กิจกรรม

ติดตามความคืบหน้าต้นแบบเครื่องย่อยขยะอาหารสำหรับใช้ในครัวเรือน ผลิตโดยคนไทย

วันนี้ (26 ธันวาคม 2565) ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ ประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน บพข. นำทีมผู้เชี่ยวชาญตรวจเยี่ยมการดำเนินโครงการ “การพัฒนาเครื่องย่อยขยะอาหารสำหรับใช้ในครัวเรือนที่เหมาะสมกับประเทศไทย” โดยมี นายภัทรพล ตุลารักษ์ เป็นหัวหน้าโครงการ นำเสนอความคืบหน้าการดำเนินงาน ณ โรงงานผลิตเครื่องต้นแบบเครื่องย่อยขยะอาหาร บริษัท ไทย รีไซเคิล เวสท์ ฮับ จำกัด อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี

โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อสร้างองค์ความรู้ในด้านสมรรถนะของการย่อยขยะอาหารและการควบคุมกลิ่น และต้นทุนที่ใกล้เคียงความเป็นจริง เพื่อช่วยในการพัฒนาเครื่องที่พร้อมผลิตเชิงพาณิชย์ โดยที่มีราคาไม่แพง เพื่อให้คนไทยสามารถเข้าถึงเครื่องย่อยขยะอาหารได้มากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคที่ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมได้มีทางเลือกในการลดปริมาณขยะ อีกทั้งยังช่วยลดการปริมาณขยะที่จะถูกกำจัดด้วยการฝังกลบและการเผา รวมถึงลดน้ำหนักขยะที่จะถูกขนส่งไปยังสถานที่กำจัด ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อีกทางหนึ่ง

ทีมวิจัยได้มีการพัฒนาชิปบอร์ด และเขียนโปรแกรมควบคุมการทำงานของเครื่องฯ เอง รวมถึงได้มีการพัฒนาให้เครื่องสามารถใช้ได้งานง่าย มีขนาดที่เล็กกระทัดรัดเพื่อให้สะดวกต่อการใช้งานในครัวเรือน โดยที่การทำงานของเครื่องจะต้องมีเสียงที่เบากว่า 50 เดซิเบล ไม่มีกลิ่นรบกวน และใช้พลังงานน้อย ซึ่งปัจจุบันทีมวิจัยสามารถทำให้เครื่องฯ ใช้พลังงานอยู่ที่ 1.5 KW-h  โดยทางทีมมีแผนที่จะพัฒนาให้เครื่องใช้พลังงานน้อยลงอีก นอกจากนี้ทีมวิจัยยังได้ปรับปรุงหัวเชื้อให้เหมาะสำหรับใช้กับเครื่องฯ รวมทั้งเพิ่มความร้อน และความชื้นให้กับเครื่อง เพื่อให้เหมาะกับลักษณะการใช้งานของคนไทย

ในการนี้ ทีมผู้เชี่ยวชาญได้มีการเยี่ยมชมต้นแบบเครื่องย่อยขยะอาหาร และพูดคุยถึงความคืบหน้าและอุปสรรคของการดำเนินงาน โดยทีมผู้เชี่ยวชาญได้ให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้มีความเหมาะสมในการวางจำหน่ายในท้องตลาด เช่น การตั้งราคาเพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถตัดสินใจซื้อได้ง่าย การพัฒนาดีไซน์ให้สวยงามขึ้น เพื่อให้คนรู้สึกว่าเครื่องย่อยขยะอาหารเป็นเหมือนเฟอร์นิเจอร์อีกชนิดหนึ่งที่สามารถตั้งอยู่ในบ้านได้ รวมถึงได้แนะนำให้ทีมวิจัยพัฒนามอเตอร์ให้มีเสียงเบาลง ใช้พลังงานน้อยลง และสามารถหาซื้ออะไหล่เปลี่ยนได้ง่ายภายในประเทศ เพื่อเป็นอีกหนึ่งจุดแข็งของแบรนด์ที่จะสามารถเอาชนะคู่แข่งในตลาดได้

นอกจากนี้ยังทีมผู้เชี่ยวชาญยังได้ให้ข้อชี้แนะในการพัฒนาคู่มือที่ชัดเจนเพื่อให้ผู้ใช้งานมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้งานเครื่องฯ และการนำสารปรับปรุงดินที่ได้ไปใช้ประโยชน์ต่อไป ซึ่งขณะนี้ทางบริษัท ได้มีการจัดส่งเครื่องย่อยขยะอาหารต้นแบบให้แก่กลุ่มผู้ตัวอย่างทดลองใช้งานจริง จำนวนกว่า 100 เครื่อง เพื่อเก็บผลลัพธ์ที่ได้จากผู้ใช้มาพัฒนาเครื่องฯ ให้สามารถตอบโจทย์การใช้งานของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น และคาดว่าจะสามารถผลิตเพื่อวางจำหน่ายในท้องตลาดได้จริงในปีหน้า

Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *