ข่าว

บพข. ร่วมยินดี จุฬาฯ เปิดตัวแอพตรวจการได้ยินคัดกรองโรคสมองเสื่อมรายแรกของไทย

19 มกราคม 2566 : รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการ บพข. ได้เข้าร่วมงานเสวนา CHULA Impact ครั้งที่ 14 และร่วมกล่าวเปิดการเสวนาในหัวข้อ “บ่งชี้ความเสี่ยงสมองเสื่อม ด้วยการใช้เทคโนโลยี Application ตรวจการได้ยินด้วยคำพูด” ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนจาก บพข. ภายใต้โครงการบริหารจัดการงานวิจัยเพื่อพัฒนาผลงานวิจัยและนักวิจัยภายใต้ทุน Newton Fund (LIF7)

ภายในงาน ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แอพพลิเคชั่นเพื่อตรวจการได้ยินด้วยคำพูด ทำให้สามารถบ่งชี้ได้ว่าผู้สูงอายุ มีความเสี่ยงสมองเสื่อมหรือไม่ ช่วยป้องกันและชะลอภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ ซึ่งยังไม่สามารถรักษาให้หายได้ เป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากประเทศอังกฤษ สร้างเป็นแอพพลิเคชั่นครั้งแรกในประเทศไทย โดยความร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และ University College London (UCL) ซึ่งสอดคล้องกับโครงการวิจัย Thai Speech Acoustic Virtual Reality (Thai-SAVR) test for the detection of early dementia ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ได้แก่ Royal Academy of Engineering สหราชอาณาจักร ผ่านทางสถานทูตอังกฤษประจำประเทศไทย และได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้จาก University College London (UCL) ประเทศอังกฤษ และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถ ในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจาก British Council และกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ผ่านโครงการ Thai-UK World-class University Consortium โดยความร่วมมือในการสร้าง Application ตรวจการได้ยินด้วยคำพูด ฉบับภาษาไทย ทำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงสามารถตรวจคัดกรองด้วยตัวเองเบื้องต้น ก่อนไปพบแพทย์ ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงสมองเสื่อมที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

อ.ดร.พญ.นัตวรรณ อุทุมพฤกษ์พร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการได้ยิน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า “แอพพลิเคชันที่พัฒนาขึ้นนี้ ใช้สำหรับทดสอบการรับรู้เสียงพูด เพื่อประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากภาวะสมองเสื่อม เป็นการตรวจการได้ยิน และความสามารถในการจับใจความจากคำพูดและประโยคที่เป็นภาษาไทย โดยใช้เทคนิคแบบ Virtual Reality (VR) โดยจำลองสภาพสถานการณ์จริงในการรับรู้เสียง ที่เข้ามาจากทิศทางต่างๆ เพื่อตรวจดูการแปลผลของสมองด้านการใช้ภาษา ซึ่งจะเป็นข้อบ่งชี้ได้ว่าในอีก 5-10 ปีข้างหน้า จะมีโอกาสเป็นสมองเสื่อมหรือไม่ ซึ่งดำเนินการผ่านโครงการ Transforming System through Partnership ภายใต้ทุนวิจัยนิวตัน (Newton Fund) ผู้ที่ควรเข้ารับการตรวจคัดกรอง การได้ยินคือผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป เป็นการตรวจวัดความสามารถในการได้ยินด้วยภาษาไทย ทำให้สามารถประเมินผลได้ดีที่สุด และมีใบรับรองจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ โดยมีการประเมินข้อบ่งชี้ว่า มีความเสี่ยงสมองเสื่อม 10 ข้อหรือไม่ โดยความร่วมมือในโครงการนี้จะทำให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก้าวไปสู่ความเป็นศูนย์กลางห้องปฏิบัติการวิจัยด้านการตรวจการได้ยินด้วยคำพูดของประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในเรื่องการตรวจการได้ยินและดูการแปลผลของสมองด้านภาษา ที่สามารถใช้งานได้ผ่าน Mobile Application เพื่อใช้ทดสอบได้ทันทีด้วยตนเอง”

อ.ดร.ยุทธนา รุ่งธรรมสกุล อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านฟิสิกส์การได้ยิน คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า “สมอง” เป็นอวัยวะสำคัญที่คอยควบคุมสั่งการ “หู” เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในระบบการได้ยิน การวิจัยเพื่อทดสอบประสิทธิภาพของการได้ยิน ในโครงการนี้ทำในห้องปฏิบัติการไร้เสียงสะท้อน ซึ่งจะมีลำโพง 8 ตัวที่มีเสียงเข้ามาจากทิศทางต่างๆ แต่ละตัวทำมุม 30 องศา ตรงกลางห้องจะเป็นเก้าอี้ให้ผู้ทดสอบ ไว้นั่งฟังเสียงลำโพงแต่ละตัว ผนังทุกด้านทำจากวัสดุรูปลิ่มดูดซับเสียงกันเสียงสะท้อน โดยให้อาสาสมัครฟังเสียงพูด และเสียงรบกวนพร้อมๆ กันเพื่อวัดว่าอาสาสมัครจับใจความ จากประโยคที่ได้ฟังได้ในระดับใด นำไปสู่การประมวลผลเสียงพูดในระดับสมองต่อไป ซึ่งทางทีมวิจัยได้พัฒนาแอพพลิเคชั่น สำหรับการทดสอบการรับรู้ เสียงพูดในโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ที่สามารถเชื่อมต่อกับหูฟัง ในอนาคตอันใกล้เราจะสามารถใช้แอพพลิเคชั่น ในการทดสอบในห้องเก็บเสียงของโรงพยาบาลทั่วไปได้ รวมทั้งพัฒนาร่วมกับภาคเอกชน ในการสร้างห้องประเมินการได้ยินแบบปรับให้อยู่ในพื้นที่ต่างๆ ได้ เช่น สถานพยาบาลในต่างจังหวัด โรงเรียนและในหน่วยงานตามแหล่งชุมชน”

ผศ.ดร.นพ.ชัยภัทร ชุณหรัศมิ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า “ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุที่อายุเกิน 60 ปี จำนวน 12 ล้านคน จะมี 5-10% หรือประมาณ 1 ล้านคน ที่มีโอกาสเกิดความเสี่ยงสมองเสื่อม ภาวะสมองเสื่อม (Dementia Syndrome) ซึ่งโรคที่พบเจอได้บ่อยที่สุดคือ โรคอัลไซเมอร์ และโรคหลอดเลือดสมองตีบ หากเกิดอาการสมองเสื่อมแล้วจะทำให้เกิดความยากลำบากต่อตัวผู้ป่วยเองและครอบครัว ปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาอาการสมองเสื่อมได้ ดังนั้นการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะสมองเสื่อม จึงมีความสำคัญ ภาวการณ์ได้ยินลดลงเป็นความเสี่ยงสำคัญ ของการเกิดภาวะสมองเสื่อม ก่อนที่จะเกิดภาวะสมองเสื่อม ผู้สูงอายุจึงควรตรวจคัดกรองก่อนเกิดภาวะนี้ โดยการตรวจการได้ยินและตรวจการทำงานของสมองร่วมด้วย ผู้สูงอายุไม่ควรนิ่งนอนใจ การที่หูไม่ได้ยิน หูตึง ส่วนหนึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงทางอายุ แต่บางครั้งอาจจะเกิดจากสมองเสื่อมได้ ถ้าสงสัยควรพบแพทย์โดยเร็วยิ่งดี เพื่อตรวจอาการให้แน่ชัด” ประชาชนทั่วไปสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นสำหรับตรวจการได้ยินด้วยคำพูดภาษาไทย เพื่อบ่งชี้ความเสี่ยงสมองเสื่อม ด้วยโทรศัพท์ทั้งในระบบ IOS และ Android ในชื่อว่า “Eartest by Eartone”

โครงการ “บริหารจัดการงานวิจัยเพื่อพัฒนางานวิจัยและนักวิจัยภายใต้ทุน Newton Fund หรือ LIF7 ซึ่งเป็นโครงการในปีที่ 7 เป็นความร่วมมือระหว่าง บพข. แผนงาน Global Partnership ร่วมกับ สกสว. สวทช. และ สถานฑูตอังกฤษ ในการพัฒนานักวิจัย ให้มีความรู้ความเข้าใจ มีทักษะ ทัศนคติ แนวความคิดของการบริหารจัดการในเชิงธุรกิจที่ดี สร้างศักยภาพความเป็นผู้ประกอบการให้กับนักวิจัยของประเทศไทย และสนับสนุนให้ผลงานวิจัยเกิดการใข้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ มีการสร้างเครือข่ายของนักวิจัยและผู้ประกอบการ เครือข่ายด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีระดับนานาชาติ โดยโครงการ LIF หรือ โครงการ Leaders in Innovation Fellowship สนับสนุนให้นักวิจัยและผู้ประกอบการไทยนำผลงานวิจัยมาจัดทำแผนธุรกิจ เพื่อผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ผ่านการอบรมให้ความรู้โดยผู้เชี่ยวชาญและนักลงทุน Venture Capitalists ทั้งในและประเทศอังกฤษ ซึ่งให้การสนับสนุนโครงการพัฒนาแอพพลิเคชั่นตรวจการได้ยินดังกล่าวจนเป็นผลสำเร็จ

Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *