ข่าว

บพข. กระทรวง อว. ตอบรับนโยบายรัฐบาล หนุนงบวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า: EV-Innovation

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำโดย รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชญน์ ผู้อำนวยการ บพข. ร่วมกับ สวทช. สอวช. สกสว. และ บพค. จัดงานแถลงข่าวนโยบาย “อว. For EV” โดย นางสาวศุภมาส อิศรภัคดี รัฐมนตรีกระทรวง อว. ในฐานะกรรมการ ‘บอร์ดอีวี‘ เพื่อเดินหน้าแผนพัฒนาระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า (EV Ecosystem) และหนุนงบวิจัย EV ทั้งระบบ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ โดยงานนี้ บพข. ได้นำยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจาก บพข. ร่วมจัดแสดงภายในงาน ณ ห้องประชุมออดิเทอเรียม ชั้น 3 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย

หลังจากนายก ‘เศรษฐา‘ มีคำสั่งแต่งตั้งให้เพิ่มรัฐมนตรีกระทรวง อว. เข้าใน ‘บอร์ดอีวี‘ ล่าสุด (16 กุมภาพันธ์ 2567) นางสาวศุภมาส อิศรภัคดี รัฐมนตรีกระทรวง อว. ได้ประกาศเดินหน้าแผนพัฒนาระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศทันที โดยมีนโยบายเร่งดำเนินการใน 3 แผนงาน คือ

1) EV-HRD พัฒนาทักษะกำลังคนเพื่ออุตสาหกรรมไฟฟ้า

2) EV-Transformation การเปลี่ยนผ่านจากการใช้รถยนต์ระบบสันดาป (ICE) มาเป็น EV ในมหาวิทยาลัยและหน่วยงานในกระทรวง

3) EV-Innovation การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมใน EV

โดยเป้าหมายของนโยบาย “อว For EV” ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทย คือ การทำให้ประเทศไทยเป็น EV Hub ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และผลิตยานยนต์ที่ไม่ปล่อยมลพิษ (Zero Emission Vehicle: ZEV) ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดของประเทศไทยในปี 2030 (พ.ศ. 2573)

โดย บพข. และ สกสว. เป็นผู้มีบทบาทหลักในการดำเนินการสนุนสนับทุนวิจัยและพัฒนา EV-Innovation เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ โดยปรับปรุงแผนด้าน ววน. (วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) ให้มีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าให้เป้น Flagships ที่สำคัญของกองทุนส่งเสริม ววน. และเพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยียานยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญ
กลไกการสนับสนุนงบประมาณวิจัยและพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าของ อว.
  1. โครงสร้างพื้นฐาน และส่วนประกอบสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้า (EV Infrastructure & System Integration) เช่น การพัฒนาสถานีชาร์จแบตเตอรี่ การพัฒนาแบตเตอรี่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เก็บประจุได้มากขึ้น ชาร์จได้ไวขึ้น เป็นต้น
  2. แพลตฟอร์มและบริการสนับสนุน (EV Solution Platform) เช่น การพัฒนา application สาหรับจองคิวชาร์จแบตเตอรี่ การค้นหาสถานีชาร์จที่ใกล้ที่สุด หรือการพัฒนา battery swapping ซึ่งจะเน้นการบริหารจัดการเพื่อความสะดวกในการใช้งาน
  3. การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าที่มีลักษณะเฉพาะ และยานยนต์เชื่อมต่อและขับขี่อัตโนมัติ (Specific Autonomous & Connected Vehicles) ประเทศไทยแข่งขันยากในอุตสาหกรรมอีวีแบบรถยนต์นั่งส่วนบุคคลจึงควรเน้นกลุ่ม รสบัส มินิบัส หรือมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ารวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับอนาคต เช่น การขับขี่แบบอัตโนมัติ เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการขับขี่ เป็นต้น
การจัดสรรงบประมาณ ววน. ด้านยานยนต์ไฟฟ้า

ในปี 2566 บพข. ได้รับการจัดสรรงบประมาณ ววน. ด้านยานยนต์ไฟฟ้า จำนวน 445.5 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2567 จำนวน 610 ล้านบาท โดยได้สนับสนุนทุนพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีเกี่ยวเนื่อง ดังนี้

  1. การวิจัยและพัฒนาต้นแบบเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (ยานยนต์ทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ (Aviation) เช่น รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า เรือไฟฟ้า รถบัสไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้า ระบบการขับขี่อัตโนมัติ ระบบอากาศยาน อากาศยานไร้คนขับ และการพัฒนาต้นแบบชิ้นส่วน อุตสาหกรรมแบตเตอรี่แพ็ค มอเตอร์ เครื่องปรับอากาศในยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น)
  2. การวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟ้ฟ้าและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง เช่น การพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการให้ได้รับการยอมรับในระดับสากลหรือได้มาตรฐานระดับสากล
  3. การวิจัยออกแบบกระบวนการผลิตหรือเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ที่มีไม่น้อยกว่า TRL8 และสามารถพัฒนาไปที่ระดับ TRL9 และมีภาคเอกชนร่วมทุน in cash ไม่น้อยกว่า 50% ของเงินทุนที่ใช้ในการทำโครงการ
ขอบเขตงานวิจัยด้านยานยนต์ไฟฟ้าของ บพข.
  1. การพัฒนามาตรฐานด้านเทคนิคและด้านความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยี เช่น ความปลอดภัยในการอัดประจุไฟฟ้า
  2. การออกแบบและพัฒนาต้นแบบ (Prototype) ที่ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์และ/หรือด้านความปลอดภัยผลิตภัณฑ์
  3. การออกแบบและพัฒนาระบบ/กระบวนการ หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ (New Product) ที่พร้อมใช้งานและสามารถผลิตขึ้นในประเทศไทย ที่ใช้งานได้จริงและพร้อมนำไปขยายผลในเชิงพาณิชย์ (มีการแสดง Feasibility study ที่ครอบคลุมทั้ง Market, Technical และ Financial feasibility)
บพข. พร้อมสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีเกี่ยวเนื่อง เพื่อยกระดับเทคโนโลยี เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ เพื่อให้ไทยสามารถพึ่งพาตนเองได้ และเป็นศูนย์กลางการผลิตของอาเซียน

Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *