
Positive list คือ รายการสารสำคัญที่เป็นส่วนประกอบของอาหาร ซึ่งปัจจุบันอาหารแห่งอนาคต หรือ Future Food กำลังเข้ามามีบทบาทในสังคมยุคใหม่ การขึ้นทะเบียนสารสำคัญในอาหารกลุ่มนี้ เพื่อแสดง “ข้อความกล่าวอ้างทางสุขภาพ” (Health claims) จึงมีความจำเป็นต่อการจัดทำ Positive list สำหรับอุตสาหกรรมอาหารแนวใหม่
อาหารแห่งอนาคต มีหลายประเภท อาทิ Functional food กลุ่มอาหารที่มีสารสำคัญลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ, Novel food (Plant based) กลุ่มโปรตีนจากพืช และวัตถุดิบจากพืชที่ใช้เป็นส่วนประกอบของอาหาร ผลิตขึ้นมาใหม่ด้วยนวัตกรรม, Novel food (Insect Protein) กลุ่มโปรตีนจากแมลงและวัตถุดิบที่ใช้เป็นส่วนประกอบของอาหาร ผลิตขึ้นมาใหม่ด้วยนวัตกรรม, Novel food (Cultured Meat) กลุ่มเนื้อสัตว์ที่มาจากกระบวนการเลียนแบบด้วยการสร้างเซลล์และเนื้อเยื่อ ด้วยเทคโนโลยี “Stem cell”, Organic Food กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากผลิตผลทางการเกษตรปลอดภัยจากสารเคมี เช่น ผักปลอดสารพิษ เนื้อสุกรที่เลี้ยงด้วยวีถีธรรมชาติ, Medical & Personalized Food กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา หรืออาหารเสริม แต่มีโภชนาการที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล หรือผู้ป่วยที่ต้องรักษาโรคเป็นการเฉพาะ เช่น โรคเกี่ยวกับระบบเผาผลาญ โรคลำไส้แปรปรวน เป็นต้น

เพราะฉะนั้น เมื่อผู้ประกอบการต้องการผลิตอาหารแห่งอนาคต จำเป็นต้องมี “ข้อความกล่าวอ้างทางสุขภาพ” (Health claims) ของสารต่างๆ ที่นำมาประกอบเป็นอาหารว่าสารแต่ละชนิดมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง ซึ่งคำกล่าวอ้างนั้นจะต้องผ่านการวิจัยและได้รับการตรวจสอบตามมาตรฐานสากลแล้วว่ามีคุณค่าทางโภชนาการและปลอดภัยต่อผู้บริโภค ซึ่งบริษัทขนาดใหญ่อาจทำได้ เพราะมีห้องแล็ป นักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ ดำเนินงานด้านนี้อยู่แล้ว แต่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม ที่มีเงินทุนจำกัด ย่อมกลายเป็นอุปสรรคสำหรับการผลิตอาหารแห่งอนาคต เพราะไม่สามารถระบุคุณสมบัติ หรือ “ข้อความกล่าวอ้างทางสุขภาพ” แสดงบนฉลากและการโฆษณากล่าวอ้างสรรพคุณได้ ทำให้ไม่สามารถสื่อสารคุณประโยชน์ต่อสุขภาพ ซึ่งเป็นจุดขายที่ตอบกระแสความใส่ใจสุขภาพของผู้บริโภคได้
ด้วยเหตุนี้ ในปี 2567 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. จึงดำเนินการจัดทำราย Positive list ขึ้นมา 6 รายการ พร้อมกับออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 447 พ.ศ. 2566 เรื่อง การกล่าวอ้างทางสุขภาพของอาหารบนฉลาก โดยได้กำหนดนิยามและลักษณะการกล่าวอ้าง รวมทั้งหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการกล่าวอ้าง ให้มีความชัดเจนในทางปฏิบัติ และมีบัญชีท้ายประกาศฯ กำหนด “ข้อความกล่าวอ้างทางสุขภาพ” 3 ลักษณะ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ เพิ่มศักยภาพการแข่งขันในระดับสากล ได้แก่
1. การกล่าวอ้างหน้าที่ของสารอาหาร 28 รายการ จำนวน 135 ข้อความ เช่น“โปรตีนจำเป็นต่อการเจริญเติบโตและช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย” “วิตามินซีมีส่วนช่วยในกระบวนการต่อต้านอนุมูลอิสระ” เป็นต้น
2. การกล่าวอ้างหน้าที่อื่นของ 6 ส่วนประกอบของอาหาร จำนวน 8 ข้อความ เช่น“เบต้า-กลูแคนจากข้าวโอ๊ต/ข้าวบาร์เลย์ มีส่วนช่วยลดการดูดซึมคอเลสเตอรอล” “โคลีนมีส่วนช่วยในเมตาบอลิซึมปกติของไขมัน” เป็นต้น
3. การกล่าวอ้างการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคของ 2 ส่วนประกอบของอาหาร จำนวน 4 ข้อความ เช่น “อาหารที่มีโซเดียมต่ำ อาจช่วยลดความเสี่ยงของความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ” เป็นต้น
ประกาศฯ ดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2567 ผู้ประกอบการสามารถนำข้อความเหล่านี้ไปใช้ในการแสดงฉลาก และขอโฆษณาได้โดยไม่ต้องส่งเอกสารให้ อย. ประเมิน เพื่อลดขั้นตอนและระยะเวลา แต่หากประสงค์จะกล่าวอ้างทางสุขภาพที่นอกเหนือจากบัญชีท้ายประกาศฯ นี้ ผู้ประกอบการสามารถยื่นรายงานผลการประเมินการกล่าวอ้างทางสุขภาพต่อหน่วยงานที่ขึ้นบัญชีกับ อย. ซึ่ง อย. จะพิจารณาอนุญาตเป็นรายกรณี

อย่างไรก็ตาม Positive list จำนวน 6 รายการ ถือว่าน้อยมากเมื่อกับความต้องการของผู้ประกอบการ อย. จึงตั้งเป้าหมายจัดทำ Positive list จำนวน 150 รายการ ภายในปี 2570 เฉลี่ยปีละ 50 รายการ แต่การจัดทำ Positive list ดังกล่าว อย. ไม่สามารถดำเนินการได้เพียงหน่วยงานเดียว จึงร่วมมือกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.), สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.), หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.), สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.), สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และเครือข่ายนวัตกรรมและการกำกับดูแลอาหาร (FIRN) เข้ามาเป็นเครือข่ายร่วมดำเนินการจัดทำ Positive list สนับสนุนการวิจัยสารประกอบต่างๆ ขึ้นทะเบียนเป็น Positive list หากทำได้ตามแผน จะช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารอนาคตของไทย ให้บรรลุเป้าหมายมูลค่าเพิ่ม 500,000 ล้านบาท ภายในปี 2570 เกิดผลลัพธ์ในด้านต่างๆ อาทิ การผลักดันผู้ประกอบการไทยเข้าสู่ห่วงโซ่การผลิตระดับโลก ดึงดูดการลงทุนในเทคโนโลยีขั้นสูง การผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น เพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร ช่วยเพิ่มมูลค่าทางการค้าและเศรษฐกิจให้ประเทศไทยอย่างยั่งยืน

โดยเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2568 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ได้ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. จัดงาน Expert Forum: Positive list ผลักดันการขึ้นทะเบียนสารสำคัญและการกล่าวอ้างทางสุขภาพ โดยมี รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการ บพข. และคุณกุลวรา โชติพันธุ์โสภณ รองผู้อำนวยการ สวก. กล่าวเปิดงาน ณ ห้องสุขุมวิท โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิท โดยมีผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยเข้าร่วมงานจำนวนมาก
งานดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ของกระบวนการจัดทำรายชื่อสารสำคัญ (Positive list) เพื่อกำหนดทิศทางการวิจัยและดำเนินงานร่วมกันของนักวิจัย หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน สู่การยกระดับมาตรฐานการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สุขภาพและการใช้ประโยชน์เชิงสาธารณะ

รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการ บพข. กล่าวว่า “ในยุคที่อุตสาหกรรมอาหารมีการแข่งขันในเวทีระดับโลก การยกระดับมาตรฐานและสร้างความเชื่อมั่นต่อคุณภาพผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพ เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การจัดทำรายชื่อสารสำคัญ หรือ Positive List ถือเป็นก้าวสำคัญที่มีบทบาท ในการผลักดันการขึ้นทะเบียนสารสำคัญต่างๆ เช่น สารประกอบฟังก์ชัน สารสกัดจากธรรมชาติหรือสมุนไพร การกล่าวอ้างทางสุขภาพให้เป็นตามมาตรฐานสากล โดย บพข. ร่วมผลักดันการขึ้นทะเบียน Positive List พร้อมรับฟังแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ใช้ประโยชน์ และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยตอบสนองต่อความต้องการของประเทศ”

ด้าน คุณกุลวรา โชติพันธุ์โสภณ รองผู้อำนวยการ สวก. กล่าวเสริมว่า “การวิจัยสารสกัดจากวัตถุดิบภาคการเกษตร ถือเป็นงานวิจัยสำคัญที่ประเทศมีความต้องการ สวก. จึงร่วมมือกับ บพข. ให้ทุนวิจัยที่ตรงต่อความต้องการของประเทศ นำไปสู่การใช้ประโยชน์งานวิจัยอย่างเป็นรูปธรรมและสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ”
ภายในงานยังมีการบรรยายในหัวข้อสำคัญ ประกอบด้วย นโยบายและความก้าวหน้าการเตรียมข้อมูลเพื่อจัดทำ Positive List โดย ดร.สิริพร พิทยโสภณ รองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.), ความสำคัญของ Systematic Review เพื่อขึ้นทะเบียน Positive List โดย รศ.ดร.ชลัท ศานติวรางคณา ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล, ทำความเข้าใจกระบวนการทำ Positive List โดย ผู้แทนผู้อำนวยการกองอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.), กรณีศึกษาการเตรียมข้อมูล Systematic Review เพื่อขึ้นทะเบียน Positive List โดย ดร.ภาวิณี ชินะโชติ หัวหน้า Food Innovation & Regulation Network (FIRN) และ เป้าหมายและพันธกิจ อย. ในการเตรียม Positive List โดย ภก.เลิศชาย เลิศวุธ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา อย.


เวทีบรรยายได้สะท้อนแนวทางการจัดทำ Positive List ว่า เนื่องจากทั่วโลกเข้าสู่ระบบสังคมสูงวัย ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปล่อยคาร์บอน นำไปสู่การหันเข้าหาเทรนด์รักสุขภาพ ทำให้อาหารฟิวเจอร์ฟู้ดมีโอกาสมากยิ่งขึ้น เช่นการผลิตเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ อาหารทางการแพทย์ โปรตีนทางเลือก อาหารแพลนท์เบส ซึ่งมีการเติบโตสูงมาก ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม การที่ผู้ประกอบการจะก้าวไปสู่จุดนั้นได้ ต้องใช้ 3 กลยุทธ์คือ การต่อยอดอุตสาหกรรมวิจัยและพัฒนา การพัฒนาสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค และ การระบุคุณสมบัติของสินค้าบนฉลาก ซึ่งปัจจุบันประกาศของกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 447 บันทึกข้อความกล่าวอ้างทางสุขภาพของสารอาหารหรือส่วนประกอบอาหาร มีเพียง 6 รายการ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เครือข่ายมาร่วมพูดคุยกันในวันนี้คือ การวิจัยสารอาหารต่างๆ เพื่อจัดทำข้อความกล่าวอ้างทางสุขภาพในรายการ Positive List ให้ถึง 150 รายการ ภายใน 3 ปี

Positive List จุดเชื่อมผู้ประกอบการและผู้บริโภค
ผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยในเครือข่ายเห็นตรงกันว่า การจัดทำ Positive List จะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการและผู้บริโภค เนื่องจากผู้ประกอบการไม่ต้องลงทุนทำงานวิจัยเอง สามารถใช้รายการที่ประกาศแล้วของกระทรวงสาธารณสุข ไปกล่าวอ้างเพื่อขายสินค้าได้เลย ช่วยลดค่าใช้จ่ายลง 70 เปอร์เซ็นต์ ร่นระยะเวลาการพัฒนาสินค้าจาก 2 ปี เหลือ 2 เดือน ยอดขายเพิ่มขึ้น 50 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ผู้บริโภคได้บริโภคอาหารดี มีคุณภาพ นั่นคือสิ่งที่หน่วยงานต่างๆ อยากทำงานร่วมกับ อย. อยากช่วย อย. จัดทำ Positive List ให้บรรลุผลตามเป้าหมาย
เครือข่ายดี มีเป้าหมายร่วมกัน คือพลังขับเคลื่อนประเทศ
ผู้ร่วมบรรยายพูดตรงกันว่า การเข้ามาเป็นเครือข่ายทำเรื่องนี้ร่วมกับ อย. เพราะอยากเห็นผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพการแข่งขันในระดับโลก ขายสินค้ามูลค่าสูงขึ้น ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น มีโอกาสดูแลสุขภาพ โดยมีข้อมูลคำกล่าวอ้างว่าสารประกอบในอาหารแต่ละตัวให้ประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างไร เกษตรกรได้ประโยชน์จากการขายวัตถุดิบ สุดท้ายคือหน่วยงานวิจัยมีความสามารถในการวิเคราะห์สารสกัดมากขึ้น เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศยิ่งขึ้น
จุดเด่นของ Positive List
ข้อความกล่าวอ้างทางสุขภาพว่าอาหารนั้นมีคุณสมบัติอย่างไร ต้องมีหลักฐานชัดเจน มีการอ้างอิงจากบทความวิจัยที่ได้การรับรองในระดับสากล ข้อความกล่าวอ้างจึงต้องมีความน่าเชื่อถือ พิสูจน์ได้ การสื่อสารทำให้เข้าใจว่า สารอาหารหรือส่วนประกอบของอาหารมีประโยชน์ต่อสุขภาพ อยู่ในรายการที่ อย.อนุญาตให้ใช้ได้ การจัดทำ Positive List จึงเป็นการเชื่อมต่อระหว่างผู้ประกอบการกับผู้บริโภคว่า “เป็นข้อความกล่าวอ้างทางสุขภาพของอาหารหรือส่วนประกอบของอาหาร ที่พิจารณาแล้วว่ามีหลักฐานวิชาการพิสูจน์หรือยืนยันได้ว่ามีประสิทธิภาพตามที่กล่าวอ้างจริง” ผ่านกลไก วิธีการ ขั้นตอนต่างๆ ตามมาตรฐานสากล ผู้ประกอบการสามารถหยิบไปใช้ได้โดยไม่ต้องลงทุนทำแบบ case-by-case

Positive List เพิ่มขีดแข่งขันของประเทศ
วงบรรยายสะท้อนภาพว่า การจัดทำ Positive List คือการช่วยยกระดับผู้ประกอบการได้มีโอกาสสร้างอาหารแห่งอนาคตที่มีศักยภาพ ทุกรายการที่ทำการวิจัยเพื่อขึ้นทะเบียนเป็น Positive List จะต้องผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างละเอียดว่าสารประกอบเหล่านั้น เมื่อนำมาผลิตเป็นอาหาร มีมูลค่าในตลาดโลกเท่าไร โอกาสของไทยในการทำตลาดแข่งขันได้แค่ไหน เช่น ขมิ้นชัน ถือว่าเป็นโอกาส เพราะเป็นไทยแลนด์สตอร์รี มีระบบซัพพลายเชนครบวงจร ตั้งแต่กระบวนการปลูก ให้ค่าสารสัมพันธ์สูง (Stoichiometry) ราคาดี ต้องวิเคราะห์ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ มีความปลอดภัยตามหลักการของ อย. ซึ่ง บพข. และ สวก. พร้อมสนับสนุนทุนวิจัยให้กับนักวิจัยในการวิจัยสารต่างๆ เพราะเป็นนวัตกรรมของไทยที่แข่งขันได้ในระดับโลก
Positive List เรื่องใหม่ที่จับต้องได้
เมื่อมองไปยังเป้าหมายและพันธกิจของ อย. และเครือข่าย ในการจัดทำ Positive List 150 รายการ พบว่าเดินมาถูกทาง เป็นรูปธรรม จับต้องได้ เป็นที่ต้องการของผู้ประกอบการและผู้บริโภค จิ๊กซอว์สำคัญคือ “นักวิจัย” ที่จะต้องนำสารต่างๆ มาวิเคราะห์ วิจัย ทดสอบ ทดลอง ให้สำเร็จ เพื่อประกาศเป็น Positive List ของ อย. จากนั้นผู้ประกอบการเลือกนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ ช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบการแข่งขันเร็วขึ้น ในขณะที่หากให้ผู้ประกอบการดำเนินการเอง โอกาสประสบความสำเร็จน้อยมาก เช่นการนำ “ไข่ผำ” มาผลิตเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ การจะกล่าวอ้างว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างไร ต้องใช้เงินลงทุนวิจัย ลงทุนแล้วยังไม่รู้ว่าจะสำเร็จหรือเปล่า ด้วยเหตุนี้ อย. จึงทำให้ แต่ อย. ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมีเครือข่าย หน่วยงาน นักวิจัย และภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง มาช่วยส่งเสริมซึ่งกันและกัน เพื่ออนาคตของประเทศ
ทำไมต้องเป็นกระทรวง อว. และ กษ.
หนึ่งในคำถามคือ ทำไมเครือข่ายการจัดทำ Positive List ต้องเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวง อว. คำตอบคือเนื่องจาก อว. มีนักวิจัยจำนวนมาก มีหน่วยงานงานให้ทุนวิจัย คือ บพข. ซึ่งได้รับงบประมาณจาก สกสว. กับอีกหน่วยงานให้ทุนคือ สวก. ภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้การสนับสนุนทุนวิจัยด้านสมุนไพรมายาวนาน ตั้งแต่ต้นน้ำ ซึ่งมีข้อมูลจำนวนมาก จึงเป็นที่มาของความร่วมมือระหว่าง บพข. กับ สวก. สนับสนุนทุนวิจัย ผลักดันการขึ้นทะเบียนสารสำคัญและการกล่าวอ้างทางสุขภาพ ตามรายการ Positive List
การประชุม Expert Forum : Positive list ถือเป็นเวทีสำคัญในการผลักดันการขึ้นทะเบียนสารสำคัญและการกล่าวอ้างทางสุขภาพ เพื่อยกระดับการแข่งขันของประเทศ เป็นโอกาสที่ดีในการร่วมมือและเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญในทุกด้าน ที่จะช่วยเสริมสร้างองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และวางรากฐานความร่วมมือที่สำคัญ สร้างผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์แก่ทุกภาคส่วน เพื่อให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างยั่งยืน