กิจกรรม

บพข.- มช. เปิดตัวไอโอทีระบบอบแห้งผลิตภัณฑ์แปรรูปภาคเหนือ นำร่องดันข้าวแต๋นไทยสู่ตลาดโลก

บพข. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พัฒนาไอโอทีระบบอบแห้งผลิตภัณฑ์ควบคุมจากโทรศัพท์มือถือ “แพลตฟอร์มไอโอทีสำหรับการตรวจวัดเพื่อปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์วิสาหกิจชุมชน (Solar Greenhouse Dryer – SGD Platform) ” ติดอาวุธวิสาหกิจชุมชนภาคเหนือ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต นำร่อง “ข้าวแต๋นน้ำแตงโม” ส่งออก

18 กันยายน 2566: ผศ.ดร.วรรณรัช สันติอมรทัต ประธานแผนงานกลุ่มดิจิทัลแพลตฟอร์ม หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) พร้อมด้วย ผศ.ดร.ชัชวาลย์ ชัยชนะ รองคณบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรม และวิเทศสัมพันธ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้าเยี่ยมชมโครงการ “แพลตฟอร์มไอโอทีสำหรับการตรวจวัดเพื่อปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชน” ณ ห้างหุ้นส่วนจำกัดข้าวแต๋นเสบียง อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง โดยมี คุณสุรเชษฐ เทพปินตา กรรมการผู้จัดการ ให้การต้อนรับ

คุณสุรเชษฐ เทพปินตา กรรมการผู้จัดการ
ห้างหุ้นส่วนจำกัด ข้าวแต๋นเสบียง อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง


คุณสุรเชษฐ ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการทำธุรกิจข้าวแต๋นน้ำแตงโมว่าเป็นกิจการครอบครัวตั้งแต่ปี 2539 โดยใช้การตากแดดข้าวแต๋นแบบดั้งเดิม และจำหน่ายตามร้านของฝากเขตภาคเหนือ หลังจากคุณสุรเชษฐได้ลาออกจากการทำงานวิศวกร เพื่อมาต่อยอดธุรกิจโดยการสร้างโรงตากพลังงานแสงอาทิตย์เรือนกระจก เพื่อขยายกำลังผลิตและหาตลาดเพิ่มเติม ปัจจุบันเน้นการผลิตแผ่นแห้งและจัดจำหน่ายแบบขายส่งให้ผู้ซื้อนำไปต่อยอด โดยข้าวแต๋นน้ำแตงโมจะใช้ข้าวเหนียวพันธุ์ กข 6 ซึ่งส่วนใหญ่ปลูกในเขตจังหวัด น่าน เชียงราย เชียงใหม่ และลำปาง โดยข้าวเหนียว กข6 นั้นเหมาะกับการผลิตข้าวแต๋นเพราะให้เมล็ดที่พองสวยหลังการทอด

“ปัจจุบันกำลังการผลิตของโรงงานข้าวแต๋นเสบียงอยู่ประมาณ 300 กิโลกรัมต่อวัน โดยเฉลี่ย 9 ตันต่อเดือน ใช้แรงงานในพื้นที่ลำปาง และใช้ข้าวเหนียว กข 6 ในเขตภาคเหนือเป็นหลัก และกำลังจะขยายโรงตากเพื่อรองรับลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ โดยปัจจุบันนอกจากการขายแผ่นแห้งให้แก่ลูกค้าภายในประเทศนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่วางจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อ ยังสามารถส่งออกไปยังต่างประเทศ เช่นประเทศชิลี และอิสราเอล แล้ว หลังจากได้ทดลองใช้ SGD Platform ทำให้โรงงานสามารถเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และสามารถควบคุมคุณภาพในการผลิตได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะแอพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือที่สามารถสั่งการพัดลมระบายอากาศ การแจ้งเตือนค่าอุณหภูมิ ความชื้น รวมทั้งการแสดงผลข้อมูลแบบเรียลไทม์ ที่ทำให้เป็นตัวช่วยให้คุณภาพสินค้ามีมาตรฐาน สี กลิ่น รสชาติ สม่ำเสมอ อีกทั้งสามารถวางแผนการผลิตได้จากบันทึกข้อมูลต่างๆได้อีกด้วย” คุณสุรเชษฐ กล่าว

     ผศ.ดร.ชัชวาลย์ กล่าวว่า SGD Platform พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลิตภัณฑ์ภาคเหนือ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันแก่เศรษฐกิจฐานราก โดยการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการอบแห้งด้วยโรงอบพลังงานแสงอาทิตย์แบบเรือนกระจก หรือ พาลาโบล่าโดม โดย SGD Platform ประกอบด้วย 1. ระบบไอโอทีควบคุมการทำงานของพัดลมระบายอากาศ การตรวจวัดอุณหภูมิ วัดค่าความชื้นสัมพัทธ์ภายในโรงอบ รวมถึงการวัดข้อมูลการใช้ไฟฟ้าภายในโรงอบ 2. แอพลิเคชั่นสำหรับผู้ควบคุมสั่งการผ่านมือถือแบบเรียลไทม์ สามารถควบคุมพัดลมระบายอากาศในระยะไกล การแจ้งเตือนค่าวิกฤตอุณหภูมิ และความชื้น 3. ฐานข้อมูลที่สามารถประมวลผลค่าความชื้น อุณหภูมิ น้ำหนักหลังตาก ที่เหมาะสม เพื่อใช้วางแผนการผลิต รองรับการผลิตในระดับอุตสาหกรรม ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์อบแห้งในเขตภาคเหนือที่เข้าร่วมโครงการ และได้รับการปรับปรุงฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์แล้ว โดยผู้ประกอบการ หรือชุมชนสามารถนำไปปรับใช้ ได้แก่ กล้วยตาก ข้าวแต๋น มะม่วงกวน หญ้าหวาน ดอกเก๊กฮวย ใบเตย ดอกอัญชัน ขิง ขมิ้นชัน  ไพล ตะไคร้ และ ผิวมะกรูด เป็นต้น

ผศ.ดร.วรรณรัช กล่าวว่า บพข. โดยแผนงานดิจิทัลแพลตฟอร์ม มุ่งเน้นการสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนานวัตกรรมตามแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2566-2570 ยุทธศาสตร์ที่ 1 โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลปัญญาประดิษฐ์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ รวมทั้งหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ มาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรม หลัก รวมทั้งช่วยเพิ่มศักยภาพให้แก่ SME วิสาหกิจชุมชน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่เศรษฐกิจฐานราก ให้พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน  

Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *