กิจกรรม

ยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเพื่อการขนส่งเชิงพาณิชย์

นวัตกรรมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านยานยนต์ไฟฟ้าที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ เพิ่มทางเลือกให้ผู้ประกอบการ ลดต้นทุนการขนส่ง ลดการปลดปล่อยมลพิษ

จากปัญหามลภาวะทางอากาศ และมลพิษทางสิ่งแวดล้อม ที่ส่งต่อสภาพภูมิอากาศ เศษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของประชาชนทั่วโลก หลายประเทศได้มีการขับเคลื่อนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังมากขึ้น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าไอเสียจากรถยนต์เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศ และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่มีประชากรอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก การเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) จึงเป็นอีกหนึ่งทางแก้ปัญหามลภาวะที่หลายประเทศเร่งผลักดัน

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ภายใต้การกำกับดูแลของสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สอวช.) เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่มุ่งผลักดันให้ประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อแก้ปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากการปลดปล่อยไอเสียของรถยนต์ระบบสันดาปที่ใช้น้ำมัน โดยเริ่มจากการผลักดันด้านการขนส่ง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่ และสามารถสร้างผลกระทบโดยรวมต่อประเทศ โดยที่ผ่านมา บพข. ได้มีการสนับสนุนทุนวิจัยที่มุ่งเน้นพัฒนาการดัดแปลงเครื่องยนต์จากระบบสันดาปที่ใช้ในน้ำมันให้เป็นระบบไฟฟ้า (EV convertion) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการขนส่งด้วยยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งด้านการขนส่งมวลส่งและการขนส่งสินค้า เช่น รถบัสไฟฟ้า รถรางไฟฟ้า รถมอเตอร์ไซไฟฟ้า เรือไฟฟ้า รถกระบะไฟฟ้า รวมถึงรถบรรทุกไฟฟ้า เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการไม่ต้องลงทุนเปลี่ยนรถใหม่ แต่สามารถนำรถเก่าที่มีอยู่มาแปลงมาเป็นระบบไฟฟ้าซึ่งมีราคาที่ถูกกว่า อีกทั้งยังสามารถลดต้นทุนด้านการขนส่งจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน

นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และภรรยา เยี่ยมชมผลงานวิจัยรถไฟฟ้าดัดแปลงเพื่อการขนส่งทางพาณิชย์ ที่บูธ บพข.

วันที่ 20-22 พฤษภาคม ที่ผ่านมา บพข. ร่วมกับผู้ประกอบการพร้อมทีมวิจัยและพัฒนาที่ได้รับการสนับสนุนทุนจาก บพข. ได้ยกทัพรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง อาทิ รถบรรทุกไฟฟ้าดัดแปลง 6 ล้อ วิจัยและพัฒนาโดย บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง รถโดยสารไฟฟ้า โดยบริษัท เชิดชัย คอร์ปอเรชั่น จำกัด ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี  และรถกระบะไฟฟ้าดัดแปลง โดยบริษัท เอ็ม-เวิลด์ โลจิสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นผลผลิตจากการลงทุนลงแรงทำวิจัยและพัฒนา มาเปิดตัวในงาน Low Carbon City & EV Expo 2022 ณ ศาลากลางจังหวังหวัดนครราชสีมา เป็นการตอกย้ำความสำเร็จตามเป้าหมายในการผลักดันงานวิจัยสู่การนำไปใช้จริงในตลาด เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย และเป้าหมายในการมุ่งสู่เมืองคาร์บอนต่ำที่น่าอยู่ โดยในงานดังกล่าวยังมีผู้ประกอบการด้านยานยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำทั้งรายเล็กและรายใหญ่ได้นำสินค้ามาจัดแสดงร่วมกว่า 50 ราย ซึ่งเป็นสัญญาณอันดีที่ชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของตลาดยานยนต์ไฟฟ้าไทยที่เริ่มมีการขยายการเติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ  

 

รถบรรทุกไฟฟ้าดัดแปลง 6 ล้อ วิจัยและพัฒนาโดย บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

 

รถกระบะไฟฟ้าดัดแปลง โดยบริษัท เอ็ม-เวิลด์ โลจิสติกส์(ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

รถบัสโดยสารไฟฟ้า โดยบริษัท เชิดชัย คอร์ปอเรชั่น จำกัด ร่วมกับทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี 

 

จากเวทีเสวนาในหัวข้อ “อนาคตยานยนต์ไฟฟ้าไฟไทย กับการมุ่งสู่เป้าหมายเมืองคาร์บอนต่ำที่น่าอยู่” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานดังกล่าว โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ ดร.ธนาคาร วงษ์ดีไทย อนุกรรมการ บพข. ผศ.ดร.วิมล แสนอุ้ม ผอ. หน่วยธุรกิจนวัตกรรม บริษัท พนัส แอสเซมบลี่ย์ จำกัด นายกิตติศักดิ์ วรรณแก้ว ผอ. ฝ่ายวิจัยและพัฒนาระบบไฟฟ้า (PEA) นายสุรวุฒิ เชิดชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เชิดชัย คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด และ นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย โดยได้มีการพูดคุยถึงสถานะการณ์ของตลาดยานยนต์ไฟฟ้าไทยว่า รถ EV ในประเทศไทยปัจจุบันมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ ผลิตเองทั้งหมด กับผลิตเองบางส่วน เช่น แบตเตอรี่แพคและนำเข้าตัวรถมาประกอบเอง ดังนั้นตลาด EV ในประเทศไทยจึงเป็นตลาดเกิดใหม่ เพราะฉะนั้นทั้งรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง หรือรถไฟฟ้าใหม่ ถือว่าเริ่มมีแนวโน้มการเติบโตที่ชัดเจนขึ้น และเมื่อแบ่งประเภทของรถ EV นั้นจะมีอยู่ 2 ประเภท คือ รถส่วนบุคคล และรถขนส่งทางพาณิชย์ เช่น รถกระบะ รถบรรทุก 6 ล้อ รถบรรทุก 10 ล้อ และรถลาก เป็นต้น ในส่วนของรถขนส่งเชิงพาณิชย์ผู้ประกอบการจะต้องคำนึงถึงจุดคุ้มทุน และการใช้ปริมาณพลังงาน ซึ่งเป็นเรื่องหนึ่งที่อาจเป็นการแข่งขันว่าจะเกิด cost saving ได้อย่างไร ดังนั้นตลาดในกลุ่มของรถขนส่งเชิงพาณิชย์ในประเทศ นับว่ากำลังเติบโตขึ้นแล้วเช่นกัน และยังอยู่ในช่วงต้น ๆ ที่เริ่มมีการแข่งขันกันบ้างแล้ว ซึ่งถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการที่จะกระโดดเข้าสู่ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าขนส่งเชิงพาณิชย์

กิจกรรมเสวนาในหัวข้อ หัวข้อ “อนาคตยานยนต์ไฟฟ้าไฟไทย กับการมุ่งสู่เป้าหมายเมืองคาร์บอนต่ำที่น่าอยู่” โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ (จากซ้าย) นายสุรวุฒิ เชิดชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เชิดชัย คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด ดร.ธนาคาร วงษ์ดีไทย อนุกรรมการ บพข. นายกิตติศักดิ์ วรรณแก้ว ผอ. ฝ่ายวิจัยและพัฒนาระบบไฟฟ้า (PEA) นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย และ ผศ.ดร.วิมล แสนอุ้ม ผอ. หน่วยธุรกิจนวัตกรรม บริษัท พนัส แอสเซมบลี่ย์ จำกัด

สำหรับความพร้อมในการรองรับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในไทยนั้น ปัจจุบันในประเทศไทยมีรถ EV 100% ที่จดทะเบียนอยู่จำนวน 5,000 คัน ซึ่งในอีก 5 ปีข้างหน้าคาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า 100,000 คัน โดยขณะนี้ประเทศเรามีสถานีชาร์จอยู่ประมาณ 600 กว่าแห่งและมีหัวจ่าย ประมาณ 22,000 หัวจ่ายทั่วประเทศ ซึ่งเพียงพอต่อการใช้งานในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามกำลังมีการขยายจำนวนสถานีชาร์จเพิ่มเพื่อรองรับการใช้งานรถ EV ที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ยังได้มีการพัฒนาแอพพลิเคชั่น EV roaming / EV consortium ร่วมกับผู้ให้บริการสถานีชาร์จ EV หลาย ๆ เจ้าเพื่อให้สามารถใช้งานร่วมกันได้เป็นการเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการ

ในด้านความพร้อมของผู้ประกอบการในการก้าวสู่ตลาดยานยนต์ไฟฟ้านั้น ปัจจุบันทั้ง บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด และ บริษัท เชิดชัย คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบการด้านรถบรรทุก และรถบัสขนส่งรายใหญ่ของประเทศ ต่างมีความพร้อมในการก้าวเข้าสู่ตลาดยานยนต์ไฟฟ้า โดย บริษัท เชิดชัย คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้มีการทำงานร่วมกับหลายมหาวิทยาลัยในจังหวัดนครราชสีมาเพื่อทำ bus intercity รวมถึงได้มีการพัฒนาแพลตฟอร์มที่จะช่วยให้ประชาชนที่ใช้บริการรถบัสไฟฟ้าเหล่านั้นมีความปลอดภัยในการการเดินทาง สำหรับ บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด ปัจจุบันมี software ที่ใช้งานกับรถบรรทุกไฟฟ้าดัดแปลงที่ทางบริษัทพัฒนาขึ้นเอง และได้มีการจับมือกับ supply chain มีการ localization part ต่าง ๆ นอกจากนี้ได้มีการพัฒนาชุด conversion kit ขึ้นเองสำหรับรถเชิงพาณิชย์ พร้อมเริ่มส่งออกไปขายในตลาดอาเซียน นับเป็นอีกหนึ่งก้าวของความสำเร็จตามเป้าหมายในการสนับสนุนทุนวิจัยของ บพข. ที่มุ่งผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพที่สามารถแข่งขันกับต่างชาติได้

การเปลี่ยนไปใช้ยานยนต์ไฟฟ้า 100% ทันทีทันใดนั้นไม่ใช่เรื่องชั่วข้ามคืน ดังนั้นตลาดยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงนั้นนับว่าเป็นอีกตลาดที่สำคัญในช่วง 3-5 ปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถกระบะไฟฟ้าดัดแปลงและรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าดัดแปลงเพื่อการขนส่งเชิงพาณิชย์ ที่ขณะนี้มี demand สูงขึ้นจากความต้องการลดต้นทุนด้านค่าน้ำมันที่ใช้ในการขนส่ง แต่สิ่งสำคัญมากอีกอย่างหนึ่งคือบุคคลกรที่มีความรู้ ทั้งด้าน system integration และ maintenance ซึ่งปัจจุบันบุคคลกรในอุตสาหกรรมยานยนต์จำนวนกว่า 95% เป็นบุคคลกรที่มีความรู้ทางเครื่องยนต์ แต่มีไม่ถึง 3% มีความรู้ทางไฟฟ้า ดังนั้นจึงกลายเป็นช่องว่างที่กว้าง และเป็นสิ่งที่ไทยต้องรีบแก้ปัญหา ด้วยเหตุนี้สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพจึงได้มีการบัญญัติอาชีพใหม่เกิดขึ้น นั่นคือ อาชีพช่างอัดประจุไฟฟ้า ช่างซ่อมยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านยานยนต์ไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของ บพข. คือการสนับสนุนทุนวิจัยที่จะสร้างผลกระทบโดยรวมต่อเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งด้านการสร้างองค์ความรู้ สร้างงาน และสร้างนวัตกรรม ที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ

พิธีเปิดงาน Low Carbon City & EV Expo 2022 โดยมี นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานในพิธี

Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *