กิจกรรม

บพข. ชูธง “อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต” ประเทศไทย

6 ธันวาคม 2565 : แผนงานอาหารมูลค่าสูง บพข. ได้จัดให้มีการประชุม Expert Forum Novel Food “อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต ผลักดันธุรกิจด้วยงานวิจัย” ณ ห้อง Ballroom 1 ชั้น 4 โรงแรมพูลแมน กรุงเทพฯ แกรนด์ สุขุมวิท


รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการ บพข. ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของ บพข. ว่าเป็นหน่วยงานที่ให้ทุนวิจัยที่สามารถต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ ได้แก่งานวิจัยที่ทำสำเร็จในระดับห้องปฏิบัติการ ที่สามารถขยายไปสู่การผลิต การขอขึ้นทะเบียนได้ ดังตัวอย่างการทำงานของคณะอนุกรรมการแผนงานมูลค่าสูงซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขา จะเป็นผู้ประเมินความ “มีมูลค่าสูง” ของโครงการวิจัย เป็นงานวิจัยที่ใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศเรา ผนวกกับเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อ ให้เกิดผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงที่มีความความแตกต่าง หรือตัวอย่างแผนงานการแพทย์และสุขภาพ บพข. ได้ให้การสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมทางการแพทย์ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นยา ชีววัตถุ หรือเครื่องมือทางการแพทย์หลายรายการ บพข. จึงอยากเห็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารมูลค่าสูงจากวัตถุดิบอันหลากหลายของไทยที่ใช้เทคโนโลยี รวมถึงองค์ความรู้ของคนไทย ถึงแม้ว่าขณะนี้จะเป็นการให้ทุนในระยะเริ่มต้นในด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ บพข. จะมุ่งผลักดันให้เกิดการนำงานวิจัยไปใช้ได้จริง โดยจะสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ให้ทำงานร่วมกัน เพื่อเพิ่มศักยภาพให้ประเทศสามารถการแข่งขันไปสู่ระดับนานาชาติได้


ดร.ธัญญวัฒน์ เกษมสุวรรณ ผู้อำนวยการนวัตกรรมกลุ่มองค์กร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้ให้เกียรติบรรยายในหัวข้อแนวทางการพัฒนางานวิจัย Novel Food กล่าวถึงมุมมองของภาคเอกชนในเรื่องการวิจัยและพัฒนาด้านอาหารว่า “ จากในอดีตวิวัฒนาการของการวิจัยด้านอาหาร เริ่มต้นตั้งแต่การผลิตอาหารเน้นเพื่อการบริโภคลดความหิวโหย (Food Supply) ต่อมาจึงเริ่มมีการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการบริโภค (Food Security) จากนั้นจึงเข้าสู่ยุคของการพัฒนาอาหารซึ่งเน้นเรื่องความอร่อย (Food Pleasure) โดยงานวิจัยและพัฒนาที่ตอบสนอง จึงเป็นเรื่องสาร หรือส่วนผสมเพิ่มรสชาติ จนมาถึงช่วงของการพัฒนาอาหารที่ดีต่อสุขภาพ (Health Promotion) มีการศึกษาเรื่องสารอาหาร คุณประโยชน์ด้านต่างๆของอาหาร จนปัจจุบันทิศทางการพัฒนาอาหาร เริ่มสนใจการพัฒนาอาหารที่ได้คุณประโยชน์เฉพาะของแต่ละบุคคล (Health Management) เราจึงเห็นการวิจัยด้านประสาทสัมผัสเพื่อวิเคราะห์ความต้องการของผู้บริโภคที่ละเอียดมากยิ่งขึ้น จะเห็นได้ว่ากรอบการพัฒนานวัตกรรมของภาคเอกชนนั้น จะมองไปที่ผู้บริโภคเป็นหลัก และหากมองในฐานะผู้ผลิตอาหารรายใหญ่อย่างไทยยูเนี่ยน การผลิตและการพัฒนาด้านอาหารต้องให้ความสำคัญกับลูกค้าเช่นเดียวกัน เราต้องผลิตสินค้าที่ให้ต้นทุนในการผลิตที่ต่ำที่สุดให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด จึงจะเป็นที่พึงพอใจของลูกค้าได้ รวมถึงการสร้างแบรนด์ การเข้าถึงผู้บริโภค การเปลี่ยนตำแหน่งทางการตลาด ก็เป็นสิ่งสำคัญด้วยเช่นเดียวกัน”


Breakthrough Innovation สามารถเปลี่ยนโครงสร้างราคาให้สินค้ามูลค่าสูงขึ้นได้อย่างก้าวกระโดด


ดร.ธัญญวัฒน์ ได้ยกตัวอย่างของนวัตกรรมแบบก้าวกระโดด (Breakthrough Innovation) ว่า ในสมัยก่อนครึ่งส่วนของผลิตภัณฑ์ปลากระป๋อง จะถูกส่งขายเป็นปลาป่นซึ่งไม่มีมูลค่า ปัจจุบัน ไทยยูเนี่ยนสามารถผลิตโปรตีนไฮโดรไลเซต น้ำมันปลา หรือคลอลาเจน ซึ่งสร้างมูลค่าได้อย่างสูง
โปรตีนจากแมลง เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมอาหาร Novel Food ที่น่าสนใจในปัจจุบัน ดร.ธัญญวัฒน์ ได้บรรยายถึงการลงทุนของไทยยูเนี่ยนกับบริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติอิสราเอลที่สามารถพัฒนาการผลิตโปรตีนจากแมลงวันผลไม้ (Fruit Fly) ที่สามารถให้โปรตีนถึง 65% ในขณะที่มีวงจรชีวิตที่สั้นเพียง 7 วัน หากมองในเรื่องความคุ้มค่า ถือว่าการผลิตโปรตีนจากแมลงวันผลไม้นั้นมีความคุ้มค่าเป็นอย่างมาก ในขณะนี้ได้มีการตั้งโรงงานในประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว แต่ในขณะเดียวกัน บริษัทยังมีความท้าทายในเรื่องการผลิต Novel Food ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาวิจัยอย่างละเอียดในทุกมิติของผู้บริโภค ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การศึกษาเรื่องต้นทุนการผลิต การทดสอบทางคลินิก ไปจนถึงการทดสอบความปลอดภัย เพื่อขอรับการขึ้นทะเบียนรับรองจาก อย. ขึ้นตอนนี้จะต้องใช้เวลาที่ยาวนานอย่างน้อย 4 ปี และส่งผลถึงการลงทุนที่สูงพอสมควร ผู้ผลิต หรือผู้ประกอบการ ควรให้ความสำคัญในเรื่องนี้

ภายในงานได้มีการจัดเสวนาในหัวข้อ “จัดทิศทางอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต กับสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย” โดยได้นำ สตาร์อัพไทยไฟแรง ที่ประสบความสำเร็จในการผลิตผลิตภัณฑ์ Novel Food มาให้ข้อมูลและแชร์ประสบการณ์ของการเข้าสู่สตาร์ทอัพด้านอาหารแห่งอนาคต รวมถึงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในเรื่องแนวทางการค้า การจำหน่าย รวมถึงทิศทางธุรกิจและการค้าในต่างประเทศ โดยมี รศ.ดร.ณัฐดนัย หาญการสุจริต หัวหน้าสำนักประสานฯ แผนงานอาหารมูลค่าสูง บพข. และประธานคณะทำงานหน่วยบูรณาการฯ ยุทธศาสตร์ ด้านอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต สกสว. เป็นผู้ดำเนินรายการ

สตาร์ทอัพ ผู้เข้าร่วมเสวนา ได้แก่
คุณสถาพร งามอุโฆษ บริษัท ทานดี อินโนฟูด จำกัด ผลิตภัณฑ์เส้นโปรตีนไข่ขาวไร้แป้ง
คุณกุลชา สรัสยะนันทน์ บริษัท เอฟ ดับบลิว อินเตอร์ เทรดดิ้ง จำกัด ผลิตภัณฑ์ผงมะพร้าวน้ำหอมพร้อมดื่ม
คุณธนาภูมิ ม่วงเอี่ยม บริษัท เดอะ บริคเก็ต จำกัด ผลิตภัณฑ์โปรตีนจิ้งหรีด
คุณกันตพงศ์ ธนโชติวรพงศ์ บริษัท มอร์ฟู้ดส์อินโนเทค จำกัด ผลิตภัณฑ์เนื้อเทียม
คุณสิริเชษฐ์ จิรพงษ์วัฒนะ บริษัท สยามคอนซูมเมอร์ โปรดักส์ จำกัด ผลิตภัณฑ์ซีฟู๊ดจากพืช
คุณวิภู เลิศสุรพิบูล บริษัท มีท อวตาร จำกัด ผลิตภัณฑ์เนื้อเทียม

สนใจรับชมการประชุมย้อนหลังได้ที่ Facebook บพข.

https://fb.watch/hhlwUSrwtA/

Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *