ข่าว

บพข. รับมอบโล่ห์ ” อว. ช่วยชาติฝ่าวิกฤต COVID-19″

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม แถลงความสำเร็จในการขับเคลื่อนภารกิจและขอบคุณสถาบันอุดมศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายในงาน “อว. ช่วยชาติฝ่าวิกฤต COVID-19” ณ โรงแรม แบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนปาร์ค กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ภายใต้ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัด อว. ได้ปฏิบัติภารกิจสำคัญ ในการช่วยชาติฝ่าวิกฤต COVID-19 โดย บพข. แผนงานกลุ่มสุขภาพและการแพทย์ ได้ให้การสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในหลายโครงการ

  • โครงการศึกษาวิจัยเพื่อประเมินความสามารถในการสร้างภูมิคุ้มกันของวัคซีนความปลอดภัยของการฉีดวัคซีนโดสที่สามด้วยวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า หรือวัคซีนป้องกันโค วิด-19 ของบริษัทไฟเซอร์/ไบออนเทค ในผู้ใหญ่คนไทยที่ได้รับวัคซีน ป้องกันโรคโควิด-19 ชนิดเชื้อตายของบริษัทซิโนแวคมาแล้วจำนวนสองโดส โครงการวิจัยนี้เป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่างหลายสถาบันและมีการควบคุมคุณภาพตลอดการศึกษาวิจัย เพื่อให้ได้งานวิจัยที่มีความน่าเชื่อถือ การศึกษาวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการให้วัคซีนเข็มที่ 3 ในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคจำนวน 2 เข็ม รวมถึงการศึกษาการให้วัคซีนในขนาดครึ่งโดสว่าสามารถทำให้ภูมิคุ้มกันมีระดับที่สามารถป้องกันโรคได้หรือไม่ ในช่วงระยะเวลาห่างจากวัคซีนเข็มที่ 2 เป็นระยะเวลาเท่าใด ผลของการศึกษาวิจัยนี้ทำให้ทราบระยะเวลาที่เหมาะสมในการให้วัคซีนเข็มที่ 3 หลังจากได้รับวัคซีนซิโนแวคจำนวน 2 เข็ม โดยการศึกษาวิจัยพบว่าผลการทดสอบความปลอดภัย การสร้างภูมิคุ้มกันของวัคซีน และความทนทานของการฉีดวัคซีนเข็มที่สาม (ขนาดเต็มโดสหรือครึ่งโดสของ วัคซีน AZ หรือ PF) ในกลุ่มผู้ได้รับวัคซีน SV มาแล้ว 2 เข็ม มีความปลอดภัยและสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ดี ผลของงานวิจัยดังกล่าวมีส่วนในการช่วยสนับสนุนนโยบายภาครัฐ ในการกำหนดการให้วัคซีนเข็มที่ 3 กับประชาชนที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคมาแล้วจำนวน 2 เข็ม ที่จะสามารถกระตุ้นให้เกิดภูมิต้านทานที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในการป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • โครงการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มความสะดวกและการการเข้าถึงชุดตรวจ SARS-CoV-2 ด้วยวิธี Real-Time RT-PCR ผลิตโดยคนไทย เพื่อทดแทนน้ำยาชุดตรวจ Real-time RT-PCR ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศทำให้มีราคาสูง การพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยมีความรวดเร็ว ประหยัด และแม่นยำ สามารถตรวจวินิจฉัยจากตัวอย่างสารคัดหลั่งที่เก็บได้ง่าย เช่น น้ำลาย เป็นการเพิ่มความปลอดภัยกับผู้ปฏิบัติงาน โดยโครงการศึกษาวิจัยดังกล่าวทำให้ได้ชุดตรวจ SARS-CoV-2 Real-time RTPCR แบบ Multiplex จำนวน 200,000 ชุดที่ได้รับการรับรองจากอย. และยังได้สร้างให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐคือกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด โดยชุดตรวจ SARSCoV-2 Real-time RT-PCR แบบ Multiplex ได้รับการจดลิขสิทธิ์สามารถผลิตเพื่อการค้าจากฝีมือคนไทยที่ต้นทุนต่ำ
  • โครงการพัฒนากระบวนการผลิตในระดับใหญ่ของชุดตรวจหาเชื้อ SARS-CoV-2ด้วยเทคโนโลยี CRISPR-Cas12a โดยคณะผู้วิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มีการพัฒนาชุดน้ำยาสําหรับตรวจวินิจฉัยเชื้อ SARS-CoV-2 โดยใช้เทคนิค CRISPR-Cas12a ได้สําเร็จ โดยผลงานวิจัยได้รับการเผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ (Q1) [Mayuramart et al., 2020] และมีการขึ้นทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาตลอดจนมีการพัฒนาต้นแบบ (Prototype) ของชุดตรวจเป็นที่เรียบร้อย โครงการดังกล่าวเป็นการพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถทําการผลิตในระดับใหญ่ภายในโรงงานที่ได้มาตรฐาน

โดย ศาสตราจารย์ ดร.ศันสนีย์ ไชยโรจน์ ประธานคณะอนุกรรมการ แผนงานกลุ่มสุขภาพและการแพทย์ บพข. ได้เป็นตัวแทนหน่วยงาน บพข. ในการเข้ารับมอบโล่ห์ ที่ระลึกในการปฏิบัติภารกิจสำคัญดังกล่าว

Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *