ข่าว

จับตาอุตสาหกรรมอาหารสัตว์พรีเมียมไทย

บพข. มุ่งการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในการร่วมกันขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารสัตว์พรีเมียมของไทยหวังชิงที่ 1 โลกของประเทศผู้ส่งออก

จากเวที ” Expert Forum เรื่องการพัฒนางานวิจัยและอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงพรีเมียม ” เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2565 ณ ห้องประชุมบอลลูม 1 โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิท กรุงเทพฯ บพข. ได้จัดให้มีการบรรยายในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการผลักดันอุตสาหกรรมอาหารสัตว์พรีเมียมของประเทศ โดยกลุ่มธุรกิจเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่างหน่วยงานวิจัยภาครัฐและภาคเอกชนผู้ประกอบธุรกิจในการขับเคลื่อนให้ประเทศก้าวไปสู่ความเป็นผู้นำด้านการส่งออกอาหารสัตว์พรีเมียมของโลก

คุณสุพัตรา ริ้วไพโรจน์ ผู้อำนวยการสมาคมการค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทย (Thai Pet Food Trade Association – TPFA) ซึ่งร่วมบรรยายในเรื่องสถานการณ์การค้าของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์พรีเมียมของไทย ได้ให้รายละเอียดว่า อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ไทยพัฒนามาจากฐานอุตสาหกรรมทูน่าของไทยมากว่า 50 ปี ที่ปัจจุบันมีมูลค่าการนำเข้าทูน่ามาจากต่างประเทศประมาณ 1,250 ล้านดอลลาห์สหรัฐ แต่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากการพัฒนานวัตกรรมการผลิตสินค้า และผลพลอยได้จากทูน่าด้วยมูลค่าสูงเป็น 3 เท่า หรือประมาณ 3,500 ล้านดอลลาห์สหรัฐ จากอุตสาหกรรมการส่งออกทูน่ากระป๋อง ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 2,300 ล้านดอลลาห์สหรัฐ อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 1,800 ล้านดอลลาห์สหรัฐ และผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากผลพลอยได้จากการผลิตทูน่ากระป๋อง เช่น สารสกัดและน้ำมันปลาทูน่า หรือ การผลิตอาหารปลาจากของเสียที่ได้จากกระดูกปลาทูน่าจากโรงงาน ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 0.7 ล้านดอลลาห์สหรัฐ นอกจากนี้การพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ในปัจจุบันที่มีการขยายการใช้วัตถุดิบจากทูน่าไปเป็น ไก่และ เนื้อวัว รวมถึงการเพิ่มวัตถุดิบอื่นๆ เช่นผัก ผลไม้ ที่ได้จากการผลิตในประเทศ และนำเข้ามาจากต่างประเทศ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์อาหารสัตว์ในหลายรูปแบบ การเสริมวิตามิน และส่วนประกอบฟังก์ชั่นต่างๆ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายที่มีคุณภาพสูง ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ

น.สพ.มงคล แม้นมาลัย ผู้อำนวยการสมาคมผู้ประกอบการอาหารสัตว์เลี้ยง (Food Industry Association : PIA) ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกสมาคมผู้ประกอบกิจการอาหารสัตว์เลี้ยงโลก ที่ได้ดำเนินการมาครบ 20 ปี PIA ก่อกำเนิดมาจากในอดีตที่ประเทศไทยมีข้อจำกัดในเรื่องข้อกำหนดด้านอาหารสัตว์จากกรมปศุสัตว์ แต่มีผู้ประกอบการที่ต้องใช้มาตรฐานหรือข้อกำหนดต่างๆ อ้างอิงในการจัดจำหน่ายหรือส่งออก จึงทำให้ผู้ประกอบการไทยได้มารวมตัวกันในการหาข้อตกลงร่วมกันในการเจรจา รวมถึงการขยายความร่วมมือกันทางด้านวิชาการ ความรู้ข้อมูลงานวิจัย หรือความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย เป็นต้น เพื่อประโยชน์และความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์ของไทยให้เป็นหนึ่งในผู้นำของโลกในการผลิตอาหารสัตว์ที่ได้มาตรฐาน

น.สพ.มงคล ได้บรรยายให้ความรู้ในหัวข้อ “การทดสอบ การขึ้นทะเบียน และการรับรองมาตรฐานสัตว์เลี้ยงเพื่อออกสู่ตลาด ” กล่าวว่าประเทศไทยมีทรัพยากรธรรมชาติ และบุคลากรที่มีความสามารถทำให้อุตสาหกรรมอาหารสัตว์นั้นมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก ในการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงนั้น สิ่งที่สำคัญในการผลิตเพื่อจำหน่ายอาหารสัตว์ ต้องผ่านการทดสอบหลัก 2 ด้าน ได้แก่การทดสอบเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการทดสอบเพื่อความสอดคล้องกับกฎหมายการขึ้นทะเบียน เบื้องต้นผู้ผลิตจำเป็นต้องพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ (Product Prototype development) ทำการวิจัยตลาด เพื่อพัฒนารูปลักษณ์ สี เนื้อสัมผัส ที่เหมาะสมถูกปากกับชนิดของสัตว์ จากนั้นจึงมาสู่การพัฒนาคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ (Product performence development) ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานที่ดูแลด้านการทดสอบอาหารสัตว์โดยเฉพาะ เช่น Shelf-life, Palatability, Product efficacy , International Standard protocols ส่วนการทดสอบเพื่อความสอดคล้องกับกฎหมายการขึ้นทะเบียน ได้แก่ การทดสอบคุณภาพอาหารสัตว์ทางเคมี เช่นปริมาณไขมัน ไฟเบอร์ โปรตีน เป็นต้น เพื่อการขออนุญาตขึ้นทะเบียนในการจำหน่ายอาหารสัตว์เลี้ยง

ทางสมาคมฯ มีความยินดีเป็นอย่างมากที่ บพข. จะเป็นผู้ริเริ่มในการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานให้แก่อุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์ของประเทศ

การทดสอบความน่ากิน (Palatability Test) ในอาหารสัตว์เลี้ยง บรรยายโดย ศ.ดร.ภาวินี ชินะโชติ อนุกรรมการแผนงานกลุ่มอาหารมูลค่าสูง บพข. ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการทดสอบความน่ากินในอาหารสัตว์เลี้ยง ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากโดยเฉพาะในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาด

การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงนั้น ผู้ผลิตต้องให้ความสำคัญและเข้าใจพฤติกรรมการแสดงออกต่างๆของสัตว์เลี้ยง รวมถึงผู้เลี้ยงเป็นอย่างมาก เนื่องจากสัตว์ (Consumer) ไม่สามารถโต้ตอบหรือบอกด้วยคำพูดได้อีกทั้งยังเกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึกและความผูกพันระหว่างผู้เลี้ยง (Customer) จึงทำให้การทดสอบ Palatability มีความสำคัญอย่างมาก เปรียบเทียบได้ในบริบทเดียวกับการพัฒนาอาหารทารกเลยทีเดียว

หากเปรียบเทียบลักษณะเฉพาะของสุนัขและแมวซึ่งเป็นสัตว์นักล่า แต่จะมีลักษณะบางอย่างแตกต่างกัน สุนัขมีความสามารถในการใช้เขี้ยวฉีกบดเนื้อ มีระบบย่อยทั้งเนื้อและพืช ในขณะที่แมวใช้เขี้ยวแหลมเล็กฉีกอาหารแต่ไม่มีความสามารถในการบด แมวมีทางเดินอาหารสั้น ไม่เหมาะกับการกินคาร์โบโฮเดรต และไฟเบอร์ แมวสามารถในการรับรู้รสชาติของโปรตีนเนื่องจากแมวมีความต้องการโปรตีนสูงกว่าสุนัข ส่วนสุนัขซึ่งมีความใกล้ชิดกับคนมานาน ทำให้พฤติกรรมการกินอาหารมีความคล้ายกับอาหารของคน ในขณะที่แมวมีความสัมพันธ์ที่แตกต่างไปค่อนข้างเอาแต่ใจและเบื่อง่าย ดังนั้นรายละเอียดต่างๆ รวมถึงพฤติกรรมของสัตว์ที่ผู้เลี้ยงมองเห็นไม่ว่าจะเป็นการกกระดิกหาง การขอ การส่งเสียง การวิ่งมาที่ชามอาหารเมื่อได้ยินเสียง สัมผัสการกินอาหารครั้งแรกของสัตว์หลังหย่านม (Imprinting behavior) จะเป็นตัวกำหนดการออกแบบผลิตภัณฑ์และกลยุทธ์ทางการตลาดได้

นอกจากนี้ช่วงเวลาการให้อาหารระหว่างเจ้าของและสัตว์เลี้ยง เป็นเวลาความสุขของความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่าย ผู้ผลิตสามารถสร้างโอกาสทางการตลาดได้จาก Palatability test ในการผลิตอาหารสัตว์เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเจ้าของและสัตว์เลี้ยงเช่น การผลิตผลิตภัณฑ์ของทานเล่น การใช้อาหารเป็นรางวัล หรือการสอนสัตว์ เป็นต้น

การสัมผัสทางจมูกของเซลล์รับกลิ่นของสุนัขสูงกว่าคนถึงพันเท่า สุนัขมีเซลล์รับกลิ่นมากกว่า 220 ล้านเซลล์ ในขณะที่คนมีเซลล์นี้เพียง 5 ล้านเซลล์ สุนัขและแมวสามารถรับกลิ่นฟีโรโมน ในขณะที่คนไม่ได้กลิ่น สุนัขสามารถดมเพื่อค้นหาโรคในมนุษย์ได้ เช่น การอักเสบ ลมชัก หรือมะเร็ง เป็นต้น

ในขณะที่ตุ่มรับรสของคนนั้น มีมากกว่าสัตว์มาก คนมีตุ่มรับรสประมาณ 10,000 สุนัขมีประมาณ 1,700 และแมวมีประมาณ 500 เท่านั้น หรืออาหารบางอย่างสัตว์ไม่สามารถกินได้ เช่น สุนัขไม่สามารถกินช็อกโกเล็ต การให้หัวหอม และกระเทียม อาจเป็นพิษแก่แมวในระยะยาว ข้อมูลด้านการรับรส และข้อจำกัดด้านอาหารเหล่านี้ การทดสอบ Palatability Test จะช่วยผู้ผลิตในการพัฒนารสชาติอาหารของสัตว์ได้

ตัวอย่างการทดสอบ Palatability Test : TWO-BOWL Palatability Test เป็นการทดลองการกินอาหารของสัตว์ เพื่อดูปริมาณการกินอาหารโดยเฉลี่ย (Intake ratio) ความชอบต่ออาหาร 2 ชนิด

Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *