การขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยของไทยให้เดินหน้าสู่การเป็น มหาวิทยาลัยแห่งการเป็นผู้ประกอบการ หรือ Entrepreneurial University นับเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่ท้าทายในการพัฒนาการศึกษายุคใหม่ของไทยมาทุกยุค ทุกสมัย เพราะการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการเป็นผู้ประกอบการ ไม่ใช่แค่มีการที่เปิดสอนหลักสูตรที่สร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในมหาวิทยาลัยเท่านั้น ทว่า สถาบันการศึกษานั้น ยังต้องขยับขับเคลื่อนทุกฟันเฟืองให้สามารถสร้างอีโคซิสเตมที่บ่มเพาะผู้ประกอบการให้เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้งานวิจัย นวัตกรรม ที่คิดค้นโดยบุคลากรของมหาวิทยาลัย ให้เดินหน้าสู่การผลิตเพื่อใช้จริงในเชิงพาณิชย์ด้วย
และคงจะดีไม่น้อย ถ้าในการขับเคลื่อน มหาวิทยาลัยไทย ไปสู่ Entrepreneurial University มีการปรับเอาแนวทางจากต้นแบบมหาวิทยาลัยระดับโลกที่ประสบความสำเร็จในการเป็น มหาวิทยาลัยแห่งการเป็นผู้ประกอบการ มาใช้ และนี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดงานเสวนา “Becoming an Entrepreneurial University : Building Bridge and Shaping The Future” ขึ้น

โดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หรือ บพข. ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้เชิญ University of Strathclyde “มหาวิทยาลัยผู้ประกอบการ” หรือ Entrepreneurial University ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งใน สกอตแลนด์ สหราชอาณาจักร ตั้งอยู่ใน เมืองกลาสโกว์ ทางด้านตะวันตกของสกอตแลนด์ มาร่วมถอดบทเรียนความสำเร็จของการสร้างอีโคซิสเตมที่เหมาะสมสำหรับ Entrepreneurial University
ทั้งนี้ มีหลากหลายแง่มุมที่ผู้บริหารจาก University of Strathclyde ได้มาแชร์ในงานเสวนานี้ และมหาวิทยาลัยไทยสามารถนำไปปรับใช้เพื่อวางแนวทางเดินหน้ามหาวิทยาลัยแห่งการเป็นผู้ประกอบการ โดยเฉพาะการสร้าง Leadership & Culture หรือความเป็นผู้นำและวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยแห่งการเป็นผู้ประกอบการ ที่แทรกซึมไปในทุกองคาพยพในองค์กร ตั้งแต่ผู้บริหารไปจนถึงพนักงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้บริหารมหาวิทยาลัย ซึ่งต้องมีความเข้าใจในหลักการของการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไปสู่การเป็น Entrepreneurial University เพื่อเชื่อมประสานให้ทุกภาคส่วนทั้งภายในและภายนอกพัฒนาไปอย่างสอดคล้องกัน

ในโอกาสนี้ รศ.ดร.ชาลีดา บรมพิชัยชาติกุล รองผู้อำนวยการกลุ่มงานด้านกลยุทธ์วิจัย บพข. ได้กล่าวเปิดงานและชี้ถึงบทบาทสำคัญของ บพข. ว่า
“บพข. หรือ Program Management Unit for Competitiveness (PMUC) เป็นหน่วยงานบริหารจัดการทุนที่ส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนทั้งในและนอกประเทศ เพื่อนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และศาสตร์ต่างๆ มาเชื่อมโยงกับห่วงโซ่คุณค่า (Value chain) ที่ก่อให้เกิดอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์และบริการมูลค่าสูง สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ พัฒนาสังคมเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน”
“PMUC ไม่ใช่แค่เป็นหน่วยงานที่ให้ทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับโครงการวิจัยเท่านั้น แต่เราเป็นส่วนหนึ่งของการสร้าง Ecosystem ให้กับนวัตกรรมของไทย และความท้าทายในการทำงานของ PMUC คือการปิดช่องว่างของโครงการวิจัยของไทยและพัฒนา เพิ่มขีดความสามารถไปสู่การผลิตเพื่อใช้จริงในเชิงพาณิชย์ให้ได้ ในโอกาสนี้เราต้องขอขอบคุณ University of Strathclyde ซึ่งเป็นพันธมิตรและเป็นต้นแบบของเราในการให้ความรู้กับผู้บริหารงานวิจัยระดับสูงและร่วมพัฒนามหาวิทยาลัยไทยสู่การเป็น Entrepreneurial University อย่างยั่งยืน”

ความท้าทายและโอกาส บนเส้นทางการเป็น Entrepreneurial University ของ University of Strathclyde
Julian Taylor, Managing Director, University of Strathclyde กล่าวถึงความท้าทายสำคัญของการเป็น Entrepreneurial University ว่า
“ความท้าทายของการเป็น Entrepreneurial University อยู่ที่การสร้างสะพานเชื่อมต่อเพื่อปูทางสู่การพัฒนาและยกระดับนวัตกรรมอย่างเป็นรูปธรรมก็จริง และสิ่งที่ยากไม่แพ้กัน คือ การสร้างสะพานเพื่อเชื่อมความร่วมมือนี้เข้ากับประเทศชาติกับผู้คน แต่ความท้าทายนี้จะง่ายขึ้นถ้าเรามาเป็นพันธมิตรที่ร่วมมือกัน และ University of Strathclyde ก็มีความยินดีอย่างยิ่งที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสร้างอีโคซิสเตมกับ PMUC เพื่อยกระดับนวัตกรรมของไทย เพิ่มขีดความสามารถให้นวัตกรไทยเดินหน้าไปสู่การเป็นผู้ประกอบการนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ”
“University of Strathclyde ตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1796 เป็นมหาวิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในสกอตแลนด์ สหราชอาณาจักร ตั้งอยู่ในเมืองกลาสโกว์ ทางด้านตะวันตกของสกอตแลนด์ และยังตั้งอยู่ใจกลางเมืองกลาสโกว์ที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในสหราชอาณาจักร นอกจาก University of Strathclyde จะโดดเด่นในเรื่องงานวิจัยที่สามารถปรับใช้ได้จริงแล้ว University of Strathclyde ยังมุ่งเน้นการพัฒนาหลักสูตรที่ทันสมัย สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจ ด้วยเหตุนี้ University of Strathclyde จึงได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางและมีความสัมพันธ์อันดีกับภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมมาโดยตลอด”
“จากจุดเด่นนี้เอง ทำให้ในปี 2013 University of Strathclyde ได้รับรางวัล Entrepreneurial University of the Year โดย Times Higher Education ไม่เพียงเท่านั้น ในปี 2020 เรายังเป็นมหาวิทยาลัยแห่งปีของสกอตแลนด์ และได้รับรางวัล Queen’s Anniversary Prize สำหรับการศึกษาในระดับอุดมศึกษาและการศึกษาต่อซึ่งเป็นเกียรติประวัติสูงสุดระดับชาติอีกด้วย”

“University of Strathclyde มีการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยให้ตอบโจทย์การเป็น Entrepreneurial University โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับเมืองและชุมชนเป็นหลัก บวกกับการดำเนินงานที่ให้ความสำคัญกับความร่วมมือระหว่าง ภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงทุกภาคส่วนเพื่อสร้างสรรค์และยกระดับกิจกรรมต่างๆที่เกิดขึ้นให้ตอบโจทย์การสร้างโอกาสให้ผู้คน โดยเฉพาะชาวเมืองกลาสโกว์ ชาวสกอตแลนด์ และทำให้สหราชอาณาจักร ได้รับการยอมรับในฐานะผู้นำในด้านวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และเทคโนโลยี ระดับโลกด้วย”
“โดยในการขับเคลื่อนนั้นเราทำในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็น ในแง่ของการตอบสนองต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (Socially and Environmentally) ที่มหาวิทยาลัยของเราได้เข้าไปมีบทบาทในการปกป้องและรักษาสภาพแวดล้อมทางทะเล (Marine Protection) หรือในแง่ของการพัฒนาพื้นที่ (Locally) เราก็ได้ทำงานร่วมกับสถานประกอบการ ภาคการผลิต โรงงานอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ สินค้าและบริการ ตลอดจนในแง่ของการสร้าง Impact เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเมือง (Economically) โดยมหาวิทยาลัยของเราก็เป็นศูนย์กลางของการคิดค้น พัฒนา นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่หลากหลายของเมือง”
“ส่วนการทำงานร่วมกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก (Internationally) เราก็ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาและเปลี่ยนผ่านกับบริษัทผลิตพลังงาน เพื่อวางแผนการใช้พลังงานสมัยใหม่ร่วมกับประเทศต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในครั้งนี้ก็เช่นกันที่เราได้ร่วมมือกับ PMUC และมหาวิทยาลัยของไทย ในรูปแบบของพันธมิตรที่จะร่วมสร้างอีโคซิสเตมให้กับวงการวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้เติบโตบนเส้นทางของการเป็น Entrepreneurial University อย่างเป็นรูปธรรม”
“ทั้งนี้ เรามองว่าการเรียนรู้ระหว่าง University of Strathclyde, PMUC และมหาวิทยาลัยของไทย จะเป็นการเรียนรู้แบบ 2 ทาง เพื่อที่จะเข้าใจอีโคซิสเตมที่แท้จริงของการยกระดับนวัตกรรมในไทยไปสู่เชิงพาณิชย์ เพราะในมุมมองของ University of Strathclyde ความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) เกิดขึ้นได้ด้วยปัจจัยต่างๆประกอบกัน เช่น โครงสร้างพื้นฐาน เครือข่ายการพัฒนาผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation-Driven Entrepreneurship) การสนับสนุนทุนจากภาคส่วนต่างๆ ซึ่ง University of Strathclyde มีความยินดีที่จะนำจุดเด่นของโมเดลที่เราใช้ขับเคลื่อน Entrepreneurial University จนประสบความสำเร็จมาแชร์เพื่อสร้างเป็น Framework เป็น Action Plan ที่นำสู่เป้าหมายของการส่งเสริมและสร้างความแข็งแกร่งให้ผู้ประกอบการนวัตกรรมของไทยร่วมกัน”

ต่อยอดความสำเร็จของมหาวิทยาลัย สู่การสร้างความแข็งแกร่งให้ ‘เมืองกลาสโกว์’ เป็นเมืองแห่งผู้ประกอบการนวัตกรรม
Professor Duncan Graham, Associate Principal & Executive Dean of Faculty of Science, University of Strathclyde ได้ชี้ให้เห็นถึงแนวทางการสานต่อความสำเร็จของการเป็น Entrepreneurial University สู่การสร้างความแข็งแกร่งให้เมืองกลาสโกว์ เป็นเมืองแห่งผู้ประกอบการนวัตกรรมว่า
“University of Strathclyde ก่อตั้งขึ้นด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจและไม่ได้วางเป้าหมายการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยให้เป็นเหมือนมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งอื่นในสหราชอาณาจักร ทว่า University of Strathclyde ยังอยากเป็นมหาวิทยาลัยที่คนทุกคนที่ต้องการแสวงหาความรู้สามารถเดินเข้ามาเพื่อมาหาความรู้ด้านต่างๆได้อย่างสนิทใจ และในด้านของการนำเสนองานวิจัยในด้านต่างๆ University of Strathclyde ก็มีความโดดเด่นเด่นในด้านนี้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เพราะกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยของเราได้รับการยอมรับในระดับโลก (World Leading) และได้มาตรฐาน Internationally Excellent ของ Times Higher Education Analysis of REF 2021 อีกด้วย”
“นอกจากนั้น อีกหนึ่งจุดเด่นของ University of Strathclyde คือ ที่ตั้ง ที่อยู่ใจกลางเมืองกลาสโกว์ จึงได้ชื่อว่าเป็น พื้นที่สำหรับการเรียนรู้ที่เป็นประโยชน์ เข้าถึงง่าย ไม่ใช่แค่สำหรับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งรวบรวมงานวิจัยและนวัตกรรมสำหรับสังคมทั้งในระดับประเทศและระดับโลกอีกด้วย”
“และ University of Strathclyde ยังได้สร้างอีโคซิสเตมที่ตอบสนองความเป็น Entrepreneurial University ในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น การจัดตั้ง Technology and Innovation Centre (TIC) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการทรานสฟอร์มความร่วมมือระหว่างภาควิชาการ อย่าง มหาวิทยาลัย กับภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม รวมไปถึงหน่วยงานภาครัฐ

“เช่น ความร่วมมือระหว่าง 5 ศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการ หรือ Catapults ในสหราชอาณาจักร, 4 ศูนย์ส่งเสริมนวัตกรรมที่อยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงานภาครัฐ และแบรนด์สตาร์ทอัพ หรือ SMEs ที่ประสบความสำเร็จและมีอัตราการเติบโตของธุรกิจที่ค่อนข้างสูง ทั้งนี้ ยังรวมถึง ความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมและแบรนด์ชั้นนำระดับโลก เพื่อต่อยอดและพัฒนางานวิจัยร่วมกัน เช่น Roll Royce, Pfizer, Siemens และ Cisco รวมถึงศูนย์วิจัยเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย”
“นอกจากนั้น University of Strathclyde ยังเป็นกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญของ Glasgow City Innovation District (GCID) ซึ่งเป็นศูนย์รวมด้านการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ, การลงทุนในธุรกิจนวัตกรรม, และการสร้างความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย อุตสาหกรรม และรัฐบาล จนทำให้ เมืองกลาสโกว์ เป็นเมืองที่มีบริษัทนวัตกรรมมากมายที่สร้างเม็ดเงินได้มหาศาล ทำให้เศรษฐกิจของเมือง กลาสโกว์ มีความมั่นคงมาอย่างต่อเนื่อง”
“ไม่เพียงเท่านั้น เรายังเปิด Advanced Manufacturing Innovation District หรือ AMIDS ที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากสนามบิน Glasgow ซึ่งด้วยที่ตั้งที่อยู่ไม่ไกลจากสนามบินนี้เองที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับภาคอุตสาหกรรมจากทั่วโลกที่จะเดินทางมายัง AMIDS เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ความร่วมมือ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตที่ทันสมัย ตลอดจนร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อสร้างผู้ประกอบการนวัตกรรมด้วย AMIDS จึงเปรียบเสมือนบ้านอีกหนึ่งหลังที่ใช้เลี้ยงดู บ่มเพาะ ให้กับเหล่าสตาร์ทอัพหรือว่าที่ผู้ประกอบการ SMEs และที่ AMIDs นี้ ยังเป็นที่ตั้งของศูนย์ส่งเสริมนวัตกรรมภาครัฐอย่าง the National Manufacturing Institute Scotland (NMIS) ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตด้านการแพทย์ อีกด้วย”

แชร์แนวทางขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้เมืองได้อย่างยั่งยืน
Gillian Docherty, Chief Commercial Officer, University of Strathclyde
“ความเป็นผู้ประกอบการ หรือ Entrepreneur ไม่ได้หมายความแค่ในแง่ของการเริ่มทำธุรกิจ แต่การเป็นผู้ประกอบการที่ดียังถือเป็นผู้ที่ทำประโยชน์ให้กับสังคม ชุมชน และประเทศชาติด้วย เพราะ ความเป็นผู้ประกอบการ หมายถึง ผู้ที่มีทักษะในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทำธุรกิจที่สร้างแรงบันดาลใจให้ทุกภาคส่วน ไปจนถึงการเป็นผู้ที่สามารถมองเห็นถึงโอกาสและต่อยอดใช้มันอย่างเป็นประโยชน์สูงสุด ดังนั้นการสร้างมายด์เซ็ตของความเป็นผู้ประกอบการให้เกิดขึ้นกับบุคลากรจึงมีความสำคัญอย่างมาก”
“เพราะฉะนั้นหลักสูตรการเรียนการสอนที่ University of Strathclyde จึงตอบโจทย์การเป็น “‘Entrepreneurship for All” เพื่อมอบโอกาสให้นักศึกษาได้มองเห็นเส้นทางการเดินหน้าสู่ความเป็นผู้ประกอบการชัดขึ้น ขณะเดียวกัน ถ้าใครอยากฝึกงานหรือทำงานกับ SMEs หรือธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ University of Strathclyde ก็มีเครือข่ายธุรกิจมากมายที่พร้อมจะเปิดรับทุกคนเข้าไปเรียนรู้งานและเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับการเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งถ้านักศึกษาเรียนจบไปแล้ว อยากไปหาประสบการณ์โดยการทำงานกับภาคธุรกิจเหล่านี้ก็ย่อมมีโปรไฟล์ดีๆ ที่ทำให้นักศึกษามีโอกาสมีงานทำเพิ่มขึ้น นอกจากนั้น พนักงานของมหาวิทยาลัย หรือ Staffs ทุกคน ก็จะได้รับการปลูกฝังให้เข้าใจความเป็นผู้ประกอบการ ผ่านวัฒนธรรมองค์กรที่ชัดเจนและเข้มแข็ง”
“และต่อมา University of Strathclyde มีการตั้ง Entrepreneurs Fund ขึ้น ในปี 2016 โดยใช้เงินทุนจากมหาวิทยาลัยและศิษย์เก่า ซึ่งมีภาคธุรกิจอยู่ในเครือข่ายกว่า 18 บริษัท และมาถึงตอนนี้กองทุนนี้สามารถสร้างเม็ดเงินการลงทุนได้มากกว่า 100,000 ปอนด์ และ Strathclyde Inspire Investment Fund ที่ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2021 โดยมีการลงทุนเฉลี่ยประมาณ 350,000 ปอนด์ และใน Portfolio ตอนนี้มีทั้งหมดถึง 13 บริษัทแล้ว”

ส่วนในการขับเคลื่อนนวัตกรรมที่สามารถเพิ่ม Productivity ได้อย่างมีประสิทธิภาพ Gillian Docherty แสดงให้เห็นแนวทางและขั้นตอนสำคัญให้เห็นว่าต้องมีองค์ประกอบเหล่านี้
• สนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน เช่น GCID จะจัดกิจกรรมขึ้นเป็นประจำเพื่อตอบสนองการสร้างทักษะความเป็นผู้ประกอบการให้ทุกคน ไปจนถึงการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานระดับชาติ และจับมือกับพาร์ทเนอร์ระดับโลก เพื่อสื่อสารถึงความเป็นเมืองนวัตกรรมของเมืองกลาสโกว์
• สนับสนุนให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ด้วยการสื่อสารให้ภายนอกรู้จักกับ Innovation Hub ที่อยู่ในเครือข่ายของมหาวิทยาลัย ให้ความช่วยเหลือกับธุรกิจนวัตกรรมให้ตั้งธุรกิจในเขตนวัตกรรมและช่วยทางธุรกิจให้มีสถานที่ทำงานชั่วคราวในพื้นที่เขตนวัตกรรมนั้น พัฒนาหลักสูตรเกี่ยวกับการพัฒนานวัตกรรมที่ร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมในการออกแบบหลักสูตร
• เป็นพี่เลี้ยงและเป็นตัวเร่งให้ธุรกิจนวัตกรรมมีการเติบโต ทำงานร่วมกับเขตนวัตกรรมและพาร์ทเนอร์เพื่อขยายความร่วมมือ เติมเต็มอีโคซิสเตมให้สมบูรณ์ ควบคู่ไปกับการให้ความช่วยเหลือแก่ธุรกิจต่างๆที่อยากจัดอีเวนต์และโปรโมตธุรกิจของตน ตลอดจนเป็นสื่อกลางเชื่อมระหว่างธุรกิจเพื่อให้มาทำงานเป็นพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจกัน
• เชื่อมต่อภาควิชาการ ด้วยงานวิจัยที่ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม ด้วยการเชื่อมโยงนักศึกษาที่มีความสามารถสูงเข้ากับภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม ควบคู่ไปกับการสื่อสารที่ชัดเจนว่า University of Strathclyde เป็นมหาวิทยาลัยแห่งการศึกษาวิจัยตอบโจทย์การพัฒนาในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมล้ำสมัยสำหรับภาคอุตสาหกรรม เช่น ระบบการผลิตอัจฉริยะ การบริหารจัดการพลังงาน, IoT, 5G, FinTech, Health Tech เป็นต้น
• ร่วมพัฒนาชุมชนให้เติบโตและได้รับการจดจำในฐานะเมืองนวัตกรรม สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในทุกกิจกรรมที่จัดขึ้นที่ GCID และโปรโมตธุรกิจ รวมถึงสร้างสรรค์คอนเทนต์เพื่อสื่อสารถึงความโดดเด่นของธุรกิจนวัตกรรมที่
• ต่อยอดสู่การสร้างอีโคซิสเตมของผู้ประกอบการที่เติบโตได้อย่างยั่งยืน สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ปูทางสู่ความเป็นผู้ประกอบการนวัตกรรม โดยการเชื่อมโยงความร่วมมือกับทุกภาคส่วนให้เข้าใจในบริบทเดียวกัน กับความตั้งใจในการทำให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างธุรกิจนวัตกรรมในเขตพื้นที่นวัตกรรมซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน ในการขับเคลื่อนเมืองนวัตกรรม
นอกจากนั้น Gillian Docherty ยังได้ตอบคำถามสำคัญว่าแล้วในบริบทของประเทศไทย การสร้างอีโคซิสเตมเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรมของไทย ต้องเริ่มจากตรงไหน โดย Gillian เน้นย้ำว่า “ควรเริ่มจากทรัพยากรที่เรามี” โดยขยายความว่า เธอเชื่อว่าในในมหาวิทยาลัยของไทยมีงานวิจัยและนวัตกรรมจำนวนมากที่ยังไม่ได้นำมาต่อยอดและพัฒนาไปสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งแน่นอนว่าในตอนนี้ ทาง PMUC และหน่วยงานต่างๆ ก็ได้มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและส่งเสริม เพื่อยกระดับงานวิจัยเหล่านี้ให้สามารถนำไปผลิตเพื่อใช้จริงอย่างต่อเนื่องแล้ว
“แต่แน่นอนว่าสิ่งที่ต้องเน้นสร้างให้เพิ่มขึ้น คือ การสร้างพาร์ทเนอร์ระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับภาคการศึกษา หรือภาคการวิจัยของประเทศ ให้เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะเชื่อแน่ว่าภาคอุตสาหกรรมเองก็ต้องเจอกับปัญหา อุปสรรค รวมถึงประเด็นต่างๆที่ต้องการหาผู้เชี่ยวชาญ หรือแม้แต่ผู้ประกอบการที่มีไอเดียสดใหม่มาช่วยแก้ปัญหานี้ ขณะเดียวกัน ทุกภาคส่วนต้องมาทำงานร่วมกันเพื่อสร้างกฎเกณฑ์ใหม่ที่เอื้อต่อการทำงานเพื่อพัฒนาอีโคซิสเตมนี้ร่วมกัน รวมถึงต้องพยายามปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์หรือกฎหมายเก่า เพื่อเอื้อให้กับภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการจะมาทำงานร่วมกับภาคการศึกษาหรือการวิจัยและพัฒนาด้วย”
และ Professor Duncan Graham ยังชี้ให้เห็นจุดเด่นของประเทศไทยด้วย ที่มีอีโคซิสเตมผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมเด่นๆ เช่น อุตสาหกรรมการผลิตอาหาร ที่ดีและหลากหลายอยู่แล้ว การต่อยอดจากจุดเด่นนี้เพื่อสร้างทั้ง มหาวิทยาลัยแห่งผู้ประกอบการ หรือ อีโคซิสเตมของผู้ประกอบการนวัตกรรมจึงไม่ได้ยากเลย

บพข. ถอดบทเรียนความสำเร็จจาก University of Strathclyde สู่โครงการพัฒนาศักยภาพผู้บริหารมหาวิทยาลัยไทย (Top Research Executive Training Deep Dive Program: TREX ) เดินหน้าสู่ มหาวิทยาลัยผู้ประกอบการเต็มขั้น
ผศ.ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ ที่ปรึกษาอาวุโส บพข. ได้มาบอกเล่าถึงสิ่งที่ได้จากการไปศึกษาดูงานที่ University of Strathclyde ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้ในการวางแนวทางพัฒนา มหาวิทยาลัยแห่งการเป็นผู้ประกอบการในไทยว่า
“การได้รับโอกาสจากได้ไปเรียนรู้กับ University of Strathclyde นับเป็นโอกาสที่ดีไม่ใช่ต่อ บพข. เท่านั้น แต่ต่อประเทศไทยก็ว่าได้ โดยเฉพาะในมุมของการเรียนรู้แนวทางการพัฒนามหาวิทยาลัยไทยให้เป็น มหาวิทยาลัยแห่งผู้ประกอบการ หรือ Entrepreneurial University และการสร้างอีโคซิสเตมในมหาวิทยาลัยตนเองให้เข้มแข็ง สมบูรณ์ เพื่อที่จะมาสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานหรือองค์กรที่มีบทบาทในการพัฒนานวัตกรรม พัฒนาธุรกิจนวัตกรรมต่อ ซึ่งเราตั้งใจนำโมเดลความสำเร็จที่ University of Strathclyde ใช้เพื่อมาปรับกับการพัฒนามหาวิทยาลัยของไทย”
“โดยเฉพาะในประเด็นสำคัญ คือ เราเชื่อว่าในการสร้างอีโคซิสเตมของมหาวิทยาลัยผู้ประกอบการ นักวิจัยในมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่มีความเข้าใจในแนวทางนี้ ทว่า ในส่วนของผู้บริหารมหาวิทยาลัย มองว่ายังต้องมีการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจให้ตรงกันในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยแห่งผู้ประกอบการในไทยพอสมควร เพราะจากที่เราเห็นโมเดลการพัฒนาของ University of Strathclyde การขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยแห่งผู้ประกอบการนี้เป็นการเดินหน้าไปทุกองคาพยพ ตั้งแต่ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัย ผู้บริหารระดับสูง คณาจารย์ ไปจนถึงพนักงานในมหาวิทยาลัยให้เข้าใจแนวคิดและแนวทางการทำให้ University of Strathclyde เป็น Entrepreneurial University และให้ความร่วมมือพร้อมทำทุกอย่างเพื่อให้เกิดการรับรู้และยอมรับ ตลอดจนแนวคิดนี้ยังเชื่อมต่อและกระจายไปในประชาชนทุกคนและทุกภาคส่วนในเมืองกลาสโกว์ ซึ่งนำมาสู่ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเช่นกัน”

“ด้วยเหตุนี้ เราจึงมองว่า หนึ่งใน Key Success สำคัญของการสร้าง Entrepreneurial University คือความเป็นผู้นำที่สร้างความเปลี่ยนแปลง หรือ Leadership ที่สอดคล้องกับการพัฒนามหาวิทยาลัยไปสู่การเป็น มหาวิทยาลัยผู้ประกอบการ ขอยกตัวอย่างที่ University of Strathclyde หนึ่งใน Key success สำคัญ คือ แนวคิดหลักที่ Professor Sir Jim Mcdonald ได้วางรากฐานการเป็น Entrepreneurial University ไว้ จนในวันนี้กลายมาเป็นวัฒนธรรมองค์กร หรือ Culture ในองค์กร ซึ่งในประเทศไทยยังไม่มีบุคคลที่มีอิทธิพลมากขนาดนี้ เพราะท่านเป็นผู้บริหารมา 16 ปี ทุกคนในมหาวิทยาลัยรวมถึงผู้คนในเมืองจึงรู้จัก Sir Jim Mcdonald ด้วย”
“มาในวันนี้ บพข. จึงทำหลักสูตรออกมาหลักสูตรแรก ที่จะยึดเอา University of Strathclyde เป็นต้นแบบและถอดบทเรียนความสำเร็จมาปรับใช้ในการพัฒนาผู้บริหารมหาวิทยาลัยของไทย ผ่านการเปิด โครงการพัฒนาศักยภาพผู้บริหารงานวิจัยระดับสูงของหน่วยงานผู้รับทุนในระบบ ววน. กลุ่มเป้าหมาย หรือ TREX ซึ่งเป็นโครงการอบรมสำหรับผู้บริหารงานวิจัยระดับสูงของมหาวิทยาลัยและหน่วยงานรับทุน เช่น รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย/นวัตกรรม รองอธิการบดีฝ่ายแผนและงบประมาณ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัย/นวัตกรรมด้านการบริหารงานวิจัยบริหารงบประมาณวิจัย และบริหารจัดการทรัพยากรต่างๆ ในมหาวิทยาลัยที่ได้รับจากแหล่งทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งเน้นการบริหารงานวิจัยเพื่อการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์”
“การเป็น Entrepreneurial University หรือ มหาวิทยาลัยแห่งการเป็นผู้ประกอบการ ไม่ใช่มหาวิทยาลัยที่สร้างสตาร์ทอัพเท่านั้น เป็นมหาวิทยาลัยที่สร้างคนที่คิดอย่างผู้ประกอบการ Think as Entrepreneur / Behave like an entrepreneur / Doing Research as an entrepreneur”

“นี่นับเป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญของ บพข. ที่ไม่แพ้ภารกิจอื่น เพราะมองว่าถ้าเราไม่สร้างอีโคซิสเตมให้กับมหาวิทยาลัยไทย โดยการติดตั้งมายด์เซตของการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งผู้ประกอบการให้กับผู้บริหารมหาวิทยาลัย ทุนสนับสนุนที่ บพข. ให้ไปกับนักวิจัยของมหาวิทยาลัยอาจไม่ตอบโจทย์กับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับโครงการวิจัย หรือนวัตกรรมและเทคโนโลยีของไทยได้อย่างตรงจุดเท่าที่ควร เพราะนักวิจัยก็จะไม่สามารถพัฒนางานวิจัยของเขาได้เต็มที่ถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยที่เขาสังกัด”
“และจากการทำโครงการ TREX รวมถึงจากการได้ไปเห็นความสำเร็จของการเป็น Entrepreneurial University ที่ University of Strathclyde เรามองว่าต่อไปต้องมีการให้ความสำคัญกับภาคโครงการวิจัยในด้านสังคมศาสตร์ด้วย เพราะโครงการวิจัยด้านนี้ก็มีศักยภาพก่อให้เกิดผู้ประกอบการได้เช่นกัน ซึ่งก็ต้องยอมรับวาที่ผ่านมาเราให้ความสำคัญแต่กับการพัฒนาและต่อยอดโครงการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ Deep Science & Technology เท่านั้น จนละเลยงานวิจัยด้านสังคมศาสตร์ไป เพราะจากการได้ไปดูงาน จะเห็นเลยว่า มีโครงการวิจัยที่เกี่ยวกับ Education Technology หรือเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน ที่ประสบความสำเร็จไม่น้อย”