กิจกรรม

แผนงาน IDE บพข. ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานของ Intermediary รอบระยะเวลา 3 เดือน ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ มอ.

วันที่ 11 กันยายน 2566 คณะอนุกรรมการแผนงาน INNOVATION DRIVEN ENTERPRISE : IDE ภายใต้หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) นำโดย นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ ประธานคณะอนุกรรมการฯ ได้เข้าร่วมประชุมติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการของอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในรอบระยะเวลา 3 เดือน ณ ห้องประชุมเลิศพัฒน์ สำนักวิจัยและพัฒนา อาคารศูนย์ทรัพยากรการเรียนรู้ (LRC) อาคาร 1 ชั้น 12 มหาวิทาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในฐานะหน่วยงาน Intermediary ได้ดำเนินการโครงการการพัฒนากลไกสนับสนุนผู้ประกอบการสู่การเป็นวิสาหกิจฐานนวัตกรรม โดยมีผู้ประกอบการเข้าร่วมทั้งสิ้น 5 ราย ประกอบไปด้วย บริษัท เซาท์เทอร์น ซีฟู้ด โปรดักส์ จำกัด บริษัท แปลน ครีเอชั่นส์ จำกัด บริษัท เอส.เค. โพลีเมอร์ จำกัด บริษัท อีเกิ้ล ดรีม จำกัด และ บริษัท ซี.เอ็น.ไอ.เอ็นจิเนียริ่ง ซัพพลาย จำกัด โดย รศ.นพ.สุนทร วงษ์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และหัวหน้าโครงการ ได้รายงานความก้าวหน้าของการดำเนินการ ซึ่งได้มีการเข้าพบผู้ประกอบการ เพื่อวิเคราะห์ศักยภาพ SWOT ขององค์กร ตลอดจนการหารือร่วมกับผู้ประกอบการต่อเป้าหมายการพัฒนาสู่ผู้ประกอบการ IDE เบื้องต้น โดยในระยะต่อไปจะมีการประสาน IBDS ที่จะเข้าร่วมให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการ ตลอดจนการพัฒนาและดำเนินการตามแผนที่วางไว้

ซึ่งทางอนุกรรมการฯ ได้รับทราบความก้าวหน้าของการดำเนินการโครงการ และได้ให้ข้อเสนอแนะต่อหน่วยงาน Intermediary ในประเด็นของการศึกษาความพร้อมของผู้ประกอบการในเชิงลึกมากขึ้น เช่น การพิจารณาจากงบการเงิน การลงทุนที่ผ่านมา โอกาสและประเด็นปัญหาของธุรกิจ การศึกษาตลาดควบคู่ไปกับการวิจัยและพัฒนา โดยเน้นการพัฒนาบน Demand Driven ตลอดจนแนะนำให้มีเครื่องมือตรวจสุขภาพของผู้ประกอบการมาช่วยในการวิเคราะห์เบื้องต้น โดยหน่วยงาน Intermediary อาจต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจมาช่วยให้คำแนะนำหรือร่วมในการศึกษาผู้ประกอบการด้วย จะช่วยให้การทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการในมิติเชิงธุรกิจชัดเจนยิ่งขึ้น

โดยหลังจากนั้น ทางมหาวิทยาลัยฯ ได้พาคณะอนุกรรมการฯ เยี่ยมชมอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยได้เยี่ยมชมทั้งทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัยและพัฒนา รวมถึงพื้นที่สนับสนุนผู้ประกอบการฐานธุรกิจเทคโนโลยี ซึ่งแสดงถึงศักยภาพของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค อันเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีที่สำคัญของภูมิภาคและของประเทศไทย

Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *