ข่าว

iNT Accelerator แพลตฟอร์มแห่งความหวังของ ม.มหิดล พร้อมเติมเต็ม Ecosystem ติดสปีดนวัตกรรมการแพทย์ไทยไปสู่ Global Market

หนึ่งในมาตรการที่ “วิจัยกรุงศรี” ได้แนะนำไว้ในบทความรายงาน “แนวโน้มธุรกิจ/อุตสาหกรรม ปี 2566-2568: อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์” ที่ภาครัฐควรกำหนดเป็นเป้าหมาย เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Health and Wellness Hub) และศูนย์กลางการผลิตเครื่องมือแพทย์ในอาเซียนให้ได้ภายในปี 2570) คือ การยกระดับอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ตามแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) พ.ศ. 2564-2570 โดยบทความนี้ ได้แนะนำมาตรการสำคัญไว้ 3 ด้าน คือ

ยกระดับคุณภาพการรักษาสู่ระบบการแพทย์แม่นยำ โดยการใช้บริการการแพทย์จีโนมิกส์ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง (Advanced Therapy Medical Products, ATMPs)

เร่งรัดการพัฒนาเครื่องมือและวัสดุทางการแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีระดับกลาง-สูง เพื่อเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการเครื่องมือแพทย์ซึ่งส่วนใหญ่เป็น SMEs

ส่งเสริมการวิจัยทางคลินิกเพื่อรองรับการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และสุขภาพ โดยนวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ที่ได้รับการส่งเสริม อาทิ การถ่ายภาพรังสีระบบดิจิทัล เครื่องสแกนฟันแบบ Cone-beam computed tomography (CBCT) และวัสดุปลูกถ่ายกระดูกสังเคราะห์ มาตรการข้างต้นจะเป็นโอกาสสำหรับการลงทุนคลัสเตอร์อุตสาหกรรมใหม่ อาทิ การผลิตเครื่องมือแพทย์ระดับไฮเอนด์ จีโนมิกส์ ชีวเภสัชภัณฑ์และการแพทย์แม่นยำ ช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ของไทย ยกระดับการแข่งขันของผู้ประกอบการซึ่งรวมถึงกลุ่ม SMEs และพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางการส่งออกเครื่องมือแพทย์สู่ตลาดโลก

ทั้งนี้ มาตรการที่กล่าวมา สอดคล้องตรงกันทั้งกับแนวทางการสนับสนุนทุนที่ ศาสตราจารย์ ดร.ศันสนีย์ ไชยโรจน์ ที่ปรึกษา และอดีตประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มสุขภาพและการแพทย์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) หรือ PMUC ได้ให้ไว้ และสามารถนำไปปรับใช้ในการยกระดับอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพของไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังสอดรับกับเป้าหมายการดำเนินงานของอีกหนึ่งหน่วยงานสนับสนุน ที่มีบทบาทหลักในการพัฒนาผู้ประกอบการ สตาร์ทอัพ รวมถึงนักวิจัยทางการแพทย์ของไทย ให้ก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการระดับโลก นั่นคือ สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ iNT (อิ๊นท์) มหาวิทยาลัยมหิดล

โดย iNT มีวัตถุประสงค์หลักในการก่อตั้ง เพื่อนำเสนอและขับเคลื่อนผลงานวิจัยและเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยไปสู่ศูนย์กลางด้านการสร้างนวัตกรรมในระดับชาติและนานาชาติ โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการต่อยอดงานวิจัยให้ถูกนำไปสร้างเป็นนวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ หรือ การบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของสังคม มีส่วนช่วยในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมไปถึงการเพิ่มมูลค่าให้กับงานวิจัยในการนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ด้วย

และเพื่อทำความรู้จักกับ iNT ให้มากขึ้น เราได้มีโอกาสไปพูดคุยกับ รศ.ดร.ยศชนัน วงษ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการสถาบัน iNT มหาวิทยาลัยมหิดล ที่จะมาบอกเล่าให้ฟังถึงที่มาในการก่อตั้ง iNT แนวทางการดำเนินงาน พร้อม Success cases ของบริษัทที่ได้รับการบ่มเพาะและสนับสนุน ทั้งจากกลไกของ iNT และโครงการที่ได้รับการสนับสนุนทุนจาก บพข. ซึ่งสามารถสร้างอีโคซิสเตมที่ขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่การเป็น Medical Hub ตามยุทธศาสตร์ของชาติได้อย่างสมบูรณ์


ภารกิจสำคัญของ iNT หน่วยงานบริหารจัดการนวัตกรรมครบวงจร @ Mahidol University

ดังที่ได้เกริ่นข้างต้น iNT มหาวิทยาลัยมหิดล จัดตั้งขึ้นด้วยเป้าหมายสำคัญในการขับเคลื่อนผลงานวิจัยและเทคโนโลยีด้านการแพทย์ไปสู่ระดับชาติและนานาชาติ โดย รศ.ดร.ยศชนัน ได้อธิบายเพิ่มเติม ถึงที่มาของการจัดตั้ง iNT ในมุมของ มหาวิทยาลัยมหิดล ว่า

รศ.ดร.ยศชนัน วงษ์สวัสดิ์

“iNT เป็นหน่วยงานที่ดูแลเกี่ยวกับการทำนวัตกรรม (Innovation) ทั้งหมดของ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งประกอบไปด้วยคณะ สาขาวิชาที่หลากหลาย ทั้งการแพทย์ (Medical Science) วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science and Technology) ตลอดจนคณะที่เปิดสอนในสายสังคม หรือ Social Science”

“และแน่นอนว่าจุดแข็งของ มหาวิทยาลัยมหิดล ต้องเป็นเรื่องการแพทย์ เพราะเรามีโรงพยาบาลที่อยู่ภายใต้การดูแลทั้งหมด 13 โรงพยาบาล รวมโรงเรียนแพทย์ใหญ่อย่าง คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และ คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี ดังนั้นเราจึงมี Data และข้อมูลทางการแพทย์จำนวนมาก”

“จนกระทั่งในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา ก็จะเริ่มมีการผลักดันให้มีการนำงานวิจัยออกจากมหาวิทยาลัย และเพิ่มขีดความสามารถในเชิงพาณิชย์ หรือ Commercialization จึงมีการวางแนวทางว่าถ้าบริษัทอยากมาใช้ Know how ของมหาวิทยาลัย ต้องทำอย่างไรบ้าง ทั้งในรูปแบบของการ Licensing เทคโนโลยีนี้ออกมา ขณะที่ตัวอาจารย์เองก็สามารถซื้อเทคโนโลยีนั้นออกมาทำเองได้เช่นกัน ด้วยการ Spin-off ซึ่งเป็นการ Self-licensing งานของตัวเองออกไป”

  1. บ่มเพาะธุรกิจสตาร์ทอัพ สร้าง Entrepreneur Mindset ให้กับอาจารย์ นักวิจัย บุคลากร และนักศึกษา
  2. จัดตั้งพื้นที่ Co-Working Space ภายใต้ชื่อ MaSHARES Co-Working & Maker Space เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับการสร้างสรรค์นวัตกรรม
  3. สนับสนุนทุนในการพัฒนาต้นแบบนวัตกรรม เพื่อให้สามารถต่อยอดผลงานวิจัยและนวัตกรรมได้
  4. ให้บริการด้านทรัพย์สินทางปัญญา การจดสิทธิบัตร อนุสิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ และเครื่องหมายทางการค้า รวมไปถึงผลักดันการนำทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัยไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และสังคม
  5. จัดกิจกรรมและโครงการที่สนับสนุนการสร้างนวัตกรรมในระดับชาติและนานาชาติ

นอกจากนั้น เพื่อให้เข้าใจถึง ภารกิจของ iNT ให้มากขึ้น รศ.ดร.ยศชนัน ได้กล่าวถึง ‘ยุทธศาสตร์ LIFT’ แนวทางสำคัญที่ใช้ขับเคลื่อนการบริหารจัดการนวัตกรรมการแพทย์ของไทย ให้ตอบโจทย์ความต้องการของสังคม ว่า

L : Local Link สร้างความเชื่อมโยงภายในมหิดลและหน่วยงานในประเทศ ผ่าน iNT Ecosystem Platform

I : International link เชื่อมโยงเครือข่ายมหาวิทยาลัยในต่างประเทศในการทำพัฒนานวัตกรรมและงานวิจัยเพื่อผลักดันไปสู่เชิงพาณิชย์มากขึ้น

F : Future Link เชื่อมโยงกับภาคเอกชนเพื่อสร้างโอกาสสำหรับอนาคตและเตรียมความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

T: Technology Link สร้าง iNT Incubator และ Accelerator Platform สำหรับ Deep Tech Startup เพิ่มขีดความสามารถให้งานวิจัยของมหาวิทยาลัยและนวัตกรรมของประเทศก้าวสู่ตลาดโลกได้เร็วขึ้น


iNT + PMUC ส่วนผสมที่ลงตัวของความร่วมมือ ติดสปีดนวัตกรรมการแพทย์ไทย ยกระดับสู่ผลิตภัณฑ์ระดับโลก เติมเต็ม Ecosystem ดันไทยเป็นฮับผลิตเครื่องมือแพทย์แห่งภูมิภาค

และด้วยกลไกการทำงานที่ชัดเจนของ iNT ก็มาสอดรับกันพอดีกับภารกิจของ บพข. ที่เพิ่มขีดความสามารถในเชิงพาณิชย์ให้โครงการวิจัย งานวิจัย นวัตกรรมของไทย จึงนำมาสู่ความร่วมมือกันในการพัฒนา ต่อยอด งานวิจัยทางการแพทย์ไปสู่การผลิตเพื่อใช้จริง ซึ่ง รศ.ดร.ยศชนัน ได้ขยายความให้เห็นภาพความร่วมมือนี้ว่า

“บพข. เข้ามามีบทบาทอย่างมากในเรื่องของสนับสนุน Deep Tech Startup ด้านการแพทย์และสุขภาพในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในการจัดโครงการไป Visit มหาวิทยาลัยและหน่วยงาน Accelerator ในต่างประเทศ เช่น ประเทศสิงคโปร์และกลุ่มประเทศยุโรป”

“โดยโมเดลการทำงานทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เกิดขึ้นตั้งแต่ได้รับทุนสนับสนุนจาก บพข. ซึ่งระหว่างทางเรายังได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ หรือ Comment จากผู้ทรงคุณวุฒิของ บพข. ที่สามารถนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ ทำให้เราสร้าง Venture Builder Platform ขึ้นมาได้ และการดำเนินงานนี้ก็ตรงกับยุทธศาสตร์การทำ Local Link และ International Link ของ iNT พอดี โดยเป็นการทำงานที่ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทำให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

“นอกจากนั้น การที่ iNT ได้ทำงานร่วมกับ บพข. ทำให้เราได้เชื่อมต่อสู่การทำงานกับหน่วยงานทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศที่อยู่ในเครือข่ายของ บพข. อย่างหน่วยงานระดมทุนของประเทศสิงคโปร์ หรือกลุ่มประเทศยุโรป เช่น สเปน สวีเดน หรือหน่วยงานรับรองมาตรฐานในต่างประเทศ ซึ่งตรงนี้เอง ที่เป็นแต้มต่อให้กับทีมนักวิจัยและบริษัทต่างๆ ได้ใช้ประโยชน์จากเครือข่ายเหล่านี้ รวมถึงยังมีการเชื่อมโยงกับหน่วยงานสำคัญอย่าง กรมทรัพย์สินทางปัญญา สภาอุตสาหกรรม และแหล่งทุนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยสตาร์ทอัพหรือทีมที่เป็นเจ้าของนวัตกรรมเอง ก็ยังสามารถไปขอรับการสนับสนุนทุนจากหน่วยงานสนับสนุนทุนอื่นๆ ได้ รวมถึง บพข. ด้วย ดังนั้น นี่จึงถือว่าเป็นการวางอีโคซิสเตมด้านการพัฒนานวัตกรรมการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพและ Healthy มากทีเดียว”

“อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา ก่อนที่จะมี บพข. ต้องยอมรับว่าเรามีหน่วยงานที่จะมาสนับสนุน Deep tech Startup โดยเฉพาะ Deep tech Startup  ทางการแพทย์น้อยมาก เพราะส่วนใหญ่จะมีการสนับสนุนทุนในผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่มองเห็นตลาดแน่ๆ เช่น ดิจิทัล Mobile Application หรือ Fin Tech เป็นโมเดลที่เกี่ยวกับการเงิน ที่เป็นเช่นนี้เพราะการผลิตเครื่องมือแพทย์ ชุดตรวจโรค แพลตฟอร์มที่เกี่ยวกับการทำเครื่องมือแพทย์ นับเป็นการทำธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง ต้องอาศัยเงินทุนสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ และจุดนี้เอง ที่ บพข. เข้ามาเติมเต็ม ใน Scale ที่เหมาะสม”

“ขณะที่ ทางมหาวิทยาลัยเอง แล็บที่ใช้ในการบริการวิชาการ เราก็ต้องการมาตรฐาน อย่างมาตรฐาน GMP เพื่อสนับสนุนให้บริษัทสตาร์ทอัพที่ต้องการผลิตผลิตภัณฑ์ออกมาสามารถเข้าถึงการผลิตด้วย Facility ที่ได้รับมาตรฐาน โดยทาง บพข. ก็มีความเข้าใจดีว่าในการผลิตผลิตภัณฑ์นวัตกรรมทางการแพทย์นั้นจำเป็นต้องปฏิบัติอย่างไรบ้างเพื่อให้ผ่านมาตรฐานรับรองนั้นๆ จากจุดนี้เองที่ทำให้ทาง บพข. วางแนวทางการทำงานที่สำคัญ คือ การสนับสนุนทุนมาทางมหาวิทยาลัยเพื่อมาสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จะนำไปสนับสนุนสตาร์ทอัพในด้านต่างๆต่อไป และในตอนนี้การพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ของประเทศก็กำลังก้าวไปสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์ที่ทำได้อย่างเต็มรูปแบบมากขึ้น”

“ยิ่งเมื่อก่อนหน่วยงานสนับสนุนทุนจะมองไปแค่ที่ Basic Research หรืองานวิจัยพื้นฐาน และมอบพันธกิจมหาวิทยาลัยในการนำงานวิจัยนี้ไปปรับใช้จริง เพราะมีประเด็นเรื่อง “งานวิจัยขึ้นหิ้ง” ทั้งที่จริงแล้ว ปัญหานี้เกิดขึ้นเพราะไม่มีหน่วยงานกลาง ที่จะสนับสนุนให้กับนักวิจัยเพื่อเชื่อมต่อไปสู่การผลิตเพื่อใช้จริง ในส่วนนี้เองที่ บพข. มาเติมเต็ม อย่างการร่วมมือกับ iNT เพื่อสร้างแพลตฟอร์ม Accelerator พัฒนาสตาร์ทอัพไทย โดยให้ทุนโดยตรงไปที่บริษัทสตาร์ทอัพได้ ซึ่งนี่ถือเป็นมิติใหม่ของหน่วยงานสนับสนุนทุนที่พิจารณาให้ทุนโดยตรงไปที่บริษัทได้”

“ยิ่งเมื่อก่อนหน่วยงานสนับสนุนทุนจะมองไปแค่ที่ Basic Research หรืองานวิจัยพื้นฐาน และมอบพันธกิจมหาวิทยาลัยในการนำงานวิจัยนี้ไปปรับใช้จริง เพราะมีประเด็นเรื่อง “งานวิจัยขึ้นหิ้ง” ทั้งที่จริงแล้ว ปัญหานี้เกิดขึ้นเพราะไม่มีหน่วยงานกลาง ที่จะสนับสนุนให้กับนักวิจัยเพื่อเชื่อมต่อไปสู่การผลิตเพื่อใช้จริง ในส่วนนี้เองที่ บพข. มาเติมเต็ม อย่างการร่วมมือกับ iNT เพื่อสร้างแพลตฟอร์ม Accelerator พัฒนาสตาร์ทอัพไทย โดยให้ทุนโดยตรงไปที่บริษัทสตาร์ทอัพได้ ซึ่งนี่ถือเป็นมิติใหม่ของหน่วยงานสนับสนุนทุนที่พิจารณาให้ทุนโดยตรงไปที่บริษัทได้”


รีวิว Success cases สตาร์ทอัพ & ผู้ประกอบการที่ได้รับการบ่มเพาะ และสนับสนุนทุนจาก iNT + บพข.

รศ.ดร.ยศชนัน ได้ยกตัวอย่าง สตาร์ทอัพ & ผู้ประกอบการที่ได้รับการบ่มเพาะ และสนับสนุนทุนจาก iNT + บพข. และประสบความสำเร็จ สามารถขยายธุรกิจสู่ตลาดต่างประเทศได้

“เริ่มจาก บริษัท MUI Robotics จำกัด เป็นหนึ่งในสตาร์ทอัพที่ได้รับการสนับสนุนบ่มเพาะ โดย iNT และเป็นบริษัทฯ จดทะเบียนในนาม บริษัท เอ็มยูไอ โรบอติกส์ จำกัด โดยมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับประสาทสัมผัสประดิษฐ์ (Artificial Senses) สำหรับหุ่นยนต์ เพื่อการวิเคราะห์ การทดสอบกลิ่นและรสชาติ ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ”

“นอกจากนั้น MUI Robotics พัฒนาและจัดจำหน่ายเครื่องตรวจวัดกลิ่นด้วยเทคโนโลยีจมูกอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถใช้งานได้หลากหลายอุตสาหกรรม เช่น อาหารและเครื่องดื่ม การเกษตร การแพทย์ เคมี ยานยนต์ และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยบริษัทฯ ก่อตั้งขึ้นโดย อาจารย์ธีรเกียรติ์ เกิดเจริญ Chief Innovation Officer (CIO) ของบริษัท, วันดี วัฒนกฤษฎิ์ CEO และทีมงานที่เป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล โดยใช้เทคโนโลยีที่อาจารย์ธีรเกียรติ์ ได้พัฒนาขึ้น ไม่ว่าจะเป็น จมูกอิเล็กทรอนิกส์ (E-Nose), ลิ้นอิเล็กทรอนิกส์ (E-Tongue) และเทคโนโลยีสมาร์ทฟาร์ม”

“และปัจจุบัน MUI Robotics มีผลิตภัณฑ์หลัก 3 กลุ่ม ได้แก่

เครื่องตรวจวัดกลิ่น E-Nose สำหรับงานห้องแล็บ เช่น การควบคุมคุณภาพ (QC) และการวิจัยและพัฒนา (R&D) ในอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม และบรรจุภัณฑ์

เครื่องตรวจวัดกลิ่น E-Nose สำหรับสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันทั้งสองผลิตภัณฑ์นี้เป็นคีย์โปรดักต์ของเรา และกำลังขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์

ผลิตภัณฑ์สมาร์ทฟาร์ม ที่ใช้เซ็นเซอร์ IoT สำหรับการเกษตร

“โดย MUI Robotics จดทะเบียนในปี 2564 และปัจจุบันมียอดระดมทุนประมาณ 22 ล้านบาท โดยมีหน่วยงานที่ร่วมลงทุน 4 หน่วยงาน ได้แก่ Innospace, FTI, NIA, และ Y&Archer เป็น accelerator ของสาธารณรัฐเกาหลี โดยเงินทุนเริ่มต้นของบริษัทฯ มาจากการสนับสนุนของ iNT จำนวน 900,000 บาท และ iNT ยังสนับสนุนในด้านอื่น ไม่ว่าจะเป็นการให้สิทธิบัตรเทคโนโลยี การสนับสนุนด้านต่าง ๆ การจัดกิจกรรมสัมมนา หรือความช่วยเหลืออื่น ๆ ที่ MUI ต้องการ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการทำให้ MUI เติบโตมาได้จนถึงทุกวันนี้”

“นอกเหนือจาก iNT ที่บ่มเพาะและพัฒนา MUI จนประสบความสำเร็จแล้ว อีกหนึ่งหน่วยงานที่มีส่วนอย่างมาก คือ บพข. เพราะ Y&Archer ก็เป็นเครือข่ายหน่วยงานที่ บพข. ได้แนะนำให้มาช่วยในการ Raise Fund ให้สตาร์ทอัพของไทย”

“และอีกหนึ่งตัวอย่างของผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ iNT และ บพข. คือ การพัฒนาและสนับสนุน เทคโนโลยีสำหรับการรักษาผู้ป่วย ที่เรียกว่า ผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง (Advanced Therapy Medicinal Product, ATMP) ATMP ซึ่งล่าสุดมีการวิจัยและพัฒนาการรักษาในรูปแบบนี้โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ในตอนนี้มีการ License จากบริษัท อย่าง Genepeutic Bio Co., Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทแรกๆ ที่ทำเกี่ยวกับเรื่อง Gene Therapy และเป็นการนำงานวิจัยจากมหาวิทยาลัย Spin-off ออกมา โดยบริษัทนี้ถ้าต้องผ่านกระบวนการ Raise Fund เพื่อพัฒนาต่อยอด Deep Technology ทางการแพทย์นี้ ไปสู่การใช้จริง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย แต่ก็ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก บพข. ที่มาช่วยในเรื่องของการสนับสนุนทุนเพื่อสร้างห้องแล็บพื้นฐานที่จะใช้ในการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์นี้ต่อไป”

“ดังนั้น ใจความสำคัญที่อยากเน้นย้ำ คือ ความสำคัญของการมีโครงการบ่มเพาะ และ การมีแพลตฟอร์ม Accelerator ที่ตอบสนองต่อการคิดค้นและยกระดับนวัตกรรมทางการแพทย์ของไทย ที่เป็น Deep Technology ได้อย่างตรงเป้า นักวิจัยที่เป็นผู้ประกอบการก็สามารถหาเงินก้อนแรกได้เร็วขึ้น และสานต่อสู่การหาเงินก้อนต่อไปและขยายธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง”  

“โดยที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าบริษัทที่ทำในด้าน Technology ทางการแพทย์มีจุดอ่อนอยู่ที่การพัฒนา ต่อยอด ตั้งแต่ TRL4-7 เพราะในช่วงนี้จำเป็นต้องมีการทำ Clinical Trial ต้องมีการทดลองทางคลินิก ต้องผ่านมาตรฐานต่างๆ เนื่องจากกลไกของ Deep Tech มีค่อนข้างมาก จึงต้องใช้งบประมาณในส่วนนี้ และ บพข. จึงเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนทุนส่วนนี้ได้อย่างชัดเจนและมีประสิทธิภาพ”

“รวมถึง บพข. ยังทำให้ทาง iNT สามารถผลักดันนวัตกรรมจากงานวิจัยให้ออกไปสู่ตลาดได้เร็วขึ้น ด้วยกลไกการเป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างหน่วยงานที่เป็นเครือข่ายกับทาง บพข. ซึ่งเป็นหน่วยงานระดมทุนในต่างประเทศ เช่น บริษัท Innovate 360 ของประเทศสิงคโปร์ ซึ่งในปัจจุบัน ทางบริษัทนี้ก็ได้เชิญสตาร์ทอัพไทยและสตาร์ทอัพที่อยู่ใน iNT เพื่อไปบุกเบิกตลาดที่มาเลเซีย อินโดนีเซีย และอีกบริษัทหนึ่งที่มาช่วยในการ Raise Fund ให้สตาร์ทอัพของไทย ที่มาจากการแนะนำของ บพข. ซึ่งได้กล่าวถึงแล้วข้างต้น คือ Y&Archer ของประเทศเกาหลีใต้ โดยสตาร์ทอัพไทยที่เดินทางไปดูตลาดต่างประเทศนี้ก็อุ่นใจได้ เพราะมี บพข. เป็นหน่วยงานการันตีว่า องค์กรและหน่วยงานต่างประเทศนี้มีความน่าเชื่อถือในระดับหนึ่ง”


iNT Accelerator Platform กลไกเร่งรัดพัฒนาศักยภาพ สตาร์ทอัพ นักวิจัยไทย ให้ไปสู่ตลาดโลกได้เร็วขึ้น

นอกจากนั้น รศ.ดร.ยศชนัน ยังเน้นย้ำว่า iNT ยังได้รับทุนจากแผนงาน Deep Science and Technology Accelerator Platform ของ บพข. เพื่อส่งเสริมการทำงานในรูปแบบของ Venture Builder กับการพัฒนา Deep Tech ทางการแพทย์ อีกด้วย

“โดยที่ผ่านมา iNT Accelerator Platform ได้เปิดให้หน่วยงานภายนอกมาเข้าอบรมและขอคำปรึกษาได้ และถ้าบริษัทไหนมีทีมงานไม่พอหรือต้องการให้ช่วย Matching ให้ ทาง iNT ก็จะเป็นพี่เลี้ยงให้ในส่วนนี้ วันนี้ เราจึงมีทีมงานในส่วนที่ทำงานด้าน Venture Building ซึ่งมีทำหน้าที่ไป Scouting ดูแลในส่วนของ Business Model และ Run กิจกรรมต่างๆ ซึ่ง iNT Accelerate Platform นี้ ก็ได้รับทุนสนับสนุนจาก บพข. เพื่อบ่มเพาะ Deep Tech ทางการแพทย์ของประเทศไทย ที่เปิดกว้างให้ผู้สนใจทั่วไปมาขอรับคำปรึกษาและรับการบ่มเพาะได้ โดยตอนนี้มีทีมทั้งหมด 10 ทีมที่เข้าร่วมโครงการบ่มเพาะนี้แล้ว และกำลังบ่มเพาะแต่ละทีม ถ้าทีมไหนมีความพร้อม ทาง iNT ก็จะปรับในเรื่องของ Business Model ให้ต่อยอดสู่ภาคธุรกิจต่อไปได้”

“นอกจากนั้น ยังมีกลไกในส่วนของการนำทีมที่มาเข้าร่วมโครงการไป Raise Fund จากบริษัทระดมทุนในต่างประเทศที่มีศักยภาพ ขณะเดียวกัน ก็มีการพาแหล่งทุนมารับฟังแผนการทำธุรกิจในวัน Demo day ซึ่งต้องยอมรับว่าการทำแบบนี้มี Success rate ที่ไม่มาก โดยทาง iNT ก็จะนัดติดตามผลสำหรับทีมที่ Pitching ในวัน Demo day เพื่อผลักดันและส่งเสริมให้ทีมที่เข้าร่วมโครงการได้รับการสนับสนุนทุนให้ได้”

“และภายใต้ iNT Accelerator Platform คนที่อยู่ในโครงการนี้ ก็จะได้รับการ Upskill จาก บพข. โดย บพข. จะดำเนินการในเรื่องของการอบรม หรือ Training ผู้บริหารที่ดูแลและบริหารจัดการด้านนวัตกรรม ผู้บริหารที่อยู่ในตำแหน่ง CTO Chief Technology Officer รวมถึงตัวนักวิจัยเอง สร้างมาตรฐานของการสร้างแพลตฟอร์มเพื่อบ่มเพาะในระดับประเทศควบคู่กันไปด้วยในทุกมิติ เพื่อทำให้เกิดอีโคซิสเตมในระบบแพลตฟอร์ม Accelerate โดยทาง iNT เอง ก็จะไปเข้าอบรมด้วย เพื่อนำความรู้ที่ได้มาออกแบบโปรแกรมที่มา Reskill ผู้ที่เข้าร่วมโครงการบ่มเพาะของ iNT ด้วย”

“และในการดำเนินงานของ iNT ยังมีการสร้าง MaSHARES @MB ให้เป็นพื้นที่อิสระในการสร้างสรรค์นวัตกรรม เป็น Space ให้นวัตกรได้มาร่วมพบปะแบ่งปันไอเดียและประสบการณ์ พร้อมให้บริการเครื่องมือสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบ เนื่องจากในการทำเครื่องมือแพทย์เราก็ต้องการ Facility ในด้านการแพทย์ค่อนข้างมาก โดยที่ MaSHARES @MB จะเปิดให้บริการ Phototyping Center, 3D Printer อุปกรณ์ตัด อุปกรณ์บัดกรี รวมถึงยังมีการสร้างโรงงานผลิตยาที่จะเปิดบริการเร็วๆ นี้ ดังนั้น MaSHARES @MB จึงเป็นเหมือน Headquarters ให้กับหลายบริษัทที่อาจยังไม่มีบริษัทได้มาทำงานที่นี่ ขณะที่ ถ้ามีการนัดคุยกับ VC ผู้ที่เข้ามาใช้งานก็จะมีโอกาสได้พบเจอและรู้จัก VC เหล่านั้นด้วย ซึ่งที่ผ่านมา ภาคการลงทุน ภาคอุตสาหกรรมก็มาจัดกิจกรรมที่นี่อย่างต่อเนื่อง”


แชร์มุมมอง พลิกความท้าทายเป็นโอกาส ในการพัฒนา Deep Tech Startup ด้านการแพทย์ของไทย

รศ.ดร.ยศชนัน ได้แชร์มุมมองในด้านการพัฒนาและต่อยอดนวัตกรรมทางการแพทย์ของไทยไปสู่การใช้จริงในเชิงพาณิชย์ว่าเส้นทางการพัฒนานี้มีทั้งความท้าทายและโอกาส

“ต้องยอมรับว่าเราต้องมีการสร้างความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องความสำคัญของการขอมาตรฐานการรับรองในระดับนานาชาติให้กับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่เป็น Deep Tech Startup เพิ่มขึ้น เพราะต้องยอมรับว่าขั้นตอนการยกระดับผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นโดยนักวิจัยในประเทศ แล้วดำเนินการส่งผลิตภัณฑ์นั้นเข้าขั้นตอนการรับรองมาตรฐานในระดับนานาชาตินั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับสตาร์ทอัพหรือผู้ประกอบการไทยเลย”

“และต่อมาเราต้องสร้าง Ecosystem ในการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ สตาร์ทอัพ ด้านการแพทย์ สุขภาพ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยเรื่องแรก ต้องหันมาดู Infrastructure หรือ โครงสร้างพื้นฐานของเราก่อนว่าพร้อมหรือไม่ ซึ่งต้องทำควบคู่ไปกับการติดตั้งความคิดให้ผู้ประกอบการ Deep Tech Startup ไทย ว่าสามารถไปขอคำปรึกษาเรื่องการขอรับรองมาตรฐานได้จากหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานที่บริหารจัดการนวัตกรรมที่ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยอย่าง iNT เอง หรือ หน่วยงานสนับสนุนทุน อย่าง บพข. เพื่อขอรับการบ่มเพาะ การพัฒนาศักยภาพอย่างเหมาะสมและถูกต้อง ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถเพิ่มขีดความสามารถจนเข้าสู่ตลาดได้เร็วขึ้น”

“นอกจากนั้น อีกหนึ่งภารกิจสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน คือ การทำให้ผู้ประกอบการ สตาร์ทอัพ ทางการแพทย์ของไทยมีความเข้าใจใน Business Model ที่วางเป้าหมายการขับเคลื่อนไปสู่ Global Market ให้ได้ เพราะการแนะนำและชี้ให้เห็นถึงโอกาสที่อยู่ในต่างประเทศ ก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายของทุกฝ่าย และผู้ประกอบการไทยเองก็ยังต้องการความช่วยเหลือในด้านนี้อย่างมาก ซึ่งต้องทำควบคู่ไปกับการให้ความรู้ ความเข้าใจ หรือสร้าง Awareness ในเรื่องของ Freedom to Operate ต้องแน่ใจว่าไม่ไปทำผิดขั้นตอนในเรื่องของสิทธิบัตร หรือ Patent ในต่างประเทศ โดยที่ผ่านมาทั้ง iNT และ บพข. ก็จะจัดอบรมให้กับผู้ประกอบการ สตาร์ทอัพ และนักวิจัย ให้มีความเข้าใจในด้านนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

“อย่างไรก็ตาม การพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถให้ผู้ประกอบการ สตาร์ทอัพ และนักวิจัยทางการแพทย์และสุขภาพ ต้องมีการชี้ให้ทุกภาคส่วนเห็นโอกาสในตลาดต่างประเทศ ดังนั้น ต้องมีการเชื่อมต่อกับหน่วยงานที่เป็น Global ซึ่งทาง บพข. เองก็มีแผนงาน Global Partnership ที่มาเติมเต็มในส่วนนี้ได้ และแน่นอนว่า การสนับสนุนให้ ผู้ประกอบการ สตาร์ทอัพ และนักวิจัยทางการแพทย์และสุขภาพ ได้ขยับขยายธุรกิจของตนเองไปยังต่างประเทศ ก็ยิ่งเป็นการเร่งสปีดให้เกิดการ Go to Market ของผลิตภัณฑ์นวัตกรรมของไทยได้มากขึ้นและนำสู่การสร้างมาตรฐานระดับโลกได้อย่างยั่งยืน”


Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *