
บพข. จับมือ มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย เปิดตัวเว็บไซต์ “Gastro Tour Thai” กินและเที่ยว ที่เดียวจบ ยกระดับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารใน 7 พื้นที่ของประเทศไทย (GIS) จากผลงานวิจัย 7 มหาวิทยาลัย นำสู่การขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 3 เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2566 นางสาวสุณีย์ เลิศเพียรธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานพิธีเปิด “กิจกรรมการขับเคลื่อนการนำผลงานไปใช้จริง ร่วมกับหน่วยงานขับเคลื่อนและผลักดันของกลุ่มงานท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข.” ภายใต้ “โครงการบูรณาการระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์เพื่อยกระดับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร” พร้อมเปิดตัวเว็บไซต์ “Gastro Tour Thai : กินและเที่ยว ที่เดียวจบ” โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย มุ่งมั่นพัฒนาระบบฐานข้อมูลสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (Geographic Information System: GIS) และแผนที่ทางวัฒนธรรม (Cultural Mapping) เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการเชื่อมโยงระบบสู่ผู้ใช้งานที่มีบทบาทในการวางแผนพัฒนาและบริหารจัดการท่องเที่ยวในระดับพื้นที่ และสามารถต่อยอดการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลภายใต้ระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์และแผนที่ทางวัฒนธรรมให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวทั่วประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนจัดกิจกรรมเพื่อเชื่อมโยงภาคีเครือข่าย เพื่อนำสู่เป้าหมายการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารให้ยั่งยืนต่อไป

นางสาวสุณีย์ กล่าวว่า เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals: SDGs ขององค์การสหประชาชาติ ที่เน้นในเรื่องของการสร้างความยั่งยืนในด้านต่าง ๆ 17 ด้าน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ การเสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคุลม และยั่งยืน อันเป็นภาระหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐที่จะร่วมกันบูรณาการ การทำงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อีกทั้งเป็นการต่อยอดการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแบบองค์รวมตามแนวคิด BCG Model ที่จะเป็นกลไกในการยกระดับคุณภาพชีวิตของคน ในประเทศได้อย่างทั่วถึง สามารถกระจายโอกาส และลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รองศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ รองผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กล่าวด้วยว่า กรมการท่องเที่ยว บพข. และคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย ได้ร่วมมือกันจัดทำแพลตฟอร์มการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร (Gastronomy Tourism) ซึ่งเป็นการรวบรวมข้อมูลจากผลงานวิจัยการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร ใน 7 พื้นที่ ครอบคลุม 12 จังหวัดของประเทศไทย ประกอบด้วย จังหวัดลำปาง เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม กรุงเทพมหานคร พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า) พัทลุง สงขลา และจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก บพข. โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อนำเข้าข้อมูลในระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (Geographical Information System: GIS) เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร และใช้แผนที่นำทางไปยังพิกัดแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารต่าง ๆ ได้ นอกจากนั้น ยังนำเสนอข้อมูลผ่านเว็บไซต์ Gastrotourthai.net เพื่อให้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับจานอาหาร ร้านอาหาร ชุมชน และยังสามารถให้นักท่องเที่ยวออกแบบเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงด้วยตนเองได้ ซึ่งนำเสนอทั้งในรูปแบบภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ขยายผลและต่อยอดข้อมูลในระบบได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการเติบโตของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารต่อไป

ด้านนายบุญเสริม ขันแก้ว รองอธิบดีกรมการท่องเที่ยว กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายในงาน มีกิจกรรมสาธิตการประกอบอาหารร่วมกับ เชฟจากัวร์ ธีรวีร์ ดิษยะไชยพงษ์ เจ้าของร้านอาหาร Sai and Lakeview และผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ สมาคมเชฟประเทศไทย ในการต่อยอดอาหารถิ่นเป็นอาหารฟิวชั่น ร่วมกับผู้ประกอบการ ‘ร้านบ้านสกุลทอง อาหารสยาม – โปรตุเกส กุฎีจีน จากกรุงเทพมหานคร’ เมนูอาหารที่นำมาจัดแสดง ได้แก่ ม้าฮ่อ ห่อหมกดอกบัวหลวง พริกขิงตามเสด็จ ชุมชนท่องเที่ยวบ้านเดื่อ จังหวัดหนองคาย กับเมนูข้าวโหล่งมะเดื่อมหามงคล ปลาจุ่มบ้านเดื่อมหามงคล ลาบปลา ‘ร้าน Honey Rose Herb Garden & Art จังหวัดสุราษฎร์ธานี’ กับเมนูเมี่ยงไมตรี ขนมไข่ปลาทอดน้ำมันมะพร้าว โดยนักท่องเที่ยวหรือผู้ที่สนใจ สามารถตามรอยไปลิ้มชิมรสอาหารเหล่านี้ โดยค้นหาข้อมูลได้จากเว็บไซต์ “Gastro Tour Thai : กินและเที่ยว ที่เดียวจบ”
ภายในงานได้มีปาฐกถาพิเศษ “บพข. กับ บทบาทและภารกิจในการสร้างความสามารถทางการแข่งขันของประเทศด้วยงานวิจัย และนวัตกรรม” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์
“บพข. มุ่งทำงานเพื่อยกระดับการท่องเที่ยวของประเทศ การนำวัฒนธรรมอาหาร วิถีท้องถิ่นอัตลักษณ์ของไทย เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ นับเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยสนับสนุนให้อาหารกลายเป็นเครื่องมือหนึ่งใน SOFT POWER ของไทย เพื่อดึงดูดใจนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศให้มาชิมรสชาติอาหารไทย ให้มาเรียนทำอาหารไทย จากฐานทุนทางวัฒนธรรมประเพณีการทำอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ รสชาติที่โดดเด่น และการต้อนรับที่อบอุ่นของคนไทย ทำให้เราได้รับชื่อเสียงกลายเป็นที่รู้จัก และด้วยความร่วมมือและวิสัยทัศน์ร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่ส่งเสริมการท่องเที่ยว ทั้งภาครัฐ (กรมการท่องเที่ยว/การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) สมาคม (สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) และภาคเอกชน (ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ผู้ประกอบการร้านอาหาร/เครื่องดื่ม) จะทำให้เราสามารถปลดล็อกศักยภาพที่แท้จริงของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร และทำให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางด้านอาหารระดับโลกได้” รองศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย ได้กล่าวทิ้งท้ายในการปาฐกถาพิเศษ






นอกจากนี้ยังมีการเสวนาในหัวข้อ “มุมมอง แนวทาง และนโยบายการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารของประเทศไทย” ผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ นางฐนิวรรณ กุลมงคล ที่ปรึกษาประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นายบุญเสริม ขันแก้ว รองอธิบดี กรมการท่องเที่ยว เชฟจากัวร์ ธีรวีร์ ดิษยะไชยพงษ์ เจ้าของร้านอาหาร Sai and Lakeview และผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ สมาคมเชฟประเทศไทย และ ดร.สัญชัย เกียรติทรงชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย
การจัดกิจกรรมครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร ด้วยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน สมาคมและชุมชนท้องถิ่น ซึ่งมีความสำคัญต่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร ที่จะขับเคลื่อนให้เกิดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศไทยต่อไป







