กิจกรรม

Technology Evaluation Canvas (TEC): การประเมินเทคโนโลยี เพื่อประกอบการขอทุน บพข.

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ได้จัดกิจกรรม PMU-C Masterclass: Technology Evaluation Canvas (TEC) ซึ่งเป็นคอร์สอบรมเชิงปฏิบัติการที่จะช่วยสร้างความเข้าใจ และแนะแนวทางให้กับนักวิจัยในการวิเคราะห์เทคโนโลยีและออกแบบโมเดลธุรกิจ เพื่อประกอบการขอทุนวิจัยจาก บพข. โดยได้รับเกียรติจาก ดร.ปรเมษฐ์ ชุ่มยิ้ม ที่ปรึกษาอาวุโส เมืองนวัตกรรมอาหาร สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เป็นวิทยากร

หลังจากที่ บพข. ได้มีการจัดกิจกรรมอบรม PMU-C Masterclass เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจแก่นักวิจัยในการเขียน Business Model เพื่อประกอบการขอทุนวิจัย บพข. มาแล้ว 3 ซีรีส์ ซึ่งประกอบด้วย

1) Business Model canvas (BMC)

2) Value Proposition Canvas (VPC)

3) Research to business canvas

ในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งได้รับกระแสตอบรับอย่างดีจากผู้เข้าร่วม (สามารถรับชมการบรรยายย้อนหลังของทั้ง 3 เรื่องได้ที่ https://pmuc.or.th/?p=5570) ล่าสุด บพข. ได้จัดคอร์สอบรมเชิงปฏิบัติการระยะสั้นที่เปิดรับจำนวนผู้เข้าร่วมงานเพียง 50 ท่านเท่านั้น เพื่อเจาะลึกการทำ Technology Evaluation Canvas ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการทำ Business Model และเป็นส่วนสำคัญสำหรับผู้ที่ต้องการขอทุนสนับสนุนการวิจัยจาก บพข. เนื่องจากการสนับสนุนทุนวิจัยของ บพข. มุ่งเน้นงานวิจัยที่มีระดับความพร้อมในการต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ (Technology Readiness Level: TRL 4 ขึ้นไป) โดยต้องมีการทำงานร่วมกับภาคเอกชนอย่างชัดเจน ดังนั้นการประเมินเทคโนโลยีจึงเป็นสิ่งที่ บพข. ให้สำคัญในการพิจารณาทุนวิจัย เพื่อให้มั่นใจว่างานวิจัยนั้นจะสามารถพัฒนาสู่การนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในเชิงพาณิชย์ โดยกิจกรรมดังกล่าวได้จัดขึ้น ณ ห้องประชุม JAMJUREE BALLROOM (A) โรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2565 โดยมี รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ และ นางสาววลัยทิพย์ โชติวงศ์พิพัฒน์ รองผู้อำนวยการ บพข. เป็นผู้เปิดงานและร่วมรับฟังการบรรยาย โดยบรรยากาศภายในงานเป็นไปอย่างสนุกสนาน และอัดแน่นไปด้วยความรู้ พร้อมทั้งได้มีการแลกเปลี่ยนมุมมองใหม่ ๆ กับผู้เชี่ยวชาญและผู้เข้าร่วมงาน

รศ.ดร.ธงชัย กล่าวว่า เทคโนลียีที่อยู่ในมือของเรา เราจะประเมินค่ามันยังไง ในเรื่องของการนำมาใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการมองในมุมมองด้านการตลาด เรื่อง IP หรือแม้กระทั่งเรื่องของคู่แข่งขัน เหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญ จึงอยากทำความเข้าใจกับผู้ที่มาขอทุน บพข. อยากจะให้เขียนเรื่อง Technology Evaluation Canvas มายัง บพข. มันจำเป็นอย่างยิ่งในการพิจารณาทุนวิจัย ประธานอนุกรรมการแต่ละแผนจะได้พิจารณาข้อเสนอของท่านได้ เนื่องจากรายละเอียดของเราจะต่างจากแหล่งทุนอื่น เพราะของเราทำงานตั้งแต่ TRL 4 ขึ้นไป และเน้นการทำงานกับภาคเอกชน สิ่งที่เป็นสาระสำคัญที่ผ่านมาคือเรื่องของการใช้ประโยชน์ และความเป็นเจ้าของผลงาน ที่ทาง สกสว. เรียกว่า TRIUP Act ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่มันต้องหารือกันระหว่างคนทำงานร่วมกันในโครงการนั้น ๆ ทาง บพข. เลยจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งให้นักวิจัยสามารถมาขอทุน บพข. ได้

ดร.ปรเมษฐ์ ได้ให้ความหมายและแนวคิดของการทำ Technology Evaluation Canvas ว่า TEC ช่วยให้เราเห็นภาพและสามารถวิเคราะห์ได้ว่าคุ้มที่จะทำต่อหรือเปล่า TEC คือเครื่องมือที่ช่วยทำให้เราตัดสินใจว่าจะทำยังไงกับเทคโนโลยีนี้ดี ปกติใช้ตอนที่ต้องการจะสกรีนหรือประเมินตัวเทคโนโลยี และมักใช้ในบริษัทที่ทำ Technology development แต่ในกรณีของนักวิจัยที่ต้องการขอทุนวิจัยจะยากกว่า เพราะว่าคนที่ develop technology นั้นอยู่ในมหาวิทยาลัย แต่คนที่ทำการผลิตอยู่ในภาคเอกชน ดังนั้น steakholder กว่า อาจารย์หลายคนมักเขียนเหมือนเราขายของให้เอกชน ซึ่งที่จริงแล้ว เราต้องเขียนเอกชนกำลังจะขายของ และมีเราเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยในเรื่องของ Technology development เท่านั้น อันนี้คือคีย์ของมัน

ไอเดียหลัก ๆ ของ Technology Evaluation Canvas มีอยู่ 5 ประการ คือ

  1. Problem Validation คือ จะตีกรอบปัญหาที่ใช่ ช่วยทำให้เรารู้ว่าจริง ๆ แล้วในตลาดมีปัญหาอยู่จริงหรือเปล่า ปัญหาของลูกมีอยู่จริงไหม คุ้มที่จะแก้ไหม
  2. Problem-solution Fit หรือ ทางแก้ปัญหา เราต้องรู้ว่าเทคโนโลยีของเราอยู่ในขั้นไหน ต้องทำอะไรต่อบ้าง
  3. Solution-market Fit คือ วิธีการที่จะพาสินค้าไปสู่ตลาด เราต้องรู้ว่าลูกค้าเราเป็นใคร ต้องเจออุปสรรคอะไรบ้าง และจะข้ามมันไปได้อย่างไร
  4. Differentiate and Hard to Copy สินค้าของเราต้องมีความแตกต่างที่มีคุณค่า มีจุดยืน และลอกเลียนแบบได้ยาก
  5. Stakeholder analysis คือ การวิเคราะห์ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด เราจะทำให้ทุกอย่างราบรื่นได้อย่างไร

ดังนั้นการเขียน TEC จะช่วยทำให้เรารู้ว่าเราควรบริหารยังไง ช่วยให้นักวิจัยประเมินได้ คิดเป็นระบบ และตัดสินใจได้ว่าเทคโนโลยีของเราเหมาะที่จะวางออกสู่ตลาดหรือไม่ หรือเราควรอยู่แค่ขั้นของการตีพิมพ์ ทำ Technology Transfer หรือ Spin-off เป็นบริษัทแยก

เอกสารประกอบการบรรยาย

20220610-TEC_PMUC_PC

Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *