ข่าว

“นอนนอน” สตาร์ทอัพไทยรายแรกของโลก บริการ “ให้เช่าที่นอนใหม่ + รีไซเคิล” ดึงงานวิจัยสร้างธุรกิจสีเขียว ลดคาร์บอน ภายใต้การสนับสนุนของ อว.-บพข.

“นอนนอน” (nornnorn) เป็นสตาร์ทอัพที่ถูกก่อตั้งขึ้นที่กรุงเทพฯ เมื่อต้นปี 2561 โดยผู้บริหารมืออาชีพที่มีใจรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อมอบช่องทางในการเข้าถึงที่นอนใหม่คุณภาพสูงให้กับโรงแรม รีสอร์ท และธุรกิจให้บริการที่พักอื่นๆ ตลอดจนผู้ใช้ตามบ้าน ในราคาที่เข้าถึงง่าย และช่วยรับที่นอนที่พ้นสภาพการใช้งานแล้วกลับมาแยกชิ้นส่วนไปรีไซเคิลหรืออัพไซเคิล ด้วยความมุ่งหวังที่จะดำเนินธุรกิจในรูปแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีธรรมาภิบาล ช่วยเหลือสังคม และมีความยั่งยืน บรรลุสู่เป้าหมายสำคัญที่สุด คือ การเปลี่ยนระบบการผลิตและระบบอุปโภคเพื่อสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ช่วยขับเคลื่อนประเทศชาติสู่สังคมไร้คาร์บอน


จาก “ที่นอนนุ่น” สู่ “ที่นอนสปริง” รายแรกของอาเซียน

คุณนพพล เตชะพันธ์งาม ผู้ก่อตั้งและ CEO บริษัท เซอร์คิวลาร์ริตี จำกัด เจ้าของธุรกิจนอนนอน

คุณนพพล เตชะพันธ์งาม ผู้ก่อตั้งและ CEO บริษัท เซอร์คิวลาร์ริตี จำกัด เจ้าของธุรกิจนอนนอน ได้เล่าถึงแรงบันดาลใจในการเริ่มธุรกิจให้บริการเช่าที่นอนใหม่คุณภาพสูง ที่มีการควบรวมเอาการรีไซเคิลที่นอนหลังสิ้นสุดการใช้งานเข้าไปอยู่ในบริการด้วย ว่า ในอดีตเมื่อประมาณ 95 ปีมาแล้ว คุณทวดได้เปิดร้านขายที่นอนนุ่น ชื่อว่า “ย่งซุนหงวน” หน้าตลาดมิ่งเมือง ย่านพาหุรัด ในยุคนั้นเป็นเพียงหน้าร้านให้ลูกค้ามาสั่ง เมื่อมีการสั่งซื้อก็จะไปสั่งที่นอนต่อจากชุมชนย่านตลาดน้อย แหล่งผลิตที่นอนนุ่นสมัยนั้น

พอมาถึงรุ่นคุณตา ก็ได้แยกตัวออกมาเปิดร้านขายที่นอนบริเวณย่านกิ่งเพชร โดยคุณตาได้นำผู้ทำที่นอนนุ่นบางส่วนจากย่านตลาดน้อยมาผลิตที่นอนที่ร้านเลย เพื่อให้มีสต๊อกที่นอนที่ร้าน เมื่อลูกค้ามาถึงร้านก็สามารถเลือกซื้อที่นอนกลับไปได้เลย ไม่ต้องรอสั่งผลิต โดยใช้ชื่อร้านว่า “สุขวัฒนา” จนต่อมาได้พัฒนาการผลิตสินค้าจากที่นอนนุ่นเป็นที่นอนฟองน้ำ ถือเป็นรายแรกๆ ของประเทศที่ผลิตที่นอนแบบดังกล่าว ก่อนจะพัฒนาต่อสู่การเป็นผู้ผลิตที่นอนสปริงรายแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“เนื่องจากตอนนั้นเกิดสงครามเวียดนาม มีทหารอเมริกันมาประจำการอยู่ในประเทศไทยจำนวนมาก วันดีคืนดีทหารก็นำที่นอนสปริงมาขอให้ซ่อม คุณตาก็เลยค้นพบว่านี่เป็นสิ่งที่ทางตะวันตกใช้กัน น่าจะลองทำดู เลยสั่งเครื่องจักรมาจากยุโรป ตั้งโรงงานขึ้นมาเพื่อผลิตที่นอนสปริงขายให้กับผู้ใช้ตามบ้าน และเมื่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวในเมืองไทยเริ่มบูม ก็ขายให้กับอุตสาหกรรมโรงแรมที่เริ่มเติบโตอย่างรวดเร็ว ใช้ชื่อแบรนด์ว่า “ดาร์ลิ่ง” และมีการพัฒนาต่อมาเรื่อยๆ จนกระทั่งมาถึงรุ่นคุณพ่อคุณแม่ ก็ได้แยกออกมาทำแบรนด์ “สปริงเมท” เน้นจับกลุ่มโรงแรม-รีสอร์ท หรือธุรกิจบริการที่พักระดับไฮเอนด์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ” คุณนพพลเล่าถึงที่มา

ปรับโมเดลสู่บริการให้เช่าที่นอน

จนกระทั่งเมื่อปี 2558 คุณนพพลมีความคิดอยากเปิดธุรกิจ “บริการให้เช่าที่นอนใหม่” ที่มีการรีไซเคิลที่นอนตอนจบ แรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้เกิดไอเดียนี้ คือ ในช่วงที่ช่วยงานธุรกิจของที่บ้าน เขาพบว่ามีออเดอร์จำนวนมากหลุดไป เนื่องจากลูกค้าไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะซื้อที่นอนคุณภาพสูง และมีลูกค้าหลายรายนำที่นอนเก่ามาขอให้ช่วยกำจัด เพราะไม่รู้จะเอาไปทิ้งที่ไหน ประกอบกับตอนนั้นเขาเริ่มได้ยินเรื่องแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน คุณนพพลจึงลองเสนอไอเดียธุรกิจใหม่นี้กับที่บ้าน

โดยในเวลานั้น ทางครอบครัวคุณนพพลมองว่าธุรกิจแบบใหม่นี้มีความเสี่ยงสูง เพราะเป็นเรื่องใหม่มากๆ ประกอบกับยังไม่ได้มีเสียงเรียกร้องหรือความต้องการเรื่องการรักษ์สิ่งแวดล้อมจากลูกค้า จึงคิดว่าธุรกิจนี้ยังไม่เหมาะที่จะเริ่มทำ แต่คุณนพพลเชื่อว่า เรื่องของสิ่งแวดล้อมจะกลายเป็นประเด็นสำคัญในอนาคต ประกอบกับช่วงปี 2549-2559 เขาได้มีโอกาสไปดูงานที่ประเทศจีนเป็นประจำทุกปี ทำให้ตระหนักว่า อุตสาหกรรมที่นอนในจีนมีการแข่งขันสูงมาก และผู้ผลิตที่นอนในจีนก็มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วในทุกด้าน ซึ่งรวมถึงด้านการตลาด กระบวนการผลิต เทคโนโลยี และบุคลากร อีกทั้งยังมีต้นทุนวัตถุดิบที่ต่ำกว่า ด้วยขนาดตลาดและสเกลการผลิตที่ใหญ่กว่าในไทยมาก ทำให้เขาเริ่มกังวลว่า “ถ้าผู้ผลิตที่นอนจีนเข้ามาเปิดตลาดในไทยและอาเซียน เราจะแข่งกับแบรนด์จีนได้อย่างไร แม้ว่าในวันนั้น (ตั้งแต่ปี 2553) เรายังไม่เจอปัญหานี้ แต่อีก 10-20 ปี ข้างหน้าก็ต้องเผชิญหน้าอย่างเลี่ยงไม่ได้ เราจึงต้องเริ่มปรับตัวรองรับการแข่งขันที่จะต้องรุนแรงขึ้น มองหารูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ที่ทำให้เราสามารถไปต่อได้ การปรับตัวจากผู้ผลิตมาเป็นผู้ให้บริการ โดยอาศัยความรู้ ประสบการณ์ ชื่อเสียง และฐานลูกค้าเดิม ก็เป็นหนึ่งในทางเลือกที่น่าจะเป็นไปได้” คุณนพพลจึงได้แยกตัวออกมาเปิดธุรกิจใหม่ในช่วงต้นปี 2561

นอนนอนเริ่มต้นด้วยการเปิดให้บริการเช่าที่นอนใหม่กับกลุ่มโรงแรม-รีสอร์ทในไทยและอินโดนีเซียในช่วงไตรมาส 4 ปี 2561 นั้นเอง แต่เพียงหนึ่งปีหลังเปิดให้บริการ บริษัทก็ต้องเจอกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 เป็นวิกฤตที่กระทบอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแบบเต็มๆ โรงแรม รีสอร์ท ทั้งในไทยและอินโดนีเซีย ล้วนต้องปิดกิจการทั้งแบบชั่วคราวและถาวร จนคุณนพพลเกิดความรู้สึกอยากยอมแพ้ แต่สุดท้ายก็กัดฟันมองหาทางออก เพิ่มช่องทางเข้าไปในตลาด B2C หรือการให้บริการผู้ใช้ตามบ้าน เร็วกว่าแผนเดิมที่เคยวางไว้

“จากเดิมที่เราให้บริการเฉพาะธุรกิจ หรือ B2B เท่านั้น ก็มองว่าตลาดผู้ใช้ตามบ้านน่าจะเป็นอีกตลาดหนึ่งที่น่าสนใจ ปรากฏว่าได้ผลตอบรับค่อนข้างดี โดยสำหรับผู้ใช้ตามบ้านสัญญาเช่าจะเริ่มต้นที่ 12 เดือน ลูกค้ายิ่งทำสัญญานานค่าเช่าต่อเดือนก็จะยิ่งถูกลง และถ้าต่อสัญญาฯ ค่าเช่าต่อเดือนก็จะลดลงไปอีก คิดว่าตลาดนี้มีทิศทางสดใส เพราะมีผู้ใช้ที่นอนจำนวนมากไม่อยากลงทุนซื้อที่นอน ซึ่งรวมถึงผู้ที่มีคอนโดฯ ไว้ปล่อยเช่า”


พัฒนางานวิจัยสร้างเทคโนโลยีรีไซเคิล

ปัจจุบันกระบวนการให้บริการเช่าที่นอนเริ่มเข้ารูปเข้ารอย สิ่งที่เป็นเป้าหมายสำคัญต่อไปของ นอนนอน จึงเป็นการสร้างเทคโนโลยีสำหรับการรีไซเคิลที่นอน ซึ่งด้วยกระบวนการและเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบัน กระบวนการรีไซเคิลจะมีโอกาสขาดทุนสูง เนื่องจากต้นทุนของกระบวนการสูงกว่ามูลค่าของผลลัพธ์ที่ได้ แต่นอนนอนมองว่า หากมีเทคโนโลยีที่เหมาะสมก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของกระบวนการได้ ซึ่งจะเป็นการช่วยลดการขาดทุนให้น้อยลง จนกระบวนการอาจถึงจุดคุ้มทุนได้ในที่สุด ขณะเดียวกันก็สามารถช่วยประเทศชาติลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือคาร์บอนได้ ซึ่งถือเป็นผลลัพธ์ที่คุ้มค่า โดยนอนนอนเริ่มต้นจากการพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลฟองน้ำ เนื่องจากเป็นส่วนประกอบสำคัญในที่นอนที่รีไซเคิลยากที่สุด และในปัจจุบันมีเศษซากฟองน้ำที่เกิดจากที่นอนและเฟอร์นิเจอร์ที่พ้นสภาพการใช้งานแล้วจำนวนมาก

“งานวิจัยและพัฒนามีความจำเป็นอย่างมากสำหรับเศรษฐกิจยุคนี้ อย่างฟองน้ำที่เราตั้งใจที่จะรีไซเคิล ความจริงกระบวนการพื้นฐานทางเคมีนั้นมีอยู่แล้ว แต่ว่าใช้ความร้อนสูง ซึ่งหมายความว่าต้องใช้พลังงานสูง ต้นทุนจึงสูงตามไปด้วย เราเลยพยายามหาวิธีการที่จะช่วยลดพลังงานที่ต้องใช้ในกระบวนการเพื่อลดต้นทุน และเพื่อให้กระบวนการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

การนำวัสดุต่างๆ กลับมารีไซเคิล กลับมาใช้ใหม่ ก็คือการใช้ทรัพยากรธรรมชาติทีมีอยู่จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดการสร้างก๊าซเรือนกระจก ยกตัวอย่างฟองน้ำ ซึ่งผลิตมาจากน้ำมัน ถ้าเราจะผลิตฟองน้ำจากน้ำมันตลอด ก็ต้องไปขุดเจาะน้ำมันขึ้นมา แล้วนำน้ำมันดิบเข้าสู่กระบวนการต่างๆ จนได้สารเคมีที่ใช้ในการผลิตฟองน้ำ กระบวนการตั้งแต่ต้นจนจบนี้ใช้พลังงานเยอะมาก ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากมาย นำมาซึ่งปัญหาโลกเดือด แต่ถ้าเรานำฟองน้ำเก่าจากที่นอนกลับมารีไซเคิลให้เป็นสารเคมีที่ใช้ทำฟองน้ำใหม่ได้ ใช้ทำผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้ แทนที่จะนำฟองน้ำไปทิ้ง ฝังกลบ หรือเผาทำลาย ก็จะช่วยลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกได้มหาศาล”

ในปี 2564 นอนนอนได้รับทุนวิจัยจาก Royal Academy of Engineering สหราชอาณาจักร และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำหรับโครงการพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลฟองน้ำดังกล่าว และนอกเหนือจากทุนวิจัยนี้แล้ว ในปีเดียวกันนอนนอนยังได้รับทุนจาก บพข. ในแผนงานกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน สำหรับโครงการประเมินศักยภาพของนอนนอนในการช่วยลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกและมลภาวะตลอดวัฏจักรชีวิตของที่นอนด้วยเทคนิคการประเมินวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Assessment: LCA) ภายใต้ชื่อโครงการ “การศึกษารูปแบบธุรกิจ ‘การบริการในรูปแบบสินค้า’ ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยเทคนิคการประเมินวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Assessment: LCA): กรณีศึกษาผลิตภัณฑ์ที่นอนที่ใช้ในธุรกิจโรงแรม” อีกด้วย ซึ่งโครงการดังกล่าวถือเป็นการทำ LCA ครั้งแรกของอุตสาหกรรมที่นอนในประเทศไทย และได้ถูกดำเนินการโดยสถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (สทสย.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ระหว่างเดือนพฤษภาคม 2564 ถึง เดือนมกราคม 2566 โดยทางนอนนอนได้เผยแพร่ผลสำเร็จของโครงการฯ อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2567  


โชว์ศักยภาพสตาร์ทอัพรักษ์โลก

การประเมินวัฏจักรชีวิตเป็นวิธีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงปริมาณที่พิจารณาผลกระทบที่เกิดขึ้นตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การขุดนำเอาทรัพยากรธรรมชาติออกมาใช้เป็นวัตถุดิบ การจัดส่งวัตถุดิบเข้าสู่กระบวนการผลิต การผลิตผลิตภัณฑ์ การจัดส่งผลิตภัณฑ์ไปสู่การใช้งาน การใช้งานผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการทิ้งหรือกำจัดซากของผลิตภัณฑ์เมื่อสิ้นสุดการใช้งาน

โดยโครงการ LCA ของนอนนอนได้มีการจำแนกวัฏจักรชีวิตของที่นอนที่ใช้ในอุตสาหกรรมโรงแรม ออกเป็น 5 สถานการณ์ด้วยกัน ภายใต้สมมติฐานการใช้งานที่นอนเป็นระยะเวลา 10 ปี คือ

• สถานการณ์ที่ 1: การใช้ที่นอนคุณภาพสูงที่มีอายุการใช้งาน 10 ปี ที่สุดท้ายที่นอนถูกกำจัดด้วยวิธีการฝังกลบ 100%

• สถานการณ์ที่ 2: การใช้ที่นอนคุณภาพสูงที่มีอายุการใช้งาน 10 ปี ที่สุดท้ายที่นอนถูกกำจัดด้วยวิธีการตามปกติของธุรกิจโรงแรม (อ้างอิงตามผลสำรวจโรงแรม จำนวน 354 แห่ง และหน่วยงานจัดการขยะทั้งภาครัฐและเอกชน จำนวน 50 แห่ง ใน 8 พื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย เมืองพัทยา จ.ภูเก็ต จ.กระบี่ จ.นครราชสีมา และ จ.ขอนแก่น)

• สถานการณ์ที่ 3: การใช้ที่นอนคุณภาพสูงที่มีอายุการใช้งาน 10 ปี ที่สุดท้ายที่นอนถูกนำไปรีไซเคิลตามรูปแบบธุรกิจของนอนนอน

• สถานการณ์ที่ 4: การใช้ที่นอนคุณภาพต่ำที่มีอายุการใช้งาน 3 ปี (คิดเป็นที่นอนทั้งหมด 3.33 ชิ้น) ที่สุดท้ายที่นอนถูกกำจัดด้วยวิธีการฝังกลบ 100%

• สถานการณ์ที่ 5: การใช้ที่นอนคุณภาพต่ำที่มีอายุการใช้งาน 3 ปี (คิดเป็นที่นอนทั้งหมด 3.33 ชิ้น) ที่สุดท้ายที่นอนถูกกำจัดด้วยวิธีการตามปกติของธุรกิจโรงแรม (อ้างอิงตามผลสำรวจฯ)

โดยที่นอนคุณภาพสูงที่ใช้เป็นหน่วยศึกษา (functional unit) คือ ที่นอน แบรนด์สปริงเมท รุ่น Pocket Coil Heritage PT ขนาด 107 x 198 ซม. ส่วนที่นอนคุณภาพต่ำเป็นขนาดเดียวกันแบบที่มีวางจำหน่ายในท้องตลาดทั่วไป จากผลสำรวจฯ พบว่า หลังพ้นการใช้งานแล้ว ประมาณ 50% ของที่นอน (โดยน้ำหนัก) จะถูกโรงแรมส่งไปฝังกลบ 30% ถูกจำหน่าย บริจาค หรือส่งต่อเพื่อนำไปใช้งานซ้ำ 17% ถูกนำไปรีไซเคิล และ 3% ถูกนำไปเผา (เทียบกับการจัดการซากที่นอนตามรูปแบบธุรกิจของนอนนอนที่อย่างน้อย 62% ของที่นอนจะถูกนำไปแยกชิ้นส่วนไปรีไซเคิล ซึ่งเท่ากับเป็นการลดการนำที่นอนไปฝังกลบและเผาทำลาย)

จากการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นใน 5 สถานการณ์ดังกล่าวด้วยวิธีการ ReCiPe Midpoint และ ReCiPe Endpoint อันเป็นวิธี LCA ของประเทศเนเธอร์แลนด์ที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อมทั้งหมด 17 ด้าน พบว่ามีผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่หนักที่สุด 3 ด้านในทั้ง 5 สถานการณ์ ได้แก่ ผลกระทบด้านภาวะโลกร้อน การก่อตัวของอนุภาคขนาดเล็ก (fine particulate matter formation) หรือมลภาวะทางอากาศ (PM2.5) และการก่อตัวของสารพิษที่ไม่ก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์ (human non-carcinogenic toxicity) โดยทั้ง 3 ผลกระทบจะมาจากจุดต่างๆ ในวัฏจักรชีวิตของที่นอนดังที่แสดงในตารางข้างล่างนี้

ตารางแสดงที่มาของ 3 ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหลักในทั้ง 5 สถานการณ์
กราฟเปรียบเทียบความรุนแรงของผลกระทบสิ่งแวดล้อม 3 ด้านหลักใน 5 สถานการณ์

หากเปรียบเทียบผลกระทบทั้ง 3 ด้านใน 5 สถานการณ์ จะพบว่ารูปแบบธุรกิจของนอนนอน (สถานการณ์ที่ 3) จะช่วยลดการเกิดภาวะโลกร้อนได้อย่างน้อย 31% การเกิดมลภาวะทางอากาศอย่างน้อย 28% และการเกิดสารพิษที่ไม่ก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์อย่างน้อย 24% (เปรียบเทียบสถานการณ์ที่ 2 และ 3)

นอกจาก LCA แล้ว การศึกษาครั้งนี้ยังได้มีการประเมินค่าการหมุนเวียนของวัสดุ (Material Circularity Indicator) ซึ่งเป็นการประเมินสัดส่วนการถูกนำกลับมาใช้ใหม่ของวัสดุต่างๆ ในผลิตภัณฑ์ (แทนที่การถูกทิ้งเป็นขยะ) ตามหลักการของมูลนิธิเอเลน แมคอาร์เธอร์ (Ellen MacArthur Foundation) ผู้นำด้านแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนระดับโลก โดยค่าดังกล่าวจะอยู่ระหว่าง 0 ถึง 1 โดยค่า 0 หมายถึงการที่วัสดุต่างๆ สุดท้ายกลายเป็นขยะและไม่ได้ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์แต่อย่างใด และค่า 1 หมายถึงการที่วัสดุทั้งหมดได้ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่าในสถานการณ์ที่ 1, 2 และ 3 ค่าดังกล่าวอยู่ที่ 0.10, 0.32 และ 0.41 ตามลำดับ จึงเห็นได้ว่านอนนอนจะมีส่วนช่วยให้วัสดุต่างๆ ในที่นอนถูกนำกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 28%


ทุนวิจัย บพข. แรงหนุนสู่เศรษฐกิจสีเขียว

คุณนพพล กล่าวว่า เนื่องจากโครงการวิจัยทุกโครงการล้วนมีความเสี่ยงที่จะเกิดผลไม่ตรงกับที่มุ่งหวัง เงินทุนสนับสนุนงานวิจัยของภาครัฐจึงนับว่ามีประโยชน์มาก เหมือนกับว่าทางภาครัฐมาร่วมเสี่ยงกับเอกชน ทำให้เรากล้าเสี่ยงที่จะลงทุน ลงแรง ลงเวลา ถ้าไม่มีทุนวิจัยจากภาครัฐมาร่วมสนับสนุน ช่วยลดความเสี่ยง เราคงไม่กล้าเสี่ยง การที่มีภาครัฐเข้ามาจึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราได้ทำงานวิจัย เป็นจุดเริ่มต้นให้เราก้าวไปสู่การนำงานวิจัยมาสร้างประโยชน์ให้กับธุรกิจและประเทศชาติ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกันเรารู้ดีว่าเงินที่รัฐนำมาสนับสนุน คือ ภาษีที่ได้มาจากประชาชน เราจึงต้องใช้เงินส่วนนี้ให้คุ้มค่ามากที่สุด


ขับเคลื่อนประเทศชาติสู่สังคมไร้คาร์บอน 

            นอกจากการเป็นผู้ให้บริการเช่าสินค้าที่มีการควบรวมนำเอาการรีไซเคิลสินค้าเข้ามาไว้ในบริการแรกของโลก โดยเริ่มจากสินค้าประเภทที่นอน แล้ว นอนนอนยังเป็นสตาร์ทอัพรายแรกของไทยที่ออก “หุ้นกู้สีเขียว” (ณ เดือนธันวาคม 2564) ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จนกระทั่งต่อยอดมาเป็นสตาร์ทอัพรายแรกๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ออก “โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน” เพื่อระดมทุนมาใช้ประกอบการขยายธุรกิจในปี 2567 แสดงให้เห็นถึงโมเดลธุรกิจที่ได้รับการตอบรับที่ดีจากสังคม

            “เราก้าวมาถึงจุดนี้ได้ก็เพราะได้รับการสนับสนุนจากผู้คนมากมาย ทั้งลูกค้า พันธมิตร ที่ปรึกษา นักลงทุน สื่อมวลชน และนักวิจัย รวมถึงทุนวิจัยจาก บพข. ซึ่งมีส่วนสำคัญในการช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นที่นักลงทุนมีต่อธุรกิจของนอนนอน โดยเราจะยังยึดมั่นในหลักการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการเกิดขยะ ภาวะโลกร้อน มลภาวะทางอากาศ และร่วมขับเคลื่อนประเทศชาติสู่สังคมไร้คาร์บอนต่อไป” คุณนพพลกล่าวสรุป 

Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *