ระบบการบริหารและจัดการทุนของไทย แต่เดิมมีหน่วยงานบริหารและจัดการทุน 4 หน่วยงาน คือ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ซึ่งแต่ละหน่วยจะมีภารกิจของตนเอง ซึ่งอาจไม่ครอบคลุมทุกมิติของการขับเคลื่อนไทยสู่ประเทศเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม และไม่มีกำลังพอที่จะสามารถผลักดันให้ประเทศไทยสามารถสร้างนวัตกรรมในตลาดโลกได้ และเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สภานโยบายจึงได้มีการจัดตั้งหน่วยบริหารและจัดการทุนเฉพาะด้านภายใต้สภานโยบายขึ้น โดยไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคล มีคณะกรรมการบริหารที่มีความเป็นอิสระ และมี สอวช. ทำหน้าที่เป็นร่มนิติบุคคล โดยไม่เข้าไปแทรกแซงการทำงานของคณะกรรมการบริหารและผู้อำนวยการ 

ทั้งนี้ 3 หน่วยบริหารและจัดการทุน ใน สอวช. ประกอบด้วย หน่วยด้านการพัฒนาด้านกำลังคน หน่วยด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และหน่วยด้านการพัฒนาเชิงพื้นที่ที่มุ่งเศรษฐกิจฐานรากเป็นหลัก โดยทั้ง 3 หน่วยที่ตั้งขึ้น เมื่อขึ้นรูปและฟูมฟักเพื่อให้แน่ใจว่าสามารถเป็นหน่วยงานบริหารและจัดการทุนที่มีประสิทธิภาพแล้วจะเร่ง Spin off ออกจาก สอวช. โดยเร็วที่สุด ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 3 ปี

หน่วยบริหารและจัดการทุนที่จัดตั้งขึ้นใน สอวช. ภายใต้การกำกับดูแลของสภานโยบาย ประกอบด้วย 3 หน่วย คือ 1. หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาการวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) 2. หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และ 3. หน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) จัดสรรทุนวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ การพัฒนาชุมชน หรือท้องถิ่น ที่มีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการรายใหม่ ธุรกิจขนาดจิ๋ว วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วิสาหกิจชุมชน และวิสาหกิจเพื่อสังคมในระดับพื้นที่

โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นมาใหม่ เพื่อทำหน้าที่จัดสรรทุนวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและภาคบริการ รวมถึงทุนสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยี การสร้างตลาดนวัตกรรม การส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมในเชิงพาณิชย์ และการพัฒนาแพลตฟอร์มทางนวัตกรรมในภาคการผลิตและภาคบริการ ทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานห้องปฏิบัติการเพื่อการให้บริการด้านคุณภาพและการถ่ายทอดเทคโนโลยี ทั้งนี้ การให้ทุนดังกล่าวมุ่งเน้นการสนับสนุนแผนงานที่มีความร่วมมือหรือการร่วมลงทุนกับผู้ใช้ประโยชน์ อาทิ SMEs และภาคอุตสาหกรรม

วิสัยทัศน์และพันธกิจ

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ภายใต้การกำกับของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) มีภารกิจในการสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ โดยผลักดันให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ทำให้งานวิจัยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในเชิงพาณิชย์

กลุ่มทุนวิจัยเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) จัดสรรทุนวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและภาคบริการ รวมถึงสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยี การสร้างตลาดนวัตกรรม การส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมในเชิงพาณิชย์

เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วยวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ทั้งนี้ การให้ทุนดังกล่าวมุ่งเน้นการสนับสนุนแผนงานที่มีความร่วมมือหรือการร่วมลงทุนกับผู้ใช้ประโยชน์ อาทิ SMEs และภาคอุตสาหกรรม โดยแบ่งออกเป็น 7 กลุ่ม หลัก ได้แก่

สนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์มูลค่าสูง ได้แก่ ส่วนประกอบฟังก์ชัน (Functional Ingredients)
และสารสกัดจากธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพ รวมทั้งการพัฒนาระบบและมาตรฐานห่วงโซ่ความเย็น (Cold Chain) และเครื่องจักรสำหรับการผลิตอาหารแปรรูปด้วยเทคโนโลยีใหม่
การพัฒนา ชีววัตถุ เซลล์บำบัด เครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ และระบบผลิตทดสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์เพื่อการขึ้นทะเบียน
การพัฒนาพลังงานทดแทน เชื้อเพลิงชีวภาพ พลาสติกชีวภาพ และสารเคมีชีวภาพ
การจัดการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและจัดการมรดกทางวัฒนธรรม และมรดกทางธรรมชาติของประเทศไทยให้เป็นทรัพยากรทางการท่องเที่ยวตามแนวทางที่เป็นสากล
สนับสนุนงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางด้านดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Digital, AI, Smart Electronics, Robotics, and Automations for Productivity and Self-Reliance)
สนับสนุนเทคโนโลยีและนวัตกรรม แพลตฟอร์มการพัฒนาธุรกิจรูปแบบความร่วมมือใน Value Chain ที่เกี่ยวข้องและสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน
การพัฒนาอุตสาหกรรมกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า ระบบราง การบิน หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ