ข่าว

บพข. จับมือจังหวัดกระบี่ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และมิตซูบิชิขับเคลื่อนกระบี่: เมืองท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ปี 2040

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายในจังหวัดกระบี่ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ บริษัท มิตซูบิชิ ประเทศไทย จำกัด​ สมาคมโรงแรมจังหวัดกระบี่ และสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวอ่าวนาง ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการ “The Study for the Roadmap of Krabi Carbon Neutral Tourism 2040 Project”​ เพื่อขับเคลื่อนการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ให้เป็นรูปธรรม​ภายในปี 2040  โดยมี​ผู้บริหารภาครัฐ​ ภาคเอกชน​ และสื่อมวลชน ตลอดจนตัวแทนของบริษัท มิตซูบิชิ จำกัดสำนักงานใหญ่ประเทศญี่ปุ่นเข้าร่วมเป็นสักขีพยาน เมื่อวันที่​18​ มกราคม​2567​ เวลา 13.30 น. ณ​ ห้องประชุมชั้น 5 ศาลากลาง​จังหวัด​กระบี่

รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)​ พร้อมด้วย ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. ผศ.อนพัทย์ หนองคู ผู้ประสานแผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายในจังหวัดกระบี่ที่นำโดยนายสมชาย หาญภักดีปฏิมา ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่​ รศ.ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ รองอธิการบดี​ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และ Mr.Hiroyasu  Sato ( มร.ฮิโรยาสุ ซาโต้)  ประธานกรรมการบริหาร บริษัท มิตซูบิชิ ประเทศไทย จำกัด​ รวมถึงนายอมฤต  ศิริพรจุฑากุล ที่ปรึกษาสมาคมโรงแรมจังหวัดกระบี่ และนายสมเกียรติ ขยันการ นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวอ่าวนาง ร่วมกันลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการ The Study for the Roadmap of Krabi Carbon Neutral Tourism 2040 Project​ เพื่อขับเคลื่อนการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ให้เป็นรูปธรรม​ภายในปี 2040  โดยมี​ผู้บริหารภาครัฐ​ ภาคเอกชน​ และสื่อมวลชน ตลอดจนตัวแทนของบริษัท มิตซูบิชิ จำกัดสำนักงานใหญ่ประเทศญี่ปุ่นเข้าร่วมเป็นสักขีพยาน​

รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ กล่าวว่า “บพข. รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่งที่เราได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมขับเคลื่อนจังหวัดกระบี่สู่การเป็นเมืองท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ในการสนับสนุนทุนวิจัยให้กับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ในการพัฒนาการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ ที่นำไปสู่การสร้างเครือข่ายการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์จังหวัดกระบี่ที่ได้ลงนามความร่วมมือไปในปีที่ผ่านมา ดังที่ท่านรักษาการคณบดี สำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้กล่าวรายงานถึงการดำเนินงานตลอดระยะเวลา 12 ปีที่ผ่านมาที่มีการขับเคลื่อนงานวิจัยจนมาถึงการพัฒนาการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในปัจจุบัน และยิ่งในวันนี้เรามีพันธมิตรที่มีองค์ความรู้และทรัพยากรในการมาร่วมขับเคลื่อนจังหวัดกระบี่ให้เป็นเมืองท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ นั่น คือ บริษัท มิตซูบิชิ ประเทศไทย จำกัด”

นับตั้งแต่การประกาศปฏิญญากระบี่ในปี พ.ศ. 2556 ที่ทุกภาคส่วนในจังหวัดกระบี่ได้ร่วมกับกำหนดและขับเคลื่อน ทำให้การท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่มีการเติบโตอย่างมีทิศทางในการเป็นเมืองท่องเที่ยวคุณภาพที่มุ่งเน้นไปที่การท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำที่เป็นฐานสำคัญของการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ จนทำให้จังหวัดกระบี่เป็นหนึ่งในเมืองท่องเที่ยวหลักของประเทศไทย ทั้งนี้ ด้วยสังคมโลกให้ความสำคัญกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยจังหวัดกระบี่ให้ความสำคัญกับการร่วมดำเนินการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการพัฒนาการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ทั้งเพื่อการตอบสนองต่อความต้องการของตลาดการท่องเที่ยว และการรักษาจุดยืนในการเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญเป็นการต่อยอดยุทธศาสตร์และวางรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้ แนวคิด เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Economy ซึ่งกล่าวได้ว่าจังหวัดกระบี่เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพและความโดดเด่นในด้านการท่องเที่ยวสีเขียวและการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ตั้งเป้าในการขับเคลื่อนการเมืองท่องเที่ยวที่มีการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ได้อย่างชัดเจน

ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. กล่าวว่า “สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ให้การสนับสนุนทุนวิจัยกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในการพัฒนาการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 จนวันนี้ที่พัฒนาต่อยอดไปสู่การท่องเที่ยว CNT (Carbon neutral tourism) การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ภายใต้แผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรรค์ โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) งบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) และมีการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในเดือนพฤษภาคม 2566 จังหวัดกระบี่ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจเครือข่ายความร่วมมือ Krabi Carbon Neutral Tourism2040 กับ 10 องค์กรในระดับประเทศ และ 12 องค์กรในระดับท้องถิ่นที่มาร่วมขับเคลื่อนการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์”

จากเครือข่าย Krabi Carbon Neutral Tourism2040 ที่มีการลงนามความร่วมมือไปเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่ผ่านมาเป็นจุดเริ่มต้นทำให้เกิดความร่วมมือกับหลายภาคส่วนในวันนี้ที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนในภาคปฏิบัติ โดยการลงนามบันทึกความร่วมมือในวันนี้จะเป็นอีกก้าวที่สำคัญที่การท่องเที่ยวในจังหวัดกระบี่จะมีพันธมิตรที่มีองค์ความรู้ เครื่องมือ และประสบการณ์ในการผลักดันให้บรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยคาร์บอนได้ตามเป้าหมาย ซึ่งการสร้างเครือข่ายการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์จะเป็นส่วนหนึ่งในการเชื่อมโยงทรัพยากรทั้งองค์ความรู้ ประสบการณ์ เครื่องมือ เทคนิควิธีการจากองค์กรระดับประเทศสู่การขับเคลื่อนจังหวัดกระบี่ในการเป็นเมืองท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ค.ศ. 2040 ต่อไป

นายสมชาย หาญภักดีปฏิมา ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า “จังหวัดกระบี่โชคดีเป็นอย่างมากที่มีหลายหน่วยงานมาร่วมกันขับเคลื่อนการท่องเที่ยว ในนามพ่อเมืองของจังหวัดกระบี่ต้องขอขอบคุณหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในการสนับสนุนทุนวิจัยกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในการพัฒนาการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 ที่นำไปสู่การสร้างเครือข่ายการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์จังหวัดกระบี่ การลงนามบันทึกความร่วมมือในวันนี้จะเป็นอีกก้าวที่สำคัญที่พวกเราชาวกระบี่จะมีพันธมิตรที่มีองค์ความรู้ เครื่องมือ และประสบการณ์ในการผลักดันให้บรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยคาร์บอนได้ตามเป้าหมาย ซึ่งการสร้างเครือข่ายการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์จะเป็นส่วนหนึ่งในการเชื่อมโยงทรัพยากรทั้งองค์ความรู้ ประสบการณ์ เครื่องมือ เทคนิควิธีการจากองค์กรระดับประเทศสู่การขับเคลื่อนจังหวัดกระบี่ในการเป็นเมืองท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ค.ศ. 2040 ต่อไป”

รองศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า “ในปี พ.ศ. 2566 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีการดำเนินการภายใต้แผนงานวิจัย การยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการบนฐานอัตลักษณ์และนวัตกรรมที่มุ่งสู่การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในพื้นที่จังหวัดกระบี่และพื้นที่เชื่อมโยง โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)  และเป็นจังหวะที่ดีที่บริษัท มิตซูบิชิ (ประเทศไทย) จำกัด กำลังดำเนินการพัฒนากิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ และได้ริเริ่มการร่วมประชุมกับทางมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดกระบี่ และได้มีโอกาสหารือร่วมกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัด สมาคมโรงแรมจังหวัดกระบี่ และสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวอ่าวนาง รวมถึงผู้ประกอบการเรือหางยาวนำเที่ยวในจังหวัดกระบี่ และนำไปสู่การกำหนดแผนการพัฒนาและขับเคลื่อนการท่องเที่ยวสุทธิเป็นศูนย์จังหวัดกระบี่ในเชิงรูปธรรม จนนำมาสู่การการลงนามบันทึกความร่วมมือในวันนี้ และจะนำไปสู่การกำหนด Roadmap ในการดำเนินงานที่มีเป้าหมายในการใช้ศักยภาพของเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ตั้งเป้าหมายไว้ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนด้านการท่องเที่ยวในจังหวัดกระบี่ การท่องเที่ยวโดยชุมชน และภาคีเครือข่ายจากภายนอกที่เป็นองค์กรต่าง ๆ รวมถึงสถาบันการศึกษาได้แก่ จังหวัดกระบี่ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ บริษัท มิตซูบิชิ ประเทศไทย จำกัด สมาคมธุรกิจโรงแรมจังหวัดกระบี่ สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวอ่าวนางที่มาร่วมกันใช้ประสบการณ์และทรัพยากรของแต่ละหน่วยงานในการร่วมกันขับเคลื่อน ซึ่งการลงนามบันทึกข้อตกลงในวันนี้เป็นการประกาศเจตนารมย์และความมุ่งมั่นของชาวกระบี่ ร่วมกันหน่วยงานต่าง ๆ อย่างชัดเจนถึงการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ด้วยการดำเนินการโครงการ The Study for the Roadmap of Krabi Carbon Neutral Tourism 2040 Project ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือในการใช้องค์ความรู้ ทักษะและประสบการณ์ของแต่ละภาคีเครือข่ายในการขับเคลื่อนโครงการอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *