กิจกรรม

ติดตามความก้าวหน้าโครงการวิจัยด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน

ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ทีมอนุกรรมการแผนงานกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy, CE) บพข. นำโดย ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ ประธานอนุกรรมการฯ พร้อมผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่ ได้ลงพื้นที่ในจังหวัดต่างๆ เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการวิจัยที่ บพข. ได้ให้การสนับสนุนทุนภายใต้แผนงานกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง อาทิ

โครงการหมุนเวียนน้ำกลับมาใช้ประโยชน์การทิ้งน้ำเป็นศูนย์ (Zero Discharge Wastewater) โดยทีมวิจัย บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อหมุนเวียนน้ำทิ้งกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ทำให้เกิดการทิ้งน้ำเป็นศูนย์ และเพื่อเป็นต้นแบบหรือศูนย์การเรียนรู้ระบบการบำบัดน้ำเพื่อการหมุนเวียนน้ำทิ้งกลับมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอาหาร เนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมอาหารมีการใช้น้ำในกระบวนการต่างๆ ปริมาณมาก ทั้งกระบวนการล้างและกระบวนการผลิต ทำให้มีการใช้ทรัพยากรน้ำปริมาณมาก และเกิดน้ำเสียที่ต้องทำการบำบัดให้ผ่านตามมาตรฐานก่อนทิ้งน้ำลงคลอง ซึ่งน้ำทิ้งหลังบำบัดนั้นมีคุณภาพน้ำดี ทีมวิจัยจึงเห็นว่าสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ โดยการเพิ่มกระบวนการปรับปรุงให้คุณภาพน้ำดีขึ้นตามมาตรฐาน โดยใช้หลักการกรองขั้นสูงด้วยระบบอัลตราฟิลเตรชัน (Ultra Filtration System, UF) และ ระบบรีเวิร์สออสโมซิส (Reverse Osmosis System, RO) เพื่อให้คุณภาพน้ำดีขึ้นเหมาะสำหรับการใช้งานตามมาตรฐานกำหนด สามารถหมุนเวียนใช้ประโยชน์ได้เรื่อยๆ ทำให้ได้ประประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรอย่าคุ้มค่า ช่วยลดต้นทุนในการใช้น้ำในโรงงานอุตสาหกรรม ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ
โรงงานอุตสาหกรรม และช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งแลดล้อม เพื่อการใช้ประโยชน์สูงสุด

จากการรายงานความก้าวหน้าการดำเนินโครงการโดย คุณชาญวิทย์ พลบุบผา รองผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรม บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด หัวหน้าโครงการ พบว่า ขณะนี้โครงการมีความคืบหน้าไปมากกว่า 80% โดยทีมวิจัยได้ทำการออกแบบระบบและจัดเก็บข้อมูลการใช้น้ำภายในโรงงานรวมถึงคุณภาพที่สามารถใช้ประโยชน์ได้เรียบร้อยแล้ว รวมถึงได้เริ่มงานโครงสร้างพื้นฐานรองรับระบบกรองน้ำ มีการติดตั้งระบบกรองน้ำ และประกอบชุดกรองน้ำ UF และ RO และได้ทำการทดลองเดินระบบและจ่ายน้ำตามจุดต่าง ๆ โดยใช้น้ำทิ้งมาผ่านระบบการกรอง และเก็บน้ำที่ผลิตได้ หรือน้ำ RO และนำไปใช้ในกระบวนการต่าง ๆ ซึ่งน้ำ RO ที่ได้จะมีการส่งตรวจวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานเพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพของน้ำ ซึ่งพบว่าทางทีมวิจัยสามารถปรับปรุงคุณภาพน้ำทิ้งให้กลับมามีคุณภาพในระดับที่สามารถดื่มกินได้สำเร็จ

คุณสุทธิเดช อมรเกษมวงศ์ กรรมการผู้จัดการฝ่ายบริหาร บริษัทฯ ได้เล่าถึง lesson learn ที่ได้จากการทำโครงการว่า “ระบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นระบบที่มีมานานแล้ว และจากที่ศึกษามาเห็นว่าหลายๆ ที่ทำแล้วอาจไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากราคาต้นทุนที่สูงเพราะใช้วิธีจ้างทีมระบบจากข้างนอกมาทำให้ ซึ่งเขาอาจไม่ได้คลุกคลีกับงานของโรงงานและอาจจะรับงานไม่ค่อยได้ด้วย เห็นได้จากบริษัทในเครือของเรา เนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมอาหารทะเลจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ทั้งในเรื่องของสัดส่วนปลา เช่น ปลาใหญ่ ปลาเล็ก และอื่น ๆ อีกมากมาย แต่ที่นี่เราทำระบบเอง ซึ่งช่วยให้เราเข้าใจปัญหา เพราะต้องอยู่กับมันตลอด ได้เห็นว่าสัดส่วนการเปลี่ยนแปลงนั้นเยอะแค่ไหนและทำให้เราปรับตามได้ แต่ถ้าหากเป็นโรงงานที่จ้างคนข้างนอกมาจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เพราะขนาดเราที่เป็นคนทำระบบนี้เองยังต้องปรับเยอะเลย ทั้งในเรื่องของ Upstream improvement การลดการใช้น้ำ การควบคุมการใช้สารเคมี การแยกเลือดออกมาแล้วค่อย ๆ ทยอยจัดการบริหารมัน ปรับไปเรื่อย ๆ แก้จากต้นทาง ดังนั้นหากโรงงานที่ใช้วิธีการจ้างทีมระบบข้างนอกมาทำ UF & RO ให้จะสำเร็จยากมาก เพราะนอกจากระบบจะแพงมากแล้ว คนดูแลระบบยังไม่ได้คลุกคลีกับการเปลี่ยนแปลงที่มีอยู่ตลอดเวลาของโรงงาน เลยเป็นเหตุทำให้มันไม่สำเร็จ”

คุณสุทธิเดช กล่าวต่อว่า “การที่เราทำเอง ทำให้ต้นทุนต่ำลง สิ่งนี้เป็น low cost investment ที่ SME สามารถทำเองได้ถ้าเราเข้าใจมัน เชื่อว่าผู้บิหารของหลาย ๆ องค์กร คงอยากให้ทำเช่นกัน แต่สิ่งที่เป็นอุปสรรคคือทีมวิศวกรที่มีความรู้ ส่วนใหญ่จะใช้วิธีจ้างเหมาคนจากข้างนอกมาทำให้ และวิศวกรของบริษัทก็แค่มอนิเตอร์ระบบอยู่ปลายทาง ซึ่งในระยะยาว ระบบจะล้มเหลวแน่นอน เนื่องจากน้ำเสียในโรงงานมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด วิศวกรที่ทำระบบจำเป็นต้องมีความเข้าใจทั้ง chain ของผู้ใช้ จากเคสของโรงงานเราที่สำเร็จได้ก็เพราะว่าเราต้องมาอยู่กับมัน เราต้องเข้าใจตั้งแต่ Upstream ต้องเข้าใจ point of use และคนใช้งานต้องช่วยทีมวิศวกร ถ้าหากโครงการนี้จะไม่สำเร็จก็เป็นเพราะว่ามันไปไม่ถึงทั้งหมดทั้ง chain นอกจากนี้ ระบบนี้เป็นแบบ DIY เพราะว่าค่าใช้จ่ายการลงทุนหายไปกว่า 50% ทำให้งานหนักจะไปตกที่วิศวกรที่จะต้องทำเอง ดังนั้นแต่ละโรงงานจะมักมีอุปสรรคในเรื่องที่ว่า วิศวกรจะยอมทำเองไหม มีความรู้ความเข้าใจไหม นี่คือ 2 ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลให้โครงการสามารถประสบผลสำเร็จหรือได้ไม่ ไม่ว่าจะเป็นโรงงานใหญ่หรือเล็ก ถ้าคิดจะทำต้องกล้าที่จะลงมือทำเอง ต้องเข้าไปอยู่กับมัน เพราะน้ำเสียมันมีทุกวัน และมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด”

หากโครงการนี้สำเร็จ 100% จะเป็นต้นแบบที่ดีในการถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับโรงงานอุตสาหกรรมด้านอาหารรายอื่น ๆ ให้สามารถจัดการน้ำเสียภายในโรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยลดต้นทุนค่าใ จากการเดินเยี่ยมชมพื้นที่โครงการ พบว่าทางบริษัทฯ ได้มีการก่อสร้างพื้นที่สำหรับการบำบัดน้ำเสียไว้อย่างเป็นอย่างดี มีระบบบริหารจัดการที่ดีและมีมาตรฐาน ทางโรงงานได้ติดตั้งระบบ Pre-Treatment โดยทำโครงสร้างงานโยธารับการติดตั้ง และติดตั้งชุด Pre-Treatment และประกอบชุดกรองระบบ UF โดยปัจจุบันกำลังดำเนินการติดตั้งประกอบชุดกรองระบบ RO อยู่ในระหว่างช่วงประกอบระบบ RO และกำจัดน้ำเข้มข้นต่อไป ทั้งนี้บริษัทยังได้เปิดให้บริษัทหรือหน่วยงานที่สนใจสามารถเข้าไปศึกษาดูงานได้ด้วย

โครงการนวัตกรรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแผ่นวุ้นมะพร้าวที่ไม่ได้มาตรฐานจากกระบวนการผลิตด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

โครงกาารนี้เกิดจากความต้องการแก้ปัญหาด้านการความคุมคุณภาพแผ่นวุ้นมะพร้าว เนื่องจากพบว่าในการผลิตวุ้นมะพร้าวมักจะมีแผ่นวุ้นที่ไม่ผ่านคุณภาพจำนวนมาก ซึ่งกลายเป็นของเสีย นำมาซึ่งการสูญเสียต้นทุนในการผลิต สูญเสียค่าใช้จ่ายในการทำลายแผ่นวุ้นที่ไม่ผ่านคุณภาพ ซึ่งค่าใช้จ่ายในการทิ้งอยู่ที่ประมาณ 275 บาท ต่อถัง นอกจากนี้ในการทำลายแต่ละครั้งจะต้องผ่านกระบวนการตากแห้งก่อนนำไปทิ้ง ซึ่งใช้เวลานาน และมีกลิ่นเหม็น ดังนั้น คณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาจึงได้ร่วมกับโรงงานผลิตวุ้นมะพร้าวดารณี จังหวัดสมุทรสงคราม ในการศึกษาวิจัย และทดสอบการแปรรูปแผ่นวุ่นมะพร้าวที่ไม่ผ่านคุณภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยได้แบ่งเป็น 2 โครงการย่อย ประกอบด้วย

  1. การควบคุมและยกระดับกระบวนการผลิตแผ่นวุ้นมะพร้าวแบบครบวงจร เพื่อผลิตแผ่นมาส์กหน้าไบโอเซลลูโลส
  2. การสร้างมูลค่าเพิ่มแผ่นวุ้นมะพร้าวที่ไม่ได้มาตรฐานจากกระบวนการผลิตเป็นนวัตกรรมถุงมาส์กมือวุ้นมะพร้าวในจังสมุทรสงคราม

รศ.ดร.วิทยา เมฆขำ หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า “เรามีนวัตกรรมการแปรรูปถุงมาส์กมือที่แปรรูปจาก waste ที่เกิดจากการผลิตวุ้นมะพร้าว โดยเราได้ทำการศึกษาและความควบคุมความบริสุทธิ์ของเชื้อแบคทีเรีย Acetobacter xylinum ที่มีบาบาทในการผลิตไบโอเซลลูโลส รวมทั้งการศึกษาสภาวะและปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อกระบวนการผลิตไบโอเซลลูโลส นอกจากนี้เรายังได้พัฒนาแนวทางในการผลิตเพื่อเข้าสู่มาตรฐานการผลิตขั้นต้น (Primary GMP) พร้อมทั้งพัฒนากระบวนการผลิตของวุ้นมะพร้าวที่ไม่ได้มาตรฐานมาผลิตเป็นถุงมาส์กมือเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับ waste และพร้อมกันนั้นเรายังได้พัฒนาเซรั่มบำรุงผิวมือที่อุดมด้วยคุณค่าจากสารสกัดธรรมชาติในท้องถิ่น และถ่ายทอดองค์ความรู้การใช้เทคโนโลยีการผลิตถุงมาส์กมือสำหรับผู้ผลิตวุ้นมะพร้าวในท้องถิ่น เพื่อให้พวกสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับของเสียที่เหลือจากกระบวนการผลิต และเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการในท้องถิ่นอีกด้วย”

จากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความคืบหน้าของการดำเนินโครงการในครั้งนี้ พบกว่า ทางทีมวิจัยได้ดำเนินความคืบหน้าไปแล้วประมาณ 70% โดยทีมวิจัยสามารถผลิตแผ่นมาส์กหน้าไบโอเซลลูโลสได้สำเร็จ รวมทั้งได้ดำเนินการนำข้อมูลสูตรเซรั่มที่ทีมวิจัยได้คิดค้นขึ้นเพื่อขอเลขจดแจ้งต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จำนวน 2 ฉบับ ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูล สำหรับส่วนที่ทีมวิจัยยังต้องพัฒนาต่อคือการปรับปรุงเครื่องตัดถุงมือให้มีความคมที่เหมาะสมสำหรับการตัดแผ่นวุ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการพัฒนาบรรจุภัณฑ์

คุณภาคภูมิ เพิ่มมงคล บริษัท รีเสิร์ช เอ็กซ์ จำกัด ที่ปรึกษาโครงการวิจัย ซึ่งเป็นภาคเอกชนที่นำผลงานวิจัยจากโครงการไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เผยว่า “ตลาดต่างประเทศให้ความสนใจแผ่นมาส์กหน้าของเรามาก โดยเฉพาะในวงการด้านความงาม เนื่องจากเป็นวัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติ กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นคลินิกเสริมความงาม และเคาน์เตอร์แบรนด์ต่าง ๆ ทั้งโซนเอเชีย และตะวันตก โดยทางบริษัทได้มีการส่งออกจำหน่ายไปยังหลายประเทศ และประเทศที่มีการรับซื้อมากที่สุดคือประเทศเกาหลี ซึ่งในอนาคตมีแผนที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ร่วมกับทีมวิจัยต่อไปอีก อาทิ แผ่นมาส์กใต้ตา และลำคอ ซึ่งเป็นอีก product line ที่ได้รับความนิยม”

โครงการผลิตผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างเพื่อเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียวด้วยการใช้เถ้าถ่านหินเป็นฐาน โดยคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ร่วมกับ บริษัท อินทิเกรทเต็ด รีเสิร์ช เซ็นเตอร์จำกัด

โครงการนี้เป็นโจทย์ที่มาจากความต้องการของผู้ประกอบการ คือ บริษัท อินทีเกรทเต็ด รีเสิร์ท เซ็นเตอร์ จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจ ด้านการทำวิจัยให้กับโรงไฟฟ้าในจังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งใช้ถ่านหินและเชื้อเพลิงชีวมวลเป็นเชื้อเพลิงในกระบวนการผลิต โดยมีวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่เกิดจากกระบวนการผลิต ได้แก่ เถ้าลอย(Fly ash) ปริมาณรวมเฉลี่ย 450 ตัน/วันมี จึงมีแนวคิดร่วมกับนักวิจัยในการนำมาใช้ประโยชน์เป็นผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างสามชนิด ได้แก่ บล็อคไม่รับน้ำหนัก บล็อคประสานปูพื้น และขอบฟุตบาท ที่มีคุณสมบัติเด่นด้านความแข็งแรง และความทนทานต่อสภาวะแวดล้อมต่าง ๆ ซึ่งการนำเถ้าถ่านหินมาใช้งานเพื่อเป็นวัสดุประสานในงานก่อสร้างแทนที่ปูนซีเมนต์ ถือได้ว่าเป็นทางเลือกในการนำของเหลือทิ้งมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ตอบโจทย์กระแสของการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่กลุ่มกิจกรรมผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้าง

ผศ.ดร.เกียรติสุดา สมนา หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า “ทีมวิจัยได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างสำเร็จรูปโดยใช้เถ้าถ่านหินเป็นหลัก 3 ผลิตภัณฑ์ ที่มีคุณสมบัติทางกลเทียบเท่ากับมาตรฐาน มอก. ได้แก่ บล็อคไม่รับน้ำหนัก มอก.58-2560 บล็อคประสานปูพื้น มอก. 827-2531 และขอบคันหิน มอก.59-2561 โดยคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างทั้งสามชนิดมีลักษณะเด่น คือ เป็นผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการใช้ปูนซีเมนต์ และมีคุณสมบัติในด้านความทนทาน ได้แก่ ทนทานต่อการกัดกร่อนของกรด ทนทานต่อการกัดกร่อนของซัลเฟต และทนทานต่อการขัดสี สามารถผลิตได้ง่าย ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ราคาต้นทุนต่ำ แต่ยังคงคุณสมบัติได้เช่นเดียวกับที่จำหน่ายในท้องตลาด โดยสามารถนำไปใช้กับงานผนัง กำแพง ปูพื้นทางเดิน พื้นถนน และใช้กับงานปูขอบทางเพื่อกั้นระหว่างถนนกับทางเท้า นอกจากนี้ยังเป็นผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างที่มีการลดส่วนผสมของปูนซีเมนต์และใช้วัสดุเหลือทิ้งในสิ่งแวดล้อม ทำให้ได้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้งานง่าย มีความทนทาน มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างที่มีชายในท้องตลาด กลุ่มลูกค้าและอุตสาหกรรมที่นำไปใช้ ถือได้ว่าช่วยให้สิ่งแวดล้อมของโลกดีขึ้น”

จากการลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงาน พบว่าโครงการนี้คืบหน้าไปกว่า 80% โดยทางทีมสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างจากเถ้าถ่านหินได้สำเร็จ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาแผนการด้านการตลาด โดยตลาดที่สามารถเข้าถึงได้ ได้แก่ กลุ่มร้านวัสดุก่อสร้างดั้งเดิม ผู้รับเหมารายย่อย ธุรกิจ SME รวมถึงการใช้งานของบริษัทในเครือของบริษัทเอกชนที่ร่วมลงทุน นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญจาก บพข. ยังได้ให้คำแนะนำแก่ทีมวิจัยในการเตรียมการขอจดสิทธิบัตร และขอ มอก. โดยภาคเอกชนผู้ร่วมลงทุนได้ให้ความเชื่อมั่นว่าตนมีความพร้อมที่จะร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์กับทีมวิจัยเพื่อให้ได้มาตรฐาน มอก. ต่อไป

Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *