พร้อมผลักดันให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็นประเทศส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับหนึ่งของโลก
เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2567 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายในงาน อว.แฟร์ ” กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) จัดพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือ ( MOU) ระหว่างหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ กับ มหาวิทยาเกษตรศาสตร์ ในการจัดตั้ง “ศูนย์ทดสอบความน่ากิน(Palatability)อาหารสัตว์เลี้ยง” ขึ้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงระดับพรีเมี่ยม สนับสนุนการดำเนินการของธุรกิจด้านอาหารสัตว์เลี้ยงของผู้ประกอบการรายย่อย พร้อมผลักดันให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็นประเทศส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับหนึ่งของโลก

รศ. ดร. ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการ บพข. กล่าวว่า บพข. มีหน้าที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งอุตสาหกรรมอาหาร เป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่ บพข. ให้ความสำคัญ และต้องการเร่งรัดยกระดับความสามารถในการแข่งขัน ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่จำเป็นต้องทันต่อการเปลี่ยนแปลง โดย บพข. นอกจากสนับสนุนทุนวิจัยแล้ว ยังให้ทุนเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการวิจัยและพัฒนา โดยเฉพาะที่จำเป็นสำหรับผู้ประกอบการ อย่างเช่น “ศูนย์ทดสอบความน่ากิน (Palatability) อาหารสัตว์เลี้ยง” ซึ่งเป็นการเร่งรัดการทำงานของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์พรีเมี่ยม ที่แม้จะมีมูลค่าทางการตลาดที่สูงมาก แต่ก็เป็นการรับจ้างผลิตให้กับแบรนด์ต่างประเทศถึง 95 % การขับเคลื่อนให้ผู้ประกอบการไทยสามารถสร้างแบรนด์ของตนเอง ดังนั้นการมี “ ศูนย์ Palatability” ดังกล่าว จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยทำให้ ผู้ประกอบการไทยมีขีดความสามารถการแข่งขันสูงขึ้น สามารถผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานระดับสากลและสามารถสร้างแบรนด์ที่นำออกสู่ตลาดโลกได้
“ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงพรีเมี่ยม ส่วนใหญ่ธุรกิจขนาดเล็ก กลางและใหญ่บางราย ไม่สามารถผลิตจำหน่ายเชิงพาณิชย์เองได้ ต้องติดแบรนด์จากต่างประเทศ แม้จะสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ได้ แต่ติดปัญหาคือ ขาดห้องปฏิบัติการ หรือศูนย์ทดสอบที่ได้มาตรฐาน ซึ่งศูนย์ทดสอบฯ ที่จะก่อตั้งขึ้นในโครงการที่ บพข.สนับสนุนนี้ อยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อให้ได้มาตรฐานในระดับสากล เพื่อที่จะได้รับความน่าเชื่อถือจากผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ คาดว่าเมื่อแล้วเสร็จจะมีผู้ประกอบการเข้ามาใช้บริการในเบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 50 ราย” ดร.ธงชัย กล่าว

ผศ.น.สพ.ดร.คงศักดิ์ เที่ยงธรรม คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า “ศูนย์ทดสอบความน่ากิน(Palatability)อาหารสัตว์” เป็นสิ่งจำเป็นที่จะเกิดขึ้น โดยจะจัดตั้งศูนย์ฯ ที่โรงพยาบาลสัตว์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนองโพ จ.ราชบุรี คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมให้บริการได้ในปี 2568 ซึ่งการทดสอบเหล่านี้จะเป็นส่วนสำคัญ ทั้งความสมบูรณ์ด้านโภชนาการ และความน่ากินต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยยกระดับผู้ประกอบการรายย่อยให้ความเข้มแข็งและสามารถแข่งขันได้ทั้งในและต่างประเทศ

รศ. ดร. วาณี ชนเห็นชอบ ประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มอาหารมูลค่าสูง บพข. เปิดเผยว่า อาหารสัตว์เลี้ยงมูลค่าสูง เป็นโอกาสและความท้าทายสูงของประเทศไทย ซึ่ง บพข. มุ่งเน้นอย่างมาก โดยที่ผ่านมามีการระดมความคิดเห็นร่วมกับผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงรวมถึงกรมปศุสัตว์ จนเกิดเป็น อุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงมูลค่าสูง ซึ่งประเทศไทย เป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงเป็นอันดับ 3 ของโลก การจะผลักดันประเทศไทยให้ขยับจากอันดับ 3 มีมูลค่าตลาดโดยเฉลี่ย มากกว่า 70,000 ล้านบาท ไปสู่เป้าหมายคือ อันดับ 1 ของโลก ทั้งนี้ บพข. มีหน้าที่ติดอาวุธให้กับผู้ประกอบการ คือ สร้างโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศนวัตกรรม สนับสนุนทุนวิจัย และสร้างองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ และล่าสุดอยู่ระหว่างผลักดันการขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์เลี้ยงร่วมกับกรมปศุสัตว์

รศ.น.สพ. อรรถวิทย์ โกวิทวที รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและนวัตกรรมทางสัตวแพทย์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตัวแทนคณะวิจัย ฯ กล่าวว่า โครงการที่ได้รับการสนับสนุนจาก บพข. แบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ส่วนหลัก ส่วนแรก คือ องค์ความรู้ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยจะมีทั้งองค์ความรู้ในประเทศไทยและจากผู้เชี่ยวชาญในระดับโลกที่เป็นพันธมิตรกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำให้สามารถทดสอบได้ทั้งในและต่าง ประเทศ ส่วนที่ 2 คือ การทำศูนย์สัตว์ทดลองเพื่อที่จะทำการทดสอบต่าง ๆ ทั้งด้านความน่ากิน และด้านอื่น ๆ ด้วยที่มีความจำเป็น “ ในตลาดจะพบว่าบางผลิตภัณฑ์มีการเคลมคำบางคำ ซึ่งหากทำได้และนำไปใช้ได้จริง มีผลการทดสอบที่ชัดเจนก็จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันได้ทั้งในและต่างประเทศ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราพยายามจะทำคือการสร้างมาตรฐาน และเป็นมาตรฐานในการทดสอบที่ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศยอมรับ ซึ่งเมื่อส่งผลิตภัณฑ์ไปแข่งขันในต่างประเทศ จะส่งผลให้มีศักยภาพแข่งขันได้ในเวทีโลกได้”







ภายในงาน ยังมีการเสวนาในหัวข้อที่น่าสนใจเกี่ยวกับการสนับสนุนธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงของ บพข. การจัดทำนโยบายฐานข้อมูลคำนวณโภชนาการอาหารสัตว์เลี้ยง แพลตฟอร์มการขึ้นทะเบียนออนไลน์ร่วมกับกรมปศุสัตว์ โดยวิทยากร รศ.ดร.ณัฐดนัย หาญการสุจริต ผู้จัดการสำนักประสาบงานวิจัย อาหารมูลค่าสูง บพข. ประธานหน่วยบูรณาการยุทธศาสตร์ ฯ อุตสาหกรรมอาหารอนาคต สกสว.
การเสวนาในหัวข้อ : ก้าวทันเทรนด์การเลี้ยงสัตว์ : นวัตกรรมและแนวทางในการพัฒนาอาหารสัตว์เลี้ยงเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด โดยวิทยากร น.สพ.ดร.ณัฐพงศ์ อัคริมาจิรโชติ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
การเสวนาในหัวข้อ : สมดุลโภชนาการและความน่ากินของอาหารสุนัขและแมว โดยวิทยากร สพ.ญ.พรสุชา พละเสวีนันท์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
การเสวนาในหัวข้อ : ศูนย์วิจัยด้านโภชนาการสัตว์เลี้ยง : องค์ประกอบสำคัญ เพื่อเพิ่มโอกาสการแข่งขันอย่างยั่งยืน โดยวิทยากร รศ.น.สพ.ดร.อรรถวิทย์ โกวิทวที คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
การเสวนาในหัวข้อ : ศูนย์ให้บริการทดสอบ Palatability เพื่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงโดยวิทยากร สพ.ญ.อรทัย ชัยเวชการ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิ ยูนิค แลปโบราทอรี่ จำกัด
การเสวนาในหัวข้อ : สาธิตการใช้โปรแกรมการคำนวณโภชนาการอาหารสัตว์เลี้ยงร่วมออกแบบโดย Petfood Consortiumโดยวิทยากร ผศ.ดร.จุมพล วรสายัณห์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสารสนเทศ คณะอุตสาหกรรมเกษตรมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
