ข่าว

ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ ประธานอนุกรรมการท่านใหม่ของแผนงานกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน บพข.

วันนี้เราได้มีโอกาสพูดคุยกับ ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ ประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มเศษฐกิจหมุนเวียน บพข. คนใหม่ ที่กำลังเริ่มปฏิบัติงาน สานต่อเจตนารมณ์เดิมของ รศ.ดร.ธำรงรัตน์ มุ่งเจริญ ประธานคณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียนคนก่อนที่เพิ่งหมดวาระการดำรงตำแหน่งเมื่อปลายเดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมา ดร.พงษ์วิภา มีความเชี่ยวชาญด้าน Climate Change การประเมินวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ และฉลากสิ่งแวดล้อม วันนี้ทีมงาน บพข. จึงถือโอกาสสัมภาษณ์พูดคุยกับ ดร.พงษ์วิภา ถึงประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

ความท้าทายของการทำงานในฐานะประธานอนุกรรมด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน บพข.

ดร.พงษ์วิภา ได้กล่าวกับทีมงานว่า เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy (CE) อาจฟังดูเป็นเรื่องใหม่ แต่จริง ๆ แล้วอยู่คู่กับสังคมของไทยมานาน เพียงแต่ไม่ได้มีการพูดว่าเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน เดิมทีเราก็รู้จักกับการ reuse, recycle หรือพยายามลดการใช้ทรัพยากรกันอยู่แล้ว แต่เมื่อมาเป็นนโยบายประเทศ คือ นโยบาย BCG (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) ซึ่งเป็น National Agenda ของประเทศ ซึ่งท่านนายกได้ทำนโยบายนี้ออกมาเมื่อปี 2021 และทาง บพข. ได้ดำเนินการเรื่องนี้โดยทีมงานของ รศ.ดร.ธำรงรัตน์ มุ่งเจริญ ประธานคณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียนคนก่อน ท่านได้มีการขับเคลื่อนเรื่องนี้ได้ดีมาก เช่น ในปี 2563 เราได้มีการสนับสนุนให้เกิดโครงการในเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ถึง 13 โครงการ ทั้งที่เพิ่งเริ่มเป็นปีแรก ในปี 2564 มีเพิ่มขึ้นอีก 36 โครงการ และในปี 2565 ก็ให้ทุนสนับสนุนอีกประมาณ 44 โครงการ และยังมีเรื่อย ๆ

ในฐานะที่เข้ามารับตำแหน่งประธานต่อจาก รศ.ดร.ธำรงรัตน์ สิ่งที่เป็นความท้าทายอย่างแรกเลยคือ จะทำอย่างไรที่จะหาโจทย์วิจัยที่ตอบสนองต่อนโยบายของประเทศ และในขณะเดียวกันก็เป็นโจทย์วิจัยซึ่งภาคเอกชนสนใจและพร้อมที่จะร่วมลงทุนด้วย อันนี้น่าจะเป็นปัจจัยหลักเลย เพราะว่าในการขับเคลื่อนงานของอนุกรรมการแผนเศรษฐกิจหมุนเวียน ต้องการให้เกิดการขับเคลื่อนที่ว่าเอกชนสามารถที่จะมาลงขันแล้วก็นำผลจากการวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้ และจะช่วยหมุนเวียนเศรษฐกิจ เพราะว่าเศรษฐกิจหมุนเวียน จริง ๆ แล้วมันไม่ได้อยู่ที่เรื่องแค่ว่าจัดการเรื่องขยะว่าทำอย่างไรให้ขยะใช้ได้มากที่สุด หรือว่าอยู่แค่เรื่องประสิทธิภาพในการที่จะใช้ประโยชน์จากทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่าที่สุด แต่อีกหัวใจหนึ่งที่สำคัญก็คือ ทำอย่างไรถึงจะให้มันไปอยู่ในวงล้อของระบบเศรษฐกิจด้วย ถ้าจะอยู่ในวงล้อของระบบเศรษฐกิจได้ ก็จะต้องทำให้ภาคเอกชนซึ่งเป็นภาคที่จะต้องไปลงทุนทำธุรกิจที่เกี่ยวข้อง สามารถให้ความสนใจแล้วก็ช่วยลงเงินในงานวิจัย แล้วก็นำผลงานวิจัยที่เราได้ช่วยสนับสนุนไปใช้ประโยชน์ต่อ ดังนั้นความท้าทายประการแรกก็คือการหาโจทย์วิจัย ที่เป็นโจทย์วิจัยที่น่าสนใจ แล้วก็ให้เอกชนพร้อมที่จะมาลงทุนได้ ในสิ่งที่เขาควรจะลงทุน อย่างน้อย 10% ตามที่ บพข. กำหนด

ความท้าทายเรื่องที่สองคือ ทำอย่างไรให้ภาคส่วนอื่น ๆ มาสนใจ เนื่องจากเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นเรื่องของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาคการศึกษา ภาคประชาสังคม และภาคส่วนอื่นๆ อย่างเช่นในเรื่องการจัดการพวกขยะของเสียก็น่าจะเป็นภาคประชาสังคมที่น่าจะเข้ามามีบทบาท ภาคเยาวชนซึ่งจะเป็นอนาคตของชาติต่อไป ดังนั้นความท้าทายเหล่านี้ ก็คือการทำให้ทุกภาคส่วนเข้าใจหลักการของเศรษฐกิจหมุนเวียนแล้วก็ร่วมที่จะขับเคลื่อนไปด้วยกัน

ตอนนี้ประเทศควรต้องเร่งผลักดันงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างไร และมีนโยบายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศผ่านการสนับสนุนทุนวิจัยอย่างไรบ้าง

ดร.พงษ์วิภา ตอบกับทีมงานว่า ในเชิงเศรษฐกิจหมุนเวียน จากการที่ได้มีการคุยกันในวงการว่าจะทำอย่างไรให้คนเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนมากที่สุด เราเห็นว่าจะต้องมีโมเดลต่าง ๆ โดยมีหลักการสำคัญอยู่ 4 ส่วนที่เกี่ยวข้อง คือ 1) CE Champion คือต้องสร้างให้มีคนหลาย ๆ คนในทุกภาคส่วนได้มีแบบอย่างที่จะเอาไปทำในเรื่องนี้ได้ 2) CE Platform คือการที่จะต้องมีข้อมูลที่เกี่ยวข้อง อย่างเช่น ในเรื่องเกี่ยวกับการกระจายของเสีย เครือข่ายเกี่ยวกับการจัดการของเสียในเรื่องวัตถุดิบต่าง ๆ อันนี้จะต้องมีการช่วยกันทำ 3) CE Enabler ก็คือปัจจัยที่ช่วยเอื้อให้เกิดเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎหมาย กฎระเบียบ หรือเรื่องเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจต่าง ๆ เรื่องเกี่ยวกับค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการหมุนเวียนวัสดุต่าง ๆ และ 4) CE RDI การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการใช้วัสดุรอบสอง (secondary materials) ซึ่งเป็นตัวที่จะหมุนวนทางด้านธุรกิจต่าง ๆ ในตอนนี้งานวิจัยจำนวนมากก็ได้รับการผลักดันเพื่อให้มุ่งเน้นใน 4 กลุ่มนี้ แล้วก็ที่ผ่านมาก็ได้มุ้งเน้นในกลุ่มอุตสาหกรรม 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอาหาร กลุ่มพลาสติก และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม ตอนนี้อาจจะต้องมีการเพิ่มกลุ่มอุตสาหกรรมให้มากขึ้น เพราะว่าจริง ๆ แล้วกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ก็สามารถที่จะเป็นโมเดลที่ดีในการทำเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียน ไม่ว่าจะเป็นพวกอุตสาหกรรมสิ่งทอ หรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกทั้งหลาย เพราะว่าเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนไม่ได้เป็นแค่ทฤษฎีแล้ว ในต่างประเทศเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้มีโอกาสไปประชุมในเรื่องเกี่ยวกับมาตรฐานทางด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ก็ได้รับความสนใจมาก ๆ จากนานาชาติ เพราะว่าเป็นทางออกหนึ่งของปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เราคงทราบกันดีว่าทรัพยากรของเรามีจำกัด ในขณะเดียวกันเราใช้ทรัพยากรอย่างไม่คุ้มค่า แล้วก็ทำให้เกิดขยะเป็นจำนวนมากซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของเราเอง

เพราะฉะนั้นส่วนที่อยากจะผลักดันต่อนั้นเป็นเรื่องปัจจัยเอื้อ (Enabler) ที่จะสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนมากขึ้น เช่น ในรอบที่ 2 ปีงบประมาณ 2566 เราก็สนใจว่าจะมีโครงการอะไรที่จะทำเรื่องปัจจัยเอื้อเกี่ยวกับการปล่อยค่าก๊าซเรือนกระจกของวัสดุที่เป็นวัสดุรอบสอง หรือที่เราเรียกว่า secondary materials ปัจจุบันประเทศไทยเรามีฐานข้อมูลเกี่ยวกับวัสดุต่าง ๆ ซึ่งฐานข้อมูลเราจะเป็นวัสดุหลัก หรือ primary materials ว่าแต่ละวัตถุดิบปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไหร่ แต่เนื่องจากสังคมได้เริ่มเปลี่ยน นานาชาติต้องการสินค้าที่เป็น secondary materials มากขึ้น ความหมายก็คือพวกที่ไปหมุนวนเป็นขยะกลับมาใช้ใหม่นั่นเอง เขาก็ต้องการรู้ว่าพวกขยะที่นำกลับมาใช้ใหม่นี้มีค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไหร่ ค่าการหมุนวนเท่าไหร่ เป็นต้น เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถที่จะช่วยเอกชนให้มีค่าเหล่านี้ได้ เอกชนก็สามารถนำไปคำนวณ แล้วก็เอื้อให้เกิดการกระจายสินค้าหรือว่าส่งสินค้าออกไปยังต่างประเทศได้ในราคาที่สูงขึ้น ซึ่งก็ตรงกับหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน แล้วก็ช่วยประเทศไทยด้วยในเรื่องของการส่งออก และเรื่องที่อยากจะผลักดันอีกเรื่องก็คือการสร้างโมเดล ให้ทุกคนสามารถเอาไปใช้ได้ เพราะคนบางส่วนยังไม่ค่อยรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียนมากนัก เพราะฉะนั้นส่วนที่สำคัญก็คือ การสร้างโมเดลรูปแบบต่าง ๆ ให้ทุกคนสามารถที่จะเอาไปใช้ได้ เห็นปุ๊บแล้วอยากทำ อยากเป็น CE Championบ้าง แล้วก็ทำต่อ ๆ กันไป

สิ่งที่เราต้อง Focus เพื่องานต่อยอดงานวิจัยด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ?

ดร.พงษ์วิภา ได้เล่าให้ฟังว่า แบรนด์เนมใหญ่ ๆ ที่ผลิตพวกเสื้อผ้า รองเท้า ตอนนี้สิ่งที่เขาต้องการมากเลยก็คือ พวก secondary materials ที่เราเรียกว่า rPET หรือก็คือพลาสติก recycle ประเภท PET ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่จะเอาไปทำเป็นเส้นใยสิ่งทอที่จะใช้ทำเสื้อผ้าแฟชั่น รองเท้ากีฬา ทีนี้สิ่งที่เขาต้องการทราบก็คือ ค่าการหมุนวนของวัสดุที่เราเอามาจากกองขยะต่าง ๆ ที่คนไทยทิ้ง มาใช้หมุนวนนั้น มีค่าการหมุนเป็นเท่าไหร่ เขาอยากจะรู้ว่าพวก rPET มีค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นเท่าไหร่ และเขาก็อยากรู้ว่าที่เราบอก ๆ กันว่ามันมาจากขยะนั้น มันมาจากขยะจริงไหม มันเป็นพวก post-consumer จริงไหม ถ้าสามารถพิสูจน์อย่างนี้ได้ หรือที่เราเรียกว่า traceability หารอยมันได้ว่ามันมาจากไหน มันมาจากการที่เขาขยะมาทำเสื้อจริง ๆ เอาขยะมาทำเส้นใยจริง ๆ ถ้าพิสูจน์ได้ราคาของสินค้า ราคาของเม็ดพลาสติกเหล่านี้ จะสูงกว่าราคาของพลาสติกที่เป็น virgin 2 ถึง 3 เท่า แต่จะพิสูจน์ได้อย่างไรนั้น เราต้องมีมาตรฐาน traceability เพื่อให้สามารถย้อนรอยได้ว่ามันมาจากไหน เราต้องมีค่า emission factor เพื่อที่จะรู้ว่ามันปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไหร่ เราต้องมีค่า material circularity เพื่อให้รู้ว่าพลาสติกเหล่านี้ ตัว PET นี้มันหมุนวนได้กี่รอบ เหล่านี้เป็นเรื่องปัจจัยเอื้อที่เรายังไม่มี เรารู้ว่ามันสำคัญ แต่ว่าเรายังไม่มี เพราะฉะนั้นในงานวิจัย บพข. จึงเน้นมากขึ้น เพื่อให้คนสามารถมาขอทุนทำงานวิจัยเหล่านี้ ซึ่งจริง ๆ แล้วการวิจัยเหล่านี้ ในการร่วมมือกับเอกชนอาจจะยาก เพราะมันเป็นการวิจัยที่เป็นพื้นฐาน แต่ว่าการร่วมทุนอีกแบบหนึ่งอาจทำได้ง่ายกว่า เช่น CE Champion ในการสร้างโมเดลต้นแบบ ซึ่งโมเดลก็มีหลากหลาย ไม่ว่าโมเดลที่เอาพวกพลาสติกไปใช้เป็นเชื้อเพลิง RDF แล้วก็เอาไปใช้เป็นพลังงานต่อ หรือว่าการเอาพวก materials ต่าง ๆ เช่น พวกแผง solar ซึ่งในอนาคตจะเป็นปัญหา เพราะเรากำลังสนับสนุนให้ใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ ซึ่งมันมีวันหมดอายุ และเมื่อหมดอายุแล้วเราจะเอาไปทำอะไร จะจัดการมันอย่างไรเพื่อให้สามารถหมุนวนกลับเข้ามาอยู่ในเศรษฐกิจหมุนเวียนได้อีก โจทย์เหล่านี้เราก็ต้องไปหาว่าใครจะเป็นคนทำ ทำได้อย่างไร ซึ่งจำเป็นต้องมีเอกชนเข้ามาลงทุนร่วม เป็นการหา champion พอได้ champion แล้วคนก็จะมาติดตามและมาทำตาม

ส่วนในกรณีของเศรษฐกิจหมุนเวียนเรื่องอื่น ๆ เช่น ในเรื่องวัสดุก่อสร้าง ตอนนี้ทาง รศ.ดร.ธำรงรัตน์ ก็ได้สนับสนุนให้มีการทำ material circularity หรือการหมุนวนวัสดุแล้ว แต่อาจจะยังไม่ได้ทั้งหมด ต่อไปเราอาจจะต้องทำให้ได้ทั้งหมด เพื่อให้เอาไปคำนวณได้ เป็นต้น เพราะฉะนั้นเราต้องมองในด้านเศรษฐกิจควบคู่ไปด้วยเสมอในการที่จะสนับสนุนทุน ซึ่งปัจจัยเอื้อที่สำคัญคือ ทำอย่างไรถึงจะให้ปัจจัยเอื้อเหล่านี้ไปช่วยให้เกิดการหมุนวนทรัพยากรมากขึ้นภายในประเทศ หรือว่า ทำอย่างไรถึงจะให้เอาเศรษฐกิจหมุนเวียนไปผูกกับเรื่องที่สำคัญมาก ๆ ของโลกในตอนนี้ นั่นก็คือเรื่อง climate change เพราะว่าเป็นเรื่องของ cross cutting issue มีการพิสูจน์มาบ้างแล้วว่าการทำเศรษฐกิจหมุนเวียนจะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกลง เราอาจจะต้อง focus มากขึ้นว่าทำเศรษฐกิจหมุนเวียนแล้วมันช่วยลดก๊าซเรือนกระจกลงมากหรือน้อยเท่าไหร่ ทำเป็นลักษณะของงานวิจัยขึ้นมา มันก็จะช่วยให้ประเทศไทยนอกจากจะโชว์ได้ว่าเราใช้ material อย่างมีประสิทธิภาพให้คงคุณค่าสูงสุดในระบบแล้ว เราช่วยลด waste แล้ว เรายังไปช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศได้ด้วย

โจทย์งานวิจัยที่แผนงานเศรษฐกิจหมุนเวียนพร้อมสนับสนุน

นอกจากแผนที่จะมุ่งผลักดันด้าน CE Enabler  และ CE Champion ดังที่กล่าวมา ดร.พงษ์วิภา ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า มีแผนที่จะสนับสนุนงานวิจัยด้าน CE Platform เพิ่มเติมอีกด้วย เพราะใน 2 ปีที่ผ่านมานับว่าทางกรรมการแผนงานเศรษฐกิจหมุนเวียนของ บพข. ได้ช่วยขับเคลื่อนให้ได้ผลดี มีคนสนใจ CE Platform เพิ่มขึ้น ตอนนี้เริ่มมีแพลตฟอร์มที่เป็น commercial ในการแลกเปลี่ยนขยะของเสียต่าง ๆ ที่เรียกว่า waste exchange platform ให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น และเร็ว ๆ นี้ก็จะมีแพลตฟอร์มในเรื่องของแฟชั่น สิ่งทอ ทำยังไงถึงจะหมุนเอาพวกสิ่งทอที่ใช้แล้ว พวกผ้าที่ใช้แล้วต่าง ๆ เอากลับมาเป็นเสื้อผ้า หรือเป็นผลิตภัณฑ์สิ่งทอใหม่ ๆ และให้ถูกใจผู้บริโภค เป็นต้น เราเริ่มมีแพลตฟอร์มอย่างนี้มากขึ้น รวมทั้งแพลตฟอร์มที่จะแลกเปลี่ยนของเสียจากภาคเกษตร แทนที่ว่าจะเป็นขยะแล้วทิ้งไป หรือถ้ามีการแยกขยะดี ๆ ก็จะกลายเป็นปุ๋ย หรือสารปรับปรุงดิน ตอนนี้ก็เริ่มมีการคิดว่าจะเอาพวก food waste จากภาคเกษตร ห้างสรรพสินค้า หรือร้านสะดวกซื้อมาได้อย่างไรได้บ้าง เพื่อที่จะเอาไปทำวัสดุอื่น ๆ นอกเหนือจากสารปรับปรุงดิน เป็นต้น

มุมมองต่อการนำแนวคิดเศษฐกิจหมุนเวียนมาช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ ควบคู่กับการลดปัญหาสิ่งแวดล้อม

ดร.พงษ์วิภา กล่าวว่า แนวคิดเศษฐกิจหมุนเวียนสามารถช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจได้มากเลย เพราะว่าจริง ๆ แล้วตอนนี้ ทางด้านตลาดสินค้าทั่วโลกเขาให้ความสนใจกับ secondary materials มากๆ เพราะฉนั้นตรงนี้จะเป็นโอกาสของภาคธุรกิจไทยโดยตรงที่จะสามารถส่งออกพวกสินค้าเหล่านั้นออกไปได้ในราคาที่แพงขึ้น 2-3 เท่า แต่อย่างแรกเราต้องทำปัจจัยเอื้อเพื่อที่จะสนับสนุนให้ธุรกิจเหล่านั้นสามารถที่จะส่งออกไปได้ อย่างที่สองคือ ต้องมีธุรกิจ เนื่องจากว่าเศรษฐกิจหมุนเวียนมันไม่ใช่แค่การหมุนทรัพยากรเพียงอย่างเดียว เป็นเรื่องเกี่ยวกับ digital sharing platform ด้วย คือการแบ่งปันทางดิจิทัล ใช้ดิจิทัลมาช่วยเพื่อลดการใช้ทรัพยากรลง อันนี้ก็เป็นเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างหนึ่ง ดังนั้นการทำสังคม sharing การแบ่งปัน การลดทรัพยากร มันก็ช่วยในการสร้างธุรกิจรูปแบบใหม่ ๆ เกิดขึ้นมา ซึ่งตอนนี้มีโครงการที่น่าสนใจมาก อย่างเช่น โรงแรม ซึ่งปกติจะมีการเปลี่ยนฟูกเก่าไปทิ้งเลย ตอนนี้ก็เริ่มมีธุรกิจเอาฟูกเก่ากลับมา recycle ทำเป็นฟูกใหม่ขึ้นมา อันนี้ก็คือเศรษฐกิจหมุนเวียน เพราะฉะนั้นมันมีโอกาสทางธุรกิจมากมาย เพราะจริง ๆ แล้วการทำCircular Economy ก็คือการสร้างโอกาสทางธุรกิจ โดยการหมุนเวียนทรัพยากร ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า หรือลดการใช้ทรัพยากร ก็ไปที่ digitalize เลย ไปที่ sharing platform เลย อย่างนี้เป็นต้น

            ดร.พงษ์วิภา ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า สินค้าที่เป็น secondary materials ขายได้ราคาดีกว่า primary materials เพราะมันฮิต มันคือแฟชั่น เนื่องจาก concept นี้เป็นที่ยอมรับทั่วโลก เพราะฉะนั้น consumer ที่อยู่ในสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกาที่มีกำลังซื้อ เขาก็อยากจะสนับสนุนให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุด และลด waste ดังนั้นเขาก็มีความยินยอมที่จะซื้อสินค้าเหล่านี้ในราคาที่แพงขึ้น เมื่อซื้อสินค้าที่แพงขึ้น บริษัทชั้นนำต่าง ๆ ที่ผลิตเสื้อผ้า รองเท้า หรืออื่น ๆ เขาเห็นลู่ทาง เห็นโอกาส เขาก็เลยซื้อพวกเส้นใยที่เป็น recycle waste จากเราไป โดยให้ราคาแพงขึ้น เพราะวัสดุพวกนี้หายากกว่า primary materials ด้วยซ้ำ การที่จะเอาพวก recycle materials มันต้องผ่านการหมุนวน มันต้องดึงเอามาให้ได้จากถังขยะ มันยากกว่า ต้องใช้ความพยายามมากกว่าเยอะ ดังนั้นเขาเลยให้ราคาสูง พอราคาสูง ตามหลักการทางกลไกตลาด ก็จะมีความต้องการมากในต่างประเทศ เพราะฉะนั้นมันจะช่วยพยุงให้มีการใช้พวกขยะมากขึ้น ทุกคนกำลังพยุงให้เกิดเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียนมากขึ้น

จากสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปัจจุบันจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม คิดว่าแนวคิดด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนมีความสำคัญต่อการช่วยลดปัญหาดังกล่าวอย่างไรบ้าง

ดร.พงษ์วิภา ตอบว่า แนวคิดด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนจะช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างมาก เพราะเศรษฐกิจหมุนเวียนมันไม่ใช่แค่เรื่องทรัพยากรหรือเรื่องของเสียอย่างเดียว เศรษฐกิจหมุนเวียนยังทำให้เกิดการลดการใช้พลังงานในบริบทของกระบวนการผลิต เพราะว่าเราลดทรัพยากร เราลดพลังงานลง เราไปใช้พวก secondary materials มากขึ้น เพราะฉะนั้นมันจะไปช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกรวน ซึ่งมันไปส่งผลต่อภัยพิบัติ เพราะฉะนั้น ภัยพิบัติต่าง ๆ ตอนนี้ที่เราเห็น มันมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งสิ้น การที่ฝนฟ้าตกต้องไม่ตามฤดูกาล ฝนตกหนัก น้ำท่วม หรือการแห้งแล้ง เหล่านี้เกิดจากภาวะโลกรวน ซึ่งมีสาเหตุมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเกินไปจากกิจกรรมของมนุษย์ ซึ่งกิจกรรมที่ปล่อยมากของประเทศไทยก็คือ กิจกรรมด้านพลังงาน ถ้าเราสามารถเอาหลักการทางด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนไปใช้ก็จะทำให้ก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากภาคพลังงาน ภาคขนส่ง และภาคที่อยู่อาศัย น้อยลง เพราะว่าเราใช้ทรัพยากรน้อยลง เราจัดการกับขยะน้อยลง แทนที่เราจะต้องเอาขยะไปดั๊มทิ้ง ไปกอง หรือฝังกลบ ซึ่งตัวก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการกองหรือการฝังกลบของขยะที่สำคัญ ก็คือก๊าซมีเทน โดยก๊าซมีเทนเป็นก๊าซเรือนกระจกอันดับที่สูงเป็นอันดับสองรองจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ส่งผลให้โลกร้อน ถ้าเราไปลดการจัดการปลายทาง ทำให้ขยะเอาไปใช้ประโยชน์ ดังนั้นก็ไม่มีการกอง เก็บ หรือฝังกลบ ที่ทำให้เกิดก๊าซมีเทน ในขณะเดียวกัน ถ้าเราใช้ทรัพยากรน้อยลง พลังงานที่ใช้ก็จะลดลง เพราะว่าพวกพลังงานที่จะใช้กับพวก secondary materials จะต่ำกว่าพลังงานที่ใช้ในการสกัดพวก primary materials เพราะฉะนั้นเราได้ 2 ขาเลย ก็จะทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลง แล้วก็ไปช่วยให้เกิดภาวะโลกรวนน้อยลง เพราะฉะนั้นภัยพิบัติต่าง ๆ ก็น่าจะน้อยลงด้วย

จากการสัมภาษณ์พูดคุยกับ ดร.พงษ์วิภา ทำให้เราได้มุมมองใหม่ ๆ และเห็นโอกาสในการดึงเอาแนวคิดด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนมีช่วยเพิ่มมูลค่าทางธรุกิจ ควบคู่ไปกับการช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และลดการใช้ทรัพยากรของประเทศ ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ที่ บพข. มุ่งเน้นมาโดยตลอด บพข. พร้อมสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อส่งเสริมให้เกิดองค์ความรู้ สร้างนวัตกรรม และธุรกิจ ที่จะช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านต่าง ๆ ของประเทศให้มีสักยภาพในแข่งขันที่เพิ่มขึ้นและยั่งยืน

Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *