“แพลตฟอร์มตลาดคาร์บอนครัวเรือน” ชวนคนไทยสะสมแต้มจาก Solar Cell แลกสินค้า จูงใจใช้พลังงานสะอาด ลดโลกร้อน งานวิจัยชั้นยอดภายใต้การสนับสนุนของ อว.-บพข.

เป้าหมายเจ้าของบ้านส่วนใหญ่ที่ติดตั้งแผง Solar Cell คือการลดรายจ่ายค่าไฟ หรือ ขายไฟฟ้าส่วนเกินคืนให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย แต่การขายไฟฟ้าส่วนเกินมีรายละเอียดซับซ้อน และไม่คุ้มค่าสำหรับครัวเรือนทั่วไป ทำให้นักวิจัยกลุ่มหนึ่งเกิดแนวคิดว่า ถ้าสามารถสร้างแพลตฟอร์มแปลงการใช้ไฟฟ้าจาก Solar Cell เป็นมูลค่าได้แบบง่ายๆ เช่น แปลงเป็นแต้มสะสมส่วนลดในห้างสรรพสินค้า ดูหนัง หรือ รับประทานอาหาร ฯลฯ น่าจะจูงใช้ให้ประชาชนอยากติดตั้งแผง Solar Cell
ซึ่งนอกจากจะช่วยลดปัญหาโลกร้อนแล้ว ยังทำให้ประเทศชาติก้าวไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero Emission) ในปี 2065 นำมาสู่การพัฒนา “แพลตฟอร์มตลาดคาร์บอนครัวเรือนภาคสัมครใจ” ว้าว! เห็นแบบนี้ เชื่อว่าหลายคนคงอยากเปลี่ยนหลังคาบ้านธรรมดาให้กลายเป็นหลังคา Solar Cell เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมกับแพลตฟอร์มนี้แล้วใช่ไหม
โครงการวิจัยและพัฒนา “แพลตฟอร์มตลาดคาร์บอนครัวเรือนภาคสัมครใจ” ได้รับทุนวิจัยจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ถือเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นการเปิดช่องให้กับครัวเรือนได้เข้าถึงตลาดคาร์บอนเครดิตอย่างแท้จริง นำไปสู่เศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อนาคตสะอาดและความยั่งยืน

จุดเริ่มต้นของโครงการนี้ มาจากนักวิจัยของ “มูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน” ต้องการสร้างมูลค่าการใช้ไฟฟ้าจากแผง Solar Cell ด้วยการพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับประชาชนที่ติดตั้งแผง Solar Cell สามารถนำคาร์บอนเครดิตที่ผลิตได้จาก Solar Cell และได้รับการรับรองมาตรฐาน T-VER ของประเทศไทย มาเปลี่ยนเป็นแต้มสะสมแลกซื้อสินค้าได้
มูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน จัดตั้งขึ้นเพื่อทำงานวิจัยเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียน พลังงานสะอาด และการสนับสนุนครัวเรือนติดตั้งแผง Solar Cell ทำอย่างไรให้ประชาชนสนใจอยากติดตั้ง Solar Cell เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงพลังงาน พยายามรณรงค์ด้วยการรับซื้อ Solar Cell ส่วนเกินคืน กฟผ. แต่ไม่สัมฤทธิ์ผล เพราะชาวบ้านมองว่าไม่คุ้มทุน มีความยุ่งยาก ซับซ้อน และเงื่อนไขหลายอย่าง นักวิจัยของมูลนิธิฯจึงคิดกันว่าทำอย่างไรจะช่วยแก้ปัญหานี้ให้กับภาครัฐ ดึงประชาชนให้หันมาใช้พลังงานสะอาด โดยเฉพาะ Solar Cell เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญขับเคลื่อนประเทศชาติไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน
นำมาสู่การวิจัย “แพลตฟอร์มตลาดคาร์บอนครัวเรือนภาคสมัครใจ” ซึ่งเปรียบเสมือนตัวกลางให้ประชาชนทุกคนเข้ามาใช้ประโยชน์ในการแปลงการใช้ไฟฟ้าจากแผง Solar Cell เป็นมูลค่านำไปเป็นแต้มสะสมแลกซื้อสินค้าได้ โครงการนี้ได้รับความสนใจจาก บริษัท เทคนิคอล ทีม จำกัด เอกชนที่มีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาแพลตฟอร์ม เข้ามาร่วมลงทุน พัฒนางานวิจัยผ่านระดับ TRL 4 ดีไซน์แพลตฟอร์มต้นแบบจนสามารถเกิดการทดลองประมวลผลได้ จึงทำโครงการขอรับทุนวิจัยจาก บพข. ต่อยอดไปสู่ระดับสูงขึ้น และเป็นแพลตฟอร์มสมบูรณ์แบบในอนาคต

ดร.สุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานกรรมการมูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน กล่าวในงานแถลงข่าวประชาสัมพันธ์โครงการตลาดคาร์บอนครัวเรือนภาคสมัครใจ ว่า เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด ในการสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ซึ่งตอบรับกับความร่วมมือในการลดภาวะโลกร้อนของนานาประเทศ โดยโครงการพัฒนาตลาดคาร์บอนครัวเรือนภาคสมัครใจ ได้จัดทำแพลตฟอร์มในการติดตามการผลิตพลังงานทดแทนและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะมุ่งเน้นครัวเรือนที่ติดตั้ง Solar Cell ก่อน เนื่องจากมีจำนวนผู้ใช้งานมากและมีนโยบายจากภาครัฐที่ชัดเจน
ทั้งนี้ แพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้นจะสามารถแลกเปลี่ยนก๊าซเรือนกระจกที่สามารถลดได้ ไปเป็นสินค้าหรือบริการกับภาคธุรกิจที่เข้าร่วม โดยภาคธุรกิจสามารถนำคาร์บอนที่ได้เพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจด้วยแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน และการดำเนินการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) หรือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero emissions) ซึ่งจะเกิดประโยชน์แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง คือ
1. ภาคครัวเรือน มีช่องทางการสร้างรายได้จากการใช้พลังงานสะอาด หรือสามารถแลกเป็นสินค้าและบริการจากภาคธุรกิจที่เข้าร่วม ผ่านแพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้น ทั้งยังสร้างคุณค่าให้กับผู้ใช้พลังงานสะอาดในการเป็นส่วนหนึ่งของการลดภาวะโลกร้อน
2. ภาคธุรกิจ สามารถดำเนินธุรกิจด้วยแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนในส่วนการใช้พลังงานสะอาด โดยการซื้อคาร์บอนเครดิต หรือแลกเปลี่ยนเป็นสินค้าและบริการให้กับครัวเรือนที่เข้าร่วมผ่านแพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้น ซึ่งจะส่งเสริมภาพลักษณ์ของการดำเนินธุรกิจ เป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มยอดขาย สร้างการเติบโตของธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
3. ประเทศไทย สามารถพัฒนาตลาดคาร์บอนครัวเรือนแบบภาคสมัครใจให้เกิดขึ้นจริงในประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้เป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศเป็นไปตามเป้าหมาย ทั้งประชาชนและภาคธุรกิจหันมาใช้พลังงานสะอาด รวมถึงการดำเนินการด้านอื่นที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้มากขึ้น และยังสร้างผลประโยชน์ร่วมในหลายด้าน เช่น การบรรเทาผลกระทบของมลพิษทางอากาศ, การรักษาความมั่นคงทางพลังงาน, นวัตกรรมเทคโนโลยี การลดต้นทุนทางพลังงาน การจ้างงาน และลดการย้ายถิ่นฐานเข้าเมือง เป็นต้น ส่งผลให้ประเทศไทยเติบโตอย่างก้าวหน้าและยั่งยืนต่อไป
คุณนที สิทธิประศาสน์ รองประธานกรรมการ มูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เป้าหมายของ “แพลตฟอร์มตลาดคาร์บอนครัวเรือนภาคสมัครใจ” คือ ให้ประชาชนทุกครัวเรือนที่ติดตั้งแผง Solar Cell เข้ามาใช้ประโยชน์ โดยเบื้องต้น นอกจากการเปิดรับสมัครประชาชนทั่วไปให้เข้าร่วมโครงการแล้ว ยังร่วมกับ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เจ้าของโครงการหมู่บ้านเสนา นำบ้านของลูกบ้านมาเข้าโครงการนำร่อง 300 หลังคาเรือน ซึ่งแนวคิดของโครงการหมู่บ้านเสนา คือ ลูกบ้านที่มาซื้อบ้าน ได้ใช้ไฟสะอาดและได้ลดค่าไฟด้วย รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งในการลดโลกร้อน

กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)
สำหรับหมู่บ้านเสนา ถือเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายแรกของไทยที่เริ่มสร้างบ้านพร้อมติดโซลาร์รูฟให้พร้อมใช้งานตั้งแต่ซื้อบ้านทั้งโครงการเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการเข้าร่วมโครงการนี้ว่า การใช้พลังงานทดแทนคือเทรนด์ของอนาคต นอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายของลูกบ้านแล้ว ยังลดการสร้างคาร์บอนที่เป็นต้นเหตุของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก สิ่งที่เสนาให้ความสำคัญคือการพัฒนาโครงการและสนับสนุนการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ด้านการใช้พลังงานทดแทนที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของลูกบ้าน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการลดคาร์บอนขององค์กร
โดยเฉพาะการนำแนวคิดบ้านพลังงานเป็นศูนย์ (Zero Energy Housing) ซึ่งสามารถประหยัดการใช้ไฟฟ้าของบ้านได้สูงสุดถึง 38% และการส่งเสริม Decarbonized Lifestyle ให้ลูกบ้านสามารถใช้ชีวิตรักษ์โลกได้ง่ายๆ เพียงอยู่กับเราเท่านั้น ปัจจุบันเสนาติดตั้งโซลาร์รูฟให้กับลูกบ้าน ทั้งบ้านเดี่ยวและทาวน์โฮมแล้วทั้งหมดทุกโครงการรวมกว่า 1,000 หลัง สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ลูกบ้านเสนาที่ติดโซลาร์ สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการฯ โดยปริมาณคาร์บอนเครดิตที่เกิดขึ้นจะสามารถนำไปแลกคะแนนเพื่อใช้เป็นส่วนลดหรือซื้อของต่อไปได้ เช่น ลูกบ้านที่ติดตั้งโซลาร์ 5kw คาร์บอนเครดิตจะถูกคำนวณและสามารถเปลี่ยนเป็นคะแนน The 1 ได้ 600 คะแนนต่อเดือน หรือ 7,200 คะแนนต่อปี ถือเป็นการสร้างโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนต่อไป

พันธมิตรสำคัญอีกรายที่เข้ามาร่วมโครงการแพลตฟอร์ม ตลาดคาร์บอนครัวเรือนภาคสมัครใจ คือ กลุ่มเซ็นทรัล ซึ่ง คุณพิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร มองว่า ณ ปัจจุบัน ประเทศไทยมีความต้องการคาร์บอนเครดิตเป็นอย่างมาก และในอนาคตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสูง จากกระแสความตื่นตัวและความมุ่งมั่นทั้งในระดับประเทศและระดับองค์กรที่มีการตั้งเป้าหมายที่จะเป็น Carbon Neutrality และ Net Zero Emissions และกระแสโลกเรื่อง Climate Change เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ทุกคนต้องลงมือแก้ปัญหานี้ด้วยกัน โดยเฉพาะภาคธุรกิจ เป็นภาคส่วนที่มีศักยภาพในการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่างๆ
กลุ่มเซ็นทรัล จึงมีความต้องการที่จะซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชยในการจัดกิจกรรมอีเวนท์ต่างๆ โดยผู้เข้าร่วมโครงการ สามารถนำคาร์บอนเครดิต 1 ตันคาร์บอน มาแลกเป็นคะแนน The 1 ได้ 1,600 คะแนน เพื่อนำไปเป็นส่วนลดสินค้าและบริการ รวมถึงรับสิทธิประโยชน์ในกลุ่มเซ็นทรัลทั่วประเทศ โดยกลุ่มเซ็นทรัลมีความมุ่งหวังการเติบโตของธุรกิจจะต้องควบคู่ไปกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน และตระหนักว่าต้องเริ่มตั้งแต่ต้นทางของห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจนถึงปลายทางของการจัดการอย่างถูกหลัก โดยหนึ่งในเป้าหมายคือการปรับเปลี่ยนหันมาใช้พลังงานสะอาดและยั่งยืน เพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินธุรกิจ ทั้งยังช่วยลดปัญหามลพิษด้วยพลังงานสะอาด และสอดคล้องกับเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมของโลก

อย่างไรก็ตาม หลายคนยังสงสัยว่า การนำค่าไฟของบ้านแต่ละหลังมารวมกัน เพื่อคำนวณออกมาเป็นคาร์บอนเครดิต กระบวนการขั้นตอนตรงนี้มีความยากลำบากมากแค่ไหน เรื่องนี้ รศ.วงกต วงศ์อภัย รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพหุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จะเข้ามาดูแลขั้นตอนเหล่านี้ให้ข้อมูลว่า สถาบันวิจัยพหุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นหน่วยงานที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประเมินภายนอกสำหรับโครงการภาคสมัครใจของประเทศไทย ได้ดำเนินการประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจก ตามมาตรฐานต่างๆ เช่น Thailand Voluntary Emission Reduction Program (T-VER) หรือที่รู้จักในวงกว้างว่า คาร์บอนเครดิต ที่ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. กำหนด โดยมีขั้นตอนการดำเนินการเบื้องต้น 6 ขั้นตอน คือ (1) การจัดทำเอกสารโครงการ (2) การตรวจสอบเอกสาร หรือ Validation (3) การขึ้นทะเบียนโครงการ Solar ดังกล่าวกับ อบก. (4) การดำเนินการโครงการพร้อมการตรวจวัดต่างๆ (5) การจัดทำเอกสารขอทวนสอบผลคาร์บอนเครดิตที่ได้ก่อนที่จะนำไป (6) ยื่นขอรับรองคาร์บอนเครดิตจากทาง อบก. ทั้งนี้การตรวจสอบเอกสารและทวนสอบต่างๆ ถือเป็นความสำคัญและจำเป็นที่ประเทศต้องการ รวมถึงเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศในอนาคต

คุณนที ฉายภาพให้เห็นชัดขึ้นว่า ถ้านึกภาพสมัยก่อน การตรวจสอบค่าใช้ไฟฟ้า จะมีพนักงานเดินจดมิเตอร์ตามบ้านแต่ละหลัง แต่ปัจจุบันเป็นดิจิทัล สามารถพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลโปรแกรม เชื่อมโยงกับบ้านทุกหลังที่เข้าร่วมโครงการได้ว่า เดือนนี้ใช้ไฟเท่าไหร่ ลดคาร์บอนได้กี่กิโลกรัม พอตรวจสอบได้แล้ว ก็นำผลการตรวจสอบไปยื่นให้กับ อบก. เพื่อให้รับรองคาร์บอนเครดิตให้กับลูกบ้านแต่ละราย ลูกบ้านแต่ละรายก็จะมีคาร์บอนเครดิตเก็บไว้ในมือ นำไปแลกเป็นแต้มซื้อสินค้ากับพันธมิตรที่เข้าร่วมกับแพลตฟอร์มได้
ซึ่งเซ็นทรัลในฐานะเจ้าของ The 1 สามารถนำคาร์บอนเครดิตที่รับแลกไว้ ไปใช้ในโครงการต่างๆ ของบริษัท ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ ทั้งในด้านภาพลักษณ์ และการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยปกติคนที่จะซื้อขายคาร์บอนเครดิตตามมาตรฐานของ อบก. ได้ ส่วนใหญ่จะเป็นนิติบุคคล แต่แพลตฟอร์มนี้ทำให้ประชาชนเข้าถึงได้ หากมีกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น เจ้าของร้านอาหาร เจ้าของโรงภาพยนตร์ สนใจเข้ามาเป็นพันธมิตรกับแพลตฟอร์มตลาดคาร์บอนครัวเรือน เหมือนเซ็นทรัลหรือเสนา ประชาชนจะหันมาใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น กระจายไปทั่วประเทศ เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและโลกอย่างมหาศาล
คุณนทียังกล่าวจุดสำคัญที่ทำให้โครงการก้าวมาถึงจุดนี้ได้ เพราะการสนับสนุนทุนวิจัยจาก บพข. ที่มีวิสัยทัศน์มองเห็นเทรนด์ในอนาคต บพข. ถือเป็นไกสำคัญมาก แม้จะเป็นการสนับสนุนทุนวิจัยเพียง 1 ปี คือตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2567 ถึง กรกฎาคม 2568 แต่ก็เป็นการส่งเสริมให้แพลตฟอร์มไปต่อได้ สามารถต่อยอดเป็นบิสิเนสโมเดล ระหว่างเอกชนผู้พัฒนาแพลตฟอร์มกับประชาชนผู้ใช้บริการ และภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้คาร์บอนเครดิตสำหรับองค์กร


ขณะที่ คุณอัครเดช สุพิชญางกูร ที่ปรึกษาประธานมูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน เสริมว่า โครงการนี้เปรียบเสมือนการสร้างพุ่มไม้ เริ่มต้นพุ่มแรก 300 หลัง พุ่มที่ 2 เพิ่มเป็น 5,000 หลัง พุ่มที่ 3 ขยายเป็น 40,000 หลัง 100,000 หลัง ไปเรื่อยๆ โดยมั่นใจว่า มูลนิธิจะมีพันธมิตรเข้ามาร่วมโครงการอีกจำนวนมาก เหมือนกับกลุ่มเซ็นทรัลและเสนา ที่มองเห็นว่าโครงการนี้ เป็นโครงการที่ดี ที่ บพข. ให้ทุนมาทำวิจัย เท่ากับว่าโครงการนี้สามารถต่อยอดได้ ต้นไม้ตรงนี้ก็จะมีหลายพุ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันก็ต้องขอความร่วมมือจากสื่อมวลชน ช่วยเผยแพร่ข่าวสารไปสู่ประชาชน ร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เมื่อประชาชนเข้าถึงแพลตฟอร์ม เอกชนรับซื้อคาร์บอนเครดิต อันนี้เป็นส่วนที่จะทำให้โครงการเดินได้มั่นคงและยั่งยืน

ปิดท้ายด้วย ศาสตราจารย์ ดร.อาภาณี เหลืองนฤมิตชัย ประธานคณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มพลังงาน เคมีและวัสดุชีวภาพ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กล่าวถึงโครงการนี้ในฐานะหน่วยงานที่ให้ทุนโครงการวิจัยและพัฒนาตลาดคาร์บอนครัวเรือนภาคสมัครใจ เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดในการสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ภายใต้แผนงานพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการใช้ประโยชน์พลังงานสะอาด พัฒนาระบบเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-GreenEconomy: BCG) ในด้านพลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน วัสดุชีวภาพ และเคมีชีวภาพให้เป็นระบบเศรษฐกิจมูลค่าสูง มีความยั่งยืนและเพิ่มรายได้ของประเทศ พัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ให้มีความสามารถในการแข่งขัน และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน พร้อมก้าวสู่อนาคต โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม ดำเนินการร่วมกับการทำแพลตฟอร์มตลาดคาร์บอนครัวเรือนภาคสมัครใจ
โดยสามารถติดตามข้อมูลการผลิตพลังงานจากระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา และปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงสามารถนำก๊าซเรือนกระจกที่ลดลง แลกเปลี่ยนกับสินค้าหรือบริการของภาคธุรกิจที่เข้าร่วม รวมถึงการจัดทำระบบนิเวศของแพลตฟอร์มตลาดคาร์บอนครัวเรือนภาคสมัครใจ ให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้แพลตฟอร์ม เช่น ภาคครัวเรือนต้องการผลตอบแทนจากการใช้พลังงาน ภาคธุรกิจต้องการปริมาณคาร์บอน เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ในการดำเนินธุรกิจ โดยมีอัตราแลกเปลี่ยนที่จูงใจในการทำธุรกรรม เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ สร้างคุณค่าสังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน
* โครงการตลาดคาร์บอนครัวเรือนภาคสมัครใจ กำลังเปิดรับสมัครประชาชนเข้าร่วมโครงการ จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 นี้ *