ข่าว

บพข. และพันธมิตร ร่วมผลักดัน FFC Thailand จุดเปลี่ยนการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารของไทย

ระบบ FFC Thailand (Food with Functional Claims Thailand) ระบบการขึ้นทะเบียนการกล่าวอ้างเชิงสุขภาพออนไลน์ของอาหารและสารสำคัญ เครื่องมือสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารมูลค่าสูงออกสู่ตลาด

เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ.2565 ที่ผ่านมา สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหารแห่งประเทศไทย (Food Science and Technology Association of Thailand หรือ FoSTAT) โดยโครงการ Food Innovation & Regulation Network (FIRN) ได้จัดกิจกรรมการบรรยายและเสวนาภายใต้หัวข้อ “ขับเคลื่อนประเทศไทย ยกระดับธุรกิจอาหารมูลค่าสูงให้ก้าวไกลด้วย FFC” ซึ่งได้มีการเปิดเวทีเสวนาเรื่อง “การสร้างความร่วมมือสร้างนวัตกรรมเพื่อผลิตภัณฑ์สุขภาพมูลค่าสูง” โดยมี รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี ผอ. บพข. เข้าร่วมการเสวนาดังกล่าว  

ศาสตราจารย์ ดร.ภาวิณี ชินะโชติ ที่ปรึกษา FoSTAT และหัวหน้าโครงการ FIRN กล่าวถึงรายละเอียดแนวทางการพัฒนา FFC Thailand ว่า ระบบ FFC (Food with Function Claims) Thailand เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ เป็นระบบการจดทะเบียนการกล่าวอ้างอาหารเชิงหน้าที่และสารสำคัญเชิงหน้าที่ (Functional Ingredients) ให้สามารถออกสู่ตลาด และเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิตทางการเกษตรของไทย ในปี ค.ศ.2020 มูลค่าทางการตลาดของอาหารเชิงหน้าที่มีมูลค่าสูงถึงสี่แสนล้านดอลลาห์สหรัฐ และสารสำคัญเชิงหน้าที่มีมูลค่ากว่าเก้าสิบล้านดอลลาห์สหรัฐ และมีสัดส่วนการการเติบโตทางการตลาดถึงกว่าร้อยละ 7 และ ร้อยละ 5.5 ตามลำดับ หากเทียบกับประเทศไทยมีมูลค่าทางการตลาดของอาหารเชิงหน้าที่ไม่เกินสองหมื่นห้าพันล้านดอลลาห์สหรัฐ (ปี ค.ศ.2017) เท่านั้น โดยส่วนใหญ่ผู้ประกอบการนิยมซื้อสารสกัดต่างๆจากต่างประเทศแทนการผลิตในประเทศ ดังนั้นการพัฒนาอาหารเชิงสุขภาพและสารสำคัญเชิงหน้าที่ต้องมีการกำกับดูแลให้ได้มาตรฐาน เพื่อสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมลดการนำเข้าสารสกัดจากต่างประเทศ โดยขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ตลอดจนการเชื่อมโยงเกษตรกร SME และชุมชน ให้มีบทบาทสำคัญในการร่วมสร้างธุรกิจการพัฒนาอาหารและสมุนไพรท้องถิ่นให้เข้ามาในระบบ Supply Chain ให้ได้

จุดอ่อนของการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพของประเทศไทย มาจากการขาดความรู้ความเข้าใจในการออกแบบการวิจัย การวิเคราะห์ การสรุปผลงานวิจัยเพื่อเตรียมเอกสารหลักฐานเพื่อยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อย. และการสร้างความเข้าในหลักเกณฑ์ที่ถูกต้องและจำเป็นในการยืนยันหลักฐานสนับสนุนทางวิทยาศาสตร์เพื่อขออนุญาตให้ได้รับการรับรองมาตรฐานจาก อย. ซึ่งต้องผ่านมาตรฐานด้านความปลอดภัย การกล่าวอ้างเชิงโภชนาการ และการกล่าวอ้างทางสุขภาพ ตาม พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522

FFC Thailland ถือเป็นเครื่องมือสำหรับการกล่าวอ้างเชิงหน้าที่ของอาหารและสารสำคัญภายใต้การกล่าวอ้างทางสุขภาพ (Health Claim) ที่จะมีส่วนช่วยในการพัฒนาขีดความสามารถการออกตลาดผลิตภัณฑ์และขยายตลาดให้แก่ผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชัน (Functional Food) ของไทย อาหารฟังก์ชัน คืออาหารที่มีคุณสมบัติพิเศษที่ดีต่อสุขภาพร่างกายที่ไม่ใช่สารโภชนาการ อาทิ สารแอนติออกซิแดนท์ โพรไบโอติก ที่มีคุณสมบัติเชิงหน้าที่จำเพาะ หรือที่เรียกกันว่า Functional ทำให้ร่างกายทำงานได้ดีขึ้น ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรค การวิจัยและการกล่าวอ้างเชิงหน้าที่ของอาหาร ที่มีหลักฐานที่ยืนยันคุณสมบัติได้อย่างถูกต้องและผ่านหลักเกณฑ์ของ อย. ซึ่งจะเป็นการสร้างมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ได้สูงขึ้น ที่ผ่านมาเราได้รับความร่วมมือที่ช่วยผลักดันให้เกิด FFC Thailand ไม่ว่าจะเป็น บพข. ที่ให้การสนับสนุนทุนวิจัยในการก่อตั้ง FFC Thailand สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์กรมหาชน) (สวก.) สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) รวมถึงกรมวิทยาศาสตร์บริการ และ อย. ที่ได้เข้ามามีส่วนช่วยขับเคลื่อนให้เกิด FFC อย่างจริงจัง และจากการประชุมคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ โดยมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีกระทรวงและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องด้านอาหารเป็นองค์ประกอบ ได้เห็นชอบเมื่อต้นปี พ.ศ.2565 ที่ผ่านมา ให้ FFC Thailand เป็นส่วนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านเกษตรและอาหารของประเทศในการทำให้เกิด Functional Food และ Functional Ingredient อย่างเป็นระบบ และระบบออนไลน์ FFC Thailand มีกำหนดจะทดสอบระบบในต้นปี พ.ศ.2566

รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี ผอ. บพข. กล่าวถึงบทบาท บพข. ในการสร้างกลไกให้เกิดความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคเอกชนที่พยายามขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ดังหลายประเทศได้รับพัฒนาจากการขับเคลื่อนความร่วมือแก่ภาครัฐ มหาวิทยาลัยและภาคเอกชน เช่น สาธารณรัฐเกาหลี เป็นต้น นอกจากการสนับสนุนทุนจาก บพข. ที่พิจารณาจากความร่วมมือจากหน่วยงานวิจัย มหาวิทยาลัย เอกชนภายในประเทศ รวมถึงการดึงหน่วยงานต่างประเทศเพื่อต่อยอดงานวิจัยให้ไปได้ไกลแล้ว บพข. มีบทบาทสำคัญในการให้ทุนในการสร้างโรงงานต้นแบบในการพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง การกำหนดมาตรฐานต่าง ๆ ของประเทศ นอกจากนี้แล้ว บพข. ยังให้การสนับสนุนทุนแก่หน่วยงานในการพัฒนาข้อมูลเพื่อปรับปรุงกฎระเบียบต่าง ๆ หรือทุนในการพัฒนางานวิจัยของประเทศไทยในเรื่องนี้ด้วย

Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *