กิจกรรมข่าว

บพข. โชว์ผลงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ณ รัฐสภา เพื่อสนับสนุนการทำงานในกระบวนการนิติบัญญัติ

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) นำโดย รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการ พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการ บพข. แผนงานสุขภาพและการแพทย์ แผนงานอาหารมูลค่าสูง และแผนงานเศรษฐกิจหมุนเวียน ร่วมจัดแสดงผลงาน พร้อมทั้งเสวนา ภายใต้ theme “ ผลการดำเนินงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) : 4 ปีของการลงทุน ประเทศได้อะไรและจะไปต่ออย่างไร” ในงานนิทรรศการแสดงผลงานวิจัยของหน่วยงานในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ Policy Forum เพื่อสนับสนุนการทำงานในกระบวนการนิติบัญญัติ เมื่อ วันที่ 3 – 4 ตุลาคม 2566 ณ อาคารรัฐสภา เกียกกาย

โดยงานนี้ บพข. ได้ร่วมจัดแสดงผลงานวิจัยจากแผนงานสุขภาพและการแพทย์ แผนงานอาหารมูลค่าสูง และแผนงานเศรษฐกิจหมุนเวียน ภายใต้การทุนสนับสนุนของ บพข. และได้ร่วมการเสวนาเพื่อนำเสนอผลการดำเนินงาน พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะที่จะช่วยสนับสนุนการทำงานในกระบวนการนิติบัญญัติ เพื่อนำไปสู่การผลักดันนโยบายต่าง ๆ ที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไป โดยมีการเสนาใน 3 หัวข้อ ได้แก่ การเสวนาเรื่อง “ลด และ รับ กับภาวะโลกรวน” และการเสวนาเรื่อง “เกษตรและอาหาร พลังเพื่ออนาคตไทย” โดย รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ การเสวนาเรื่อง “ระบบสุขภาพเพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีของคนไทย และผลงานวิจัยนวัตกรรมสู่การใช้จริงภายใต้มาตรฐานสากล” โดย ศ.ดร.ศันสนีย์ ไชยโรจน์ ประธานอนุกรรมการ และ รศ.นพ.ถนอม บรรณประเสริฐ รองประธานคณะอนุกรรมการ แผนงานกลุ่มสุขภาพและการแพทย์ บพข.

รศ.ดร.ธงชัย กล่าวว่า เป้าหมายของ บพข. คือการทำให้ประเทศสามารถยกระดับการผลิตและการส่งออก Functional Ingredients, Functional Food, Novel Food ให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง และไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกชั้นนำของโลก โดยการใช้ผลงานวิจัย องค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดย บพข. ได้ให้ทุนสนับสนุนการทำ Functional Ingredients, Functional Food, Novel Food และ Premium Pet Food จากผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของไทย ตลอดจนการให้ทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทำ Pilot plant และการพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยี ในการผลิตสารสกัดมูลค่าสูง ให้แก่มหาวิทยาลัย 9 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้เป็นศูนย์บริการวิชาการและทดสอบผลิตภัณฑ์เพื่อการ scale up แก่ภาคเอกชน หลังจากได้มีการก่อตั้ง บพข. ในปีงบประมาณ 2563 – 2566 ได้มีให้การสนับสนุนทุนด้านเกษตรและอาหารมูลค่าสูงไปแล้วกว่า 268 โครงการ เป็นงบประมาณกว่า 1,082 ล้านบาท และมีเอกชนร่วมลงทุนด้วย 96.4 ล้านบาท

“สิ่งที่ บพข. ให้ความสำคัญคือการผลักดันให้งานวิจัยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้ โดยอาศัยการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคเอกชน โครงการที่ บพข. สนับสนุนเป็นโครงการที่เอกชนเป็นผู้ให้โจทย์วิจัย เป็นโครงการที่จะสามารถแก้ pain point ให้แก่ผู้ประกอบการได้ ซึ่ง บพข. เองได้ทำงานร่วมกับหลายฝ่ายไม่ว่าจะเป็น อย. สถาบันมาตรฯ หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เชื่อมโยงให้เกิดการทำงานร่วมกันเพื่อผลักดันให้เกิดการออกนโยบาย การจัดทำมาตรฐานการตรวจสอบรับรองผลิตภัณฑ์ บริการ และนวัตกรรมใหม่ที่เกิดจากการวิจัยและพัฒนา ให้มีคุณภาพมาตรฐานและผ่านตรวจสอบรับรอง เป็นที่ยอมรับในระดับสากล รวมถึงผลักดันให้เกิดการแก้ไขกฎหมายบางข้อที่จะช่วยสนับสนุนให้ผลิตภัณฑ์และบริการของไทยออกสู่ตลาดได้ ให้ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสในการแข่งขันได้มากขึ้น”

สำหรับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม รศ.ดร.ธงชัย กล่าวว่า บพข. มีแผนงานที่ขับเคลื่อนการวิจัยที่ตอบโจทย์การลดก๊าซเรือนกระจกอยู่ 3 แผนงาน ได้แก่ แผนงานพลังงาน เคมีและวัสดุชีวภาพ แผนงานเศรษฐกิจหมุนเวียน แผนงานท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยผลักดันให้เกิดการลดปริมาณขยะและของเสียจากกระบวนการ โดยการแปรรูปขยะและของเสียให้เป็นสารที่มีมูลค่าเพิ่มหรือสารมูลค่าสูง การลดการใช้พลังงาน เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนในอุตสาหกรรม เพิ่มการใช้พลังงานสะอาดหรือพลังงานหมุนเวียนในอุตสาหกรรมรวมถึงครัวเรือน การใช้ผลิตภัณฑ์ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีการเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบทางการเกษตรหรือของเหลือทิ้ง มีการดักจับก๊าซ CO2 หรือแปลงก๊าซ CO2 เป็นสารมูลค่าสูง โดยใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นในประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ แลละลดปริมาณการบริโภควัสดุในประเทศ นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมที่ส่งเสริมการใช้วัตถุดิบรอบสองและวัสดุหมุนเวียน การสร้างแพลตฟอร์มการเชื่อมโยงองค์ความรู้และรูปแบบความร่วมมือการทำงานร่วมกันระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่สามารถผลักดันระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างครบวงจรใน Value-chain ให้เกิดธุรกิจใหม่ที่มีความสามารถในการแข่งขันกับตลาดได้ ตลอดจนส่งเสริมการท่องเที่ยวบนฐานมรดกทางธรรมชาติ เน้นให้เกิดการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ มีผลิตภัณฑ์และบริการที่ส่งเสริมให้เกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่อุปทานการท่องเที่ยวในทุกจังหวัด และต่อยอดไปสู่การท่องเที่ยวที่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero Emission Tourism) ทั้งในผลิตภัณฑ์และบริการ รวมทั้งการบริหารจัดการธุรกิจ

ด้าน ศ.ดร.ศันสนีย์ ได้พูดถึงโครงการพัฒนายาชีววัตถุ ภายใต้การสนับสนุนทุนของ บพข. ว่า ทุนวิจัยทางด้านสุขภาพและการแพทย์ที่ บพข. สนับสนุน จะเน้นในด้านการพัฒนาชีววัตถุ ยา อุตสาหกรรม และวิจัยเชิงลึกที่ไม่ใช่แค่เพื่อการตีพิมพ์เผยแพร่แต่รวบรวมไปสู่เชิงพาณิชย์ ทาง บพข. มีการประสานการทำงานร่วมกันระหว่างองค์การมหาชน สถาบันวิจัยทั่วไป มหาวิทยาลัย และภาคเอกชน จากทั้งภายในและต่างประเทศ ผลงานสำคัญที่ผ่านมา เช่น โครงการยาชีววัตถุ Pegylated-Filgrastim (ชื่อทางการค้า Lutholaz) สำหรับการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ซึ่งเป็น new bio similar โดยการใช้ deep technology ที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิต ซึ่งผลิตภัณฑ์ยาตัวใหม่นี้ คนไข้สามารถรับเข้าสู่ร่างการด้วยการรับประทาน โดยตัวยาค่อย ๆ กระจายเข้าสู่ร่างกายลดการเจ็บปวดจากฉีดและจำนวนการใช้ยา ยาชีววัตถุนี้จะอยู่ในรูปของโปรตีนเป็นส่วนใหญ่ ไม่ใช่ยาเคมีอย่างที่คุ้นเคย ซึ่งเป็นเหมือนกับฮอร์โมนตัวหนึ่งที่ออกมากระตุ้นที่ไขกระดูก เพื่อให้ไขกระดูกสามารถสร้างเม็ดเลือดขาวชนิดที่จะทำลายแบคทีเรียได้ ยาตัวนี้สามารถที่ใช้รักษาผู้ที่ติดเชื้อจนถึงเข้าสู่ขั้นวิกฤตเม็ดเลือดขาวต่ำ หรือผู้เป็นมะเร็ง เพราะผู้ที่เป็นมะเร็งส่วนใหญ่ การทำงานของไขกระดูกจะแย่ลงหลังจากการทำคีโม เพราะฉะนั้นจะทำให้ติดเชื้อได้ง่ายและเม็ดเลือดขาวผลิตออกมาไม่เพียงพอ เพราะฉะนั้นยานี้จึงสามารถใช้ได้ในหลายสถานภาพ นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์จากโครงการสร้างกระดูกใบหน้าด้วยกระบวนการวางแผนออกแบบการผ่าตัดแบบดิจิทัลและผลิตเครื่องมือแพทย์ที่เสริมสร้างโครงหน้าคนไข้จากไทเทเนี่ยมจากกระบวนการ พิมพ์สามมิติ ออกมาใช้เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชนเข้าถึงได้นอกจากนี้ยังช่วยลดระยะเวลาการผ่าตัดลงให้สะดวกต่อการใช้งาน

ทั้งนี้ ศ.ดร.ศันสนีย์ ได้กล่าวถึงขอบเขตการให้ทุนของ บพข. ว่า การให้ทุนของ บพข. นั้นแตกต่างจากทุนวิจัยแห่งชาติและงบประมาณแผ่นดินซึ่งจะให้ทุนในช่วง เริ่มต้น (discovery and fundamental research) ในส่วนของ บพข. ที่จะเน้นให้ทุนตั้งแต่ ระดับ Regulatory compliance and Thai FDA ขึ้นไป และจะต้องมีการร่วมมือกับภาคเอกชน เนื่องจากต้องมีการลงทุนที่สูงขึ้น และส่งเสริมให้มีการวิจัยพัฒนาเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่ได้รับการรับรอง มีการทดสอบทางคลินิก และดำเนินการด้านการตลาดต่าง ๆ เพื่อให้ได้เป็นไปตามาตรฐานสากล

รศ.นพ.ถนอม กล่าวเสริมว่า ประเทศไทยเป็นประเทศแรก ๆ ที่ให้ความสำคัญกับทางการแพทย์ การบริการทางการแพทย์ของเรานั้นแข็งแรง แต่ยังมีจุดอ่อนในเรื่อง medical product development เพราะเรานำเข้ามาตลอดและมีต้นทุนที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ เราจึงจำเป็นต้องผลิตเองให้ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ บพข. จึงได้เข้ามาเป็นกลไกกลาง เพื่อสนับสนุนและผลักดันให้เกิดการวิจัยและพัฒนา medical product ที่มีคุณภาพมาตรฐาน ผ่านการรับรอง และสามารถออกสู่ตลาดได้ ก่อนหน้านี้เมื่อมีวิจัยและผลิต medical product ออกมามักจะถูกนำมาใช้เลย โดยที่ไม่รู้ว่าทำอย่างไรจึงจะผ่านการทดสอบมาตรฐาน ฉะนั้นเมื่อนักวิจัยสร้างเครื่องมือขึ้นมาแล้ว จะต้องผ่านการตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจก่อนว่าสามารถใช้กับมนุษย์ได้จริง และตอนนี้ทาง บพข. เข้ามาเป็นคนกลาง เพื่อควบคุม สนับสนุน ในช่วงระหว่างการดำเนินงานตอนกลาง คือการพัฒนาต้นแบบจากห้องปฏิบัติการไปสู่การตรวจสอบรับรอง ให้ถูกต้องตามมาตรฐานสากลที่ควรจะเป็น

นอกจากนี้ บพข. ยังได้เสนอแนะว่า อยากให้รัฐบาลคำนึงถึงความต่อเนื่องในสนับสนุนทุน ววน. เช่น การออกนโยบายที่การให้ทุนแบบ multiple years กับบางโครงการ เช่น โครงการด้านสิ่งแวดล้อม การพัฒนายาชีววัตถุ การพัฒนาวัคซีน รวมถึงการการพัฒนากำลังคนที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละอุตสาหกรรม ซึ่งจำเป็นต้องมองในระยะยาว และกำไรที่ได้อาจไม่ใช่ตัวเงินโดยตรง แต่เป็นความมั่นคงทางทรัพยากรของประเทศ ความมั่นคงสุขภาพประชาชน และความมั่นคงด้านแรงงานคุณภาพที่มีความความสำคัญต่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และศักยภาพในการแข่งขันรวมถึงอำนาจในการต่อรองทางการค้าของประเทศต่อไป

Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *