วันที่ 23 มกราคม 2568 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. จัดงาน Expert Forum: Positive list ผลักดันการขึ้นทะเบียนสารสำคัญและการกล่าวอ้างทางสุขภาพ เพื่อยกระดับการแข่งขันของประเทศ โดยมี รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการ บพข. และคุณกุลวรา โชติพันธุ์โสภณ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) กล่าวเปิดงาน ณ ห้องสุขุมวิท โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิท งานดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อให้เกิดเวทีการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ของกระบวนการจัดทำรายชื่อสารสำคัญ (Positive list) เพื่อกำหนดทิศทางการวิจัยและดำเนินงานร่วมกันของนักวิจัย หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน สู่การยกระดับมาตรฐานการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สุขภาพและการใช้ประโยชน์เชิงสาธารณะ

รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการ บพข กล่าวว่า “ในยุคที่อุตสาหกรรมอาหารมีการแข่งขันในเวทีระดับโลก การยกระดับมาตรฐานและสร้างความเชื่อมั่นต่อคุณภาพผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพ เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การจัดทำรายชื่อสารสำคัญ (Positive List) ถือเป็นก้าวสำคัญที่มีบทบาทในการผลักดันการขึ้นทะเบียนสารสำคัญต่าง ๆ เช่น สารประกอบฟังก์ชัน สารสกัดจากธรรมชาติหรือสมุนไพร การกล่าวอ้างทางสุขภาพให้เป็นตามมาตรฐานสากล โดย บพข. ร่วมผลักดันการขึ้นทะเบียนรายชื่อสารสำคัญ (Positive List) พร้อมรับฟัง แลกเปลี่ยนประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ใช้ประโยชน์ และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยตอบสนองต่อความต้องการของประเทศ”

นอกจากนี้ คุณกุลวรา โชติพันธุ์โสภณ รองผู้อำนวยการ สวก. ได้กล่าวเสริมว่า “การวิจัยด้านสารสกัดจากวัตถุดิบภาคการเกษตร ถือเป็นงานวิจัยสำคัญที่ประเทศมีความต้องการ พร้อมกันนี้ สวก. จะร่วมมือกับ บพข. ให้ทุนวิจัยที่ตรงต่อความต้องการของประเทศ และนำไปสู่การใช้ประโยชน์งานวิจัยอย่างเป็นรูปธรรมและสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศต่อไป”
พร้อมกันนี้ ภายในงานมีการบรรยายในหัวข้อสำคัญ ประกอบด้วย นโยบายและความก้าวหน้าการเตรียมข้อมูลเพื่อจัดทำ Positive List โดย ดร.สิริพร พิทยโสภณ รองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.), ความสำคัญของ Systematic Review เพื่อขึ้นทะเบียน Positive List โดย รศ.ดร.ชลัท ศานติวรางคณา ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล, ทำความเข้าใจกระบวนการทำ Positive List โดยผู้แทนผู้อำนวยการกองอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.), กรณีศึกษา การเตรียมข้อมูล Systematic Review เพื่อขึ้นทะเบียน Positive List โดย ดร.ภาวิณี ชินะโชติ หัวหน้า Food Innovation & Regulation Network (FIRN) และเป้าหมายและพันธะกิจ อย. ในการเตรียม Positive List โดย ภก.เลิศชาย เลิศวุธ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา อย.
การประชุม Expert Forum: Positive list จัดขึ้นเพื่อผลักดันการขึ้นทะเบียนสาระสำคัญและการกล่าวอ้างทางสุขภาพเพื่อยกระดับการแข่งขันของประเทศ ถือเป็นโอกาสที่ดีในการร่วมมือและเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญในทุกด้าน ที่จะช่วยเสริมสร้างองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และวางรากฐานความร่วมมือที่สำคัญ และสร้างผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์แก่ทุกภาคส่วนเพื่อให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างยั่งยืน