ข่าว

บพข. จับมือ อบก. TEATA & ผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทย ปลดล็อคการขับเคลื่อน Net Zero Tourism ด้วย แอปพลิเคชัน Zero Carbon (ตอนที่ 1)

จากข้อมูลล่าสุดของ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุชัดเจนว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสมที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 30 เมษายน 2567 (4 เดือน) รวม 12,127,447 คน สร้างรายได้สะสมให้กับประเทศไทยกว่าเป็นมูลค่า 583,902 ล้านบาท สถิตินี้ยิ่งมาตอกย้ำว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย เป็นฟันเฟืองหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ยิ่งในตอนนี้ มีโจทย์สำคัญที่ท้าทายทุกภาคส่วน กับการยกระดับขีดความสามารถด้านการแข่งขันของผู้ประกอบการการท่องเที่ยวไทยให้เดินหน้าสู่เส้นทาง จากการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์หรือเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral Tourism) ก่อนมุ่งสู่  Net Zero Tourism ในระดับต่อไป ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมผลักดันให้ภารกิจนี้เดินไปสู่เป้าหมายให้ได้

ด้วยตระหนักในความสำคัญของภารกิจนี้ แผนงานท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งมี ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช หรือ อาจารย์ภา ของน้องๆ นักวิจัย เป็นประธานอนุกรรมการแผนงานฯ และคณะอนุกรรมการที่ครอบคลุมทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ร่วมพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจการท่องเที่ยว สร้างรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชนและผู้ให้บริการในภาคการท่องเที่ยวของไทย จึงได้เริ่มต้นแผนงานการท่องเที่ยวแบบ Carbon Neutral Tourism (CNT) เพื่อสนับสนุนให้เกิดการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้น้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2564

ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช

โดยโครงการนี้จัดทำขึ้นผ่านความร่วมมือภาคีเครือข่าย 3 กระทรวง 9 ภาคี ในปี 2564 ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) (อพท.) หอการค้าไทย/สมาคมหอการค้าไทย รวมถึงภาคีใหม่ในปี 2567 คือ กรมการท่องเที่ยว และที่สำคัญมีภาคเอกชน คือ สมาคมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (TEATA) ร่วมคิด ร่วมทำและขับเคลื่อนการท่องเที่ยวไทยให้ไปสู่เป้าหมาย Net Zero Tourism

นอกเหนือจากการเดินหน้าร่วมกันออกแบบโปรแกรมและกิจกรรมการท่องเที่ยว ให้เป็นที่ยอมรับระดับสากลเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวคุณภาพ โดยผู้ประกอบการสามารถขายได้จริง สร้างรายได้ให้กับประเทศได้จริง เพื่อขับเคลื่อนการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero Tourism แล้วยังมีการคิดค้นและพัฒนา แอปพลิเคชัน Zero Carbon หรือเรียกสั้นๆ ว่า “แอป Zero Carbon” ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) (สกสว.) โดย บพข. ภายใต้แผนงานท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ร่วมกับ อบก. TEATA และภาคีเครือข่าย

ทั้งนี้ แอป Zero Carbon นี้ มี อบก. เป็นผู้ดำเนินการจัดทำ โดยมี บพข. สนับสนุนทุนในการจัดทำ ร่วมพัฒนาและจัดนักวิจัยช่วยดูแลระบบหลังบ้านของแอปพลิเคชัน เพื่อให้เป็นเครื่องมือสำคัญที่ผู้เดินทางได้มีโอกาสร่วมทดสอบใช้งาน เก็บข้อมูล และประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเดินทางหรือคาร์บอนฟุตพรินท์จากการเดินทางและการทำกิจกรรมท่องเที่ยวต่าง ๆ พร้อมดำเนินการจัดซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชยปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่เกิดจากกิจกรรมนั้นๆ ซึ่งการใช้แอป Zero Carbon นี้ นับเป็นวิธีการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในรูปแบบการรับรองตนเองที่ง่าย รวดเร็วและมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการรับรองแบบอื่นมาก

และเพื่อทราบถึงความเป็นมาของการคิดและออกแบบแอปพลิเคชันนี้ และแนวคิดในการผลักดันและขับเคลื่อนให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยได้มีความรู้ ความเข้าใจ ที่ถูกต้องในการจัดกิจกรรมท่องเที่ยวตามแนวทางการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่  Net Zero Tourism ในระยะต่อไป นิพัทธ์พงษ์ ชวนชื่น อดีตอุปนายกสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (TEATA) ซึ่งเป็นผู้อยู่ในทีมนักวิจัยโครงการจัดทำแผนงานการท่องเที่ยวแบบ Carbon Neutral Tourism (CNT) และผู้ร่วมออกแบบ แอปพลิเคชัน Zero Carbon ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า

คุณ นิพัทธ์พงษ์ ชวนชื่น

“ในตอนนี้แน่นอนว่าภาพใหญ่ที่ภาคการท่องเที่ยวทั่วโลกฝัน คือ Net zero Tourism ซึ่งต้องใช้เวลาในการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย แต่ยังถือว่ายากมาก แต่ในตอนนี้ สิ่งที่ภาคการท่องเที่ยวทำได้แล้ว คือระดับ Carbon Neutrality เป็นกลไกที่ประเมิน Carbon Footprint และสนับสนุนการชดเชยหรือ Offset ด้วยวิธีต่างๆ ”

“ทั้งนี้ ในบริบทของการวิจัยเพื่อสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวไทยที่ผมดูแล ซึ่งอยู่ภายใต้ทุนวิจัยของแผนการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ บพข. ช่วงสามปีแรกเราจะเจาะจงไปที่กลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวและชุมชน ก่อนซึ่งตอนนี้มีผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่จดทะเบียนอยู่ในระบบเท่าที่ทราบประมาณ 13,500 ราย และยังมีชุมชนที่ให้บริการกิจกรรมท่องเที่ยวซึ่งเราคาดการณ์ว่ามีไม่น้อยกว่า 3,000 ชุมชน รวมแล้วจึงมีผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่เปิดให้บริการการท่องเที่ยวที่เป็นกิจกรรมก็ประมาณ 17,000-18,000 ราย เป็นอย่างน้อย”

“ทั้งนี้ในปี 2564 บริษัทท่องเที่ยวและชุมชนที่สามารถทำเรื่อง Carbon Neutrality ได้ ในประเทศไทย ถือว่ามีน้อยมาก เพราะมีอุปสรรคในการทำ อุปสรรคสำคัญด่านแรก คือ กลไกการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์เป็นไปได้ยากมาก ยิ่งถ้าเป็นบริษัท SMEs ที่อยากเข้าถึงได้ ก็ต้องจ้างที่ปรึกษาเท่านั้นมีค่าใช้จ่ายหลายหมื่นบาทต่อครั้ง เท่ากับว่าถ้ายังคงเป็นเช่นนี้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยจะยังคงไม่มีความสามารถในการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้ไปอีกนาน”

“ดังนั้น โจทย์วิจัยที่สำคัญ คือ การทำให้ภาคการท่องเที่ยวไทยมีเครื่องมือในการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่ง่าย  ทำเองได้ เป็นที่ยอมรับ ในระดับประเทศ นี่คือเป้าหมายในช่วงปีแรกที่เราทำโครงการนี้”

“และจากโจทย์นี้เองที่นำมาสู่การทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน ทั้ง บพข. และกรรมการเทคนิคของ อบก. ซึ่งเราก็มีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำมาตรฐานที่ดำเนินการร่วมกับ อบก. เป็นข้อกำหนดเฉพาะเพื่อประเมินคาร์บอนฟุตพรินท์ให้กับกิจกรรมท่องเที่ยว ซึ่งรวมกิจกรรมท่องเที่ยว เช่น เดินป่า ดำน้ำลึก พายเรือคายัค ให้บริการเรือท่องเที่ยว ตั้งแต่เรือยอร์ช ไปจนถึง เรือหางยาว ซึ่งแต่เดิม เมื่อไม่มีข้อกำหนดชัดเจนในเรื่องนี้ ผู้ประกอบการท่องเที่ยวก็จะทำการประเมินคาร์บอนฟุตพรินท์ได้ยาก และไม่มีมาตรฐาน เรียกว่าต่างสำนักก็ต่างผลการประเมิน”

“โดยในข้อกำหนดเฉพาะนี้ จะเน้นตัวชี้วัดหลัก คือ วิธีการเดินทาง การเลือกที่พัก และการจัดการของเสีย ซึ่งคณะทำงานเทคนิค อบก. และนักวิจัยร่วมพัฒนาค่ากลางการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อให้คำนวณง่ายขึ้น  และโปรแกรมนี้ได้นำไปปรับใช้จริง ส่วนนักวิจัยก็สามารถประเมินคาร์บอนฟุตพรินท์จากกิจกรรมเหล่านี้ได้ด้วยการมีข้อกำหนดกลางของประเทศที่เป็นเหมือน National Standard ที่มีความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับ ซึ่งช่วงเริ่มต้นในปีแรก มีผู้ประกอบการกิจกรรมท่องเที่ยวสามารถทำได้ไปทั้งหมด 39 รายด้วยกัน”

“พอมาในปีที่ 2 ทาง ผศ.สุภาวดี ประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. ได้พูดคุยกับทาง อบก. และหารือกันว่าจะมีอีกช่องทางหรือไม่ที่จะเปิดระบบให้ผู้ประกอบการได้เข้าถึงกลไกการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์นี้ได้ง่ายขึ้น ซึ่งท่าน ผอ. อบก. ในขณะนั้น (นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์) ได้แสดงความเห็นด้วยว่าเป็นสิ่งที่ทาง อบก. ก็มีแนวคิดเดียวกันอยู่และเหมาะสมที่จะทดสอบกับภาคการเดินทางและการจัดงาน จากระบบทวนสอบเป็น “ระบบรับรองตัวเอง” โดยต้องอธิบายก่อนว่าระบบที่แม่นยำที่สุดที่จะใช้ประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ นั่นคือ การประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์สำหรับผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีวิธีการอยู่แล้ว แต่ในการทำแต่ละครั้งจะมีค่าใช้จ่ายที่สูง แม้ว่าที่ผ่านมาเราจะมีข้อกำหนดเฉพาะเพื่อให้มีค่ากลางที่ใช้ได้มากขึ้น และทำได้รวดเร็วขึ้น แต่ก็ยังต้องใช้เวลาในการส่ง Approve ตามขั้นตอน และมีค่าใช้จ่ายอีกประมาณหนึ่ง รายเล็กที่เริ่มต้นประเมินจึงยังคงไม่สนใจมากนัก”

“จนกระทั่ง ในปลายปี 2566 ที่ผ่านมานี่เอง แนวคิดของการทำแอปพลิเคชั่นเพื่อให้ผู้ประกอบการกิจกรรมท่องเที่ยวไทยได้เข้าร่วมในกระบวนการประเมินคาร์บอนฟุตพรินท์ด้วยกลไกการรับรองตัวเองก็ทำได้สำเร็จ ซึ่งต้องบอกเลยว่าในประเทศอื่นจะไม่มีกลไกแบบนี้ โดยเราสามารถคำนวณด้วยแอป Zero Carbon ที่เปิดโอกาสให้ใครก็ตามสามารถประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในกิจกรรมท่องเที่ยวของตนเอง การจัดงาน การจัดอีเวนท์การจัดงานแข่งขันวิ่ง การจัดคอนเสิร์ต การจัดประชุม สัมมนา ภายใน 15 นาทีเท่านั้น   แอปพลิเคชั่นนี้ จึงทำให้คนทั่วไป ผู้ประกอบการรายเล็กสามารถเข้าถึงการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้แบบง่ายๆ เป็นครั้งแรก”

“โดยแอปพลิเคชั่นนี้ เปิดใช้งานเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2566 และปัจจุบัน (มิถุนายน 2567) มีผู้ดาวน์โหลดไปใช้งานแล้วกว่า 2100 ราย มีการคำนวณเกิดขึ้นกว่า 600 ครั้งแล้ว และมีผู้ที่เข้าสู่กระบวนการชดเชยคาร์บอนฟุตพริ้นท์แล้ว 150 ครั้ง ซึ่งคำนวณเป็นปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ชดเชยไปกว่า 400 ตัน”

“เป้าหมายสำหรับแอป Zero Carbon ในตอนนี้ คือ ถ้ามีผู้ใช้ดาวน์โหลดไปใช้สัก 6,000 ราย เท่ากับว่า คนในวงการท่องเที่ยวไทยได้เข้าถึงการประเมินคาร์บอนฟุตปริ้นท์ ได้ในสัดส่วนที่สูงพอสมควรแล้ว ด่านแรกของการจัดการก๊าซเรือนกระจกคือเริ่มเรียนรู้ว่าตนเองได้ปล่อยคาร์บอนจากกิจกรรมอะไร หรือการที่เขาทิ้งขยะนั้น ขยะแต่ละประเภทถือเป็นการปล่อยคาร์บอนเท่าไร การใช้รถไฟ กับการใช้รถยนต์ส่วนตัว ย่อมมีการปล่อยคาร์บอนที่ต่างกัน จากนั้นคนที่อยากเปลี่ยนผ่านเราแนะนำให้ปรับลดจากต้นทางเป็นหลัก ส่วนที่ยังทำไม่ได้ก็จะนำสู่การชดเชยคาร์บอนจนถือว่าปล่อยคาร์บอนสุทิเป็นศูนย์ ทำตามวิธีของตนเอง ที่เป็นการปรับตามแนวทางที่ตนเองถนัด”

“โดยที่ผ่านมา เมื่อเราสร้างแอป Zero Carbon ออกมาแล้ว ก็จำเป็นต้องมีการสื่อสารสาธารณะให้คนรับทราบ เราจึงได้จัดทริปตามแนวทางของการจัดการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ขึ้นในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตและกระบี่ เพื่อแสดงให้เห็นว่าการจัดการท่องเที่ยวในรูปแบบนี้จะต้องมีการจัดการจริงอย่างไรบ้าง เพื่อเก็บข้อมูลจากผู้ร่วมทริปว่าเห็นการจัดการอะไรที่แตกต่างจากทริปท่องเที่ยวทั่วไปหรือไม่  เช่น พาหนะ ที่ใช้รับนักท่องเที่ยวจากสนามบิน ที่เปลี่ยนจากรถตู้เป็นรถท้องถิ่น หรือ รถโพถ้อง ที่รับคนได้มากกว่ารถตู้ ทำให้ลดจำนวนรถตู้ที่ต้องใช้ลง”


“แต่อย่างไรก็ตาม การใช้รถโพถ้อง ซึ่งเป็นรถโดยสารที่ไม่มีแอร์ อาจทำให้ผู้ร่วมทริปร้อน เพราะด้วยระยะทางจากสนามบินเข้าเมืองที่ไกล เราก็ต้องแก้ปัญหานี้อีก 1 ขั้นตอนด้วยการจัดโปรแกรมในทริปให้มีการแวะสถานที่ท่องเที่ยวหรือชุมชนท่องเที่ยวที่ไม่ห่างจากสนามบินมากนัก ใช้เวลาเดินทางไม่เกิน 20 นาที ทำให้ผู้ร่วมทริปไม่ต้องนั่งรถนาน ได้ลงจากรถ เปลี่ยนบรรยากาศ ซึ่งระหว่างทางเข้าเมืองภูเก็ต เป็นอันว่ากว่าจะไปถึงตัวเมือง เราพาแวะสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ประมาณ 3-4 แห่ง ทำให้เกิดการกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนและผู้ประกอบการท้องถิ่นมากขึ้น แทนที่จะเป็นการท่องเที่ยวแบบเดิมที่มุ่งตรงไปยังที่ท่องเที่ยวหลัก และที่ท่องเที่ยวตามรายทางก็แทบไม่ได้อะไรจากการท่องเที่ยวนี้เลย”

 “อย่างไรก็ดี แม้ในตอนนี้ แอป Zero Carbon เป็นตัวช่วยสำคัญ ที่มีความนิ่งในระดับหนึ่งและใช้งานได้จริง และมีส่วนในการ Educate ให้ผู้ประกอบการภาคการท่องเที่ยวของไทยได้รู้ว่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์หลักมาจากอะไร ต่อไปถ้าผู้ประกอบการที่ทำกิจกรรมท่องเที่ยวอยากบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ก็แนะนำให้ใช้แอป Zero Carbon ได้ และถ้าทำไปแล้ว อยากยกระดับการทำนี้ให้ละเอียดขึ้น เราก็มีมาตรฐานและแนวทางของการลดคาร์บอนภาคการท่องเที่ยวที่จะช่วยให้ลดคาร์บอนได้ละเอียดขึ้นและช่วยให้ลดคาร์บอนได้มากขึ้น” ก่อนที่จะนำไปสู่การกำหนดเป้าหมายอิงหลักวิทยาศาสตร์เพื่อจัดทำ Net Zero Pathway ต่อไป

“ต่อไปงานที่ทางคณะนักวิจัยจะโฟกัสในปี 2567-2570 ก็จะเกี่ยวกับการพัฒนาเครื่องมือด้าน Net Zero Tourism ซึ่งในระดับโลก ได้มีการวางแนวทางว่าถ้าจะบรรลุเป้าหมาย Net Zero Tourism ต้องทำอย่างไร แต่ก็ยังไม่มีปรากฏเป็นรูปธรรมครับ โดยเป้าหมายนี้นับเป็นเป้าหมายที่ท้าทายภาคการท่องเที่ยวทั่วโลกไม่น้อย และตอนนี้ประเทศไทยก็กล่าวได้ว่ากำลังอยู่บนเส้นทางที่นำไปสู่ Net Zero Tourism เช่นกัน ซึ่งต้องบอกว่ามีไม่กี่ประเทศในโลกเท่านั้น”

“และประเทศไทยยังถือว่าเป็นประเทศเดียวที่มีกลไกรับรองตัวเองมารองรับการชดเชยคาร์บอนอย่างง่าย เพราะประเทศอื่น ก็ยังมองว่าการชดเชยคาร์บอนเครดิตเป็นเรื่องของอุตสาหกรรมใหญ่ ที่ต้องมีผู้ตรวจในเรื่องของคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ซึ่งถ้าในส่วนของผู้ประกอบการกิจกรรมท่องเที่ยว ถ้าเขาจะต้องมาใช้ขั้นตอนของการตรวจวัดคาร์บอนที่ปล่อยแบบที่ภาคอุตสาหกรรมทำ ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก แอป Zero Carbon จึงเกิดขึ้นและตอบสนองปัญหานี้ได้อย่างดี นี่คือสิ่งที่ บพข. เห็นโอกาส และร่วมสนับสนุนให้เกิดขึ้นและปรับไปสู่การใช้งานจริง และได้สร้างการยอมรับว่าประเทศไทยเป็นชาติเดียวในโลกที่ใช้แอปนี้ ส่วนจุดด้อยเช่นความไม่แม่นยำ เราได้ปิดช่องว่างนี้ด้วยการเผื่อการรั่วไหลไว้พอสมควร และเน้นที่การปรับลด การเปลี่ยนที่ผู้ประกอบการจริงๆ มากกว่าตัวเลขการชดเชยเพื่อไม่ให้เป็นการฟอกเขียว”

“ผมมองว่าแอป Zero Carbon เป็น Game changer เลยนะ ที่ช่วยให้ภาคการท่องเที่ยวไทยการเข้าถึงการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์อย่างง่าย และเข้าถึงการชดเชยคาร์บอนเครดิตแบบบรรลุเป้าหมายคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ด้วยการรับรองตัวเอง ซึ่งต่อไปเราก็อยากขยายผลการใช้แอปนี้ ด้วยการขยายไปยังกลุ่มเที่ยวไทยไร้คาร์บอน ที่เราตั้งขึ้นเป็นกลุ่ม Open Chat ที่จะพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในเรื่องของการจัดการก๊าซเรือนกระจกภาคท่องเที่ยว ซึ่งตอนนี้มีสมาชิกประมาณ 620 ราย เพื่อเพิ่มจำนวนผู้ใช้แอป Zero Carbon สร้างความตระหนักในการประเมินคาร์บอนด้วยตัวเอง”

“และเราพูดได้ว่าตอนนี้ แผนการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ บพข. และทุกหน่วยงาน ทุกภาคส่วนที่ดูแล รับผิดชอบ ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยกำลังขับเคลื่อนและอยู่บนเส้นทางของการไปสู่ Net Zero Tourism พวกเราได้ประสบความสำเร็จในขั้นแรกแล้วกับการปลดล็อคให้ผู้ประกอบการรายย่อยกลุ่มแรกประเมินคาร์บอนด้วยระบบรับรองตนเองได้สำเร็จ นั่นย่อมแสดงว่าผู้ประกอบการท่องเที่ยวรายย่อยทั้งหมดที่เหลืออยู่ก็ย่อมทำได้เช่นกัน นี่เป็นแนวคิดที่ตั้งไว้ตั้งแต่แรกว่า เราจะเริ่มต้นแบบล่างขึ้นบน เริ่มจากรายเล็ก รายย่อย ก่อน จากนั้นค่อยๆ ขยายผลไปสู่ผู้ประกอบการธุรกิจและอุตสาหกรรมท่องเที่ยวขนาดกลางและขนาดใหญ่ต่อไป ”

“นอกจากนั้น เรายังมองว่า Data ที่จะได้จากแอป Zero Carbon นี้ยังมีคุณค่ามหาศาล และจะต่อยอดไปสู่ความมั่นใจในการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของภาคการท่องเที่ยวไทยได้ ด้วยการคาดการณ์จากข้อมูลจริงที่ได้จากผู้ที่มาใช้แอป Zero Carbon นี้ แถมนักวิจัยที่จะต่อยอดเอาข้อมูลนี้ไปอ้างอิง เพื่อศึกษาวิจัยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการท่องเที่ยว Net Zero Tourism ก็สามารถทำได้เช่นกัน”

“ความฝันของเราคือการที่ประเทศไทยมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าเรามีผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่เข้าใจเรื่อง Carbon Neutrality และ Net Zero GHG Emissions และลงมือทำหลายๆ อย่างเพื่อต่อสู้กับวิกฤตโลกรวน ที่จะมีผลต่ออันดับความสามารถการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวยั่งยืนในประเด็นสิ่งแวดล้อมในที่สุด”

คุณนิพัทธ์พงษ์ กล่าวในที่สุด

Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *