
จากแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2566 – 2570 ที่มีการกำหนดและกำกับทิศทางในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมให้สอดคล้องกับเป้าหมายของการพัฒนาประเทศ โดยให้ความสำคัญกับการนำวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการเป็นกลไกที่ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืน และมีศักยภาพเพียงพอในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และให้มีความพร้อมในการรอบรับความท้าทายใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยมีหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่สำคัญคือ การพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ให้มีความสามารถในการแข่งขัน และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน พร้อมสู่อนาคต โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม
ในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) จำเป็นต้องมีการออกแบบสร้างระบบนิเวศ ทางนวัตกรรม และการสร้างและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สำหรับรองรับการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่กำลังเข้ามา แทนที่เทคโนโลยีเดิม (Disruptive Technology) และต่อยอดการพัฒนาเทคโนโลยีที่มีอยู่เดิมให้มีประสิทธิภาพและ คุณภาพดีขึ้นอย่างเป็นระบบ
ในช่วงหลังโควิด-19 ประเทศไทยได้รับทั้งโอกาสและความท้าทายจากสถานะการณ์วิกฤตของโรคระบาด ที่จะต้องเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ ขณะที่เกิดประเด็นด้านภูมิรัฐศาสตร์จากประเทศจีนและสหรัฐอเมริกาที่ทำให้เกิดการกีดกันทางการค้าระหว่างภูมิภาค นอกจากนี้ยังมีปัจจัย Mega trend ที่เกิดขึ้นทั่วโลกได้แก่ สังคมผู้สูงอายุ วิวัฒนาการของการเชื่อมต่อ การถือกำเนิดของ AI ยุคใหม่ เป็นต้น ดังนั้นหากประเทศไทยจะต้องสร้างการเติบโตทาง GDP แบบก้าวกระโดด ให้สามารถหลุดพ้นจากโครงสร้างเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม จึงจำเป็นต้องมองว่า new growth engine ตัวใหม่ให้กับประเทศ การปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจำเป็นต้องเร่งสร้างความสามารถด้าน เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับประเทศ สืบเนื่องจาก emerging technologies อันประกอบด้วย digital, AI, smart electronics, robotic and automation นั้นเป็นฐานรากที่สำคัญในทุกอุตสาหกรรมรวมไปถึงการดำรงชีวิตของมนุษย์ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร ธุรกิจการท่องเที่ยว ภาคพลังงาน สุขภาพการแพทย์ เป็นต้น และกลุ่มเทคโนโลยีด้าน AI และ smart electronics จะเป็นต้นทุนที่มีสัดส่วนสูงสำหรับทุกประเภทธุรกิจที่จะให้บริการในโลกอนาคต ดังนั้นการเร่งรัดในการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมที่เหมาะสมทางด้าน AI และ smart electronics จึงเป็นที่มาของการมีแผนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ทางด้าน semiconductor and advanced electronics ขึ้นเพื่อตอบการสร้าง new growth engine ให้กับประเทศ รวมไปถึงการยกระดับ เปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์แบบเดิมไปสู่ การเป็นอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มูลค่าสูง นอกจากนี้แล้วยังเป็นส่วนทีจะทำให้ประเทศมีความมั่นคงในทุกมิติ ที่จะสามารถพึ่งพาเทคโนโลยีของไทยเอง ลดการนำเข้า ลดต้นทุน และทำให้ประเทศสามารถรับมือได้ทั้งในสถานะการณ์ที่ปกติและในช่วงวิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
หน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) จึงได้จัดทำ ประกาศรับข้อเสนอโครงการ (Full Proposal) ประจำปีงบประมาณ 2568 รอบ 1 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนางานวิจัยทางด้าน semiconductor and advanced electronics ภายใต้แผนงาน ววน. โปรแกรมที่ 5 แผนงานย่อยที่ 9 (N9)
เปิดรับตั้งแต่วันที่ 3 ถึง 30 กันยายน 2567 (ปิดรับเวลา 17.00 น.)
หัวหน้าสถาบัน/ต้นสังกัด กดรับรองเพื่อส่งโครงการในระบบ NRIIS ภายในวันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม 2567 เวลา 17.00 น.

วัตถุประสงค์
เพื่อสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันตามเป้าหมายของนโยบายและ ยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม พ.ศ. 2566-2570 ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ให้มีความสามารถในการแข่งขัน และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน พร้อมสู่อนาคต โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม
ขอบเขตงานวิจัย : N9 Semiconductor and advanced electronics (S1P5)
- การพัฒนาอุตสาหกรรม Semiconductor and advanced electronics
1.1 การยกระดับ System Integrator (SI) ในทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับ อิเล็กทรอนิกส์มูลค่าสูง
1.2 การพัฒนาผู้ประกอบการไทยในห่วงโซ่คุณค่าของ Semiconductor โดยเน้นให้มี local supplier ของไทย
1.3 การสร้างกลไกของระบบนิเวศน์ที่เกี่ยวเนื่องในกลุ่มผู้ประกอบการ Fabrication เพื่อยกระดับ Peripheral industry หรือ Outsourced semiconductor assembly & testing (OSAT) หรือ EMS
1.4 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญเพื่อสนับสนุนการสร้างระบบนิเวศน์ที่ตอบโจทย์ต่อภาคอุตสาหกรรม และมีการพัฒนาองค์ความรู้ หรือสร้างผู้เชี่ยวชาญห่วงโซ่คุณค่าด้าน Semiconductor และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มูลค่าสูง - การพัฒนางานวิจัยและเทคโนโลยี หรือผลิตภัณฑ์เพื่อการนำไปประยุกต์ใช้จริง
2.1 การพัฒนางานวิจัยและเทคโนโลยีด้าน Sensor technology เช่น Biosensors (optic/non-optic) เป็นต้น
2.2 การพัฒนางานวิจัยและเทคโนโลยีด้าน Processing and Computing units เช่น RISC-V-based หรือ ARM-based หรือ edge AI computing unit เป็นต้น
2.3 การพัฒนางานวิจัยและเทคโนโลยีด้าน Communication & Connectivity
2.4 การพัฒนางานวิจัยและเทคโนโลยีด้าน Power electronics / devices
ระยะเวลาดำเนินงานวิจัย
ระยะเวลาดำเนินงานโครงการ 1-3 ปี หากเป็นโครงการต่อเนื่องมากกว่า 1 ปี ต้องแสดงให้เห็นเป้าหมายสุดท้าย (End Goal) และมีเส้นทางไปถึงเป้าหมายรายปี (Milestone) แสดงไว้อย่างชัดเจน ทั้งนี้การจัดสรรทุนวิจัย จะจัดสรรเป็นรายปี
คุณสมบัติของผู้รับทุนและเงื่อนไข
1. ผู้มีสิทธิเสนอขอรับทุน คือ สถาบันการศึกษา/ สถาบันวิจัย/ หน่วยงานภาครัฐ/ หน่วยงานเอกชน สัญชาติไทย
2. งบประมาณของโครงการขึ้นอยู่กับเป้าหมายและตัวชี้วัดของโครงการ
เกณฑ์ในการพิจารณาข้อเสนอฉบับสมบูรณ์เบื้องต้น
1. เป็นโครงการที่มี TRL ระดับ 3 ขึ้นไป โดยนักวิจัยเป็นเจ้าของเทคโนโลยี ทั้งนี้ ยกเว้นโจทย์วิจัยที่ มีการระบุ TRL ไว้เป็นระดับอื่น (ให้แนบเอกสาร/หลักฐานที่แสดงระดับของ TRL ในข้อเสนอโครงการด้วย)
*รายละเอียดเอกสารประกอบระดับ TRL ดังเอกสารท้ายประกาศ
2. กรณีผู้เสนอขอรับทุนเป็นหน่วยงานรัฐ สถาบันการศึกษาทั้งรัฐและเอกชน และ สถาบันวิจัยของรัฐ ต้องมีภาคเอกชนร่วมสนับสนุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 (แบ่งเป็น in cash ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของ “เงินทุนที่ใช้ในการทำโครงการ” และ in kind ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของ “เงินทุนที่ใช้ในการทำโครงการ”) ทั้งนี้คณะอนุกรรมแต่ละแผนงาน อาจพิจารณาปรับเพิ่มจำนวนเงินทุน in cash ตามระดับ TRL และความเสี่ยงของอุตสาหกรรม
3. กรณีผู้ขอรับทุนเป็นหน่วยงานเอกชน ต้องร่วมสนับสนุน ดังนี้
• Start up ต้องร่วมสนับสนุน in cash และ/หรือ in kind ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของ “เงินทุนที่ใช้ในการทำโครงการ” โดยต้องเป็นเจ้าของเทคโนโลยีที่ผ่านการพิสูจน์มาแล้วว่าสามารถใช้ได้จริง หรือนำเทคโนโลยีอื่น (ต้องมี freedom to operate) มาพัฒนาต่อยอดจนได้ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นของตัวเอง และมุ่งเน้น start up ที่นำผลงานวิจัยในประเทศไทยไปพัฒนาต่อยอดเชิงพาณิชย์
• บริษัทขนาดเล็ก ต้องร่วมสนับสนุน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 (แบ่งเป็น in cash ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของ “เงินทุนที่ใช้ในการทำโครงการ” และ in kind ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของ “เงินทุนที่ใช้ในการทำโครงการ”)
• บริษัทขนาดกลาง ต้องร่วมสนับสนุน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 (แบ่งเป็น in cash ไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของ “เงินทุนที่ใช้ในการทำโครงการ” และ in kind ไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของ “เงินทุนที่ใช้ในการทำโครงการ”)
• บริษัทขนาดใหญ่ ต้องร่วมสนับสนุน in cash ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 “เงินทุนที่ใช้ในการทำโครงการ” (ไม่กำหนด in kind)
การส่งข้อเสนอฉบับสมบูรณ์ (Full Proposal)
ประกาศรับข้อเสนอฉบับสมบูรณ์ผ่านระบบข้อมูลสารสนเทศวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ เว็บไซต์ http://nriis.nrct.go.th/ โดยผู้สนใจสามารถยื่นข้อเสนอในระบบ NRIIS พร้อมแนบข้อเสนอโครงการตามรูปแบบ ที่บพข. กำหนด ทั้ง file word และ pdf ในระบบ ได้ตั้งแต่ วันที่พุธที่ 3 กันยายน ถึงวันจันทร์ที่ 30 กันยายน 2567 (ปิดรับข้อเสนอฉบับสมบูรณ์เวลา 17.00 น.)
ทั้งนี้ บพข. จะใช้ข้อเสนอโครงการจากแบบฟอร์มที่กำหนดในการพิจารณาเท่านั้น โดยสามารถ download แบบฟอร์มข้อเสนอโครงการ ของ บพข. ได้จากท้ายประกาศฉบับนี้ หรือ https://pmuc.or.th/ หัวข้อยื่นข้อเสนอโครงการและสามารถดูรายละเอียดได้จากคู่มือการส่งข้อเสนอโครงการ