ผลงานเด่น

ปรับตัวหลังโควิด… “ท่องเที่ยวยุค 4.0” โจทย์ท้าทายไทย

ศ. ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ประธานมูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ (PPSI) กล่าวถึงงานวิจัย โครงการแผนงานยุทธศาสตร์การวิจัยและพัฒนาสำหรับการท่องเที่ยวไทยหลังโควิด-19 ภายใต้การผลักดันและสนับสนุนทุนวิจัยโดย แผนงานท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) ว่า

จากผลงานวิจัย พบว่า การท่องเที่ยวของไทยมีความเปราะบางทางโครงสร้างด้วยปัจจัยหลายประการที่มีความเกี่ยวเนื่องกัน  ได้แก่  1) การท่องเที่ยวของไทยพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมากเกินไป ที่ผ่านมาประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวถึง 3 ล้านล้านบาท ตัวเลขนี้แบ่งเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 2 ล้านล้านบาท แต่หลังจากโควิด-19 ที่ผ่านมา รัฐกระตุ้นการท่องเที่ยวได้เพียงแค่ 1 ล้านล้านบาทเท่านั้น  2) นักท่องเที่ยวต่างชาติกระจุกตัวอยู่แค่บางประเทศเท่านั้น

นอกจากนี้ยังพบว่า ประเทศไทยใช้ Demand-pull เป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยว ซึ่งมีข้อดี คือ การลงทุนไม่สูญเปล่า แต่มีจุดอ่อนคือ เกิดปัญหาความเสื่อมโทรมของแหล่งท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้เกิดภาวะ “Overtourism” หรือสถานการณ์ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวมากเกินขีดความสามารถในการรองรับของระบบท่องเที่ยวโดยเกิดขึ้นแล้วในบางจังหวัด เช่น ชลบุรี ภูเก็ต และเชียงใหม่ เป็นต้น

ศ. ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ประธานมูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ (PPSI)

“ก่อนที่โควิด-19 จะมาการท่องเที่ยวในประเทศของเราอยู่ในระดับที่เป็นยุคทอง โดยในปี 2562 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงถึง 40 ล้านคน สามารถสร้างเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก แต่หากมองให้ลึกลงไปในภาพที่เงินทองไหลมาเทมานี้กลับซ่อนความเปราะบางอยู่ เหมือนสนิมที่กัดกร่อนอยู่ข้างในเพราะเรามีการพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติถึงร้อยละ 70 พอยุคที่การท่องเที่ยวต้องเผชิญกับโควิด-19 การท่องเที่ยวแทบจะล่มสลาย การฟื้นตัวอาจต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี หลังจากโควิดสงบลง แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ความไม่แน่นอนของโควิด-19 ที่ไม่รู้ว่าจะสงบเมื่อไหร่ จะกลายพันธุ์หรือไม่ และจะต้องกระตุ้นอุตสาหกรรมการบินให้กลับมาด้วย คาดการณ์ว่าในปี 2568 ทุกอย่างจะกระเตื้องขึ้น และจะกลับมาใกล้เคียงกับปี 2562

นอกจากนี้ ศ. ดร.มิ่งสรรพ์ ยังให้ข้อเสนอแนะว่า ไทยต้องปรับตัวเข้าสู่การท่องเที่ยวในยุค 4.0 โดยการนำ Digital Transformation เข้ามาใช้ในกระบวนการทำงาน พร้อมทั้งปรับกลยุทธ์และระบบ E-commerce ในการทำการตลาดแบบดิจิทัล เน้นการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า รวมถึงการพัฒนาประสบการณ์ที่นักท่องเที่ยวจะได้รับผ่านแอปพลิเคชัน รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงสินค้าและบริการให้เท่าทันเทรนด์และความต้องการของนักท่องเที่ยว ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องมีการปรับโครงสร้างใหม่ภายใต้บริบทที่สอดรับกับการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่มุ่งสู่ความหลากหลายบนพื้นฐานความรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยี

“การท่องเที่ยวสมัยใหม่ต้องปรับเป็นการท่องเที่ยวยุค 4.0 โดยใช้ความรู้ทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาร่วมด้วย ต้องทำให้สินค้าและบริการท่องเที่ยวซึ่งในปัจจุบันเป็นการขายแบบครั้งเดียว (One Time Product) ให้เป็นแบบขายได้ตลอดปี (All Time Product) ซึ่งการพัฒนาการท่องเที่ยวไม่ใช่ การเปิดแหล่งท่องเที่ยวบริสุทธิ์ตลอดเวลา แต่เป็นการจัดการอย่างสร้างสรรค์ให้มีความหลากหลายและแตกต่าง เพราะปัจจุบันการท่องเที่ยวไม่ได้อยู่ที่เรื่องของการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการเกื้อกูลกันในหลายภาคส่วน เช่น อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมการบิน เรื่องเศรษฐกิจ สังคม และต่างประเทศ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ต้องมีการบริหารจัดการในแบบการบูรณาการร่วมกัน

สำหรับข้อเสนอแนะในการก้าวไปสู่ท่องเที่ยวไทยยุค 4.0 ประกอบด้วย 1) การบริหารและจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนด้วยการจำกัดปริมาณนักท่องเที่ยว และจัดสรรสถานที่ท่องเที่ยวโดยให้ทรัพยากรธรรมชาติมีบทบาทในการรับภาระนักท่องเที่ยวน้อยลง 2) การพัฒนาหรือสร้างทรัพยากรใหม่ที่เรียกว่า Man-made Tourism เพื่อกระจายนักท่องเที่ยวและสถานท่องเที่ยว 3) การทำตลาดสมัยใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต 4) การหนุนเสริมวิสาหกิจท่องเที่ยวบนพื้นฐานของนวัตกรรม และเทคโนโลยี โดยใช้ความเป็นพหุนิยมหนุนเสริมอัตลักษณ์ของไทยที่มีความหลากหลายให้เด่นชัด และ 5) การสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายในการบูรณาการองค์ความรู้ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม

ศ. ดร.มิ่งสรรพ์ ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า ความท้าทายของการแก้ปัญหาการท่องเที่ยวหลังการเปิดประเทศ เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจ รัฐต้องวางแนวทางรับมือให้ดี ขณะที่ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวต้องปรับตัว และบริหารจัดการการท่องเที่ยวที่สอดคล้องกับการท่องเที่ยววิถีใหม่ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวในการเปิดประเทศในระยะเวลาอันใกล้นี้

เครดิตภาพ : People photo created by jcomp – www.freepik.com

Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *