ข่าว

บพข. ผนึกความร่วมมือ อว. และ กทม. จัดตลาดนัดนวัตกรรม 3 มุมเมือง

ตลาดนัดนวัตกรรม 3 เมือง ชูงานวิจัย นวัตกรรม แก้ไขปัญหา นำกรุงเทพฯ สู่เป้าหมาย “เมืองนวัตกรรมและน่าอยู่สำหรับทุกคน” (Innovative and Livable City for All) 

1 กุมภาพันธ์ 2567 : นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวง อว. และผู้บริหารกรุงเทพมหานคร . เปิดงาน “ตลาดนัดนวัตกรรม 3 มุมเมือง” ซึ่งเป็นการทำงานระหว่างหน่วยงานภายใต้กระทรวง อว. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) รวมถึงหน่วยบริหารและจัดการทุนอื่น ๆ ร่วมกับกรุงเทพมหานคร ในการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมของ อว. ไปใช้ประโยชน์ และสนับสนุนการทำงานของ กทม. โดย บพข. ได้ร่วมนำงานวิจัยและนวัตกรรมภายใต้หัวข้อ “เมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด” (Smart and Livable City) มาร่วมจัดนิทรรศการ งานนี้จัดขึ้นที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 1 – 3 กุมภาพันธ์ 2567

นางสาวศุภมาส กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันทำให้เมืองประสบกับปัญหาในหลายด้าน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ภัยธรรมชาติและมลภาวะที่ส่งผลต่อการอยู่อาศัย ภาวะความยากจน ภาวะความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ภาวะความปลอดภัย ภาวะผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ภาวะความเหลื่อมล้ำด้านการบริการสาธารณสุข การป้องกันและแก้ไขปัญหาในมิติดังกล่าว จึงจำเป็นต้องมีงานวิจัยและนวัตกรรมเข้าไปช่วยสนับสนุน ซึ่งกระทรวง อว. มีผลงานวิจัยและนวัตกรรมพร้อมใช้จำนวนมาก ตัวอย่างเช่น ทราฟฟี่ฟองดูว์ แพลตฟอร์มบริหารจัดการปัญหาเมืองที่ประชาชนทุกคนสามารถแจ้งปัญหาที่เจอ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยแก้ไขให้ได้อย่างตรงจุด เช่น ปัญหาความสะอาด ไฟฟ้า ประปา ทางเท้า  

ภายในงาน จัดพื้นที่แบ่งเป็น 3 โซน เพื่อสะท้อนถึงโจทย์ปัญหาสำคัญใน 3 มุมเมือง ประกอบด้วย เมืองนวัตกรรมการเรียนรู้ (Learning City) เมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด (Smart and Livable City) และเมืองนวัตกรรมสำหรับทุกคน (Innovative City for All) นอกจากนี้ยังมีการเสวนาที่จัดต่อเนื่องตลอด 3 วัน ทั้งหมด 15 ช่วง โดยวิทยากร 57 ท่าน จาก 22 หน่วยงาน รวมถึงมีกิจกรรมพิเศษ Workshop จัดโดยสภาเด็กและเยาวชน ที่จะมาระดมความคิดเห็นในการออกแบบการพัฒนาเมือง และการประกาศแนวทางให้ทุนวิจัยสำหรับการพัฒนาเมืองและชุมชนด้วย รมว.อว. ยังได้กล่าวถึงผลงานนวัตกรรมจำนวนมากที่นำมาจัดแสดงในงานครั้งนี้รวมกว่า 45 ผลงาน ใน 3 บูธ อาทิ 1. ด้านสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ มีเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศ วัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 และ PM10 แบบเซ็นเซอร์ อุปกรณ์ตรวจวัดการสั่นสะเทือนโครงสร้างอาคารและระบบแจ้งเตือนภัย เพื่อทำให้ชาวกรุงเทพฯ อยู่อาศัยอย่างปลอดภัยขึ้น 2. ด้านสุขภาพ มีย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี เป็นพื้นที่ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนด้านการแพทย์และมีการทำงานร่วมกันระหว่างโรงพยาบาล เพื่อทำให้การดูแลและส่งต่อผู้ป่วยทำได้รวดเร็ว และสามารถเข้าถึงบริการด้านการแพทย์ได้ดีขึ้น 3. ด้านสังคม มีแอปพลิเคชันบริการรถแท็กซี่สำหรับผู้สูงอายุ มีต้นแบบเผยแพร่วัฒนธรรมไทย-จีน จากมุมมองของคน 3 ช่วงวัย เพื่อให้เมืองดูแลกลุ่มเปราะบางได้ครอบคลุม 4. ด้านเศรษฐกิจ มีแอปพลิเคชันระบบบัญชีอัจฉริยะ แพลตฟอร์มข้อมูลชี้เป้าครัวเรือนยากจน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการปัญหาแบบมุ่งเป้าเบ็ดเสร็จ และ 5. ด้านการศึกษาและการเรียนรู้ มีแพลตฟอร์มการพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ มีแอปพลิเคชันคัดกรองเด็กที่มีความลำบากในการอ่าน เพื่อเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กและเยาวชนเพิ่มขึ้น

“รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์” ผู้อำนวยการ บพข. กล่าวว่า การดำเนินงานที่ผ่านมาของ บพข.สอดคล้องกับนโยบายกระทรวง อว. ที่ต้องการเร่งรัดการนำงานวิจัยและนวัตกรรมไปช่วยในการพัฒนาเมืองในทุกมิติ โดยจับคู่โจทย์ความต้องการกับผลงานวิจัยของ อว. ที่เหมาะสม เพื่อเกิดการใช้ประโยชน์ในวงกว้าง และมุ่งพัฒนาความร่วมมือกับผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยโดยตรง ซึ่งโจทย์วิจัยของ บพข. จะดูความต้องการของผู้ใช้งาน หรือความต้องการของตลาดเป็นหลัก โดย บพข. มุ่งขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดการทำงานร่วมกันทั้งจากภาครัฐและเอกชน เพื่อทำให้งานวิจัยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง มีคุณภาพและได้มาตรฐานระดับสากล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศได้อย่างยั่งยืน สำหรับการพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาเมืองในมิติต่าง ๆ นั้น ผู้อำนวยการ บพข. กล่าวว่า ตลาดมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตในทุกด้าน บพข. ได้สนับสนุนโครงการวิจัยและพัฒนาด้านดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การจัดทำข้อมูล และการสร้างแพลตฟอร์มกลาง เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการขนาดเล็ก ขนาดกลางรวมถึงสตาร์ทอัพ ได้ใช้ประโยชน์ในการสร้างนวัตกรรมและสามารถแข่งขันในตลาดได้อย่างรวดเร็ว


ซึ่งในงาน “ตลาดนัดนวัตกรรม 3 มุมเมือง” บพข. ได้มีการนำเสนอตัวอย่างงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้รับการสนับสนุน โดยเฉพาะ “เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเมืองที่น่าอยู่” หรือ “Digital Tech for Liveable City” ซึ่งมีความน่าสนใจ และถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลายด้าน อย่างเช่น แพลตฟอร์ม “กิน อยู่ ดี” แพลตฟอร์มดูแลสุขภาพของคนไทยแบบครบวงจร ที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตปัจจุบันของสังคม ไม่ว่าจะเป็นสังคมสูงวัย การรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 และการสร้างความปลอดภัยในด้านต่าง ๆ
แพลตฟอร์มนี้ มีจุดเริ่มต้นจากการพัฒนาของ “ รศ.วิรุฬห์ ศรีบริรักษ์” จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ที่มุ่งมั่นในการสร้างเทคโนโลยีที่เป็นของคนไทยและเพื่อคนไทย ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ โดยอาศัยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และไอโอที(IoT) เป็นฐานในการพัฒนา ซึ่งผลิตภัณฑ์และบริการของแพลตฟอร์ม “กิน อยู่ ดี” จะพัฒนาจากการวิเคราะห์ปัจจัยภายใน ภายนอก และสภาพแวดล้อมที่มีผลต่อสุขภาพของแต่ละบุคคล ทั้งวิถีการใช้ชีวิต การทานอาหาร ที่อยู่อาศัย ตลอดจนปัจจัยด้านดีเอ็นเอ เพื่อสร้างความปลอดภัยในชีวิต ทั้งการกิน สุขภาพ ที่ยู่อาศัย และทรัพย์สิน


นอกจากนี้ การพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อใช้ประโยชน์ด้านธุรกิจ โดย บพข. ได้จัดแสดงผลงาน “ระบบบัญชีอัจฉริยะ Ztrus” จากบริษัท แอ็คโคเมท จำกัด ซึ่งเป็นดิจิทัลสตาร์ทอัพไทยที่พัฒนาระบบ OCR (Optical Character Recognition) ในการเปลี่ยนข้อความในภาพหรือไฟล์สแกนเอกสาร ให้เป็นข้อมูลดิจิทัล และนำเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วย ทำให้เป็น Document Intelligence Platform ที่มีความฉลาด ยืดหยุ่น อ่านได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เช่น บัตรประชาชน ใบแจ้งหนี้ ใบเสร็จรับเงิน เป็นต้น สามารถอ่านข้อมูลได้แม่นยำถึง 97 % และอ่านได้อย่างรวดเร็วไม่เกิน 1 นาที ระบบดังกล่าวตอบโจทย์ผู้ใช้งานในเชิงธุรกิจที่เป็น กระบวนการสำคัญ ที่เดิมต้องใช้แรงงานคนจำนวนมากในการตรวจสอบ โดย Ztrus มีการพัฒนาโซลูชั่นที่ช่วยลดปริมาณงาน เช่น Purchase Order to Sale Order (PO2SO) การอ่านเอกสารคำสั่งซื้อจากลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว นำเข้าข้อมูลและสามารถสร้างเอกสารขายได้รวดเร็วขึ้น หรือ 3-Way Matching (3WAYMAT) ซึ่งเป็นการนำเอกสาร 3 ชนิด คือ Purchase Order, Invoice และ Receipts มาตรวจสอบความถูกต้อง ความครบถ้วนของรายการภายใน รวมถึงหาความแตกต่าง ที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างกระบวนการทางธุรกิจ การใช้งาน AI กับงานด้านเอกสารดังกล่าว สามารถลดปริมาณงานที่ต้องทำได้ 40 % – 80 % และเปลี่ยนหน้าที่ของผู้ใช้งานจากผู้พิมพ์เอกสาร มาเป็นผู้ตรวจสอบ รับรอง และแก้ไขข้อมูล ซึ่งเป็นการยกระดับหน้าที่ และความรับผิดชอบของผู้ใช้งานให้สูงขึ้น และที่สำคัญยังช่วยลดต้นทุนในการใช้งานโซลูชั่นดังกล่าวซึ่งอยู่ในระบบ ERP ที่ต้องใช้งบประมาณในการพัฒนาจำนวนมาก ช่วยทำให้ธุรกิจขนาดกลางที่กำลังเติบโต สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างเท่าเทียมและมีขีดความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น

บพข. ยังสนับสนุนการพัฒนา “ Open Thai GPT” หรือ “ปัญญาประดิษฐ์ภาษาไทยสำหรับคนไทยทุกคน” ซึ่งสมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย ร่วมกับ บริษัท ไอแอพพ์เทคโนโลยี จำกัด และเครือข่ายจากภาครัฐและเอกชน พัฒนาขึ้น โดย Open Thai GPT เป็นระบบแบบจำลองภาษาไทยขนาดใหญ่หรือ Large Language Model (LLM)ที่สามารถประมวลผลภาษาไทยได้เร็วเทียบเท่า ChatGPT มีฐานข้อมูล Dictionary ภาษาไทยมากกว่า 25,000 คำ ตอบโจทย์การสืบค้นข้อมูล แปลภาษา และสร้างข้อมูลอัตโนมัติภาษาไทย สามารถจัดการความซับซ้อนของการแบ่งคำ การใช้วรรณยุกต์ภาษาไทยได้
ระบบ Open Thai GPT มีการพัฒนาแบบซอฟต์แวร์ Opensource ที่ไม่เพียงแต่ส่งเสริมความร่วมมือและแลกเปลี่ยนความรู้ในชุมชนวิชาการและนักพัฒนาด้าน AI แต่ยังเปิดโอกาสให้กับสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีคนไทยในการพัฒนาแอพพลิเคชันด้าน AI ที่เข้าใจและตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้ภาษาไทยมากขึ้น และยังเปิดโอกาสให้กับภาษาไทยในการได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยี AI รวมถึงนวัตกรรมใหม่ ๆ ในอนาคตอีกด้วย

Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *