ข่าว

บพข. จัดเสวนา “ระบบโลจิสติกส์แห่งอนาคต เพิ่มประสิทธิภาพอย่างยั่งยืนด้วยงานวิจัย” ในงาน Tilog Logistix 2023

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) นำโดย รศ.ดร.ชาลีดา บรมพิชัยชาติกุล รองผู้อำนวยการ บพข. พร้อมด้วย รศ.ดร.วัชรพล ชยประเสรฐิ ผู้อำนวยการแผนงานวิจัยกลุ่มโลจสิติกส์และระบบราง บพข. และ รศ.ดร.สมพงษ์ ศิริโสภณศิลป์ ประธานอนุกรรมการแผนงานวิจัยกลุ่มโลจสิติกส์และระบบราง บพข. จัดงานเสวนา “ระบบโลจิสติกส์แห่งอนาคต เพิ่มประสิทธิภาพอย่างยั่งยืนด้วยงานวิจัย” เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนทุนจาก บพข. ภายใต้แผนงานกลุ่มโลจิสติกส์และระบบราง และเสวนาถึงทิศทางการพัฒนาโลจิสติกส์ในอนาคตด้วยงานวิจัย ภายในงาน Tilog Logistix 2023 ณ ห้อง NILE 1 ไบเทคบางนา กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2566

รศ.ดร.ชาลีดา กล่าวว่า ปัจจุบันนี้การพัฒนาระบบโลจิสติกส์และระบบรางมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศษฐกิจของประเทศอย่างยิ่ง ทั้งในแง่ของการเพิ่มความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจ ซึ่งการมีระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพจะช่วยในการลดต้นทุนการผลิตและการขนส่งสินค้า ทำให้สินค้าของประเทศได้รับความนิยมและมีความแข็งแกร่งในตลาดโลก ส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากการมีระบบโลจิสติกส์ที่ดีจะช่วยในการส่งออกสินค้าไปยังประเทศอื่นโดยมีความรวดเร็วและปลอดภัย ทำให้การค้าระหว่างประเทศของประเทศไทยเติบโต สร้างงานและรายได้ โดยการพัฒนาระบบโลจิสติกส์จะสร้างงานในหลายๆ ภาค เช่น ภาคขนส่ง, การจัดการคลังสินค้า, การจัดการข้อมูล ฯลฯ ทำให้ประชากรมีงานทำและรายได้เพิ่มขึ้น เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน จากการมีระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพจะทำให้ธุรกิจในประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันกับธุรกิจในประเทศอื่นได้ รวมถึงส่งเสริมการลงทุน ซึ่งหากระบบโลจิสติกส์ที่ดีจะเป็นการดึงดูดให้นักลงทุนต่างประเทศมาลงทุนในประเทศไทย เป็นต้น ดังนั้นการมีทุนสนับสนุนวิจัยจะเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นให้นักวิจัยและภาคเอกชนสร้างสรรค์ผลงานและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์และระบบรางของประเทศ ที่ตอบสนองความต้องการของตลาด รวมทั้งการร่วมสนับสนุนทุนการวิจัยร่วมกับภาคเอกชน จะทำให้มั่นใจถึงโอกาสที่จะนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ในธุรกิจได้มากขึ้น

ด้าน รศ.ดร.วัชรพล ได้กล่าวถึงการดำเนินงานที่ผ่านมาว่า ในปีงบประมาณ 2566 แผนงานวิจัยกลุ่มโลจิสติกส์และระบบราง ซึ่งได้ออกสัญญาทุนโครงการวิจัยไปแล้วกว่า 13 โครงการวิจัย ซึ่งเป็นกรอบงบประมาณลงทุนของ บพข. ที่เสนออนุมัติรวมทั้งสิ้น 47,224,909 บาท นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือจากภาคเอกชนในการร่วมลงทุนด้วย สำหรับการพัฒนาโจทย์การวิจัยด้านระบบโลจิสติกส์และระบบรางนั้น ได้ผ่านกลไกการคัดกรองจากผู้เชี่ยวชาญ เน้นการพัฒนาผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม โดยผ่านความร่วมมือในหลายภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา เปิดโอกาสกการเข้าถึงเทคโนโลยีของผู้ประกอบการที่จะมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองธุรกิจอย่างตรงจุด เพื่อสร้างผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลงทั้ง มูลค่าต้นทุนโลจิสติกส์ของผู้ประกอบการภายในประเทศลดลง และปริมาณการขนส่งสินค้าทางรางเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังเน้นถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งในมิติของสังคมและสิ่งแวดล้อมร่วมด้วย

งานเสวนาในครั้งนี้ แผนงานวิจัยด้านโลจิสติกส์และระบบราง ภายใต้หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ได้จัดขึ้นร่วมกับสมาพันธ์โลจิกส์ไทย เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัย และเสวนาถึงทิศทางการพัฒนา โลจิสติกส์ในอนาคตด้วยงานวิจัย โดยมีกิจกรรมหลักเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนแรกเป็นการจัดบูธนำเสนอตัวอย่างผลการวิจัย และพื้นที่สำหรับให้ผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจ ในการสอบถาม แลกเปลี่ยนเพื่อการพัฒนาโจทย์การวิจัยร่วมกับแผนงาน ภายในพื้นที่งานแสดงสินค้าและบริการด้านโลจิสติกส์ และส่วนที่สองคือกิจกรรมในงานเสวนาดังกล่าวนี้ แบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกเป็นการนำเสนอตัวอย่างผลงานวิจัยโดยนักวิจัยที่ได้รับทุนวิจัยจากบพข. ผ่านแผนงานวิจัยด้านโลจิสติกส์และระบบราง และช่วงที่สอง เป็นวงเสวนาในเรื่อง “ระบบโลจิสติกส์แห่งอนาคต เพิ่มประสิทธิภาพอย่างยั่งยืนด้วยงานวิจัย” โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ คุณนพพร เทพสิทธา คณบดีกิตติคุณ วิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยศรีปทุม อดีตประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย อดีตประธานคณะกรรมการบริหาร ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย, คุณบรรณ เกษมทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) SCGJWD และ คุณสุรรัฐ เนียมกลาง ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยมีผู้ดำเนินรายการ คือ รศ.ดร.สมพงษ์ ศิริโสภณศิลป์ ประธานคณะอนุกรรมการแผนงานโลจิสติกส์และระบบราง บพข.

Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *