ผลงานเด่น

RCMate4.0 เปลี่ยนการซ่อมบำรุงจากต้นทุนให้เป็นกำไร

สิ่งสำคัญในกระบวนการผลิตในสถานประกอบการ อุตสาหกรรมคือ การมีประสิทธิภาพการผลิตสูงสุด และมีค่าใช้จ่าย Life Cycle Cost ต่ำสุด ซึ่งเครื่องจักรการผลิตก็คือตัวแปรสำคัญที่ส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพการผลิต การบำรุงรักษาเครื่องจักรให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานจึงเป็นสิ่งจำเป็น แต่เครื่องจักรแต่ละชิ้นก็มีการใช้งานด้วยบริบทที่ต่างกัน และมีรูปแบบการเสียหาย (Failure Mode) ที่หลากหลาย เจ้าของสถานประกอบการจะทราบได้อย่างไรว่าเครื่องจักรนั้น ๆ ถึงเวลาต้องมีการซ่อมบำรุงแล้วเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะตามมา

Reliability Centered Maintenance (RCM) หรือ การบำรุงรักษาบนพื้นฐานของความน่าเชื่อถือ คือกระบวนการที่หลายบริษัทในประเทศที่มีความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมนำมาใช้บริหารความเสี่ยงเพื่อออกแบบงานการบำรุงรักษาที่เหมาะสมกับอุปกรณ์เครื่องจักรต่าง ๆ ที่มีความซับซ้อนของรูปแบบการเสียหาย ที่มีค่าใช้จ่ายโดยองค์รวม Life Cycle Cost ต่ำที่สุด ซึ่งเปรียบเสมือนการเปลี่ยนจากต้นทุน Cost center กลายเป็นกำไร Profit center

คุณมโนรมย์ เชี่ยวพานิช

คุณมโนรมย์ เชี่ยวพานิช บริษัท อีควิตี้ เซอร์วิสเซส แอนด์ โซลูชั่นส์ หัวหน้าโครงการวิจัย “การพัฒนาซอฟต์แวร์ RCMate4.0 เพื่อการวางแผนการบำรุงรักษาอุปกรณ์เชิงป้องกันตามหลักการ RCM และการผสมผสานการวิเคราะห์และแปลผลสัญญาณ Ultrasonic และสัญญาณความสั่นสะเทือน โดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพื่อเพิ่มผลิตผลในอุตสาหกรรมยานยนต์” ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) ให้ข้อมูลว่า “การบำรุงรักษาจัดเป็นต้นทุนหลัก RCM จึงเป็นกระบวนการที่ช่วยลดภาระตรงนี้ แต่ประเทศไทยยังไม่นิยมนำ RCM มาใช้งาน เพราะเราขาดทั้ง Database และ Facilitator เนื่องจาก RCM จำเป็นต้องมีการรวบรวมข้อมูลของเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่อยู่ในการผลิตอย่างละเอียดและเป็นระบบ รวมถึงต้องใช้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ แปรผล คณะวิจัยจึงมีมีความต้องการจะการพัฒนาให้โปรแกรม RCM ที่นำไปใช้งานได้ง่าย ลดการพึ่งพาข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญให้มากที่สุด

โดยซอฟต์แวร์ RCMate4.0 ที่กำลังพัฒนาขึ้น มีการใช้เทคนิค Reliability Block Diagram มาช่วยในการวิเคราะห์ วางแผนซ่อมบำรุงอุปกรณ์นั้น ๆ ก่อนที่จะเกิดความเสียหาย เพื่อให้เครื่องจักรสามารถทำงานได้ดีที่สุดภายใต้กำไรสูงสุด ต้นทุนต่ำสุด ภายใต้การจำลอง Monte Carlo Simulation เป็นการจำลองการตัดสินใจเสมือน ทำให้โปรแกรมสมาร์ทขึ้น นอกจากนี้ยังมีการใช้โปรแกรม ICM Safe plan ขึ้นมาโดยเป็น Rule base และมีการฝังปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) เข้าไปเพื่อทำหน้าที่ในการประมวลผล วิเคราะห์ Database และประมวลสัญญาณ 

สำหรับซอฟต์แวร์ RCM สัญชาติไทยที่กำลังพัฒนาขึ้นนี้มีความพิเศษกว่ามากกว่าระบบ RCM ที่ใช้กันในปัจจุบันจากใช้ Text mining เพื่อสร้าง “facilitator เสมือน”  และมีการเพิ่มการทำงานควบคู่กับการใช้เทคนิคขั้นสูงในการพยากรณ์ P-F Curve ให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงที่สุด ซึ่งช่วยให้สามารถวิเคราะห์ความสำคัญของอุปกรณ์เพื่อวางแผนการซ่อมบำรุงและเครื่องจักรก่อนที่จะเกิดความเสียหายได้ โดยใช้เครื่องมือ 2 ชนิด คือ “V-MEX” ที่ใช้เทคนิคตรวจจับการสั่นสะเทือน และ “UD-1d” ที่ใช้เทคนิคการตรวจจับสัญญาณ Ultrasonic ซึ่งเครื่องมือ 2 ชนิดนี้เป็นการพัฒนาต่อยอดมาจากฐานความรู้เดิมของทางบริษัท 

โดย RCMate4.0 เมื่อดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับผู้ประกอบการของไทย โดยเฉพาะ SMEs ที่ไม่ได้มีทุนสูงมากนักซึ่งเป็นความตั้งใจส่วนหหนึ่งของคณะวิจัยอยู่แล้ว เนื่องจากผู้ประกอบการสามารถเลือกซื้อเทคโนโลยีได้ทั้งหมด หรือแยกซื้อเป็น Module หรือซื้อแบบ Service ก็สามารถทำได้ ที่สำคัญคือประเทศไทยจะไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ

คุณมโนรมย์ ทิ้งท้ายอย่างน่าสนใจว่า “เราต้องยอมรับว่าศักยภาพของประเทศไทยไม่สามารถสร้างเครื่องจักรทุนได้ หรือหากทำได้ Economies of scale ก็สู้ต่างชาติไม่ได้ จึงทำได้แค่เพียงการซื้อเครื่องจักรเข้ามาผลิต ดังนั้นเราจึงต้องใช้ประโยชน์จากมันให้ได้มากที่สุด ใช้งานให้ได้เต็มประสิทธิภาพสูงสุด นี่คือที่มาของ RCMate4.0 ซึ่งโจทย์ต่อไปของคณะวิจัยคือการให้ความรู้กับตลาด เพื่อผลักดันให้ RCMate4.0 เข้าสู่การใช้งานเชิงพาณิชย์ได้ แต่สิ่งสำคัญคือรัฐบาลจะต้องให้การสนับสนุน มีการแคมเปญด้วยองค์กรของรัฐ นวัตกรรมที่เป็นเรื่องใหม่ของประเทศไทยจึงจะถูกใช้งานได้จริง”

Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *