ข่าว

บพข. ร่วมลงนาม MOU พลิกผืนป่าน่าน

20 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ชั้น 39 ระเบียงศิลป์ระฟ้า ธนาคารกสิกรไทย สำนักราษฎร์บูรณะ : รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี ผอ.บพข. พร้อมด้วย รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ รอง ผอ. บพข. และ รศ.ดร.วาณี ชนเห็นชอบ ประธานอนุฯ แผนงานอาหารมูลค่าสูง ได้เข้าร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ภายใต้โครงการน่านแซนด์บอกซ์

พิธีลงนามความร่วมมือระหว่าง 6 หน่วยงาน ในการสนับสนุนวิจัยพัฒนา พืชเป็นยา 3 ฉบับ ได้แก่

  1. บันทึกความเข้าใจเพื่อความร่วมมือในการพัฒนายาและผลิตภัณฑ์ส่งเสริมสุขภาพจากพืช ระหว่าง มูลนิธิกสิกรไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (ศลช.) และ บพข.
  2. บันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการพัฒนายาและผลิตภัณฑ์ส่งเสริมสุขภาพจากพืช ระหว่างมูลนิธิกสิกรไทย และ องค์การเภสัชกรรม และ
  3. บันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ฐานข้อมูลเพื่อการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมในการผลิตยาและผลิตภัณฑ์ส่งเสริมสุขภาพจากพืชยา ระหว่างมูลนิธิกสิกรไทย ร่วมกับสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (BEDO)

คุณกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการมูลนิธิกสิกรไทย กล่าวว่า มูลนิธิกสิกรไทย และ 5 หน่วยงานหลัก ที่มาร่วมลงนาม MOU ในวันนี้ ต้องการให้ลูกหลานของเรามีชีวิตที่ดีกว่า เป็นหน้าที่ของเราทุกคน ที่จะลงมือทำให้เป็นจริง เป็นรูปธรรม มูลนิธิกสิกรไทย เชื่อว่าเราทุกคนมีหน้าที่พลเมืองที่ต้องดูแลสิ่งแวดล้อม ลดความเหลื่อมล้ำ ให้ทุกคนมีสิทธิ์เข้าถึงคุณภาพชีวิตเท่าเทียมกัน แต่เราทำคนเดียวไม่ได้ เป็นหน้าที่ของทุกหน่วยงาน ในการสร้างความร่วมมือ มาร่วมกันนำป่ากลับคืนมา

น่านเป็นป่าต้นน้ำสำคัญ ปัญหาป่า คือ ปัญหาคน ไม่ใช่แค่การปลูกป่า ต้องทำให้คนอยู่ได้ด้วย เป็นที่มาของแนวคิดเรื่องการพัฒนาพืชเป็นยา ใน “โครงการน่านแซนด์บอกซ์ “ ซึ่งเป็นการบริหารพื้นที่รูปแบบพิเศษ เพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในพื้นที่น่าน “ โดยคุณบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการภาคเอกชนของโครงการ เป็นผู้ที่ลุกขึ้นมาดูแลและรักษาป่าต้นน้ำน่านอย่างจริงจัง เห็นปัญหาของ “คน” ในพื้นที่ป่า ต้องทำให้คนอยู่ได้ ถึงจะแก้ปัญหาป่าได้อย่างยั่งยืน การปลูกพืชเพิ่มรายได้ จากการพัฒนายาจากพืชยาที่ปลูกใต้ป่า การสร้างนวัตกรรมวนเกษตร และพฤกษศาสตร์เภสัช ให้เป็นห่วงโซ่ ในการเชื่อมโยงตั้งแต่ต้นน้ำ จากการศึกษาวิจัย ไปถึงปลายน้ำคือการผลิตสินค้า การตลาดและการขาย จะทำให้แก้ปัญหาป่าน่านได้อย่างยั่งยืน ตามปณิธานของธนาคารกสิกรไทยซึ่งเป็นธนาคารแห่งแรกในประเทศไทยที่ได้ลงนามใน “หลักการธนาคารที่รับผิดชอบ ขององค์การสหประชาชาติ” (UN Principles for Responsible Banking: UN PRB) มีเป้าหมายการดำเนินธุรกิจที่ตอบสนองวาระด้านความยั่งยืนของโลก ได้แก่ ผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การส่งเสริมธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการสร้างสังคมคาร์บอนเป็นศูนย์ เพื่อผลักดัน พิทักษ์ รักษาสิ่งแวดล้อม ส่งต่อให้คนรุ่นใหม่ ต่อไป

รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี ผอ. บพข. กล่าวว่า บพข. ทำหน้าที่บริหารจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยจัดสรรเงินทุนจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) เพื่อสนับสนุน งานวิจัยที่สำเร็จจากห้องปฏิบัติการมาสู่เชิงพาณิชย์ รวมไปถึงการให้ทุนทดสอบ การขึ้นทะเบียน การใช้เทคโนโลยีขึ้นสูงเพื่อให้ได้ผลิตภัณ์ที่มีมูลค่าสูงกว่าเดิม “งานทั้งหมดที่กล่าวมา ไม่สามารถทำคนเดียวได้ การผลักดันเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ ต้องทำงานร่วมกันทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน หน่วยงานวิจัย หรือภาคประชาชน ร่วมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เพื่อให้ได้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น เป็นการพัฒนาให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ โดยไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม MOU ในวันนี้ เป็นตัวอย่างความร่วมมือของทุกภาคส่วน เป็นการจับมือภาคเอกชนให้ทำงานร่วมกับภาพรัฐ เป็นโครงการที่จะสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญต่อประเทศ

Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *