
ในการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้โตได้อย่างต่อเนื่อง ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “การพัฒนาบุคลากรและนวัตกรรม” เป็นภารกิจสำคัญที่ต้องกำหนดไว้ในทุกแผนยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเดินหน้าทำให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่ง อุตสาหกรรมการบิน (Aviation) ก็เป็นหนึ่งใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ S curve ที่ภาครัฐหมายมั่นว่าจะทำให้ประเทศไทยเป็น ศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) และศูนย์กลางการซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO Hub) ของภูมิภาค ซึ่งจะมีส่วนช่วยส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว (Tourism Hub) และศูนย์กลางโลจิสติกส์ (Logistic Hub) ได้อีกด้วย
ดังนั้น การพิชิตภารกิจนี้จึงจำเป็นต้องมีการวางแผนการพัฒนาบุคลากรและนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองทั้งเป้าหมายการผลิตกำลังคนตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมการบิน และการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ภาคอุตสาหกรรมของบ้านเรา ซึ่งที่ผ่านมามีความพยายามจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มาร่วมมือกันในการทำภารกิจนี้
และล่าสุด 7 หน่วยงานสำคัญ ได้ผนึกกำลังลงนามบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding: MOU) ว่าด้วยความร่วมมือเรื่องการพัฒนาบุคลากรและนวัตกรรมด้านการบิน โดยมีวัตถุประสงค์ในการเชื่อมโยง ประสานงานกันเป็นเครือข่ายด้านการพัฒนานวัตกรรมการบินควบคู่ไปกับการพัฒนาบุคลากรระดับอุดมศึกษา ปั้นประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางด้านการบินแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN Hub of Aviation) สอดรับกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศผ่านการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้วยระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

โดย 7 หน่วยงาน ที่มาร่วมมือกัน ได้แก่ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) (สคช.) ภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
และภายหลังจากการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ จะเกิดการเชื่อมโยง ประสานงานกันเป็นเครือข่ายทั้งในด้านการพัฒนาบุคลากรและในด้านการศึกษา ค้นคว้า วิจัย ให้สอดรับกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยผ่านการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้วยระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ หนึ่งในหน่วยงานที่จะเข้ามาเป็นห่วงโซ่ข้อต่อสำคัญ ต่อยอดเพิ่มขีดความสามารถของงานวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ร่วมกับอีก 6 หน่วยงาน คือ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ซึ่งในงานลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือเรื่องการพัฒนาบุคลากรและนวัตกรรมด้านการบิน รองศาสตราจารย์ ดร. ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการ บพข. กล่าวเน้นย้ำถึงภารกิจสำคัญของ บพข. ว่า

“บทบาทและภารกิจของ บพข. คือ การสนับสนุนทุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่จะช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมไทย โดยผลักดันให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม ทำให้เกิดการต่อยอดงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ”
สำหรับการร่วมมือในครั้งนี้ บพข. มีบทบาทหลักในการสนับสนุนทุนเพื่อวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ซึ่งทาง บวท. กำลังมีแผนที่จะพัฒนา Aerodrome simulator/digital tower และ Flight check /Drone Flight check RPAS (Remote Piloted Aircraft) ที่ใช้ในหอการบินเพื่อให้เห็นภาพจำลอง และควบคุมการบินจากทางไกล รวมถึงการพัฒนาแพล็ตฟอร์ม AI เพื่อทดสอบและ Calibrate เครื่องต่าง ๆ โดยใช้โดรนแทนเครื่องบินจริงเพื่อลดความสิ้นเปลือง
“นอกจากนี้ในอนาคตยังมีแผนที่จะการสร้างท่าอากาศยานสำหรับโดรน และพัฒนาระบบให้บริการข่าวการบินสำหรับโดรนและเครื่องบินทั่วไป เพื่อลดปัญหาการดีเลย์และเพิ่มประสิทธิภาพ Flight Information Center / Flight Information Service (FIC/FIS) ให้บริการข่าวการบินแก่บริษัทสายการบินต่าง ๆ ซึ่งเหล่านี้ล้วน เป็นโครงการที่น่าสนใจและมีความสำคัญกับภาคอุตสาหกรรมหลาย ๆ กลุ่มที่จำเป็นต้องพึ่งพาระบบการขนส่งด้วยการบิน ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ”
“โดยหลังจากนี้เราจะมีการพูดคุยหารือในการพัฒนาข้อเสนอโครงการเพื่อสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนา โดยมีการเชื่อมโยงกับผู้ใช้ประโยชน์เพื่อผลักดันให้เกิดความสำเร็จตามระดับ Technology Readiness Level (TRL) ที่คาดหวัง และเกิดการต่อยอดต้นแบบนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์จริงในเชิงพาณิชย์ (Innovation Utilization) ในธุรกิจการบิน หรือการขยายผลผ่านการจัดตั้งบริษัทสตาร์ทอัพ (Startup) เป็นต้น เพื่อนำไปสู่การสร้างความเปลี่ยนแปลงและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการบินของไทยต่อไป”
นอกจากนั้น รองศาสตราจารย์ ดร. ธงชัย ได้เน้นย้ำถึงเป้าหมายของการดำเนินงานร่วมกันผ่านการ MOU ในการยกระดับอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ ด้วยว่า
“เป้าหมายสำคัญของการร่วมมือกันครั้งนี้ คือการพัฒนาบุคลากรและนวัตกรรมด้านการบิน เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการบินของภูมิภาค ซึ่งผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น นอกจากจะเป็นการพัฒนานวัตกรรมการบินแล้ว ยังเป็นการพัฒนาทักษะและความสามารถด้านนวัตกรรมของผู้ร่วมโครงการ ทั้งภาคสถาบันอุดมศึกษา ภาควิชาการ ภาควิจัย และภาคเอกชน ผ่านการปฏิบัติจริง ตามแนวทางที่ NGAP กำหนด ถือเป็นการสร้างระบบนิเวศอุตสาหกรรมการบินที่เข้มแข็งให้กับประเทศ เพื่อให้ประเทศเราสามารถเป็นผู้สร้างเทคโนโลยีแห่งอนาคต (Future Technology) ในอุตสาหกรรมการบินที่มีมาตรฐานในระดับสากล”
และเพื่อให้เห็นภาพการต่อยอดยกระดับขีดความสามารถของงานวิจัยให้ไปสู่เชิงพาณิชย์และการใช้งานจริง ภายในงาน มีการออกบูธของต้นแบบงานวิจัยตอบโจทย์ความต้องการของ อุตสาหกรรมการบิน ที่ได้รับทุนจาก บพข. รวมถึงงานวิจัยจาก บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ที่พร้อมต่อยอดสู่การใช้งานจริงมาจัดแสดงด้วย โดยมุ่งไปที่นวัตกรรมการจัดการอากาศยานซึ่งไม่มีคนขับ (Unmanned Traffic Management Innovation) ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการและพัฒนาอุตสาหกรรมการบินของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ทันสมัย สอดคล้องกับเทรนด์โลก
เข้าใจภาพ “การต่อยอดต้นแบบงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่เชิงพาณิชย์” ด้วย Success case ที่นำไปใช้ประโยชน์จริง
เริ่มจาก โครงการระบบโครงข่ายอากาศยานไร้คนขับเพื่อการขนส่งสินค้าอุปโภค/บริโภค ซึ่งเป็นความร่วมมือในการพัฒนาและนำเอา อากาศยานไร้คนขับ หรือโดรนมาใช้ในการส่งสินค้าระหว่างเกาะเป็นครั้งแรกในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต โดย บริษัท เอวิลอน โรโบทิคส์ จำกัด ร่วมกับ วิลล่า มาร์เก็ท และ บริษัท โบ๊ทพัฒนา จำกัด และโครงการนี้ยังได้รับทุนสนับสนุนจาก บพข. ด้วย

ดร.ธนากร ทรัพย์สุขบวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอวิลอน โรโบทิคส์ จำกัด ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงโครงการนี้ว่า
“บริษัทของเราเปิดมาตั้งแต่ปี 2020 โดยธุรกิจของเราจะให้บริการในเรื่องของโดรนและ IoT ซึ่งเรามี Developer ที่เป็นคนไทย และมีบริษัทที่ไต้หวัน ลูกค้าของเราก็จะเป็นทั้งหน่วยงานของรัฐและเอกชนและบริษัทไต้หวัน ส่วนการให้บริการโดรนของเราก็จะเป็นการให้บริการโดรนอัตโนมัติในงานที่เป็น Routine ใช้เพื่อส่งของหรือดูแลความปลอดภัย ซึ่งที่ผ่านมา เราได้นำโดรนไปแข่งที่ไต้หวัน และได้รับรางวัลมาในรายการแข่งขันระดับประเทศ “การใช้โดรนส่งของข้ามเกาะ” ทำให้ทางบริษัทมองว่าเรามีศักยภาพในการให้บริการด้านนี้ เมื่อกลับมาก็เลยมามองว่าที่ไทยจะมีพื้นที่ไหนที่มีศักยภาพในการนำโดรนมาให้บริการและต่อยอดจนเป็นธุรกิจได้”
“จากจุดนั้น เราจึงไปหาพาร์ทเนอร์เป็น วิลล่า มาร์เก็ท และผู้ประกอบการที่ภูเก็ต เพื่อเปิดให้บริการใช้โดรนในการส่งของ ซึ่งเราเห็นตรงกันว่ามีโอกาสทางธุรกิจเกิดขึ้นหลังจากวิกฤตโควิดคลี่คลาย เพราะจะมีคนเดินทางมาท่องเที่ยวและอยู่อาศัยที่ภูเก็ตมากขึ้น ทำให้ดีมานด์ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่นี่โตขึ้นต่อเนื่อง และแต่ละบริษัทอสังหาริมทรัพย์ก็พยายามหาจุดขายเพื่อให้คนตัดสินใจเลือกที่อยู่อาศัยของตน โดยการเอาเทคโนโลยีมาใช้ อย่างการให้บริการ Drone Delivery ก็เป็นหนึ่งในจุดขายที่น่าสนใจ”
“นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ทางบริษัทอสังหาริมทรัพย์ในภูเก็ตร่วมมือกับ วิลลา มาร์เก็ท และทาง เอวิลอน โรโบทิคส์ ให้บริการ Drone Delivery เพื่อส่งสินค้าจาก วิลลา มาร์เก็ท ซึ่งมีลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติที่มีกำลังซื้อที่มาอยู่อาศัยในจังหวัดภูเก็ต โดยการใช้โดรนในการส่งของมีจุดเด่นที่การส่งได้รวดเร็ว ช่วยรักษาความสดของอาหาร ได้ดีกว่าการส่งทางรถยนต์“
นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ทางบริษัทอสังหาริมทรัพย์ในภูเก็ตร่วมมือกับ วิลลา มาร์เก็ท และทาง เอวิลอน โรโบทิคส์ ให้บริการ Drone Delivery เพื่อส่งสินค้าจาก วิลลา มาร์เก็ท ซึ่งมีลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติที่มีกำลังซื้อที่มาอยู่อาศัยในจังหวัดภูเก็ต โดยการใช้โดรนในการส่งของมีจุดเด่นที่การส่งได้รวดเร็ว ช่วยรักษาความสดของอาหาร ได้ดีกว่าการส่งทางรถยนต์
“เมื่อพบว่ามีดีมานด์เช่นนี้ และเป็นการให้บริการที่น่าสนใจ เพิ่มมูลค่าให้กับทางธุรกิจได้ ทางบริษัทจึงร่างโครงการเพื่อขอทุนสนับสนุนจาก บพข. เพราะในตอนนั้นเราเองก็ยังถือเป็นบริษัทสตาร์ทอัพ จึงต้องการทุนมาสนับสนุนในการพัฒนาและต่อยอดการให้บริการในเชิงพาณิชย์ และเมื่อเราได้ทุนสนับสนุนจาก บพข. ก็ทำให้เราต่อยอดขยายธุรกิจได้ง่าย การไปพูดคุยกับหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานท้องถิ่น ก็มีความน่าเชื่อถือ ซึ่งจากการประชุมกับ 17 หน่วยงานท้องถิ่น ทุกฝ่ายก็เห็นพ้องต้องกันว่า การให้บริการ Drone Delivery เป็นธุรกิจที่น่าสนใจ มีแนวโน้มตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่ภูเก็ตในอนาคต”
โดยเรามองว่าถ้าทำในพื้นที่ภูเก็ตแล้วได้ผลตอบรับที่ดี ก็สามารถนำโมเดลนี้ไปขยายที่อื่นได้ โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าระหว่างเกาะ ที่เข้าถึงลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูงและเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสนใจกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทำให้ใช้ชีวิตสะดวกสบายขึ้น ส่วนในด้านของธุรกิจอย่าง ซุปเปอร์มาร์เก็ต ก็ได้อานิสงส์จากบริการนี้ด้วย เพราะเมื่อสามารถส่งของได้รวดเร็ว ก็ทำให้ลดต้นทุนในการสต็อคสินค้าสด รวมถึงลดต้นทุนในการขนส่งได้ด้วย เนื่องจากพื้นที่ที่เป็นเกาะจะมีค่าขนส่งที่สูงอยู่แล้ว ขณะที่ ต้นทุนการใช้โดรนในการส่งของก็แค่หลักสิบ เพราะไม่จำเป็นต้องใช้คน แค่คนต้องดูแลความปลอดภัยเป็นหลักเท่านั้น แต่การขับเคลื่อนโดรนก็ใช้โปรแกรมอัตโนมัติอยู่แล้ว
“ทั้งนี้ ในการพิจารณาสนับสนุนทุนจาก บพข. มีคณะกรรมการมาจากทุกสายงาน ทั้งจากหน่วยงานรัฐ หน่วยงานกฎหมาย หน่วยงานด้านเทคนิค ซึ่งชี้ให้เราเห็นจุดด้อยที่อาจต้องนำไปปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้ Drone Delivery ของเราได้เป็นอย่างดี”
“จากประสบการณ์ในการพัฒนาและทำธุรกิจในด้านนี้มา เรามองว่าการส่งของด้วยโดรน หรือ Drone Delivery นั้น มีความเหมาะสมกับพื้นที่และบริบทของปัญหาที่ประเทศไทยเผชิญ อย่าง การจราจรที่ติดขัด หรือ ด้วยผังเมืองของเมืองใหญ่ในไทย ที่มีความหนาแน่นและกระจุกตัวสูง ขณะที่ พื้นที่กระจายออกไป ก็มีศักยภาพในการไปขยายธุรกิจสูง ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ล้วนเป็นข้อดีที่เราสามารถทำธุรกิจโดรนส่งของได้”
“แต่อย่างไรก็ดี การจะพัฒนาธุรกิจการส่งของด้วยโดรน หรือการพัฒนาธุรกิจอื่นโดยใช้โดรนมาเป็นเครื่องมือนั้น จำเป็นต้องมีการกำหนดแนวทางในการทำธุรกิจที่ชัดเจน และมีกฎเกณฑ์หรือข้อกฎหมายให้เอื้อต่อการทำธุรกิจให้มากขึ้น เพื่อให้การทำธุรกิจนี้มีความยั่งยืน เชื่อถือได้ อย่างที่ผ่านมา เราได้รับอนุญาตให้บินโดรนเพื่อส่งของเป็นช่วงระยะเวลาประมาณ 3 เดือน ทำให้เราก็ต้องทำสัญญากับทาง วิลล่า มาร์เก็ท เป็นช่วงเวลาเท่านี้ เนื่องจากมีข้อกำหนดที่กำหนดไว้เพื่อความปลอดภัย จุดนี้ก็เป็นสิ่งที่เราต้องทำงานร่วมกับทุกฝ่ายเพื่อหาแนวทางที่ชัดเจนในการต่อยอดธุรกิจนี้ต่อไป”

“ที่สุดแล้ว ผมมองว่าโมเดลธุรกิจที่ทำนี้ประสบความสำเร็จได้ นอกจากความร่วมมือจากทุกภาคส่วนแล้ว บพข. เป็นหน่วยงานสำคัญที่มาช่วยสนับสนุนให้นักวิจัย ผู้ประกอบการไทย ที่ลุกขึ้นมาศึกษา คิดค้น เทคโนโลยีและนวัตกรรมของตนเอง ทำให้ประเทศไทยเราหลุดพ้นจากชาติที่รับเอาเทคโนโลยีจากต่างชาติมาใช้ มาขาย มาเป็นชาติที่มีเทคโนโลยีของตนเอง ขณะที่ โครงการงานวิจัยที่ผ่านการคัดเลือกและได้รับทุนสนับสนุน จาก บพข. ก็เป็นการการันตีเครดิตของเราว่าเราผ่านการรับรองจากคณะกรรมการและอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญมาในระดับหนึ่งแล้ว กลไกนี้จึงมีส่วนช่วยสตาร์ทอัพหรือ SME ไทย ยกระดับธุรกิจด้วยการไปต่อยอดความร่วมมือกับบริษัทอื่นๆได้ไม่ยาก”
ต่อมา เป็นอีกหนึ่งงานวิจัยจากศิษย์เก่าของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ที่ได้พัฒนาอากาศยานที่สามารถขึ้นลงแนวดิ่งได้ และพัฒนาศักยภาพให้โดรนสามารถบินได้ไกลมากขึ้น ซึ่งจากความสำเร็จของงานวิจัยนี้เองที่วันนี้ได้รับการต่อยอดให้เป็นอากาศยานไร้คนขับประสิทธิภาพสูง ที่สามารถนำไปต่อยอดในการสร้างธุรกิจได้จริง โดยจัดตั้งเป็น บริษัท iCreativeSystems จำกัด เพื่อรับงานให้บริการตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมได้ในหลากหลายมิติ

คุณจีรนันท์ชัย ศรีทับ Business Developer ของ บริษัท iCreativeSystems จำกัด ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า
“การพัฒนาอากาศยานที่สามารถขึ้นลงแนวดิ่งได้ เป็นงานวิจัยในตอนที่ผมเรียนอยู่ที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มาในวันนี้ 7 ปีแล้วที่ได้มาขยายผลประโยชน์ของงานวิจัยนี้ให้ใหญ่ขึ้นในเชิงพาณิชย์ ซึ่งเราได้มาเปิดเป็นบริษัทสตาร์ทอัพ และเข้าไปอยู่ในเครือข่าย อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (นครราชสีมา) ที่ตั้งอยู่ในอยู่ภายใน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ทำให้เรามีโอกาสได้ Matching กับภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม และบริษัทอื่นๆ ที่มีความสนใจนำอากาศยานไร้คนขับนี้ไปใช้ประโยชน์
“ในตอนนี้ อากาศยานไร้คนขับ ของเราได้รับการออกแบบให้สะดวกต่อการใช้งาน และตัวอากาศยานไร้คนขับของเราก็พูดได้ว่า Made in Thailand เพราะอุปกรณ์ต่างๆพัฒนาขึ้นได้ในประเทศ ดังนั้น ถ้าลูกค้านำไปบินแล้วเกิดปัญหาขึ้นทางบริษัทก็มีวิศวกรผู้เชี่ยวชาญไปดูแล แก้ไข ได้ทันที นอกจากนั้นในส่วนของเซนเซอร์ที่ใช้ เราก็นำมาพัฒนาใหม่ให้ตอบโจทย์การใช้งานในเชิง Industrial มากขึ้น มีความทนทานในการใช้งานในโซนเขตร้อนของประเทศไทย ทำให้มีอายุการใช้งานที่นานขึ้น”
“ขณะที่ อากาศยานไร้คนขับที่เราพัฒนาขึ้นนี้จะมีความ Flexible มากกว่าอากาศยานไร้คนขับทั่วไปที่มักออกแบบมาเพื่อทำภารกิจเฉพาะ โดยอากาศยานไร้คนขับของเราจะทำได้หลายภารกิจเพราะเราสามารถเปลี่ยนกล้อง เช่น เปลี่ยนเป็น กล้องถ่ายทอดสด กล้อง Thermal ตรวจจับความร้อน ถ่ายภาพตอนกลางคืน กล้องที่ใช้สำหรับเก็บข้อมูลความละเอียดสูง เป็นต้น”
“สำหรับจุดประสงค์ของการนำอากาศยานไร้คนขับของเราไปใช้ ก็มีความหลากหลาย ตั้งแต่ งานสำรวจและทำแผนที่ความละเอียดสูง ซึ่งทำให้ได้ข้อมูลครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็น ขนาด ความสูงต่ำของพื้นที่ หรือรายละเอียดต่างๆในพื้นที่ตามความจริงทั้งหมด ทำให้สามารถวัดขนาดพื้นที่ ปริมาตร ความยาว เพื่อการออกแบบและวางแผนการใช้ประโยชน์ได้ดีขึ้น”
“หรือการใช้งานในเชิงภูมิสารสนเทศ ก็เช่น การทำโมเดลสิ่งก่อสร้าง 3 มิติ ใช้ในการวางแผนงานจัดสรรขยายพื้นที่ หรือการสร้างโมเดลสถานที่สำคัญต่างๆ เช่น วัด โบราณสถาน ปราสาท อนุสาวรีย์ เป็นต้น และยังสามารถนำมาใช้ร่วมกับการตรวจความเสียหายเพื่อวางแผนซ่อมบำรุงได้ด้วย”
และเรายังสามารถใช้อากาศยานไร้คนขับในการตรวจวัดคาร์บอนเครดิต ด้วยเทคโนโลยี LiDAR สามารถสแกนข้อมูลต้นไม้เพื่อหาเส้นรอบวงความสูงได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ไม่ต้องเดินวัดทีละต้น สามารถเดินสแกนผืนป่าเพื่อสร้างโมเดล 3 มิติ เพื่อนำข้อมูลมาคำนวณคาร์บอนเครดิตได้ด้วย โดยจะบอกได้ว่าผืนที่ป่ามีต้นไม้กี่ต้น มีปริมาณการดูดซับคาร์บอนได้เท่าไร
“ดังนั้น ด้วยประสิทธิภาพของอากาศยานไร้คนขับที่เราพัฒนาขึ้นนี้ ทำให้เรามั่นใจว่าอากาศยานไร้คนขับหรือโดรนฝีมือคนไทยก็มีประสิทธิภาพที่ไม่แพ้โดรนจากชาติอื่น ซึ่งเราได้ต่อยอดเพื่อปูทางให้อากาศยานไร้คนขับของเราได้รับการรับรู้ในเชิงพาณิชย์ด้วยแพลตฟอร์ม XFAS (Everything Fast as Services) ที่ให้บริการข้อมูลทางอากาศโดยใช้อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) พัฒนาขึ้นโดยคนไทย”
“แพลตฟอร์มนี้เปิดให้บริการเช่าระบบและข้อมูลดิจิตอลทางอากาศจากอากาศยานไร้คนขับแบบระบบสมาชิก (Subscription Service) มีทั้งแบบรายเดือนและรายปี ผู้ใช้บริการสามารถเช่าระบบอากาศยานไร้คนขับ และงานบริการการบินเก็บข้อมูลดิจิทัลทางอากาศ (ทั้งภาพถ่ายความละเอียด, 3D Point Clouds และภาพวิดีโอแบบ Real-Time) ซึ่งเหมาะกับ Startup หรือ SMEs ที่ยังไม่ต้องการลงทุนสูงและสร้างความคุ้นชินระบบก่อน”


“โดยแพลตฟอร์ม XFAS ได้พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือระหว่าง บริษัท ไอครีเอทีฟซิสเตมส์ จำกัด (ICS) ผู้ร่วมพัฒนาโดรน Vilverin VL-340 บริษัท เอ๊กซ์ฟาส จำกัด (XFAS) ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มบริการข้อมูลดิจิทัลทางอากาศ โดยมี ผศ.ดร.สุรเดช ตัญตรัยรัตน์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เป็นหัวหน้าโครงการ และ ผศ.ดร.ดวงเดือน อัศวสุธีรกุล มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกับบริษัท แมพพิเดียจำกัด ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มประมวลผลภาพโดรนผ่านระบบคลาวด์ (DroneBox) ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยและการผลักดันด้าน Business Model และเชื่อมโยง Ecosystem จากแผนงานกลุ่มดิจิทัลแพลตฟอร์ม บพข.”
“ปัจจุบันนวัตกรรมระบบอากาศยานไร้คนขับขึ้นลงทางดิ่ง รุ่น Vilverin VL340 พร้อมที่จะเป็นผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดในระดับ TRL7 ซึ่งยังต้องดำเนินการขยายผลผลิตภัณฑ์นี้ในรูปแบบของธุรกิจเชิงพาณิชย์ให้ออกไปสู่การใช้งานจริงในตลาดอุตสาหกรรมต่าง ๆ ดังนั้น การต่อยอดการขยายผลงานวิจัยครั้งนี้จึงทำให้นวัตกรรมอากาศยานไร้คนขับก้าวไปสู่การพัฒนาในระดับ TRL9 และออกสู่ตลาดด้วยแพลตฟอร์มกลางในชื่อ XFAS (Everything Fast as Services) นี่คือ Business Model ที่เราวางไว้”
“โอกาสจากการได้รับการคัดเลือกให้รับทุนจาก บพข. สำหรับผม มีส่วนทำให้บริษัทของเราที่เปรียบเป็นรถยนต์ที่มีเครื่องยนต์สองสูบ ได้รับการอัปเกรดเป็นรถยนต์ที่มีเครื่องยนต์แปดสูบ เป็นการติดสปีดให้นวัตกรรมของเราต่อยอดไปใช้งานในภาคอุตสาหกรรมได้เร็วขึ้น ซึ่งนอกจากการให้บริการที่กล่าวมา ในตอนนี้ทางบริษัทก็สามารถผลิตตัวอากาศยานไร้คนขับและจำหน่ายออกไปได้ทั้งหมด 3 ลำแล้ว โดยมีราคาลำละ 3.8 ล้านบาท”

นอกจากนั้น ผศ.ดร.อัฏฐพล อริยฤทธิ์ อาจารย์จากสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ยังได้เน้นย้ำด้วยว่า
“การที่ บพข. มาสนับสนุน อากาศยานไร้คนขับ เป็นการช่วยทำให้เราสามารถสร้างแพลตฟอร์มกลาง XFAS ขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว และแพลตฟอร์ม XFAS ก็เหมือนมาเป็นหน้าร้านให้บริษัท ซึ่งถ้าในอนาคตโดรนที่สร้างและพัฒนาโดยคนไทยได้รับการยอมรับ แพลตฟอร์ม XFAS ก็จะเป็นแหล่งรวมโดรน อากาศยานไร้คนขับสัญชาติไทย”
“แต่อย่างไรก็ดี ทุกวันนี้ก็ยังต้องยอมรับว่าหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน ยังคงใช้โดรนที่มาจากต่างประเทศ ดังนั้น อยากให้มีการสร้างการรับรู้ในวงกว้างเกี่ยวกับการคิดค้น พัฒนา โดรนหรืออากาศยานไร้คนขับของคนไทย เพื่อให้หน่วยงานต่างๆหันมาใช้โดรนของคนไทยที่มีประสิทธิภาพไม่แพ้โดรนจากต่างชาติ และยังมีข้อดีว่าเมื่อมีปัญหาในการใช้งาน ทางวิศวกรหรือช่างคนไทยก็สามารถแก้ไขได้ทันที ไม่จำเป็นต้องส่งไปซ่อมที่ต่างประเทศ ช่วยให้ประหยัดทั้งเงิน ทั้งเวลาด้วย”
แชร์แนวทางการสนับสนุนทุนจาก แผนงานระบบคมนาคมแห่งอนาคต ติดปีกให้โดรนและอากาศยานไร้คนขับของไทย เติบโตได้ต่อเนื่อง

ภายในงานนี้ทาง บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ยังได้นำนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินของไทยมาจัดแสดง เพื่อให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมการบินเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้ไทยเดินหน้าสู่ Aviation Hub ของภูมิภาคด้วย ยกตัวอย่างเช่น
- Aerodrome Simulator/Digital Tower และ Flight Check /Drone Flight Check RPAS (Remote Piloted Aircraft System) เป็นระบบดิจิทัลที่ใช้ในหอการบินเพื่อให้เห็นภาพจำลอง / Digital Tower Drone FC in AMC ควบคุมการบินจากทางไกล เช่น ควบคุมการลงของเครื่องบินที่เชียงใหม่จากกรุงเทพ และการนำโดรนขึ้นไปบินตรวจความสมบูรณ์ของเครื่องบิน ทดแทนการใช้เครื่องบิน
- Air Traffic Flow Management (ATFM) หรือการพัฒนาขีดความสามารถเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการจัดการความคล่องตัวในการจราจรทางอากาศ เป็น Web3 Digital Asset และ Web4 Location- Based Service ดาวเทียม GNSS เป็น Digital Twin โดยใช้ AI ทดสอบและ Calibrate เครื่องต่างๆโดนใช้โดรนแทนเครื่องขึ้นบินจริงลดความสิ้นเปลือง
- UTM Roadmap หรือ Unmanned Aircraft System Traffic Management เป็นการศึกษาวิจัยและพัฒนาเพื่อให้เกิดการวางระบบการจัดการการบินของอากาศยานไร้คนขับ ร่วมกับผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเพื่อให้มีการใช้งานร่วมกับอากาศยานภายในห้วงอากาศเชิงบูรณาการได้อย่างเหมาะสม ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ

โดย ดร.นวทัศน์ ก้องสมุทร อนุกรรมการแผนงานกลุ่มระบบคมนาคมแห่งอนาคต บพข. ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับแนวทางการสนับสนุนทุนสำหรับพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการบิน ให้สามารถต่อยอดไปสู่การใช้งานจริงในเชิงพาณิชย์ว่า
“แนวทางการสนับสนุนทุนของ แผนงานกลุ่มระบบคมนาคมแห่งอนาคต บพข. (Future Mobility : FM) เราเน้นการให้ทุนในเชิง Demand driven คือ ให้กับงานวิจัยที่มีแนวโน้มนำไปใช้งานจริง มีความต้องการในตลาดที่ชัดเจนและมีโอกาสสูงที่จะนำไปสู่การต่อยอดเชิงพาณิชย์ ซึ่งเป้าหมายการให้ทุนของ แผนงานกลุ่มระบบคมนาคมแห่งอนาคต บพข. จะครอบคลุมยานพาหนะทุกประเภท ทั้งรถยนต์ ยานยนต์ไฟฟ้าทุกชนิด และรวมถึงรถไฟ ระบบราง ทั้งรถไฟรางปกติ รถไฟรางเบา และแน่นอนว่ายังรวมไปถึงอากาศยาน ซึ่งในปัจจุบัน มีเทรนด์ที่เน้นไปที่ อากาศยานไฟฟ้าและอากาศยานไร้คนขับ และระบบคมนาคมทางน้ำ โดยการสนับสนุนทุนนี้ เป็นการให้ทุนในงานวิจัยที่จะไปตอบโจทย์ทุกระบบในยานพาหนะ ตั้งแต่ ยานพาหนะต้นแบบ ระบบย่อยในยานพาหนะ เช่น ระบบแบตเตอรี่ ระบบควบคุมไฟฟ้าแบตเตอรี่ เป็นการให้ทุนที่ครอบคลุมทั้งอีโคซิสเตมของยานพาหนะ”
“ส่วนที่เกี่ยวข้องกับ อากาศยานไร้คนขับ แน่นอนว่าเรามุ่งเน้นไปที่อากาศยานไร้คนขับที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า อย่าง โดรน ซึ่งในตอนนี้ ลักษณะของการให้ทุนจะเน้นไปที่การทำแพลตฟอร์มหรือแอปพลิเคชั่นเพื่อตอบสนองรูปแบบของการนำโดรนไปใช้ โดยในปัจจุบัน โดรนได้ถูกนำไปใช้ทั้งในการส่งเวชภัณฑ์ ส่งสินค้า และให้ในการออกแบบระบบปฏิบัติการ เพื่อให้มีการให้บริการอย่างปลอดภัยทั้งในเขตเมืองและนอกเขตเมือง โดยต้นแบบการให้บริการนอกเขตเมืองที่ชัดเจนคือโครงการระบบโครงข่ายอากาศยานไร้คนขับเพื่อการขนส่งสินค้าอุปโภค/บริโภคที่ จ.ภูเก็ต ซึ่งโครงการนี้ทางทีมงานมีการไปพูดคุยกับหน่วยงานท้องถิ่น ที่นับเป็นครั้งแรกที่มีการสร้างโมเดลการให้บริการเชิงพาณิชย์ โดยได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน”
ดังนั้น โครงการวิจัยที่เกิดขึ้นที่ จ.ภูเก็ต นี้ นับเป็นตัวอย่างของงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนทุนจาก บพข. ที่เป็นรูปแบบของแพลตฟอร์ม Operating Model ไม่ได้ลงไปจับแค่การพัฒนาโดรนส่งของ แต่มีการวาง Business Model ที่ชัดเจน และนอกจากการให้ทุนกับโครงการลักษณะแบบนี้ อีกส่วนหนึ่งเราให้ความสำคัญกับการให้ทุนกับโครงการที่ทำเกี่ยวกับ Infrastructure ของการใช้โดรน ที่เราเรียกว่า UTM หรือ UAS Traffic Management ซึ่งตอนนี้ เรามีการให้ทุนไป 3 ราย ที่มีการออกแบบระบบที่แตกต่างกัน แต่เรามีความตั้งใจที่จะเชื่อมให้ทุกระบบทำงานร่วมกันได้ เพราะเรายังไม่แน่ใจว่าต่อไปโดรนจะถูกใช้มากในพื้นที่ประเภทไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้โดรนบินในเมือง ที่แม้แต่ในต่างประเทศเอง ยังไม่ได้มีการยอมรับเรื่องการใช้โดรนบินในเมืองมากนัก เหตุผลหลักเป็นเพราะการยอมรับของสังคม ความเป็นส่วนตัว และความปลอดภัยในการบินโดรน แต่อย่างไรเราก็เตรียมระบบเพื่อรองรับการบินโดรนนี้ไว้ให้พร้อมที่สุด โดยเฉพาะในเรื่อง Infrastructure อย่างที่กล่าวมา เพราะถ้าโดรนมีการบินมากกว่าหนึ่งลำอยู่ในพื้นที่เดียวกัน เราจะจัดการควบคุมอย่างไร เพื่อให้บินไปถึงจุดหมายปลายทางได้ในเวลาที่เหมาะสมและไม่มีการชนกัน หรือไปชนกับสิ่งกีดขวางอื่นๆ

“และในแง่ของการสร้าง Drone Ecosystem เอง ทางแผนงานฯ ก็มีการเปิดกว้างรับข้อเสนอขอรับทุนจากโครงการต่างๆ แม้แต่ในเรื่องที่เกี่ยวกับนโยบาย เช่น การสร้างมาตรฐาน โดรน ให้การทดสอบโดรน ซึ่งจะนำไปปรับใช้เป็นมาตรฐานให้กับหน่วยงานกำกับดูแล คือ สำนักงานการบินพลเรือน ที่จะนำไปพิจารณาเพื่อประกาศใช้ต่อไป”
“นอกจากนั้น การสร้างมาตรฐานยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สร้างความมั่นใจได้ว่า เมื่อมีการนำโดรนไปบินในพื้นที่สาธารณะจะทำให้ความเสี่ยงลดลง หรือเกิดความเสี่ยงในระดับที่เรายอมรับได้ ดังนั้น การสร้างมาตรฐานจึงเหมือนการติดกระดุมเม็ดแรกในการเดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมโดรนในประเทศไทย ถ้าติดกระดุมเม็ดแรกถูกต้อง การเดินหน้าส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ก็จะเดินไปในทิศทางที่ถูกต้องและเหมาะสมด้วย”


“และในวันนี้ ที่มีการ MOU ว่าด้วยความร่วมมือเรื่องการพัฒนาบุคลากรและนวัตกรรมด้านการบิน นับเป็นการสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันที่ดี จากแต่ก่อนที่แต่ละหน่วยงานต่างทำงานภายใต้หมวกใครหมวกมัน แต่เมื่อมีการลงนาม MOU นี้ ที่เกิดขึ้นจากการที่ทาง บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ไปจับมือกับอีก 6 หน่วยงาน ซึ่งล้วนเป็นหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ในเรื่องของการวางนโยบายด้านการวิจัยและการพัฒนาบุคลากรอย่าง สอวช. สวทช. รวมถึงหน่วยงานให้ทุน เช่น บพข. บพค. ไปจนถึงหน่วยงานฝึกอบรม อย่าง สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ย่อมทำให้เกิดความร่วมมือกันในการทำงานตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เห็นทั้งความท้าทาย และจุดด้อยที่ต้องแก้ปัญหา Pain Point นั้นร่วมกัน เช่น เรื่องของการสร้างมาตรฐานอย่างที่ได้กล่าวมา ซึ่งถ้ามีการวางมาตรฐานก็จะเอื้อให้งานวิจัยและนวัตกรรมที่คิดค้นออกมานั้น ได้รับการนำไปปรับใช้อย่างเป็นรูปธรรม”