ข่าว

บพข. ยกผลงานวิจัยจัดแสดงใน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 (Thailand Research Expo 2022)”

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ได้นำผลงานวิจัยภายใต้แผนงานกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน ดิจิทัลแพลตฟอร์ม อาหารมูลค่าสูง และท่องเที่ยวเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ร่วมจัดแสดงในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 (Thailand Research Expo 2022)” ระหว่างวันที่ 1 – 5 สิงหาคม 2565 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ

 “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 (Thailand Research Expo 2022)” เป็นเวทีระดับชาติที่นำเสนอความก้าวหน้าผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่มีคุณภาพ  เพื่อเชื่อมโยงบูรณาการองค์ความรู้ไปสู่การใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ ทั้งในมิติเชิงวิชาการ นโยบาย สังคม/ชุมชน และพาณิชย์/อุตสาหกรรม โดยกำหนดจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2549 ด้วยความร่วมมืออันดีระหว่างหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยในปีนี้ จัดขึ้นเป็นปีที่ 17

รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการ บพข.  เผยว่า “บพข. ในฐานะหน่วยบริหารและจัดการทุนภายใต้กระทรวง อว. ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อจัดสรรทุนสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมในการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ในปีที่ผ่านมาเราก็ได้นำผลงานวิจัยที่เราให้ทุนสนับสนุนมาร่วมจัดแสดง และได้ตอบรับเป็นอย่างดีจากนักวิจัยและผู้เข้าร่วมงาน ในปีนี้เราได้คัดเลือกผลงานวิจัยที่ บพข. ได้ให้การสนับสนุนมาร่วมจัดแสดงในงานด้วยทั้งสิ้น 4 โครงการ ได้แก่ โครงการกรีนทูเก็ต (Green2Get): แพลตฟอร์มของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งอยู่ในแผนงานกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน โครงการพัฒนาอัลกอริทึมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการโคนม ในแผนงานกลุ่มดิจิทัลแพลตฟอร์ม โครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์สารให้กลิ่นรสของวัตถุดิบทางการเกษตรไทยจากกัญชา และใบมะกรูด ในแผนงานกลุ่มอาหารมูลค่าสูง และโครงการท่องเที่ยวเชิงอาหารผ่านอัตลักษณ์รัตนโกสินทร์ ในแผนงานท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ผู้ที่สนใจสามารถแวะมาเยี่ยมชมได้ หรือหากสนใจอยากขอทุน บพข. ก็สามารถมาสอบถามข้อมูลที่บูธของเราได้เลย”

โครงการที่ บพข. ได้คัดเลือกมาจัดแสดงในปีนี้ ประกอบด้วย

  1. โครงการกรีนทูเก็ต (Green2Get): แพลตฟอร์มของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่จะมาเติมเต็มระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่ผู้ผลิต ผู้บริโภค และผู้นำกลับมาใช้ใหม่ อยู่ร่วมกันในที่เดียว หากเปรียบเทียบก็เสมือนกับแพลตฟอร์มการค้าขายออนไลน์ที่เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการจัดการขยะ มีศูนย์กลางคือขยะที่เกิดขึ้น โครงการนี้ บพข. ได้ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาแก่บริษัท กรีนทูเก็ต จำกัด ภายใต้แผนงานกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยมีนายเปรม พฤกษ์ทยานนท์ เป็นหัวหน้าโครงการ
  2. โครงการพัฒนาอัลกอริทึมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการโคนม ซึ่งเป็นโครงการที่ บพข. ให้ทุนสนับสนุนแก่คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้แผนงานกลุ่มดิจิทัลแพลตฟอร์ม โดยมี รศ.น.สพ.ดร. ชัยเดช อินทร์ชัยศรี เป็นหัวหน้าโครงการ ในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อเกษตรกรเพื่อเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีระบบการติดตามพฤติกรรมโค ด้วยระบบ AI ซึ่งประกอบไปด้วยเซนเซอร์ที่ติดตัวโค รวมถึงซอฟท์แวร์และแอปพลิเคชัน ซึ่งทำให้สามารถคาดการณ์พฤติกรรมของโคด้วยอัลกอริทึมได้ ช่วยให้เจ้าของฟาร์มสามารถวางแผนการผสมเทียมโค วันคลอด และแจ้งเตือนการป่วยของโคในเบื้องต้นได้ ส่งผลให้สามารถประหยัดเวลาที่ใช้ในการทำงานตามปกติ แล้วนำเวลาไปทำการตลาดของผลิตภัณฑ์ของฟาร์มมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิดรายได้มากขึ้นต่อไปได้ ปัจจุบันโครงการนี้ได้ยื่นขออนุสิทธิบัตรเทคโนโลยีแล้ว และถูกเสนอให้ขึ้นทะเบียนเป็น Digital provider กับ depa
  3. โครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์สารให้กลิ่นรสของวัตถุดิบทางการเกษตรไทยจากกัญชา และใบมะกรูด เป็นโครงการวิจัยที่ บพข. ให้การสนับสนุนทุนวิจัยแก่ภาควิชาพัฒนาผลิตภัณฑ์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภายใต้แผนงานกลุ่มอาหารมูลค่าสูง ร่วมกับ บริษัท บุญ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นผู้ที่จะนำผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ โดยมี ผศ.ดร.อุศมา สุนทรนฤรังสี เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ในการพัฒนาสารให้กลิ่นรสจากสมุนไพรไทยอย่างสร้างสรรค์ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอาหาร ลดการนำเข้าสารให้กลิ่นรสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร และเพิ่มมูลค่าให้กับสมุนไพรไทย อีกทั้งยังคงเอกลักษณ์กลิ่นรสของอาหารไทย เป็นการผลักดันให้เกิดการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมกลิ่นรสของไทย
  4. โครงการท่องเที่ยวเชิงอาหารผ่านอัตลักษณ์รัตนโกสินทร์ เป็นหนึ่งในโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศด้วยการสร้างสรรค์รูปแบบการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่เชื่อมโยงการท่องเที่ยวเข้ากับอัตลักษณ์อันโดดเด่นของอาหารรัตนโกสินทร์ ซึ่งอยู่ภายใต้บริบทวัฒนธรรมที่หลากหลายควบคู่กับวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียม และความเชื่อ ซึ่งเป็นเสน่ห์เฉพาะของแต่ละท้องถิ่น ที่ถูกนำมาใช้สร้างอรรถรสและอารมณ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยว เป็นการกระตุ้นเศษฐกิจการท่องเที่ยวของประเทศในยุคหลัง Covid-19 ซึ่งโครงการนี้ได้ทำการศึกษาวิจัยโดย ดร.ชนกพร ไผทสิทธิกุล วิทยาลัยสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา (หัวหน้าโครงการ) ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจาก บพข. ในแผนงานกลุ่มท่องเที่ยวเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ร่วมกับ บริษัท ล็อฟท์ทัวร์ จำกัด

นอกจากนี้ยังมีผลงานวิจัยของแผนงานอื่น ๆ ที่ บพข. ได้ให้การสนับสนุนในตลอด 3 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งยังมีความรู้อีกมากมายที่เราได้นำมาเสนอในงานครั้งด้วย ผู้ที่สนใจอยากอัพเดทข่าวสารวงการวิจัยไทยหรือสอบถามข้อมูลการให้ทุนวิจัยของ บพข. สามารถไปพบกับเราได้ที่บูธ บพข. ในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 (Thailand Research Expo 2022)” ระหว่างวันที่ 1 – 5 สิงหาคม 2565 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ

Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *