ข่าว

บพข. ร่วมยกระดับธุรกิจโคนมไทย สร้างคุณค่าใหม่ให้แก่ของเสียเหลือทิ้งในฟาร์ม ด้วยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน

ตัวแทนจาก บพข. (ท่านที่ 6 และ 7 จากซ้าย) ถ่ายรูปร่วมกับตัวแทน อ.ส.ค (ท่านที่ 4 และ 5 จากซ้าย) ทีมนักวิจัย (ท่านที่ 1, 2, 10 และ 11 จากซ้าย) เกษตรกร (ท่านที่ 3 จากซ้าย) เกษตรอำเภอ (ท่านที่ 8 จากซ้าย) และประธานวิสาหกิจชุมชน (ท่านที่ 9 จากซ้าย)

รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ รองผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และ รศ.ดร.ธำรงรัตน์ มุ่งเจริญ ประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน บพข. ได้เข้าร่วมกิจกรรมเผยแพร่ผลงานวิจัย เรื่อง “การศึกษารูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อการจัดการของเสียในฟาร์มโคนมและการพัฒนาที่ยั่งยืน” ในเทศกาลโคนมแห่งชาติปี 2565 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-7 มกราคม 2565 ณ ฟาร์มโคนมวิจัย ชุมชนบ้านหมาก ต.มวกเหล็ก อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี โดยงานวิจัยนี้เป็นผลงานของ ดร.ณัฐภร แก้วประทุม นักวิชาการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) และทีมวิจัย ซึ่งได้กลายมาเป็นต้นแบบของการจัดการฟาร์มโคนมของเกษตรกรให้ได้ตามมาตรฐานฟาร์มและสร้างมูลค่าเพิ่มจากของเสียเหลือทิ้ง หมุนเวียนเป็นรายได้ให้กับเกษตรกร โดยอาศัยหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy – CE) ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ของเสีย (waste to money) สร้างของเสียให้เป็นพลังงาน (waste to energy) และสุดท้ายของเสียจะเหลือศูนย์ (zero waste) ซึ่งจะลดการใช้พลังงานจากภายนอกมาเป็นพลังงานทดแทนที่ผลิตได้เองในฟาร์ม ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย

รศ.ดร.ธงชัย กล่าวว่า บพข. ได้ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนมาโดยตลอด เศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นโมเดลเศรษฐกิจที่ถูกนำมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไปสู่ความยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เพื่อลดทรัพยากรของเสีย การปล่อยมลพิษ และการรั่วไหลของพลังงานลง ด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการจากของเสียเหลือทิ้ง ให้สามารถสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและเพิ่มขีดการแข่งขันของประเทศควบคู่ไปกับการช่วยป้องกันการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและรักษาทรัพยากรชาติได้อย่างยั่งยืน

รศ.ดร.ธำรงรัตน์ มุ่งเจริญ กล่าวว่า “ฟาร์มโคนมต้นแบบระบบเศรษฐกิจเวียน หรือ The circular dairy farming เป็นการจัดการฟาร์มโคนมในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับของเสียเหลือทิ้ง เป็นการพัฒนาระดับฟาร์มของเกษตรกรหรือต้นน้ำที่จะส่งผลต่อธุรกิจอุตสาหกรรมนมปลายน้ำและเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านนมและผลิตภัณฑ์ของประเทศโดยชุมชนเกษตรกรมีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ผลจากงานวิจัยนี้ทำให้คนในชุมชนได้ร่วมกันจัดตั้ง “วิสาหกิจชุมชนเศษฐกิจหมุนเวียนในฟาร์มโคนม อ.มวกเหล็ก” ขึ้น โดยมีคุณณัฐฏ์ เภารอด เป็นประธานวิสกหกิจชุมชน จึงเป็นต้นแบบของการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนด้วยของเสียจากฟาร์มโคนมนำมาสร้างมูลค่าเพิ่ม ได้แก่ การผลิตปุ๋ยหมักจากมูลโค การผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำทิ้ง การเลี้ยงปลานิลในบ่อบำบัดน้ำทิ้งจากฟาร์ม การเพาะเห็ดจากเศษฟางเหลือทิ้ง การผลิตปุ๋ยน้ำนมจากน้ำนมที่ด้อยคุณภาพ ทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพและการกระจายรายได้ให้กับชุมชน ทำให้ของเสียเหลือศูนย์ หรือ Zero Waste อีกทั้งยังเป็นการยกระดับการจัดการฟาร์มโคนมของเกษตรกรให้ได้มาตรฐานฟาร์มและมีรายได้เพิ่มขึ้นจากของเสียเหลือทิ้ง ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพน้ำนมดิบที่ต้นทางดีขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมนมของไทยได้มาตรฐานสากลสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้”

บพข. ร่วมสนับสนุนเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาฟาร์มโคนมและผลิตภัณฑ์นมของไทยให้ได้มาตรฐานสากลและการส่งออก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมนมของประเทศ

 

รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ และ รศ.ดร.ธำรงรัตน์ มุ่งเจริญ รับมอบผลผลิตที่ได้จากการจดการของเสียในฟาร์ม จากทีมนักวิจัย

Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *