ข่าว

ยกระดับประเทศไทย สู่การเป็น Hub ด้านสุขภาพและการแพทย์ในอาเซียน

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)

ปัจจุบันประชากรโลกให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพของตัวเองและคนในครอบครัวเป็นอย่างมาก  เห็นได้จากการเติบโตของธุรกิจและอุตสาหกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพ และประเทศไทยเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่ถูกประเมินว่ามีศักยภาพสูงในด้านอุตสาหกรรมทางการแพทย์และสุขภาพ ทั้งนี้เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลที่มีเป้าหมายผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพและการแพทย์ (Medical Hub) ในระดับนานาชาติ เพียงแต่ทุกวันนี้เรามีความพร้อมจะก้าวไปสู่จุดนั้นแล้วหรือยัง?

คนไทยส่วนใหญ่คิดว่าประเทศไทยกำลังเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพและการแพทย์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ประเทศไทยโดดเด่นเรื่องศูนย์กลางบริการสุขภาพ (Medical Service Hub) ในอดีตประเทศไทยให้การส่งเสริม อุตสาหกรรมทางการแพทย์น้อย ส่งผลให้ประเทศไทยต้องนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาและเครื่องมือแพทย์ปีละหลายแสนล้านบาท

ศาสตราจารย์ ดร.ศันสนีย์ ไชยโรจน์

ศาสตราจารย์ ดร.ศันสนีย์ ไชยโรจน์ ประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มสุขภาพและการแพทย์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมการแพทย์ในประเทศไทย เป็นอุตสาหกรรมที่ไม่ค่อยมีการเจริญเติบโตหรือการพัฒนาเท่าที่ควร เนื่องจากไทยพึ่งพาการนำเข้ายา เครื่องมือแพทย์เป็นหลัก ยาที่เราผลิตได้เองส่วนใหญ่เป็นยาที่หมดสิทธิบัตรแล้ว ส่วนสารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรม (Active Pharmaceutical Ingredients หรือ API) ที่เราสามารถผลิตได้เองมีจำนวนน้อยมาก  

“เมื่อมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้ทุกคนตระหนักว่า การติดขัดของ Global Value Chain ทั้งการขนส่งสินค้า การผลิตที่ลดลง ส่งผลกระทบทางด้านการแพทย์และการสาธารณสุข ดังนั้น ประเทศต่างในโลกจำเป็นต้องใส่ใจและหันมาพึ่งพาตัวเองมากขึ้น โดยเฉพาะการส่งเสริมเรื่องนวัตกรรมทางการแพทย์ เพื่อให้ประเทศสามารถอยู่ได้  ไม่ว่าจะเกิดโรคระบาดใหญ่ที่ตัดการสื่อสารหรือการขนส่งสินค้าก็ตาม บพข.ในฐานะองค์กรที่มีหน้าที่พัฒนาความสามารถทางการแข่งของประเทศไทย จึงเข้ามาบทบาทสำคัญในการหนุนเสริมและยกระดับอุตสาหกรรมด้านสุขภาพและการแพทย์ของไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก”

ศาสตราจารย์ ดร.ศันสนีย์ กล่าวต่อว่า วิธีการสนับสนุนทุนของ บพข. จะมุ่งเน้นในรูปแบบ “Matching Fund” ที่เป็นความร่วมมือหรือการร่วมลงทุนกับผู้ใช้ประโยชน์ ซึ่งปกติภาคเอกชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการทำวิจัยก็ต่อเมื่องานวิจัยดังกล่าวอยู่ในระดับความพร้อมทางเทคโนโลยี (Technology Readiness Level: TRL) ที่TRL 7-8-9 ซึ่งเป็นช่วงปลายทางก่อนเข้าสู่ตลาดเชิงพาณิชย์ แต่การสนับสนุนทุนของ บพข. จะทำให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ TRLระดับ 4-5-6 คือ ระยะที่เป็น “การวิจัยต่อยอด (Translation Research)” และเป็นช่วง “Scaling up” หรือ การเพิ่มปริมาณการผลิตสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งการทำให้ภาคเอกชนที่เป็นผู้ลงทุนเทคโนโลยีเข้ามาตั้งแต่เริ่มต้นนั้นเป็นสิ่งสำคัญ ในอดีตอาจารย์หรือนักวิจัยที่อยู่ในภาครัฐมักทำงานวิจัยตามหลักวิชาการ เนื่องจากยุคสมัยเปลี่ยนไป จึงควรที่จะมีการปฏิสัมพันธ์กับภาคเอกชนมากขึ้น และใส่ใจกับความต้องการของภาคธุรกิจเพื่อให้ได้ข้อมูลด้านการลงทุน ความต้องการด้านการตลาด จึงจะสามารถสร้างนวัตกรรมสู่กระบวนการในเชิงพาณิชย์ได้

อย่างไรก็ตาม ในส่วนงานด้านสุขภาพการแพทย์ บพข. ไม่ได้เน้นไปที่การสนับสนุนทุนวิจัยเพียงอย่างเดียว แต่ยังบพข.ให้ความสำคัญกับการสร้างขีดความสามารถของบุคลากรวิจัยในส่วนTranslation Research ด้วย เนื่องจากบุคลากรกลุ่มนี้ต้องมีความเชี่ยวชาญทั้งด้านชีววิศวกรรมศาสตร์ ที่มีลักษณะของ Multi-Tasking เพื่อตอบสนองระดับความพร้อมทางเทคโนโลยี ที่ TRL 4-5-6 นอกจากนี้ บพข. ยังจัดกิจกรรมการอบรมนักวิจัยเพื่อเตรียมความพร้อมในแง่ของการควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ตามเกณฑ์มาตรฐานต่าง ๆ เช่น มาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือ มาตรฐาน ISO  การสร้างแพลทฟอร์มเทคโนโลยีใหม่ และให้เงินสนับสนุนหน่วยงานที่มีศักยภาพสูงทางการแพทย์รวมถึงการสร้างเครือข่ายการวิจัยทางการแพทย์ ก็เป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญที่ บพข. ไม่ได้ละเลย บพข.ให้การสนับสนุนการสร้างห้องปฏิบัติการ โรงงานต้นแบบที่ได้มาตรฐาน เช่น ห้องปฏิบัติการผลิต Advanced Therapeutic Medical Product (ATMP) ที่ได้มาตรฐาน Good  Manufacture Practice (GMP) ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้นักวิจัยสามารถต่อยอดงานวิจัยพัฒนาไปสู่การสร้างนวัตกรรมทางการแพทย์ด้านการรักษาได้

ศาสตราจารย์.ดร.ศันสนีย์ กล่าวว่า ในช่วงที่คนไทยกำลังเผชิญกับวิกฤติ COVID-19 ตั้งแต่ปีพ.ศ.2563 บพข.พยายามหาแนวทางแก้ไขวิกฤติดังกล่าว ด้วยการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยเชื้อโรคโควิด-19 ด้วยเทคนิค RT-PCR ซึ่งเป็นความร่วมมือของนักวิจัยจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด โดยมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่บริษัทอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และได้คุณภาพมาตรฐาน อย. จนสามารถผลิตชุดตรวจโควิด SAR-CoV-2 ด้วยวิธี Real-Time RT-PCR ทำให้ประเทศไทยมีชุดตรวจโควิดที่ได้มาตรฐานและมีราคาถูกใช้ในประเทศได้อย่างพอเพียง และสามารถแจกจ่ายไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนได้ตามนโยบายของรัฐบาล

ในส่วนการสนับสนุน“ชุดตรวจโควิด-19 ด้วยเทคนิคแลมป์”นั้น บพข.ได้ให้การสนับสนุนทุนกับบริษัทสตาร์ทอัพ ซึ่งทำให้บริษัทสามารถผลิตชุดตรวจที่ผ่านการประเมินจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะวิธีนี้สามารถทราบผลได้รวดเร็วและราคาถูกกว่าเทคนิคแบบ RT-PCR แม้ความไวและความแม่นยำจะน้อยกว่า แต่ก็ได้มาตรฐานสำหรับการตรวจเบื้องต้นแบบ Screening เพื่อตอบโจทย์ในกรณีที่มีการระบาดใหญ่ ซึ่งกรณีนี้ บพข. ก็ได้มีการทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อกำหนดมาตรฐานใหม่สำหรับชุดตรวจด้วยเทคนิคแลมป์ ตามหลักวิชาการและคุณภาพมาตรฐานสากล เพื่อทำให้ประเทศไทยมีโอกาสใช้ชุดตรวจประเภทนี้ได้

แต่ถ้าถามถึงเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์สำคัญทางด้านสุขภาพและการแพทย์ ในระยะเวลา 5-10 ปีต่อจากนี้  สิ่งที่ บพข. คาดหวังไว้ คือ 1). ยาใหม่ซึ่งเป็นยาชีววัตถุที่ประเทศไทยสามารถผลิตได้เองและขึ้นทะเบียนอย่างน้อย 3 ชนิด 2). มีชุดตรวจและห้องปฏิบัติการที่พร้อมไม่ต่ำกว่าห้าชุดตรวจ ที่สามารถจะจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ภายในประเทศและต่างประเทศได้ 3). มีห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานสากล สามารถทำยีนบำบัด (Gene Therapy) ที่เป็นวิธีการรักษาประเภท “การแพทย์แม่นยำ” หรือ “Precision Medicine” ซึ่งเป็นความหวังใหม่ในวงการแพทย์ของโลก 4). เรื่องการสกัดสารจากพืชที่ได้มาตรฐานสากล ซึ่งทาง บพข. คาดว่าน่าจะมีสารสกัดจากพืชที่เราสามารถเอามาทำเป็นอาหารเสริมหรือส่วนประกอบในการรักษาโรคได้ 5). การจัดตั้งบริษัทที่ทดสอบทางด้านคลินิก (Clinical Research Organization: CRO) ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีบริษัทที่เกิดจากความร่วมมือกันในรูปแบบนี้ และ 6). การเกิดเทคโนโลยีชั้นสูง (Deep Technology) ใหม่ๆ ในประเทศไทยและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการรวบรวมข้อมูลด้านการแพทย์และการสาธารณสุข เพื่อประกอบในการใช้วินิจฉัยรักษาและควบคุมโรค ทั้งหมดจะทำให้มีการสร้างรายได้ให้กับประเทศจากอุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ได้ รวมถึงทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงยาและระบบสาธารณสุขได้มากขึ้น

 “เรามักพูดกันเสมอว่าประเทศไทยติดกับดักรายได้ปานกลาง เพราะเราลงทุนกับเทคโนโลยีที่สร้างมูลค่าไม่สูงมาก แต่สินค้าด้านสุขภาพการแพทย์เป็นสิ่งที่สร้างมูลค่าสูงมาก หากถ้าเราสามารถผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศได้ ลดการนำเข้าและส่งออกต่างประเทศได้ ก็จะทำให้เราสามารถสร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศ การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านการตลาดในการส่งออกผลิตภัณฑ์ทางด้านสุขภาพและการแพทย์ในรูปแบบต่าง ๆ บวกกับจุดเด่นของคนไทยด้านงานบริการ จะทำให้ประเทศไทยสามารถหลุดออกจากกับดักรายได้ปานกลางได้อย่างแน่นอน รวมถึงเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพและการแพทย์ (Medical Hub) ในระดับนานาชาติ ก็จะเป็นสิ่งที่ประเทศไทยสามารถก้าวไปถึงจุดนั้นได้ เพียงแต่คนไทยต้องใส่ใจและให้ความสำคัญกับ“นวัตกรรมคุณภาพ”ให้มากขึ้น เพราะนวัตกรรมไม่ใช่แค่สิ่งประดิษฐ์หรือกระบวนการใหม่ แต่เป็นการนำสิ่งประดิษฐ์และกระบวนการเหล่านี้มาพัฒนา สร้างมูลค่าเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ในแง่อุตสาหกรรม แง่เศรษฐกิจ และช่วยพัฒนาสังคมให้แก่ประเทศได้ ศาสตราจารย์.ดร.ศันสนีย์ กล่าวในตอนท้าย

Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *