ข่าว

บพข. ขับเคลื่อนนวัตกรรม “โพรไบโอติกส์สายพันธุ์ไทย”เพิ่มศักยภาพ SME แข่งตลาดโลก

บพข. สนับสนุนทุนวิจัย มศว. ร่วมกับ บริษัท วิโนน่า เฟมินิน จำกัด เปิดโครงการ “วิจัยทดสอบประสิทธิภาพจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์สายพันธุ์ไทย” มุ่งสร้างนวัตกรรมใหม่ เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคสตรีวัย 40+  สร้างคุณภาพชีวิตทั้งร่างกายและจิตใจ รองรับสังคมผู้สูงอายุไทย

โพรไบโอติกส์สายพันธุ์ไทย ผสมฮอร์โมนจากพืช
” วิโนน่า เฟมินิน” ผู้ประกอบการหัวใจไทย กว่า 8 ปี มุ่งพัฒนา ” โพรไบโอติกส์สายพันธุ์ไทย และฮอร์โมนจากพืช ใช้กลไกธรรมชาติ ใช้ชีวภาพในเมืองไทย ไม่พึ่งยาจากต่างประเทศ

5 มีนาคม 2567 : คุณนพรัตน์ สุขสราญฤดี ประธานกรรมการ บริษัท วิโนน่า เฟมินิน จำกัด กล่าวว่า “วิโนน่า ในฐานะผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพชั้นนำของประเทศไทย โดยเฉพาะด้านสุขอนามัยของสตรี ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์มามากกว่า 8 ปี ได้ศึกษารวบรวมข้อมูลจากกลุ่มเป้าหมายสตรีวัยหมดระดูอย่างเชิงลึก พบ pain-point ในกลุ่มผู้หญิงวัยทองจำนวนกว่า 16 ล้านคน ประสบปัญหาสุขภาวะ ในกลุ่มอาการทางระบบสืบพันธุ์และทางเดินปัสสาวะ และไม่กล้าปรึกษาแพทย์ หรือไม่มีความเข้าใจในภาวะอาการดังกล่าว จึงไม่ตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหาที่ค่อยคุกคามคุณภาพชีวิต ด้วยเหตุนี้จึงเป็นอีกหนึ่งพันธกิจของ วิโนน่า ที่สนับสนุนการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้หญิงในวัยทองให้ได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข เราจึงเดินหน้าทำงานร่วมกับภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มาอย่างต่อเนื่อง ในวันนี้ความภาคภูมิใจของวิโนน่า ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการเปิดตัวโครงการวิจัยทดสอบประสิทธิภาพจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์สายพันธุ์ไทย ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าของวงการนวัตกรรมทางด้านจุลินทรีย์เพื่อทางการแพทย์และสุขภาพของไทย โดยมุ่งหวังที่จะนำนวัตกรรมที่มีแหล่งที่มาจากการใช้ชีวภาพในเมืองไทย และใช้ฮอร์โมนจากธรรมชาติ เพื่อลดการพึ่งพายาเคมีและผลค้างเคียง รวมถึงลดการนำเข้าโพรไบโอติกส์จากต่างประเทศอีกด้วย ซึ่งนับเป็นความตั้งใจที่อยากจะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาสุขภาพองค์รวมของสตรีวัยหมดระดูของประเทศไทยอย่างยั่งยืนในระยะยาว”

คุณนพรัตน์ สุขสราญฤดี ประธานกรรมการ และคุณอิทธิพล ศรีอิทยาจิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วิโนน่า เฟมินิน จำกัด

ดร.นพ.อมรินทร์ นาควิเชียร รองคณบดีฝ่ายบริหาร และ อาจารย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ หัวหน้าโครงการวิจัย ” การผลิตเชิงพาณิชย์ และการทดสอบประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกสายพันธุ์ไทยผสมสารสกัดจากพืช ต่อภาวะแวดล้อมทางจุลชีพและกลุ่มอาการทางระบบสืบพันธุ์และทางเดินปัสสาวะ ระดับนำ้ตาลในเลือด และคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพองค์รวมของสตรีวัยหมดระดูไทย” กล่าวว่า เนื่องด้วยปัจจุบันสังคมไทยมีการเปลี่ยน แปลงของระบบโครงสร้างของประชากร และเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทําให้ปัญหาคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพของสตรีวัยหมดระดูมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสําคัญ โดยจากข้อมูลของสำนักทะเบียน กรมการปกครอง ในปี 2563 พบว่า มีประชากรผู้หญิงอายุ 45 ปี ขึ้นไปสูงถึงประมาณ 20 ล้านคน ซึ่งอายุเฉลี่ยของการหมดระดูตามธรรมชาติในสตรีไทยคืออายุ 51 ปี ซึ่งบางรายก็อาจจะหมดระดูก่อน โดยภาวะหมดระดู (Menopause) เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดตามธรรมชาติในสตรีทุกคน โดยการหมดระดูส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งทางกายและจิตใจ ซึ่งกระทบต่อสัมพันธภาพในครอบครัวได้ด้วย ทั้งนี้มีทั้งภาวะอันไม่พึงประสงค์ที่เป็นผลจากการหมดระดูในระยะสั้น ได้แก่ ร้อนวูบวาบ เหงื่อออกตอนกลางคืน อารมณ์แปรปรวน นอนไม่หลับ แต่ที่หลายคนอาจจะไม่เคยตระหนักมาก่อนคือสตรีวัยหมดระดูทุกรายจะได้รับผลกระทบในระยะยาว เนื่องจากการขาดฮอร์โมน ได้แก่ อาการทางระบบสืบพันธุ์และทางเดินปัสสาวะ กระดูกพรุน ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคอัลไซเมอร์ เป็นต้น จึงนับว่าเป็นอีกหนึ่งภาวะคุกคามคุณภาพชีวิตได้ ปัจจุบันการรักษาหลักของกลุ่มอาการทางระบบสืบพันธุ์และทางเดินปัสสาวะในสตรีวัยหมดระดูคือการใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนเฉพาะที่สอดทางช่องคลอด ซึ่งมีข้อจํากัดในเรื่องของระยะเวลา และก่อให้เกิดความกังวลใจเกี่ยวกับอาการข้างเคียงจากการใช้ฮอร์โมน แพทย์จึงได้มองหาแนวทางใหม่ๆ ที่มุ่งเน้นการป้องกันโรค การปรับสมดุลภาวะแวดล้อมจุลชีพในช่องคลอดด้วยโพรไบโอติกส์ จึงเป็นที่มาของโครงการวิจัยนี้ โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง บริษัท วิโนน่า เฟมินีน จํากัด และภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยการนำผลิตภัณฑ์ต้นแบบโพรไบโอติกสายพันธุ์ไทย จำนวน 2 สายพันธุ์ ที่ได้รับการพัฒนาจากศูนย์ความเป็นเลิศทางวิจัยด้านโพรไบโอติก มศว. มาพัฒนาผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกผสมสารสกัดจากพืชที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะจากถั่วเหลือง ซึ่งมีฤทธิ์เอสโตรเจนอ่อน ๆ (Phytoestrogen) ชนิดรับประทาน สําหรับสตรีวัยหลังหมดระดู เพื่อศึกษาประสิทธิภาพทางคลินิคและนำขึ้นทะเบียนสรรพคุณกับ อย. และสามารถผลิตในเชิงพาณิชย์ โดยโครงการนี้ ได้รับการสนับสนุนโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)”

คุณนพรัตน์ สุขสราญฤดี ประธานกรรมการ บริษัท วิโนน่า เฟมินิน จำกัด และ ดร.นพ.อมรินทร์ นาควิเชียร รองคณบดีฝ่ายบริหาร และ อาจารย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มศว.

รศ.ดร.มาลัย ทวีโชติภัทร์  หัวหน้าศูนย์เพื่อความเป็นเลิศทางวิจัยด้านโพรไบโอติกส์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะแพทยศาสตร์ มศว. ในฐานะที่เป็นผู้คัดแยกโพรไบโอติกส์สายพันธุ์ไทยมาเป็นเวลา 15-20 ปี  กล่าวว่า   โพรไบโอติกส์เป็นจุลินทรีย์ตัวหนึ่ง ที่อยู่ในร่างกายของทุกคนตั้งแต่เกิดและอยู่กับเราไปตลอดชีวิต โดยอยู่ในระบบทางเดินอาหารเป็นส่วนใหญ่ ขณะเดียวกันก็พบในระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิงด้วย  ซึ่งจุดที่สำคัญคือเรามีจุลินทรีย์กลุ่มนี้ โดยเฉพาะ Lactobacillus ที่อยู่บริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ของผู้หญิง ซึ่งจะเป็นตัวคอยปกป้องไม่ให้เกิดการติดเชื้อ  เป็นกลไกธรรมชาติที่ช่วยได้อย่างมาก ดังนั้นเราจึงมีหน้าที่รักษาจำนวนของเขาไว้ให้มากที่สุด ซึ่งนี่คือหลักสำคัญที่สุดของการนำเอาจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์มาช่วยป้องกันการติดเชื้อโดยวิธีธรรมชาติ  นอกจากนี้หากใช้จุลินทรีย์ 2 ชนิดทั้งสายพันธุ์ Lactobacillus paracasei MSMC 39-1 และ Bifidobacterium animalis TA-1  จะช่วยในเรื่องลดน้ำตาลและไขมันในเลือดอีกด้วย     

รศ.ดร.มาลัย ทวีโชติภัทร์

ด้วยอายุ สภาพร่างกายรวมถึงอาหารการกินที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้จุลินทรีย์ในร่างกายเปลี่ยนแปลงไปด้วย  ปัจจุบันการใช้โพรไบโอติกส์ได้กลายมาเป็นเทรนด์อย่างรวดเร็ว  เพราะในช่วงโควิด ทำให้คนเราเริ่มดูแลสุขภาพมากขึ้นและพยายามมองหาสิ่งที่จะมาช่วยตอบโจทย์ โดยเป็นทางเลือกที่ไม่ใช่ยา  ซึ่งโพรไบโอติกส์เป็นสิ่งที่มีอยู่ในร่างกายคนเราและมีประโยชน์ทั้งปกป้องบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ไม่ให้เกิดการติดเชื้อ และเมื่อไปอยู่ในอวัยวะส่วนอื่น เช่น ในลำไส้ จะทำหน้าที่ช่วยให้การย่อยดีขึ้น โดยมีการสร้างสารบางอย่างออกมาช่วยดูดซึมอาหาร ลดน้ำตาล ลดไขมัน นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันเรื่องของลำไส้รั่ว เพราะมีการปรับสมดุลจุลินทรีย์และเพิ่มการยึดเกาะของเยื่อบุลำไส้ได้ดีขึ้น

รศ.ดร.วาณี ชนเห็นชอบ ประธานอนุกรรมการแผนงานอาหารมูลค่าสูง บพข. กล่าวว่า แผนงานอาหารมูลค่าสูง มีเป้าหมายเพื่อยกระดับการผลิตและการส่งออก Functional Ingredients Functional Food และ Novel Food โดยใช้วัตถุดิบจากภาคเกษตรของประเทศ โดยการนำงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาขับเคลื่อนตามแนวทางของเศรษฐกิจ BCG โดยให้การสนับสนุนทุนวิจัยในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านโครงสร้างพื้นฐาน โรงงานต้นแบบ ที่สามารถให้บริการ SME ในการทดลองขยายขนาดการผลิต สร้างเข้มแข็งด้านการขึ้นทะเบียน อย. ในอาหารมูลค่าสูง และ มาตรฐานการผลิตและการทดสอบต่างๆ

บพข. ได้มีการสนับสนุนทุนด้านการพัฒนาโพรไบโอติกสายพันธุ์ไทย ในหลายโครงการ ตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐาน การขยายสเกล การวิเคราะห์ โดยมี ทีมวิจัยจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ฺไบโอเทค) เป็นหน่วยงานสำคัญที่ร่วมผลักดัน ให้เกิดการสร้างศักยภาพการผลิตผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกของไทย จนมาถึงโครงการพัฒนา “ผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกสายพันธุ์ไทยผสมสารสกัดจากพืช ต่อภาวะแวดล้อมทางจุลชีพและกลุ่มอาการทางระบบสืบพันธุ์และทางเดินปัสสาวะ ระดับนำ้ตาลในเลือด และคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพองค์รวมของสตรีวัยหมดระดูไทย” ในวันนี้ ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งขั้นตอนสำคัญของการก้าวไปสู่การทำตลาดทั้งในและต่างประเทศของผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกส์สัญชาติไทย

รศ.ดร.วาณี ชนเห็นชอบ (ท่านที่ 2 จากซ้าย) ประธานอนุกรรมการแผนงานอาหารมูลค่าสูง บพข.

เส้นทางการเพิ่มศักยภาพการผลิตโพรไบโอติกสายพันธุ์ไทย ด้วยทุนวิจัย บพข.


บพข. ได้ให้การสนับสนุนทุนวิจัยในโครงการ “โครงสร้างพื้นฐานและแพลตฟอร์มเทคโนโลยีการผลิตสารให้ประโยชน์เชิงหน้าที่จากจุลินทรีย์และชีววิทยาสังเคราะห์ในระดับขยาย” โดยมี ดร.กอบกุล เหล่าเท้ง ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยส่วนผสมฟังก์ชั่นและนวัตกรรมอาหาร ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติ (ไบโอเทค) เป็นหัวหน้าโครงการ เพื่อติดอาวุธให้ “โรงงานต้นแบบชีวกระบวนการไบโอเทค (BIOTEC Bioprocessing Facility – BBF)” ในการสนับสนุนอุตสาหกรรมสารให้ประโยชน์เชิงหน้าที่ และอุตสาหกรรมอาหาร โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวกระบวนการ และการขยายขนาดการผลิตจากทรัพยากรจุลินทรีย์ในประเทศ และจุลินทรีย์ชีววิทยาสังเคราะห์

ดร.กอบกุล เหล่าเท้ง หัวหน้าโครงการวิจัย

BBF ให้บริการแก่ผู้ประกอบการต่างๆ ทั้ง Startup, SMEs และ large enterprise ในการขยายขนาดการผลิตจากจุลินทรีย์ในระดับโรงงานต้นแบบ สำหรับผลิตภัณฑ์ในกลุ่มวัตถุเจือปนอาหาร สารอาหาร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร รวมถึงการให้บริการด้านงานวิจัยระดับขยายแก่นักวิจัย การให้บริการผลิตเพื่อนำผลิตภัณฑ์ไปใช้ในการทดสอบภาคสนาม การทดสอบทางคลินิก การขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ และการทดลองตลาด ภายใต้มาตรฐานสากล Codex GHPs และ HACCP และตามแนวทางปฏิบัติ Good Industrial Large Scale Practice หรือ GILSP ด้วยเครื่องมือ/เครื่องจักรและอุปกรณ์ที่มีความพร้อมตลอดสายการผลิต ได้แก่ ถังปฏิกรณ์ชีวภาพสำหรับเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์ เครื่องปั่นเหวี่ยงตกตะกอนแบบต่อเนื่อง เครื่องทำให้เซลล์แตก เครื่องอัลตร้า/นาโนฟิลเตชั่น เครื่องทำแห้งแบบพ่นฝอย เครื่องทำแห้งแบบแช่เยือกแข็ง เครื่องผสมแบบลูกเต๋า เครื่องบรรจุของเหลวแบบแนวตั้งและเครื่องบรรจุผลิตภัณฑ์แบบผง เครื่องนึ่งฆ่าเชื้อไอน้ำความดันสูง เครื่องวัดปริมาณน้ำอิสระ ตู้เพาะเลี้ยงจุลินทรีย์ในสภาวะไร้ออกซิเจน และเครื่องมือวิเคราะห์สารเมแทบอไลต์ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีโครงการ “การพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโพรไบโอติกสำหรับผู้ป่วยเมแทบอลิกซินโดรม (Development of probiotic product for metabolic syndrome patients)” ศึกษาการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์โพรไบโอติกที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยเฉพาะต่อระบบทางเดินอาหารและระบบเมแทบอลิซึมต่างๆ ของร่างกาย เพื่อรองรับผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญต่อสุขภาพและตลาดโพรไบโอติกที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และเพื่อลดปริมาณการนำเข้าโพรไบโอติกจากต่างประเทศ โดยโครงการได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีแบคทีเรีย 3 สายพันธุ์ ได้แก่ Lactobacillus paracasei MSMC 39-1, Lactobacillus reuteri TF314 และ Bifidobacterium animalis TA1 ซึ่งมีคุณสมบัติลดอาการที่เกี่ยวข้องกับการผิดปกติของเมแทบอลิซึมของร่างกาย (การลดระดับคอเลสเตอรอล ลดการอักเสบของตับที่จะนำไปสู่การเกิดโรคไขมันพอกตับ) ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง ไบโอเทค และ บริษัท สยาม อะกริ ซัพพลาย จำกัด โดยการพัฒนาต่อยอดจากแพลตฟอร์มเทคโนโลยีการผลิตเดิมของทีมวิจัยไบโอเทค และใช้โรงงานต้นแบบชีวกระบวนการไบโอเทค (BBF) ในการดำเนินการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ พบว่าแบคทีเรียโพรไบโอติกทั้ง 3 สายพันธุ์ ยังคงมีคุณสมบัติโพรไบโอติกและการลดคอเลสเตอรอล และสร้างต้นแบบการพัฒนาผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปโพรไบโอติกแบบแคปซูลได้สำเร็จ ไปถึงการพัฒนาแบรนด์สินค้าและฉลากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารร่วมกับผู้ประกอบการ จนขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์เสริมอาหารภายใต้แบรนด์ไบโอเฮป้า (bioHEPA) กับ อย. และออกจำหน่ายสู่เชิงพาณิชย์ได้

อีกหนึ่งโครงการที่มีส่วนสนับสนุนการพัฒนาโพรไบโอติกสายพันธุ์ไทย นวัตกรรมเพื่อคุณภาพชีวิตของสตรี คือโครงการ “การพัฒนากระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกสำหรับสตรี” โดย ดร.กอบกุล เหล่าเท้ง จากไบโอเทค ที่พยายามบูรณาการความเชี่ยวชาญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับการวางแผนและบริหารจัดการทางธุรกิจ จนประสบความสำเร็จ และสร้างแนวทางการพัฒนานวัตกรรมกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เพื่ออุตสาหกรรมอาหารใหม่ของประเทศได้อย่างยั่งยืน โครงการนี้ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโพรไบโอติกสายพันธุ์ไทย โดยใช้แบคทีเรีย L. paracasei MSMC 39-1 ทำให้ได้ต้นแบบกระบวนการผลิตเซลล์โพรไบโอติกแบบผงในระดับกึ่งอุตสาหกรรมที่นำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารร่วมกับบริษัท วิโนน่า เฟมินิน จำกัด ภายใต้แบรนด์วิโนน่า โพรไบโอ (Winona Probio) ทำให้นำไปสู่การพัฒนาโครงการ “การผลิตเชิงพาณิชย์และการทดสอบประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกสายพันธุ์ไทยผสมสารสกัดจากพืชต่อภาวะแวดล้อมทางจุลชีพและกลุ่มอาการทางระบบสืบพันธุ์และทางเดินปัสสาวะ ระดับน้ำตาลในเลือด และคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพองค์รวมของสตรีวัยหมดระดูไทย” เพื่อศึกษาประสิทธิภาพทางคลินิกและนำขึ้นทะเบียนกับ อย. ต่อไป นอกจากนี้ ยังสามารถพัฒนากระบวนการผลิต ferment filtrate หรือ โพสต์ไบโอติก (postbiotics) จากน้ำหมักที่เป็นผลผลิตพลอยได้ในการเพาะเลี้ยงเซลล์โพรไบโอติก ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบ และถูกใช้เป็นส่วนผสมฟังก์ชันในการผลิตผลิตภัณฑ์เฟมินินสำหรับทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นของสตรี ภายใต้แบรนด์ “Winona Postbio Feminine Wash”


Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *