กิจกรรมGlobal partnership

บพข. หนุน ม.ศิลปากรพัฒนาเกม Mythophobia “ผีอาเซียน”

พร้อมต่อยอดสร้างสินค้าและทรัพย์สินดิจิทัลชูโมเดลเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดิจิทัล คอนเทนต์ไทยสู่เวทีโลก

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เล็งเห็นความสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุน “Soft Power” และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ด้านดิจิทัลคอนเทนต์จากรากวัฒนธรรมไทยสู่ตลาดสากล ให้ทุนวิจัยโครงการ Mythophobia หรือ “ผีอาเซียน” 5 วัฒนธรรม 7 ประเทศ จากจักรวาลผีสู่จักรวาลนฤมิต (Metaverse of ASEAN Ghosts)  

รศ. ดร.ชาลีดา บรมพิชัยชาติกุล  รองผู้อำนวยการ บพข. กล่าวว่า โครงการนี้ ได้รับทุนวิจัยจาก กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) ผ่านแผนงาน Global Partnership บพข. ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจ บพข. ในการสนับสนุนทุนเพื่อผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์งานวิจัยจากความต้องการของผู้ใช้ ผู้ประกอบการ หรือผู้บริโภค ไปสู่เชิงพาณิชย์ รวมถึงเชื่อมโยงการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ หรือการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เข้มแข็งของประเทศไทยสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ดังเช่นโครงการ “ผีอาเซียน” เป็นหนึ่งในโมเดลการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์จากรากวัฒนธรรมไทยในหลากหลายมิติ  ให้ไปสู่การขยายผลถึงประเทศแถบอาเซียน เป็นการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ของ Soft power ไทย สู่เชิงพาณิชย์

รศ. ดร.ประสพชัย พัฒน์โรจนโสภณ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า ศิลปากร เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งการสร้างสรรค์ มีความโดดเด่นด้านงานศิลปะ งานวิจัยและสิ่งประดิษฐสร้างสรรค์ในสหสาขาวิชาต่าง ๆ ได้รับการสนับสนุนจาก บพข. ในการจัดทำโครงการ Mythophobia “ผีอาเซียน” 5 วัฒนธรรม 7 ประเทศ จากจักรวาลผีสู่จักรวาลนฤมิต (Metaverse of ASEAN Ghosts) เป็นการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทยให้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ผศ. ดร.ณัฐพร กาญจนภูมิ หัวหน้าโครงการวิจัย คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวถึงที่มาของโครงการวิจัยนี้ว่า “จากการเล็งเห็นคุณค่าและความสำคัญของลักษณะร่วมของวัฒนธรรม “ผี” ในกลุ่มประเทศอาเซียนและศักยภาพในการแปรรูปทุนทางวัฒนธรรมผีอาเซียนสู่จักรวาลนฤมิตผีอาเซียนที่สร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้ชื่นชอบเกมและสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับผีและนำไปสู่การสร้างชุมชนในโลกเสมือนจริง ควบคู่ไปกับโลกจริง โดยโครงการนี้ ได้ทำการศึกษาเรื่อง “ผี” ในวัฒนธรรมของกลุ่มประเทศอาเซียน จำนวน 7 ประเทศได้แก่ ไทย ลาว กัมพูชา พม่า เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย จากแหล่งข้อมูลเพื่อมาวิเคราะห์ความเชื่อมโยงระหว่างวัฒนธรรมกับความคิดสร้างสรรค์ในประเด็นต่างๆ เพื่อนำไปสู่การออกแบบในเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ก็คือการสร้างโลกเสมือนจริง หรือจักรวาลนฤมิตผีอาเซียน (ASEAN Ghost Metaverse) เพื่อสร้างชุมชนของผู้ที่สนใจในเรื่องราวของผีอาเซียนจากทุกมุมโลก เช่น การตามล่าหาผีเสมือนจริง หรือการเล่าเรื่องผีในโลกเสมือนจริง โดยการพัฒนาเป็น Native Application ด้วย Game Engine สามารถจำลองและปรับแต่งตัวละครของผู้ใช้ (Avatar)  นอกจากนี้ยังได้พัฒนาธุรกิจต่อยอดเป็นสินค้าของใช้ต่างๆ (Merchandise) ทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้ในโลกจริงและออกสู่ตลาดต่างประเทศ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มเชิงเศรษฐกิจให้กับประเทศ หรือเศรษฐกิจผีอาเซียน (ASEAN Ghost Economy) พร้อมพัฒนาร่วมกับพันธมิตรนานาชาติ เพื่อนำไปสู่การสร้าง Soft Power อีกประเภทของไทยอย่างเป็นยั่งยืน ขอเชิญชวนทุกท่านมาท่องโลกกับเกม “Mythophobia” และติดตามกิจกรรมได้ที่  เฟซบุ๊ค  https://www.facebook.com/mythophobia

ภายในงานได้มีการเสวนาเรื่อง “ผีอาเซียนทุนทางวัฒนธรรมสู่การใช้ประโยชน์ เชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์” โดยมีวิทยากร 3 ท่าน ได้แก่ ผศ. ดร.ณัฐพร กาญจนภูมิ นายกฤษณ์ ณ ลำเลียง นายกสมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย และ นายธนัช จุวิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อิ๊กดราซิล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้มาแลกเปลี่ยนมุมมองในการส่งเสริมคอนเทนต์เรื่อง “ผี” ทุนทางวัฒนธรรมให้ไปสู่การใช้ประโยชน์ โดยนายกฤษณ์ ณ ลำเลียง นายกสมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย กล่าวว่า ความเชื่อด้านไสยศาสตร์ ผี สายมู เป็นจุดขาย และเป็นคอนเท้นต์ที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเจนเนอเรชั่นใหม่ และชาวต่างชาติได้ โครงการ นายธนัช จุวิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อิ๊กดราซิล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตเกมส์ออนไลน์ชื่อดัง “Home Sweet Home” กล่าวว่ามีหลายประเทศทั่วโลกให้ความสนใจความเชื่อด้านผี วิญญาณ มากขึ้น ทำให้เราสามารถใส่วัฒนธรรมไทยเข้าไปในเกมส์ หรือ รากทางวัฒนธรรมของไทย เหมือนแหล่งขุมทรัพย์ล้ำค่าในการสร้างสรรค์คอนเทนต์ใหม่ๆ ผนวกกับการตลาดใหม่ๆ จะ ดร.ณัฐพร ให้มุมมองเรื่องการผลักดันรากวัฒนธรรมไทย ซึ่งมีความโดดเด่น แตกต่าง ที่สามารถนำมาสื่อให้เห็นชัดเจนมากขึ้นได้ โครงการ “Mythophobia” เป็นตัวอย่างแพลดฟอร์มที่นำการตลาดเข้ามาต่อยอดสามารถ สร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ได้อย่างหลากหลาย

จากผลสำรวจข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้า ในปี 2565 มูลค่าตลาดดิจิทัลคอนเทนต์ไทยปี 2565 อยู่ที่ 40,518 ล้านบาท อุตสาหกรรมเกมครองส่วนแบ่งมากสุด 85% มีมูลค่าการนำเข้า 33,657 ล้านบาท และการส่งออก 340 ล้านบาท  พร้อมคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์จะขยายตัวถึง 44,983 ล้านบาท ภายในปี 2568 คิดเป็นการเติบโตราว 5% จากมูลค่ารวมในปี 2565 จากแนวโน้มดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงโอกาสและการเติบโตโดยเฉพาะตลาดเกม

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ศาสนา และชาติพันธุ์ แต่ท่ามกลางความหลากหลายเหล่านั้น ชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือที่เราเรียกตัวเองว่า “ชาวอุษาคเนย์” กลับมีความรู้สึกว่าพวกเรามีความเหมือน มีความผูกพันและมีสิ่งที่เชื่อมโยงเราไว้ด้วยกัน นั่นคือ ความเชื่อในวิญญาณและธรรมชาติ ซึ่งได้กลายเป็นส่วนสำคัญของวิถีชีวิตและประเพณีของเรา “Mythophobia” ได้นำเสนอการตีความความเชื่อเหล่านี้  ออกมาในรูปแบบ Metaverse, เกม และตัวละครดิจิทัล สำหรับคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการสัมผัสและเข้าใจความหมายที่แท้จริงของเรื่องราวและตำนานเหล่านี้ มาร่วมกันสำรวจและสร้างสรรค์เรื่องราวของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบกับการผจญภัยในโลกเสมือนจริงที่จะพาคุณสัมผัสกับวิญญาณและธรรมชาติของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในรูปแบบใหม่ ซึ่งแบ่งเป็นห้องมินิเกม 2 ห้องคือ เกมปราบผี และเล่าเรื่องผีเป็นเกมในรูปแบบ Metaverse ที่มี 5 โซนสุดหลอนตามความเชื่อหลากหลายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแบ่งวัฒนธรรมเกี่ยวกับผีอาเซียนเป็น 5 วัฒนธรรม ดังนี้

 ความเชื่อดั้งเดิม+พุทธศาสนา (ไทย พม่า ลาว กัมพูชา)
 ความเชื่อแบบจีน (เวียดนาม)
 ความเชื่อแบบอิสลาม (มาเลเซีย อินโดนีเซีย-ยอกยาร์)
 ความเชื่อแบบฮินดู (อินโดนีเซีย – บาหลี)
 ความเชื่อแบบคริสต์ (ฟิลิปปินส์)

“Mythophobia” จะทำให้ทุกคนได้รู้จักกับผีชนิดต่างๆ จากอาเซียน 25 ชนิด อาทิเช่น
 เจงล็อต {Jenglot} ผีผู้หญิงตัวเล็กคล้ายตุ๊กตา
 องบาบี {Ong Ba Bi} ในตำนานเล่าว่า องบาบี เป็นชายชราผู้สมบุกสมบัน ที่มี “กระสอบสามใบ เก้าสายรัด และสิบสองตา” เป็นผู้ชอบลักพาตัวเด็กซนโดยใช้กระสอบของเขา
 รางดา {Rangda} ราชินีปีศาจ ลักษณะเป็นหญิงชราเปลือยกาย ผมเผ้ายาวรุงรัง เขี้ยวยาว เล็บยาว ตาโปน เต้านมยาน ขี่สิงห์เป็นพาหนะ
 ฮันตู โปจง {Hantu Pocong} โปจงเกิดจากศพที่ถูกมัดแน่นเกินไปจนเชือกไม่ยอมคลายตัวภายใน ๔๙ วันหลังจากฝังทำให้วิญญาณไม่สงบ เชื่อว่าการที่โปจงไล่ตามมนุษย์ก็เพื่อให้ช่วยคลายปมเชือกให้ ส่วนใครที่กล้าแก้เชือกให้โปจงจะได้รับพรให้ชีวิตมีแต่โชคดี
 เปรต {Preta} เป็นผีจำพวกหนึ่งซึ่งได้ เคยสร้างบาปกรรมอย่างหนักไว้ในอดีต พอสิ้นชีวิตลงก็ต้องมารับกรรมกลายเป็นเปรตตามแต่ผลของกรรมจะบันดาล ทำให้เปรตต้องมีความเป็นอยู่อย่างยากลำบากแร้นแค้น ชอบส่งเสียงร้องหรือขึ้นมาขอส่วนบุญจากมนุษย์
 กองกอย {Kongkoi} เป็นผีป่าชนิดหนึ่งมีลักษณะรูปร่างไม่เป็นที่ปรากฏชัด แต่โดยมากจะอธิบายว่าเป็นผีที่มีขาข้างเดียว เคลื่อนที่โดยการกระโดดไปด้วยขาข้างเดียว และส่งเสียงร้องว่า “กองกอยๆ”
 กระสือ {Kraseu} กระสือเชื่อกันว่าสิงสู่อยู่ในตัวของคนเพศหญิงชอบรับประทานของสดคาว มักออกหากินเวลากลางคืนและไปแต่หัวกับตับไตไส้พุง ส่วนร่างกายคงทิ้งไว้ที่บ้าน เวลาไปจะเห็นเป็นดวงไฟดวงโตมีแสงสีแดง แต่ส่วนมากจะเป็นแสงสีเขียวเรืองวาม ๆ โดยจะเริ่มออกหากินตั้งแต่เวลาหัวค่ำไปจนถึงทั้งคืนและจะกลับเข้าร่างเวลาใกล้รุ่งสาง

ตัวอย่างการต่อยอดการนำเรื่องราว Mythophobia เป็นผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์

Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *