ข่าว

บพข. จับมือ มข. เปลี่ยนโฉมผักไม่สวยเป็นสินค้าอินทรีย์ สร้างแบรนด์ Ugly Veggie Plus ตอบโจทย์เศรษฐกิจหมุนเวียนคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน

เมื่อพูดถึง “ผักไม่สวย” มีตำหนิหรือไม่สดใหม่ หลายคนก็มักจะคิดว่าควรทิ้งไป โดยหารู้ไม่ว่าผักเหล่านั้นยังคงสารอาหารที่มีประโยชน์อยู่อย่างครบถ้วน จากความตระหนักในจุดเล็กๆนี้เองที่ทีมนักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ได้นำมาต่อยอดร่วมกับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกผักผลไม้ออแกนิกส์ในเครือข่าย Ugly Veggie Platform เพิ่มมูลค่าผักรูปทรงไม่สวยที่เคยถูกนำไปทิ้งด้วยการแปรรูปเป็นสินค้าอินทรีย์และขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งมีส่วนช่วยลดปริมาณขยะผักได้ถึง 30-50 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ยังมีเศษผักเหลือทิ้งอยู่อีก 5 เปอร์เซ็นต์

เมื่อเร็วๆนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการวิจัย Ugly Veggie Plus และการต่อยอดแบบจำลองธุรกิจบนพื้นฐานเทคโนโลยีการตรวจสอบย้อนกลับและเศรษฐกิจหมุนเวียนคาร์บอนต่ำเพื่อการจัดการห่วงโซ่อุปทานการผลิตและการส่งออกสินค้าอาหารอินทรีย์อย่างยั่งยืน โดยภายในงานได้สรุปผลการดำเนินโครงการวิจัยนี้ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนจาก แผนงานกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (อว.)

รับรู้ที่มาของโครงการวิจัย Ugly Veggie Plusกับต้นแบบการลดขยะ “ผักไม่สวย” ได้จริงด้วยการวิจัยและนวัตกรรมตอบสนอง BCG Economy ได้ตรงจุด

รองศาสตราจารย์ ดร.ภาณินี นฤธาราดลย์ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมและสังคมแห่งความยั่งยืนสังกัดวิทยาลัยนานานาชาติ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และหัวหน้าโครงการวิจัย Ugly Veggie Plus ได้กล่าวถึงที่มาของโครงการวิจัยนี้ว่า

“สำหรับการแถลงข่าวการต่อยอดแบบจำลองธุรกิจสินค้าอินทรีย์ด้วยการนำผักไม่สวยมาจำหน่ายในแพลตฟอร์ม Ugly Veggie ในวันนี้ มีจุดเริ่มต้นมาจากโครงการแรกที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งจากการทำวิจัยก็พบว่ายังคงมีเศษผักเหลืออีกจำนวนไม่น้อย ทีมนักวิจัยจาก มข. จึงได้ต่อยอดมาเป็นการผลิตเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่มาจากเศษเหลือทิ้งของผักอินทรีย์ ซึ่งประกอบด้วย นวัตกรรมอาหารโปรตีนสูง นวัตกรรมดินพร้อมปลูก และ นวัตกรรมพลาสติกชีวภาพ ที่พร้อมต่อยอดสู่การทำธุรกิจ”

“แต่ถึงกระนั้น ผู้บริโภคก็ยังคงมีความไม่แน่ใจว่าผักเหล่านี้เป็นผักอินทรีย์จริงหรือเปล่า ดังนั้นจึงต้องมีระบบที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ เพื่อให้ผู้บริโภครู้ว่าผักเหล่านี้มาจากไหน นี่จึงเป็นที่มาของการนำเอาเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาช่วยเป็น นวัตกรรมเทคโนโลยีตรวจสอบย้อนกลับ”

“โดยโครงการวิจัย Ugly Veggie Plus จึงตอบโจทย์ แผนงานกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน บพข. โดยเฉพาะในด้านการเป็นต้นแบบของเศรษฐกิจหมุนเวียน จากการนำผักไม่สวยมาแปรรูปเป็นอาหารหรือผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง รวมถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ โครงการวิจัยนี้ก็ให้ความสำคัญกับการวัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่มาจากเศษเหลือทิ้งของผักอินทรีย์ ซึ่งในอนาคตมีการวางแผนว่าจะขายคาร์บอนเครดิตที่เกิดจากการลดก๊าซเรือนกระจกเป็นแบบโมเดลธุรกิจที่เราคาดว่าจะมีการขยายต่ออย่างยั่งยืนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศ โดยในตอนนี้ได้มีความร่วมมือกับทั้งบริษัทภาคเอกชนและโรงแรมในเครือแมริออทแล้ว”

“ขณะที่ ในส่วนของการแปรรูปผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่มาจากเศษเหลือทิ้งของผักอินทรีย์ เราได้วางแผนไว้แล้วในการใช้ Pilot Plant หรือโรงงานต้นแบบ ที่ มข. มีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นในการแปรรูป ไม่ว่าจะเป็นโปรตีนบาร์ พลาสติกชีวภาพ หรือดินเพาะปลูก เราก็มีศักยภาพที่พร้อมจะแปรรูปได้ เพื่อปูทางสู่การนำไปจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ หรือ Commercialize ให้ได้”

“นอกจากนั้น เรายังพยายามสร้างการตระหนักรู้ และไม่ได้ทำแค่เพื่อต่อยอดทางธุรกิจ สร้าง Business Model อย่างเดียว แต่เรายังทำในเรื่องการตลาด และมีการทำ Innovative Campaign โดยเราจะไปทำวิจัยมาก่อนว่าผู้บริโภคมีความรู้สึกอย่างไรกับผลิตภัณฑ์นี้ก่อนที่เราจะนำไปทำเป็นการตลาดหรือการโฆษณาออกมา หรือการสร้างการรับรู้ Awareness ในด้านต่างๆ ซึ่งจะทำหลังผลิตภัณฑ์ของเรานิ่งแล้ว”

“และที่ผ่านมาในแพลตฟอร์ม Ugly Veggie Plus ก็มีเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์เข้ามาซื้อขายอยู่ในแพลตฟอร์มแล้วกว่า 20 ราย และมีการซื้อขายที่ Active บนแพลตฟอร์มนี้แล้วกว่า 600 ราย ด้วยผลตอบรับที่ดีนี้ เราจึงคาดหวังให้แพลตฟอร์ม Ugly Veggie Plus เป็นต้นแบบของแพลตฟอร์มที่ทำการซื้อขายได้จริง และทำให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นได้ด้วยระบบการตรวจสอบย้อนกลับว่าผักที่ซื้อขายกันเป็นผักปลอดสารเคมี เป็นผักอินทรีย์จริง ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้การซื้อขายกันบนแพลตฟอร์มเติบโตได้อย่างยั่งยืน”

“นอกจากนั้นโครงการวิจัยนี้ ยังมีความตั้งใจที่จะให้ความรู้ที่ถูกต้องกับผู้บริโภค เพื่อสร้างความตระหนักในการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เป็นกรีนโปรดักส์ และตอบโจทย์เทรนด์เศรษฐกิจหมุนเวียนและคาร์บอนต่ำมากขึ้นด้วย ดังนั้น หนึ่งในความมุ่งหวังสำคัญของเรา คือ ความพยายามเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคให้เข้าใจและเปลี่ยนมาใช้ชีวิตมาสู่ความกรีนมากขึ้น” “โดยเฉพาะในเรื่องของการนำ “ผักไม่สวย” ที่เป็นผักอินทรีย์มาแปรรูปเพื่อรับประทาน ซึ่งด้วยการที่เราเป็นนักวิจัย เราสามารถการันตีได้ว่าผักเหล่านี้ยังมีคุณค่าสารอาหารครบถ้วน ขณะที่ ถ้าผักไม่สวยเหล่านี้อยู่ในสภาพที่ไม่สามารถนำไปรับประทานได้ เราก็ยังสามารถนำผักไม่สวยเหล่านี้มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ อย่าง พลาสติกชีวภาพ ดินปลูกพืช ซึ่งการทำเช่นนี้จะมีส่วนช่วยลดปริมาณขยะให้โลก และมีส่วนทำให้โลกน่าอยู่ได้จริง”

ดังที่เกริ่นข้างต้นว่าการต่อยอดแบบจำลองธุรกิจภายใต้โครงการวิจัย Ugly Veggie Plus นี้ ประกอบด้วยนวัตกรรมอาหารโปรตีนสูง นวัตกรรมดินเพาะปลูกผสมธาตุอาหารสำเร็จรูปสามารถนำกลับมาปลูกผักอินทรีย์ได้ นวัตกรรมพลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้ 100 เปอร์เซ็นต์ และนวัตกรรมเทคโนโลยีการตรวจสอบย้อนกลับด้วยการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนซึ่งพร้อมต่อยอดสู่การทำธุรกิจ โดยแต่ละนวัตกรรมได้รับการพัฒนาจากทีมนักวิจัยซึ่งเป็นอาจารย์จาก มข.

เริ่มจาก Smart Veggie Snack อาหารว่างจากผักออแกนิกส์สำหรับผู้ที่รักสุขภาพและดูแลรูปร่าง โดยผลิตออกมาเป็นขนมขบเคี้ยวจากผักชนิดแท่ง Veggies Snacks Bar ซึ่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์อัมพร แซ่เอียว อาจารย์จากสาขาวิชาเทคโนโลยีอาหาร คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น

“Smart Veggie Snack เป็นผลผลิตจากการนำเอาผักตกเกรด รูปร่างไม่สมบูรณ์ ส่วนเหลือที่ได้จากการตัดแต่ง ซึ่งเป็นพืชวัตถุดิบผักอินทรีย์ เช่น ผักเคล ผักกาดหอม คะน้า แครอท มะเขือเทศ และพืชวัตถุดิบอื่นๆของเกษตรกรในเครือข่าย แล้วนำมาจัดเตรียมเป็น Smart Ingredients ที่มีจุดเด่นด้านคุณค่าทางโภชนาการ เช่น แร่ธาตุและวิตามิน เส้นใยสูง นำมาพัฒนาขึ้นรูปด้วยวิธีการอัดแท่งเป็นสแน็คผักชนิดอบกรอบ เสริมส่วนผสมอื่นๆ ที่มีคุณค่าทางโภชนาการ”

“นอกจากนั้นยังมีการคำนวณสูตรกำหนดตามผู้บริโภค กลุ่มผู้ที่รักสุขภาพ ดูแลรูปร่าง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เลือกบริโภคอาหารอย่างฉลาด และต้องการโปรตีนเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกาย มีไฟเบอร์สูง มีไขมันและพลังงานต่ำ

ผลิตภัณฑ์ที่สะดวกรับประทาน และพกพา น้ำหนักเบา เก็บรักษาได้นาน ไม่น้อยกว่า 6 เดือน รับประทานเป็นอาหารว่าง

ทุกที่ทุกเวลา เหมาะสำหรับคนที่ไม่ชอบรับประทานผักผลไม้โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริโภค เนื้อสัมผัส รสชาติและรูป

แบบ ที่ดึงดูดใจ และไม่ชอบความจำเจอาหารรูปแบบเดิมๆพร้อมบรรจุภัณฑ์สวยงามทันสมัย ระบุคุณค่าทางโภชนาการสำหรับผู้บริโภคอย่างชัดเจน”

ต่อมาเป็นการพัฒนาพลาสติกย่อยสลายได้จากเศษผักที่ไม่สวยจนได้ไบโอพลาสติกที่ย่อยสลายได้เองภายใน 1-2 ปี โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เยาวภา ตรีกมล อาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หนึ่งในทีมวิจัยโครงการ Ugly Veggie Plus ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า

“ไบโอพลาสติกที่ได้นี้มาจากการผสมกันของ PLA, PBS และ CMC ทำให้พลาสติกมีคุณสมบัติที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ เมื่อทิ้งในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เช่น ที่มีจุลินทรีย์และความขึ้น เหล่านี้จะย่อยสลายได้ภายในเวลาหนึ่งหรือสองปี ซึ่งน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับพลาสติกทั่วไปที่ใช้เวลาหลายสิบปี”

“และไบโอพลาสติกชนิดนี้ยังมีความแข็งแรงและความยืดหยุ่น เพราะ PLA ให้ความแข็งแรงและความแข็งตัวของพลาสติก ในขณะที่ PBS มีคุณสมบัติในการเพิ่มความยืดหยุ่นและความทนทาน การรวมคุณสมบัติของทั้งสองประเภทวัสดุนี้ ทำให้ได้พลาสติกที่มีทั้งความแข็งแรงและความยึดหยุนที่เหมาะสม ใช้งานได้หลากหลาย”

“นอกจากนั้น ไบโอพลาสติชนิดนี้ยังความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ: PLA และ PBS ทั้งสองเป็นวัสดุที่ผลิตจากแหล่งทรัพยากรหมุนเวียนได้ เช่น น้ำตาลจากพืช ซึ่งไม่มีสารพิษและปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม CMC ที่เป็นไฟเบอร์จากเซลลูโลสช่วยให้ผลิตภัณฑ์มีความเสถียรในการใช้งานและยังช่วยให้วัสดุสามารถย่อยสลายได้ดีขึ้น และจากการปรับปรุงคุณสมบัติเชิงกลและแบบใดนามิก: การเติม CMC ทำให้พลาสติกมีความเหนียวและมีซึ่งเป็นประโยชน์ในการใช้งานที่ต้องการความเสถียรภาพในรูปแบบ คุณสมบัติในการยึดติดดีขึ้นด้วย”

“นวัตกรรมดินปลูกจากเศษผักไม่สวย เป็นการนำเศษผักไม่สวยและเหลือทิ้งมาทำการอบแห้งและนำใปหมักร่วมกับดินรวมไปถึงวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรชนิดอื่นๆ เพื่อผลิตเป็นดินปลูก โดยขั้นตอนของกระบวนการหมักจะเกิดการย่อยสลายส่วนของเศษอินทรีย์วัตถุโดยจุลินทรีย์กลุ่มมีโชฟิลิค (Mesophilic) และ เทอร์โมฟิลิค (Thermophilic) ซึ่งในกระบวนการนี้จะทำให้เกิดอุณหภูมิที่สูงและทำให้เชื้อโรคที่อยู่ในวัสดุหมักส่วนใหญ่ตายได้”

“หลังจากที่การย่อยสลายเสร็จสิ้นแล้ว อุณหภูมิของสารหมักจะค่อยๆลดลงจนเหลือประมาณ 30 องศาเซลเซียส สารอินทรีย์เหล่านี้จะถูกเปลี่ยนเป็นธาตุอาหารที่พืชใช้ในการเจริญเติบโต ขณะที่ ดินปลูกที่ไม่ผ่านกระบวนการหมักเมื่อนำไปใช้ในการปลูกพืชจะทำให้เกิดกระบวนการหมักและเกิดความร้อนสะสมในดินส่งผลต่อรากพืช ทำให้รากเน่าและพืชไม่สามารถเจริญเติบโตได้”

“ดังนั้น ดินปลูกจากเศษผักไม่สวย จึงมีจุดเด่นชัดเจนในเรื่องของการมีอินทรียวัตถุ ปรับปรุงโครงสร้างดินให้มีความโปร่ง ร่วนซุย อากาศหมุนเวียนได้ดีต่อระบบรากพืชและจุลินทรีย์ในดิน และยังอุ้มน้ำได้ดีและช่วยรักษาความชื้นให้กับต้นพืช มีกลิ่นดินธรรมชาติ ปราศจากกลิ่นไม่พึงประสงค์รบกวน มีธาตุอาหารหลักที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช”

“ด้วยข้อดีเหล่านี้ ดินนี้จึงเหมาะกับการปลูกพืชผักสวนครัวและไม้ดอกในระดับกระถางหรือในพื้นที่จำกัด ซึ่งในตอนนี้ทางเครือโรงแรมแมริออท ก็ได้ใช้ดินปลูกจากเศษผักไม่สวยนี้ไปใช้ปลูกพืชทั้งในและนอกอาคาร โดยทางโรงแรมมีความพอใจในการใช้ดินชนิดนี้ เพราะนอกจากจะปลูกพืชได้งาม ยังไม่มีกลิ่น สามารถใช้เป็นดินปลูกพืชในห้องประชุมได้ด้วย”

นอกเหนือจาก 3 นวัตกรรมจากเศษเหลือทิ้งของผักอินทรีย์แล้ว ในโครงการวิจัย Ugly Veggie Plus นี้ ยังมีการการต่อยอดแบบจำลองธุรกิจบนพื้นฐานเทคโนโลยีการตรวจสอบย้อนกลับด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชนอีกด้วย ซึ่งคุณ อภิชัย เรืองศิริปิยะกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เออาแซดไอโอ จำกัด ผู้ร่วมพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับกับทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้อธิบายเพิ่มเติมว่า

อภิชัย เรืองศิริปิยะกุล

“ในการพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับนี้ เราปรับเอาหลักการของการตรวจสอบย้อนกลับพื้นที่ปลูกของผักอินทรีย์ที่มีระบุอยู่ชัดเจนแล้ว และนำละติจูด ลองติจูด ของพื้นที่นั้นมาทำเป็น โทเคน (Token) เป็น NFT แล้วฝังไว้บนบล็อกเชน และเหรียญนี้จะถูกโอนให้สามารถเปิดดูได้ เมื่อเปิดดู ระบบก็จะ Track ไปยังแหล่งข้อมูลที่เราเก็บไว้ทั้งหมด เช่น ข้อมูลที่ระบุว่าปลูกผักชนิดไหน ปลูกวันไหน เก็บเกี่ยววันไหน”

“โดยข้อมูลชนิดนี้แก้ไขไม่ได้ ทำได้ครั้งเดียว และจุดนี้เองที่เป็นข้อดีสำหรับการวางระบบตรวจสอบย้อนกลับให้กับผักอินทรีย์ โดยทำให้ข้อมูลนี้มีความน่าเชื่อถือ เพราะเท่ากับผู้ประกอบการหรือเจ้าของระบบเองก็แก้ไขข้อมูลนี้ไม่ได้ นี่เป็นความสำเร็จที่เราสามารถนำเทคโนโลยีบล็อกเชนที่ใช้กับระบบการเงินดิจิทัลอย่างบิทคอยน์ที่ต้องมีความถูกต้อง แม่นยำ น่าเชื่อถือ มาปรับใช้กับระบบตรวจสอบย้อนกลับของพืชพันธุ์ เพราะจากเดิมเราใช้ QR Code เป็นการสร้างระบบตรวจสอบย้อนกลับของพืชพันธุ์ทางการเกษตร ซึ่งสามารถแก้ไขได้ตลอดเวลา ทำให้ไม่มีความน่าเชื่อถือเท่าไรนัก”

“นอกจากนั้น ข้อดีของการใช้ระบบนี้ คือ มีความสะดวก ถ้ามีการติดต่อซื้อขายกันบนแอปพลิเคชั่น ผู้ขายก็สามารถส่งเหรียญที่มีข้อมูลการตรวจสอบย้อนกลับไปยังแหล่งปลูกให้กับลูกค้าได้ทันที เพื่อเป็นการยืนยันถึงความน่าเชื่อถือในที่มาของผักอินทรีย์นั้น ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อ Business มีความน่าเชื่อถือแล้ว ย่อมนำมาสู่ยอดขายที่เพิ่มขึ้นได้ โดยเฉพาะในยุคนี้ที่ผู้บริโภครุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับการตรวจสอบปริมาณการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิต ระบบนี้ก็จะบอกได้หมดว่าในการผลิตนี้สร้างคาร์บอนเท่าไร และผู้บริโภคที่เลือกใช้ผลิตภัณฑ์นี้จะมีส่วนในการช่วยลดคาร์บอนได้เท่าไร”

และในฐานะผู้ประกอบการที่ได้มีโอกาสมาทำงานร่วมกับหน่วยงานในภาคการศึกษา รวมถึงได้เข้าร่วมในโครงการวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก บพข. คุณอภิชัย ได้ให้มุมมองที่น่าสนใจว่า

“ที่ผ่านมา ผมได้ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นมาตลอดในฐานะศิษย์เก่า รวมถึงได้เป็นผู้ประกอบการที่ทำงานร่วมกับ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ Science Park ทำให้ได้เห็นว่ามีงานวิจัยที่น่าสนใจไม่น้อยที่อยู่ในภาคการศึกษา และยังไม่ได้รับการนำมาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ จนกระทั่งได้มารู้จักกับอาจารย์ภาณินีที่กำลังทำโครงการวิจัย Ugly Veggie Plus นี้ ได้พูดคุยกัน ผมก็เห็นว่าโครงการนี้น่าสนใจมาก จึงได้แนะนำอาจารย์ไปว่าถ้าอยากยกระดับระบบการตรวจสอบย้อนกลับของเศษผักอินทรีย์ที่ไม่สวย สามารถใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนได้ ซึ่งถ้าทำได้ย่อมมีส่วนทำให้ผลิตภัณฑ์จากผักไม่สวยทั้งหมดนี้มีความน่าเชื่อถือในสายตาผู้บริโภครวมถึงนักลงทุนด้วย”

ในโอกาสนี้ ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ ประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน บพข. ได้กล่าวในฐานะประธานในพิธีแถลงข่าวโครงการ Ugly Veggie Plus ว่า

“สำหรับโครงการวิจัย Ugly Veggie Plus ซึ่ง รองศาสตราจารย์ ดร.ภาณินี ได้ยื่นข้อเสนอเข้ามาขอรับทุนสนับสนุนจากทาง แผนงานกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน บพข. ทางคณะอนุกรรมการฯ มองว่าโครงการนี้มีความน่าสนใจ ตอบโจทย์ภารกิจของ บพข. ที่ได้รับทุนสนับสนุนโครงการวิจัยต่างๆมาจาก กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ (ววน.) และนำไปสนับสนุนโครงการวิจัยดีๆ ที่มีส่วนในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ขณะเดียวกันก็ตอบโจทย์ในด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำด้วย”

“นอกจากนั้น สำหรับโครงการ Ugly Veggie Plus ทางแผนงานกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน บพข. ยังเล็งเห็นว่าโครงการวิจัยนี้มีจุดเด่นสำคัญ คือ ได้มีการต่อยอดกับ 2 บริษัทเอกชน และต่อยอดสู่การใช้จริงในโรงแรมเครือแมริออท และจะมีการขยายผลไปอีกกว่า 50 โรงแรมในเครือแมริออททั่วประเทศ”

“รวมถึงโครงการวิจัยนี้จะต่อยอดให้เราได้มีแอปพลิเคชันดีๆ ที่เป็นตัวกลางการซื้อขายให้กับผู้บริโภคและเกษตรกร กระตุ้นเศรษฐกิจหมุนเวียนในทุกระดับ ซึ่งหน้าที่หลักของ บพข. คือ การสนับสนุนนักวิจัยและโครงการวิจัยดีๆ ที่จะขับเคลื่อนให้ประเทศไทยมีเศรษฐกิจที่ดี มั่นคง หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางในที่สุด”

“โดยทาง แผนงานกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน บพข. เปิดกว้างรับงานวิจัยที่ผ่านการทดสอบในห้องปฏิบัติการมาแล้ว และอยู่ใน TRL4 หรือ Technology Readiness Level ระดับความพร้อมของเทคโนโลยีในระดับ 4 และมีการร่วมทุนกับภาคเอกชนเพื่อให้ภาคเอกชนนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ต่อได้ ถ้านักวิจัยท่านใดสนใจและเข้าเกณฑ์ที่กล่าวมานี้ก็สามารถยื่นข้อเสนอโครงการมาที่แผนงานฯ ได้เลย”

Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *